เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
How to ไปดูคอนเสิร์ต TFBOYS ที่แผ่นดินใหญ่ด้วยตัวเองt0y_ting
How to Plan My Trip to Nanjing?
  • แผนการเดินทางไปหนานกิงของเรารอบนี้ลอกๆ มาจากแผนการเดินทางไปปักกิ่งปีที่แล้วนั่นแหละค่ะ  มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันอยู่บ้างเพราะเป็นคนละเมืองกัน  แต่ก็ยังอยากจะจดไว้ให้ละเอียดเป็นบันทึกความทรงจำ เพราะพบว่ามันช่วยได้เยอะเลยในการวางแผนเที่ยวในปีต่อไป ไหนๆ ก็ต้องไปทุกปีอยู่แล้วนี่นะ  

    งวดนี้บริษัท TF ent. เปิดขายบัตรงานครบรอบ 4 ปีของ TFBOYS เร็วกว่าเมื่อปีที่แล้ว  ไม่สิ! ไม่ได้เร็วกว่าปีที่แล้ว งานครบรอบขยับเลื่อนไป 1 อาทิตย์ต่างหาก  ทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นจาก 2 อาทิตย์เป็น 3 อาทิตย์ ในการจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม ขอวีซ่า เพื่อเตรียมตัวไปหนานกิง  แต่ถ้าจะให้ดีขอเวลาเตรียมตัวสัก 1 เดือนเถอะ T_T

    1. การจองตั๋วเครื่องบินไปหนานกิง

    ยังใช้บริการ Skyscanner ในการค้นตั๋วเครื่องบินเหมือนเดิม  แต่ปีนี้เหมือนโชคจะไม่เข้าข้าง ตั๋วถูกสุดที่หาได้นั้นราคาปาไป 14,565 บาท พุ่งจากที่เคยเล็งๆ ไว้เกือบหกพันบาท  ส่วนนึงเป็นเพราะเราเดินทางช่วงวันหยุดยาววันแม่ด้วย แถมสายการบินยังเป็น China Eastern Airlines ที่ขึ้นชื่อเรื่องความดีเลย์ อาหารไม่อร่อย บริการไม่ประทับใจ เพื่อนเราเคยกระเป๋าพังเพราะโดยสารสายการบินนี้มาแล้ว เลยแอบขยาดเล็กน้อย แต่ในเมื่อไม่มีตัวเลือกอื่นคนมันจะบินก็ต้องบิน

    การซื้อตั๋วเครื่องบินของ China Eastern Airlines จำเป็นต้องซื้อผ่านเอเย่นต์เท่านั้น ลองเข้าไปซื้อกับเว็บ China Eastern Official Website  แล้ว ไม่รู้ทำไมถึงไม่ได้ราคาโปรโมชั่นแถมยังไม่สามารถจ่ายเป็นเงินบาทได้อีก  เราเลยเลือกใช้บริการ Expedia ค่ะ  จริงๆ มีเจ้าอื่นที่ถูกกว่า แต่ Expedia นั้นดูน่าเชื่อถือสุด  เนื่องจากเวลาบินค่อนข้างดี คือ ถึงเช้ากลับดึก เพราะงั้นทริปนี้เลยตัดสินใจไปแค่ 3 วัน 2 คืน
    ปรากฏว่า วันบินดีเลย์จริงอย่างที่คาด  แววมันออกตั้งแต่เพื่อนร่วมทริป 4 คนที่บินก่อนหน้าดีเลย์กันถ้วนหน้า  ไฟท์เราบินตี 3 ออกจริงๆ คือ 6 โมงเช้า ดีเลย์ไป 3 ชั่วโมง ซึ่งสายการบินชดเชยโดยการแจกคูปองอาหารมูลค่า 220 บาทให้ สามารถนำไปซื้ออาหารภายใน King Power ได้  ตอนแรกเรากับน้องผิง ซึ่งเป็นคู่เมทในทริปนี้ ตั้งใจจะรวมคูปองกันแล้วเพิ่มเงินนิดหน่อย เพื่อหิ้วพิซซ่าไปกินกับเพื่อนๆ ที่ทำโปรเจกต์รออยู่หนานกิง แต่ร้านพิซซ่าแป้งหมดเคอะ  จบลงที่เบอร์เกอร์ของ Burger King เพราะมีเมนูนึงราคา 220 บาทเท่าคูปองเป๊ะ  ซึ่งเจ้าเบอร์เกอร์นี้แหละที่มาช่วยชีวิตเราทั้งคู่หลังคอน
    เครดิต: น้ำเต้า (ขอแปะหน่อย พี่ลืมถ่ายคูปองตัวเองล่ะ 5 5 5)

