เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เวิ่นเว้อวกวนRAMBLEMAN
Fast and Feel Love (2022) - สถาปัตยกรรมบ้านจัดสรร และเฟอร์นิเจอร์แก้วสีแดง
  • **บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบน Facebook เราเอง ขอนำมาลงในนี้อีกรอบเพื่อฉลองที่ Fast and Feel Love ได้ลง Netflix**

    Fast and Feel Love (2022)
    กำกับ: นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์


    เราคิดว่านวพลเป็นคนทำหนังที่เก่งมากๆมาโดยตลอดเลยน่ะ ความเก่งที่เราคิดว่าเก่งและพิเศษคือการจัดวางแบรนด์ของลูกค้าให้มาขับเคลื่อนเนื้อหาในภาพยนตร์ได้อย่างแยบยล และ ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ ในการเสริมเติมแต่งบรรยากาศของหนังได้อย่างแนบเนียน (หรือในกรณีของ Fast and Feel Love ไม่มีความจำเป็นต้องเนียน แต่ดี) การจัดการเรื่องอะไรพวกนี้เหมือนจะเป็นเรื่องฮาร์ดเซลล์ แต่ใน ‘โลกของผู้ใหญ่’ (ใช้ภาษาแบบในเรื่อง) การจะผลิตสื่อภาพยนตร์ซักเรื่องมันใช้ทุนมหาศาล และมันไม่สามารถเสกหนังทั้งเรื่องออกมาจากอากาศได้จริงๆ ตราบใดที่เรายังต้องอยู่ในโลกที่ทุนเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อน activities ทุกสิ่งอย่างไว้แบบนี้ เลยนับถือนวพลมากๆ โดยเฉพาะเรื่องนี้ (เพราะบ้านของจีนในฮาวทูทิ้ง มันเป็นวัตถุดิบที่นวพลเอามาประกอบเป็น space น่ะ แต่ใน Fast and Feel Love มันเหมือนกระบวนการย้อนกลับ เหมือนเอาแซนด์วิชซับเวย์มาวางแล้วบอกว่าจงทำเมนูใหม่จากส่วนประกอบในแซนด์วิชนี้ ฮา)

    ตั้งแต่ช่วงเปิดของหนังเลยที่ทำให้เราเห็นว่า ตัว Fast and Feel Love ได้สปอนเซอร์จากแบรนด์อสังหาแบรนด์หนึ่ง ซึ่งเราก็ตั้งตารอเลยว่านวพลจะเอามาเล่าในแบบไหน ซึ่งสุดท้ายแล้ว มันก็ pay-off ออกมาอย่างทรงพลัง และเป็นก้อนไอเดียสำคัญของเรื่องไปโดยปริยาย


    (ต่อจากนี้เป็นสปอยนะ)


    เราว่าเรื่องบ้านเกา-เจ มันน่าสนใจมาก และเป็นประเด็นที่ต่อให้อยู่นอกหนัง มันก็เป็นเรื่องที่อยากคุยกับคนนอกวงการสถาปัตย์อยู่ดี เรื่องของ ‘อุดมคติของบ้านจัดสรร’ โดยเฉพาะ ‘บ้านจัดสรรในไทย’ ในเรื่องจะเห็นว่าเกาแม่งต้องการที่ฝึกคับสแต็ค เจเลยไปซื้อบ้าน จบ. (ง่ายๆแบบนี้เลย ซึ่งไอเดียง่ายๆที่เป็นคลุมบรรยากาศของเรื่องนี้ ขอไม่เขียนถึงมาก เพราะคนเขียนไปเยอะแล้ว หลักๆ Fast and Feel Love มันคือหนังที่ approach แบบโฆษณา คือ ตัดน้ำทิ้ง เอาแต่ประเด็นที่จะเล่า ซึ่งเราว่าน่าสนใจดี)


