เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรื่องเล่าจากหนังสือbanoffee
Ep. 1 โซพ โอเปร่า
  • Soap opera หรือละครน้ำเน่า

    เราเคยได้ยินทั้งคำว่าโซพโอเปร่าและคำว่าละครน้ำเน่า แต่ก็ไม่เคยนึกติดใจว่ามันจะเป็นคำคำเดียวกันมาก่อน 

    จนกระทั้งในคาบหนึ่งของวิชาสื่อและข้อมูล อาจารย์ได้ให้ช่วยกันวิเคราะห์เกี่ยวกับสื่อและกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นไปที่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งก็คือ mass media หรือสื่อมวลชนที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงที่สุดเมื่อครั้งที่สมาร์ทโฟนยังไม่เข้ามามีอิทธิพลมากเท่ากับยุคปัจจุบัน

    คำว่า Soap opera มีต้นกำเนิดมาจากละครวิทยุที่มีเนื้อหาที่เข้มข้น บีบคั้นอารมณ์และความรู้สึก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ชีวิต และอาจจะอิงกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้ผู้ฟังสามารถมีอารณ์ร่วมไปกับตัวละครได้ง่าย ๆ ละครประเภทนี้จะออกอากาศในช่วงเวลากลางวันโดยมีกลุ่มผู้ฟังเป้าหมายก็คือแม่บ้านนั่นเอง ด้วยเหตุนี้บริษัทที่เกี่ยวกับของใช้จำพวกงานบ้านอย่างน้ำยาซักผ้า รีดผ้า และสบู่ จึงซื้อโฆษณาในช่วงเวลานี้เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้า ดังนั้นในยุคหนึ่งเราจึงได้ฟังหรือได้เห็นละครประเภทนี้คู่กับสินค้าจำพวกสบู่อยู่เสมอ จนทำให้สบู่กลายเป็นคำนิยามของละครน้ำเน่านั่นเอง

    สำหรับเราแล้ว เราชอบคำว่าโซพโอเปร่ามากกว่าคำว่าละครน้ำเน่า เพราะมันเป็นคำที่สามารถกักเก็บเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนึงเอาไว้ได้ เป็นคำที่ชวนให้เราเกิดความสงสัยถึงความหมายและสืบเสาะถึงที่มาของมัน

    เมื่อพูดถึงละครน้ำเน่า เราเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ต่างก็เบือนหน้าหนีให้กับละครประเภทนี้เหมือน ๆ กันกับเรา และเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่หันไปเสพสื่อออนไลน์ที่สามารถคัดกรองเนื้อหาตามที่ต้องการ และสามารถจ่ายเงินเป็นสมาชิกเพื่อให้ไม่มีโฆษณามารบกวนใจได้ แต่ถึงอย่างนั้น "ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต" ซึ่งถือว่าเป็นนวนิยายที่มีองค์ประกอบของละครน้ำเน่าอย่างครบสูตร ทั้งความรักสามเศร้า ความไม่รัก ความพลัดพราก เจ็บปวดร้าวรานใจ และการตายจากกัน กลับเป็นหนังสือที่เราหยิบขึ้นมาอ่านซ้ำ ๆ ในยามที่เราโหยหาการอ่านเป็นที่สุด

    นิยายเรื่องนี้แต่งโดยคุณวีรพร นิติประภา ซึ่งเป็นนักเขียนในดวงใจทันที่ที่เราอ่านหนังสือเล่มนี้จบครั้งแรก ถ้าบอกว่าเป็นเจ้าของนักเขียนรางวีลซีไรต์ที่นิยามกรุงเทพ ฯ ว่า "เมืองฝันสลาย" จากบทสัมภาษณ์ที่ฮิตแชร์กันอยู่ช่วงหนึ่งในโลกออนไลน์ก็คงจะทำให้หลายคนได้อุทานคำว่า อ๋อ ออกมาได้ไม่ยาก และถึงแม้ว่าบทสัมภาษณ์นี้จะเกิดขึ้นมาหลังจากไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตถูกตีพิมพ์ไปหลายปี แต่เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ เราก็เข้าใจได้ในทันทีว่าสองพี่น้อง ลิก้า-ชารี รวมไปถึงปราณ ต่างก็กำลังพลัดหลงร้าวรานอยู่ในอ้างว้างสักแห่ง ณ เมืองฝันสลายของเธอนี้ด้วยเช่นกัน

    นวนิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยโวหารเปรียบเทียบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีการเลือกใช้คำที่นำมาบรรยายสถานที่ เหตุการณ์ และความรู้สึกที่ทำให้คนอ่านอย่างเราจมดิ่งลงไปพร้อมกับตัวละคร และหลงมัวเมากึ่งหลับกึ่งฝันทุกครั้ง ไม่ต่างอะไรกับตัวละครในนิยายที่ถูกเปรียบเป็นไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตตามชื่อเรื่อง

    นอกจากเราจะชอบหยิบนิยายเล่มนี้มาอ่านเวลาต้องการเสพงานที่เต็มไปด้วยความรุ่มรวยทางภาษาแล้ว นิยายเล่มนี้ก็ได้ทำงานด้านการสะท้อนสังคมได้อย่างดีเยี่ยม แม้พล็อตของเรื่องจะเป็นการเล่าเส้นทางความรักสามเศร้าของ ชลิกา ชารียา และปราณ แต่ในเส้นเรื่องย่อยของแต่ละคนรวมถึงเรื่องราวของตัวละครอื่น ๆ ก็ยังพาเราไปพบกับวิถีชีวิตริมแม่น้ำ ต้นไม้ ดอกไม้ บทเพลงคลาสสิก เหตุการณ์ทางการเมือง รวมไปถึงสัญลักษณ์ วัฒนธรรมและความเชื่อที่แทรกอยู่ในทุกบรรทัด

    เราชอบนิยายเล่มนี้ไม่ใช่แค่เพราะความน้ำเน่าของเนื้อเรื่องที่ทำให้เราเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง แต่เพราะในอีกแง่หนึ่ง มันได้เก็บเอาเรื่องราวของสังคมที่เกิดขึ้น ณ เวลาหนึ่งขึ้นมาถ่ายทอดด้วยภาษาที่ถูกเรียบเรียงขึ้นมาอย่างบรรจง




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in