    ไม่รู้ว่าจะนับให้เป็นเรื่องโชคดีได้มั้ย ที่เราเพิ่งมาสังเกตเห็นว่าตั๋วขาไปของเราที่ซื้อกับ Expedia มันเป็นตั๋ว Business Class ล่ะ คือตอนซื้อไม่ได้ดูเลยว่าเป็นตั๋วประเภทไหน เห็นราคาก็รีบกดจิ้มทันที คงเพราะไฟท์วันนั้นเต็มจริงๆ ทาง Expedia เลยปล่อยตั๋วชั้นธุรกิจออกมาขายปนกับชั้นประหยัดด้วย   ด้วยเหตุนี้เองเราจึงใช้เวลาดีเลย์ 3 ชั่วโมงนั้นอิ่มหนำสำราญอยู่ใน Miracle Lounge ของสุวรรณภูมิ

    รูปในเลาจน์ไม่ได้ถ่ายเองอีกเหมือนกัน มันดึกมากแล้ว
    เครดิต : loungebuddy
    รู้สึกหรูหรามากเลยนะ (หัวเราะ) เป็นคุณแม่ที่นั่่งบิสิเนสคลาสไปงานครบรอบดีบิวต์ของลูก ดูร่ำรวยเนอะ ทั้งที่ชีวิตจริงนั้นกรอบมาก ขอแลกเป็นตั๋วอีโค่ราคา 8 พันแทนได้มั้ย?

    บินไปหนานกิงด้วย Airbus A320 ซึ่งมีที่นั่งบิสิเนสคลาสแค่ 8 ที่ แถมที่ข้างๆ เรายังไม่มีคนนั่งอีก พนักงานก็ดูแลดีเว่อร์ๆ  ทว่าอาหารนั้น...เป็นอาหารเช้าที่ประหลาดที่สุดตั้งแต่เคยกินบนเครื่องมา เราคิดว่ามันคือเมนูข้าวต้มกุ้ยล่ะ เพราะเขาเสิร์ฟไข่เค็มมาด้วย แล้วก็มีกระป๋องแดงๆ มาให้ เปิดออกมาหน้าตาเหมือนข้าวต้มธัญพืช แต่รสหวานเสียจนสงสัยว่า เอ๊ะ หรือว่ามันเป็นของหวาน?  เย็นๆ อีกต่างหาก  เอาเป็นว่าไม่ถูกปากละกัน  ขณะที่ไฟท์กลับ เมนูเป็นข้าวหมูผัดอะไรสักอย่าง อร่อยจนน่าตกใจ
    บิสิเนสคลาสที่ชาตินี้คงไม่มีโอกาสได้นั่งอีก
    มีข้อควรระวังสำหรับคนที่คิดจะจองตั๋วกับ China Eastern Airlines แบบทรานซิสมาเตือนด้วย  สายการบินนี้ไม่ได้ขายตั๋วทรานซิสแบบเครื่องบินต่อเครื่องบินเพียงอย่างเดียว  แต่ยังขายตั๋วทรานซิสรถไฟต่อเครื่องบินอีกด้วย  ทีมเราโดนมาแล้ว ซึ่งกว่าจะเอะใจรู้ตัวกันก็จองตั๋วลักษณะนี้ไปแล้ว 2 คน ลากกระเป๋าขึ้นรถไฟตามกันต้อยๆ เหนื่อยไปอีก