    การกำเนิดขึ้นของโครงการบ้านจัดสรรมากมายในไทย ตัดเรื่องประเด็นลงทุนไป มันคือช่องทางที่ง่ายที่สุดของชนชั้นกลาง ที่จะได้เป็นเจ้าของ property ที่มีอาณาเขตของตัวเองน่ะ ในยุคที่ ‘การสร้างบ้านเอง’ เป็นพื้นที่สงวนไว้ให้คนรวย (ต้องเป็นเจ้าของที่ดิน มีเงินจ้างออกแบบ จ้างก่อสร้าง จ้างตกแต่ง) โครงการบ้านจัดสรรเลยเป็นช่องทางที่สะดวกที่สุดที่จะมีบ้าน+ที่ดิน(อาจจะเฟอร์นิเจอร์อีกนิดหน่อย) เป็นของตัวเองได้โดยใช้งบไม่เกิน 5-6ล้านบาท ในขณะที่เริ่มทำบ้านเอง อาจซัก10ล้าน+ ยังไม่รวมราคาที่ดิน (ในพื้นที่ของคนเมือง)

    แต่ก็อีกเช่นกัน การที่ถูก ‘จัดสรร’ แล้ว ก็หมายความว่าพื้นที่ว่างภายในขอบเขตของ ‘บ้าน’ นั้นก็จะถูกกำหนดมาอย่างตีขลุมจากผลของการ research ทาง marketing และถูกวัดผลโดยตัวชี้วัดทางการตลาดขององค์กร อย่างในช่วงที่เซลล์ขายบ้านพูดกับเจถึงคุณสมบัติด้านดีของโครงการ ที่ถูกวิจัยมาจากกลุ่มตัวอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด (อยากมีสวน อยากมีที่จอดรถ ห้องนอนกี่ห้อง ห้องน้ำกี่ห้อง) หรือในอีกมุมหนึ่ง เพื่อหาช่องว่างของกลุ่มลูกค้า ท่ามกลางโครงการคู่แข่งที่หลากหลาย product ของเราจะแทรกตัวชูกิมมิคอะไรเพื่อ ‘ขาย’ จำนวนยูนิตให้คุ้มกับการลงทุนไปให้มากที่สุด

    จึงกลายเป็นว่ายิ่งนานไป การทำ SWOT Analysis ของการสร้าง ‘บ้าน’ แข่งขันกันในตลาด ยิ่งทำให้พื้นที่ว่าง (space) ทางสถาปัตยกรรมหดหาย หรือไกลห่างจากปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิตไปอย่างน่าประหลาด การพยายามอัดปัจจัยประเภท ‘มีดีกว่าไม่มี’ สระว่ายน้ำอย่างละนิด สวนหน้าบ้านอย่างละหน่อย เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่จะซื้อ แต่ในขณะเดียวกัน ต้นทุนในการสร้างก็ต้องไม่เกินเลยไปจากคู่แข่ง เพื่อให้ยังคงสถานะกำไรทางธุรกิจได้อยู่ การมีบ้านประเภทที่มีห้องประเภท bedroom plus หรือห้องที่จะใส่เตียงเพิ่มมาได้ จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    การเกิดขึ้นของ bedroom plus เป็นทั้งความชาญฉลาดทางสถาปัตยกรรม ไปพร้อมกับความน่าเสียดายเช่นกัน ห้องประเภทนี้เดิมทีคือ space ที่ ‘เหลือ’ เป็นเศษไว้ เล็กไปที่จะเป็นห้องใหญ่อีกห้อง หรือไม่ก็กว้างไปจะเป็นห้องน้ำ จึงมักถูกดัดแปลงเป็นห้องเก็บของ ห้องอเนกประสงค์ หรือแม้แต่ห้องนอนเด็ก ซึ่งในเชิงการโฆษณา การบอกว่าเป็น bedroom plus หรือห้องนอนเด็กมันก็รื่นหูกว่าห้องเก็บของอยู่โข

    David Harvey นักภูมิศาสตร์เศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ชาวอังกฤษเคยให้นิยามสถาปัตยกรรมโมเดิร์น (ด้วยน้ำเสียงแซะ) ยั่วล้อกับวาทกรรม(หรือในบางครั้ง เป็น manifesto ของชาวโมเดิร์น) “Form follows function” ของ Louis Sullivan ไว้ว่า “Form Follow Profit as well as Function” หรือก็คือ สำหรับ David Harvey สถาปัตยกรรมโมเดิร์น สุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องความงามทางการเมือง และอำนาจของทุนที่อยู่เหนือคุณค่าความงามอื่นๆ โดยสิ่งที่ถูกบริโภคนั้นคือสัญญะที่หลายครั้งมีความสำคัญมากกว่าอัตถะประโยชน์แท้จริงของพื้นที่ว่าง อายุที่สั้นลงของสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมและเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว (ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์. 2550)

    แม้สถาปัตยกรรมโมเดิร์นดั้งเดิมจะเสื่อมความนิยมไปนานแล้ว และในกรณีของบ้านจัดสรร เราคิดว่าใช้คำว่าร่วมสมัยจะสื่อสารได้ดีกว่า แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการให้ความสำคัญกับ style เป็นชิ้นส่วนที่ในระยะหลังทิศทางการตลาดดำเนินมาในทิศทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านแบบสแกนดิเนเวีย แบบมูจิ หรือล่าสุดแบบนอร์ดิก การให้ความสำคัญกับสัญญะเข้ามาแทนที่เป้าหมายในการใช้งาน บ้านกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขับเน้นภาพลักษณ์บริโภคนิยม หรือในบางครั้ง ก็ช่วยยกระดับความหรูหราของ lifestyle ผู้อยู่ ดังเช่นการตกแต่งคิ้วบัว บัวเชิงผนัง บัวพื้นในบ้านเกา-เจ ที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรในด้านการใช้งาน นอกจากความสวยงามที่แถมมาด้วยกับบ้านตัวอย่าง


    สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของบ้านเกา-เจ คือความที่เจซื้อบ้านที่เป็นบ้านตัวอย่างหลังสุดท้าย ทำให้ได้เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายในมาด้วย ความประหลาดของบ้านเกา-เจคือความสมบูรณ์ของการตกแต่งห้องที่แม้เกาและเจจะเข้ามาอยู่แล้ว ก็แทบไม่ขยับเฟอร์นิเจอร์ให้ต่างจากเดิมเลย (ตอนแรกเข้าใจว่าลูกค้าอาจจะอยากได้บ้านเนี้ยบๆ แต่ฟังจากที่ salmon house คุยกัน เหมือนนวพลจะบอกพี่วิชัยว่า อะไรที่ดูแปลกๆไม่ควรเป็นอย่างนั้นในหนังอ่ะ คือความตั้งใจของนวพลเอง 555 ดังนั้นจึงอนุมานเอาเองว่า Interior บ้านเกา-เจที่ไม่เปลี่ยนไปเลย เป็นความตั้งใจของนวพล ที่ต้องการสะท้อนตัวละครเกา-เจ ผ่านการจัดบ้านอีกชั้นหนึ่ง)

    สิ่งที่เราว่าน่าสนใจมากเลยคือไอ้ห้อง bedroom plus นี่แหล่ะ การที่เจตัดสินใจซื้อบ้านนี้ก็เพราะการที่มันถูกจัดแต่ง Interior ให้เป็นห้องนอนเด็ก (และแน่นอน โดยเซลล์และฝ่ายมาร์เก็ตติ้งที่ทำการบ้านในการจัดห้องให้ตรงความต้องการลูกค้าชนชั้นกลาง) หรือการที่เกาใช้ห้องนี้เป็นห้องซ้อมสแต็ค แต่ความประหลาดคือแม้เกาจะเป็นคนที่หนีประเด็นเรื่องการมีลูกมาตลอด (ดราม่า-เสียงนวพล) แต่เกามันก็ไม่เปลี่ยน layout ห้องนะ 5555 อะไรวางไว้ยังไงมันก็วางเอาไว้แบบนั้น หรือส่วนหนึ่งก็สะท้อนตัวตนของเกาด้วยว่ามันไม่ได้โฟกัสเหี้ยอะไรเลยนอกจากเล่นสแต็ค 555555