    2. การจองที่พักในหนานกิง

    เราตั้งใจจะไปพักแถวๆ ศูนย์กีฬาโอลิมปิกหนานจิงซึ่งเป็นที่จัดงานเลย  แพลนไว้ว่าจะไปดูแม่จีนทำกิจกรรมซัพพอร์ตเด็กๆ อย่างใกล้ชิด  หลังจากที่ปีที่แล้วตื่นสายเลยพลาดไปอย่างไม่น่าให้อภัย  ค้นพบว่าโรงแรม International Trade Hotel เป็นตัวเลือกที่ดีสุด เพราะติดกับสถานีรถไฟ ราคาไม่แพง แถมยังมีรีวิวจากควีนที่เคยมาดูคอนพี่เฉินเหว่ยถิงการันตี (ติ่งย่อมเข้าใจหัวอกติ่งด้วยกัน)  เราจองโรงแรมนี้ล่วงหน้าตั้งแต่ตอนมีข่าวลือว่างานครบรอบจะจัดวันที่ 6 สิงหา  เพราะงั้นพอเปลี่ยนวันจัดเป็น 11 และ 13 สิงหา เลยรีบเข้าไปแก้ไขวันจอง  แต่ในตอนที่กวักมือเรียกเพื่อนๆ ให้มาพักโรงแรมเดียวกันนั้น ห้อง Standard Room ก็ถูกเหล่าโคลเวอร์จองเต็มจนหมด เหลือแต่ห้อง Suite ที่ราคาแพงหูฉีก  

    กลายว่าผู้ร่วมทริปทั้งหมด 8 คน นอกจากจะบินไปถึงหนานกิงไม่พร้อมกันแล้ว ดูคอนคนละวัน นั่งกันคนละที่ ยังแยกกันพักคนละโรงแรมอีกต่างหาก ไปด้วยกันจริงเปล่าเนี่ย?
    ใน Ctrip ใช้ชื่อว่า โรงแรมเจียงซู เทรด อินเตอร์เนชั่นเนล

    โรงแรมนี้ไม่เปิดจองผ่าน agoda เลยต้องไปจองกับ Ctrip ซึ่งเป็นเว็บจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม และตั๋วรถไฟของจีนโดยเฉพาะ  พบว่าจองสะดวกมาก ไม่ต้องวางประกันด้วยบัตรเครดิตด้วยซ้ำ ง่ายเสียจนสงสัยว่ามันจองตั๋วให้เราจริงๆ รึเปล่า  แต่ตอนไปเช็คอินก็ไม่มีปัญหาอะไรนะ  เพียงแต่ว่าเขาขอเก็บค่ามัดจำห้องไว้ก่อน 1,500 หยวน พอถึงเวลาเช็คเอ้าท์ โรงแรมจะหักค่าห้องและคืนค่ามัดจำให้ ค่าห้องเรา 2 คืน 2 คนอยู่ที่ 996 หยวน รวมอาหารเช้า  เท่ากับว่าค่ามัดจำจริงๆ คือ 500 หยวนเท่ากับโรงแรมที่ปักกิ่ง

    3. การขอวีซ่าเข้าประเทศจีน

    ขอผ่านศูนย์บริการยื่นขอวีซ่าประเทศจีน (Chiness Visa Applicstion Service Center)  

    อาคารธนภูมิ ชั้น 5 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 
    แฟกซ์ 02-207-5988,022075933 Call Center 02-207-5888
    เปิดให้ทำการ วันจันทร์ - วันศุกร์ (หยุดวันเสาร์ - อาทิตย์และวันหยุดราชการ) เวลา 9:00 น.- 16:00 น.