    ไอเดียของ ‘ห้อง’ ถือว่าใหม่สำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์เช่นกัน ซึ่งน่าจะมาพร้อมกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี หรือสังคมที่พัฒนาให้แตกต่างจากเดิม โดยเฉพาะคำว่า ‘ห้อง’ ซึ่งซีเรียสมากสำหรับชาวสถาปัตย์ 555 ห้องในภาษาไทยนิยามโดยราชบัณฑิตยสถาน ว่าส่วนของเรือนหรือตึกที่มีฝากั้นเป็นตอนๆ
    ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ก็น่าสนใจ เพราะ sense ของ ‘ห้อง’ ในแต่ละภาษา ก็มีสเกลที่แตกต่างกัน โดยคำว่า room มีรากมาจากภาษาเยอรมันโบราณว่า Ruun (ชิ้นส่วน)ซึ่งคำนี้ก็เป็นรากของ Raum ในภาษาเยอรมัน และ Raum นี่เองที่ในวงการสถาปัตยกรรมนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษจึงเกิดคำว่า space หรือที่ว่างทางสถาปัตยกรรมขึ้น แม้จะมีรากศัพท์ร่วมกัน สเกลของ Room ก็ต่างจาก Raum เพราะในภาษาเยอรมัน มีคำจำกัดความของห้องที่เฉพาะเจาะจงกว่าคือ Zimmer ซึ่งหมายถึงขอบเขตที่ถูกจำกัดด้วยผนังทางตั้ง (ต้นข้าว ปาณินท์. 2548) ความแคบ-กว้างจึงสามารถเรียงได้ว่า zimmer-ห้อง-room-raum(space) (เสก สิมารักษ์. 2556)

    ในแต่ก่อนห้องและทางสัญจร (circulation) นั้นแทบจะใช้ร่วมกัน การเปิด space เพื่อเคลื่อนย้ายตัวเองจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งคือการเดินตัดห้อง หรือแผงกั้น ความเป็นส่วนตัวในครอบครัวก็อาจไม่เข้มข้นมากนัก ถ้าเป็นบ้านยุคก่อน เกาคงไม่สามารถซ้อมสแต็คได้แน่นอน(ถ้ายุคนั้นมีสแต็คให้เล่นนะ ฮา)      เพราะเผลอๆห้องนอน-ห้องครัว-นั่งเล่นมันก็ห้องเดียวกันนั่นแหล่ะ ซึ่งในปัจจุบัน ทางเดิน(circulation) มันถูกผลักออกไปจากห้อง เกิดเป็นระเบียงทางเดิน และใช้ทางเดินแจกเข้าไปยังห้องต่างๆแทน ด้วยเหตุนี้เอง บ้านสมัยใหม่จึงมีห้องให้เกามันได้ซ้อมสแต็ค

    การแบ่ง sense ของความเป็น ‘ห้อง’ ในสถาปัตยกรรมบ้านจัดสรรร่วมสมัยในปัจจุบัน ในความเห็นส่วนตัวของเราก็คิดว่ามันเป็น ‘กรอบ’ ของภาพฉาย ซึ่งทำให้ลูกบ้านจินตนาการ(หรือจำกัดจินตนาการ) ไปแล้วว่าห้องนี้มีไว้เพื่อทำสิ่งนี้ ถ้าห้องไม่ถูกจัดให้เป็นห้องนอนเด็ก เจจะตัดสินใจซื้อหลังนี้ไหม? หรือถ้ามันเป็นห้องเก็บของแล้วเกาใช้เอาไว้ซ้อมสแต็ค มันจะมีอิมแพ็คกับความรู้สึกของเจมากขนาดนี้ไหม? การประกอบกันของเฟอร์นิเจอร์มันส่งผลกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้งานจนแยกออกจากกันได้อย่างลำบาก แต่ดีเทลที่น่าสนใจคือภายหลังจากเกายึดห้อง bedroom plus เป็นห้องซ้อม ชั้นวาง built-in ก็ถูกใช้วางแก้วสแต็คสีแดงประจำตัวลงไปเพิ่มในห้องนั้นด้วย (ซึ่งคอนทราสกับป้าย happy family ยังแขวนไว้บนผนังไม่ได้เอาออกเลย 5555 )

    เราอาจนิยามบทบาทหน้าที่และประเภทของสิ่งของภายในที่อยู่อาศัยได้สองประภทใหญ่ๆ คือ
    1.สิ่งของภายในที่อยู่อาศัย มีบทบาทหน้าที่ด้านประโยชน์ใช้สอย ซึ่งสิ่งของประเภทนี้ใช้รองรับกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ กล่าวคือ หากภายในที่อยู่อาศัยไม่มีสิ่งของประเภทนี้ การอยู่อาศัยก็อาจขาดประสิทธิภาพได้ สิ่งของใดๆก็จะมีความหมายการใช้สอยติดมาด้วยเสมอ
    2.สิ่งของภายในที่อยู่อาศัยมีบทบาทหน้าที่ด้านสัญลักษณ์ สิ่งของประเภทนี้แปรสภาพจากของใช้ไปสู่สัญลักษณ์ เพื่อแสดงออกถึงมิติอื่นๆ เช่น ฐานะ รสนิยม เทศกาล ซึ่งเกิดหน้าที่อื่นซ้อนทับลงไปบนสิ่งของเดิมทำให้สิ่งของต่างๆแปรสภาพจากสิ่งของเพื่อการใช้ (Function object) ไปสู่คุณค่าเชิงสัญญะ (Symbolic Values) เพื่อแสดงถึงสัญญะของการมีอยู่ (ณัฏฐ์ ละเอียดอ่อน. 2561)

    ถ้าใช้นิยามที่กล่าวมานี้ เกาเปลี่ยนห้องนอนเด็ก bedroom plus ด้วยการเรียงแก้วสแต็คบนชั้น built-in เป็นการอาศัยแก้วสแต็คทำหน้าที่ให้เป็นสิ่งของที่มีบทบาทหน้าที่ด้านสัญลักษณ์ใช่หรือไม่? การซ้อนทับความสำคัญของการเล่นสแต็คลงบนห้องนอนเด็กเป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่ให้ความสำคัญ (โฟกัส) กับเรื่องที่เกาทุ่มเทจิตวิญญาณให้มากกว่าเรื่องการมีลูกหรือเปล่า? ซึ่งในมุมนี้นวพลเก่งมาก ที่เขียนให้เกายังดู ‘น่าเห็นใจ’ ไปกับตัวละครนี้ได้อยู่ กล่าวคือ ไม่ได้นำพาให้คนดูรู้สึก negative เท่าตอนเห็นคาแรคเตอร์แบบจีนในฮาวทูทิ้ง

    ซีนหน้าสำนักงานเขตที่ดิน จึงเป็นการขมวดปมของเรื่องและแลนดิ้งลงอย่างสวยงาม เมื่อห้องซ้อมสแต็คของเกาเพียงห้องเดียว ขยายออกมาเป็นบ้านทั้งหลังที่สำคัญกับเกา ผ่านการเรียนรู้ของตัวละครวัย 30 ที่โลกของเขาไม่ได้อยู่ในห้องขนาดประมาณ 6ตร.ม. อีกต่อไป แต่คือบ้านทั้งหลังที่แปรสภาพจากเพียงแค่ space ของอสังหาชิ้นนึง กลายเป็น space ที่เกิดสำนึกที่สำคัญที่สุดในงานสถาปัตยกรรมคือสำนึกของความ “dwelling”- ‘การอยู่อาศัย’ ด้วยข้อจำกัดของภาษาอาจจะทำให้ความลุ่มลึกของสำนึกนี้อธิบายออกมาไม่ตรงเป้านัก และในขณะเดียวกัน นวพลก็บรรยายสำนึก dwelling ออกมาอย่างเฉียบคมผ่านบทสนทนาของสองตัวละคร

    เมื่อเกาต้องการบ้านที่ประตูไม่เข้ากับบ้าน บ้านที่พรมมีรอยไหม้ บ้านที่มีสวนเล็กๆตรงระเบียงอย่างที่เกาบอกกับเจ เมื่อนั้นบ้านได้กลายสภาพจาก Function object ไปสู่ Symbolic Values โดยสมบูรณ์



    อ้างอิง
    1.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์, “สถาปัตยกรรม, เมือง กับความหลากหลายในสังคม: ประเด็นชนชั้นและเพศสภาพ,” วิภาษา 1, 2(มิถุนายน 2550): 27-33.
    2.ณัฏฐ์ ละเอียดอ่อน, สิ่งของและสถาปัตยกรรม: การก่อรูปของที่ว่างทางสถาปัตยกรรมจากสิ่งของในที่อยู่อาศัย, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2561), หน้า 10.
    3.เสก สิมารักษ์, ห้องและสถาปัตยกรรมไร้ห้อง, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556), หน้า 5.
    4.ต้นข้าว ปาณินท์, “space,spaces,spatiality,”อาษา 48, 5(สิงหาคม-กันยายน 2548): 78-79,81.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in