    สิ่งที่ต้องเตรียมในการขอวีซ่านักท่องเที่ยว (ประเภท L) ได้แก่

    - พาสปอร์ตต้องมีอายุการใช้งานเหลือมากกว่า 6 เดือน มีหน้าว่างสำหรับวีซ่าไว้สองหน้า 

    - สำเนาหน้าข้อมูลพาสปอร์ตมา 1 ใบ 

    เเบบฟอร์มขอวีซ่า

    - รูปถ่าย 2 รูป (กฎการใช้รูปถ่ายสำหรับยื่นขอวีซ่าประเทศจีน)

    - สำเนาวีซ่าจีนที่เคยได้ทุกหน้า (ถ้ามี)

    - ใบจองตั๋วเครื่องบินเที่ยวบินไป-กลับ 

    - ใบจองตั๋วโรงแรม

    - ค่าธรรมเนียม 1,500 บาท

    ไปยื่นด้วยตนเอง หรือถ้ายื่นแทนกันต้องมีใบมอบฉันทะไปด้วย  หลังจากยื่นเรื่องเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาในการดำเนินการ 4 วันทำการ สำหรับการขอวีซ่าท่องเที่ยวแบบธรรมดา

    หมายเหตุ หัวข้อนี้ยกมาจากแผนการท่องเที่ยวปักกิ่งเลย  มีเพิ่มเติมคือ สถานทูตจีนเข้มงวดเรื่องรูปถ่ายที่ใช้ในการสมัครวีซ่ามากกว่าปีก่อน เพราะงั้นดูรายละเอียดให้ดีจะได้ไม่ต้องถ่ายรูปใหม่  

    4. การวางแผนท่องเที่ยวหนานกิง

    ยากกว่าตอนไปเที่ยวปักกิ่งปีที่แล้วอีก เพราะบนแผงหนังสือไม่มีหนังสือนำเที่ยวหนานกิงที่เป็นภาษาไทยเลย  เราอาศัยอ่านกระทู้รีวิวทริปหนานกิงจากใน Pantip กับดูรายการนำเที่ยวมาทำ "โปรแกรมเที่ยวหนานกิง 2017" ของตัวเอง  ซึ่งพอลองไปเที่ยวจริงถึงได้รู้ว่ากระทู้กับรายการพวกนั้นเขามีสปอนเซอร์เป็นสายการบิน มาเที่ยวพร้อมคณะทัวร์มีไกด์นำ ไม่ได้เที่ยวเองอย่างเรา  เอาโปรแกรมเขามาใช้วางโปรแกรมเที่ยวตามน่ะพอได้อยู่  แต่ถ้าคิดจะบินเดี่ยวในหนานกิงโดยไม่รู้ภาษาจีนเลยนี่ไม่รอดแน่  แต่โชคดีเรามีน้องผิงมาด้วย ยังกับมีล่ามส่วนตัว (เกิดเป็นต้อยติ่งนี่ช่างสบายจริงๆ)  ไม่งั้นนึกไม่ออกเลยนะว่าจะเที่ยวหนานกิงรอดได้ไง  เพราะงั้นทุกคนที่คิดจะมาเที่ยวเมืองจีนด้วยตัวเอง ขอให้ตั้งใจเรียนภาษาจีนกันเถอะนะ

    5. การเดินทางในหนานกิง

    เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นหลักเช่นเดียวกับปักกิ่งเลยค่ะ แต่ค่าเดินทางของหนานกิงนั้นถูกกว่าปักกิ่งมาก จากสนามบินเข้าตัวเมืองแค่ 7 หยวนเท่านั้นเอง  สถานที่ที่เราไปแต่ละที่ในทริปนี้ก็อยู่ในช่วง 2-3 หยวนต่อเที่ยว 

    หนานกิงมีบัตร IC card ของตัวเองเช่นเดียวกับบัตร Yikatong ของปักกิ่ง  นอกจากจะใช้จ่ายค่าโดยสารได้แล้วยังสามารถนำไปใช้จ่ายในร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ China UnionPay ได้อีกด้วย  ไอ้เราก็ตั้งใจซื้อบัตร IC card นั่นแหละ เพราะส่วนตัวก็สะสมบัตรพวกนี้อยู่แล้ว แต่พอไปถามซื้อที่เค้าท์เตอร์ ป้าที่เค้าท์เตอร์ไม่ยอมขายให้ล่ะ ป้าบอกว่าไม่คุ้มหรอก เดี๋ยวป้าแลกเงินให้พวกหนูไปหยอดเหรียญละกันนะ  ทีนี้เลยได้หยอดเหรียญกันตลอดทั้งทริป เพิ่งมารู้ทีหลังว่าสามารถออก IC card กับตู้อัตโนมัติได้ แง่ง!
    เหรียญโดยสารรถไฟใต้ดินนานกิง

    สถานีรถไฟที่หนานกิงทั้งสะอาด ทั้งใหม่ สดใส ไฉไลกว่าสถานนีรถไฟที่ปักกิ่งเยอะ  แต่สิ่งที่หนานกิงขาดไปก็คือ...ป้ายโฆษณาในสถานีดูแห้งแล้งมาก  เพราะนอกจากสถานี Olympic Stadium East ที่ TFBOYS แทบจะเหมาหมดทั้งสถานีแล้ว  ไม่ค่อยเห็นป้ายโฆษณาที่มีดาราเป็นพรีเซนเตอร์เท่าไหร่นะ เจอหยางหยางเยอะสุดแล้ว  ถ้าเป็นปักกิ่งดูจะหลากหลายกว่านี้ เอะอะก็เจอโฆษณาของดาราคนนั้น เอะอะก็เจอโฆษณาของดาราคนนี้  แต่ไม่เป็นไร ถึงไม่ค่อยเจอ TFBOYS ตามสถานี ขอแค่เดินเข้า KFC ไม่ว่าจะสาขาไหน ก็จะเจอเด็กๆ แล้ว

    ป้ายโฆษณาในสถานี Olympic Stadium East ที่เป็นโปรเจกต์ของบ้านรวม
    เครดิต : แม่บ้านเหล่าหวัง

    ป้ายโฆษณางานครบรอบ 4 ปี TFBOYS ที่มี Chando เป็นสปอนเซอร์
    เครดิต : น้องผิง
    ป้ายโฆษณา KFC ที่มี TFBOYS เป็นพรีเซนเตอร์
    เครดิต : น้องผิง

    6. การใช้อินเตอร์เน็ทและโทรศัพท์มือถือในปักกิ่ง

    ปีที่ผ่านมาเราย้ายค่ายจาก AIS เป็น True เหตุเพราะย้ายบ้าน แล้วแถวบ้านเรามีแต่สัญญาณ True  พอโทรไปถาม True เรื่องการโรมมิ่งไปจีน  คอลเซนเตอร์แจ้งว่าเล่นเน็ทไม่จำกัดตกวันละ 99 บาท ช็อคสิ ทำไมมันถูกกว่าโรมมิ่ง AIS เมื่อปีที่แล้วขนาดนี้เนี่ย  แวะไปถามที่เค้าท์เตอร์สุวรรณภูมิอีกรอบเพื่อความกระจ่าง  เจ้าหน้าที่อธิบายว่าเครือข่ายพันธมิตรกับ True มีอยู่สองเจ้า ได้แก่ China Mobile และ China Unicom ซึ่งอัตราค่าบริการของ China Mobile (เน็ทวันละ 99 บาท) จะถูกกว่าแต่มีแนวโน้มว่าเน็ตจะช้ากว่าของ China Unicom ที่ค่าบริการแพงกว่า (เน็ทวันละ 333 บาท)  แนะนำให้จับสัญญาณของเจ้าใดเจ้านึงเท่านั้น ไม่งั้นระวังจะโดนค่าบริการสองเด้ง

    อัตราค่าบริการ China Mobile

    อัตราค่าบริการ China Unicom
    ยังไงเราก็ต้องเลือกของถูกไว้ก่อนอยู่แล้ว แลนดิ้งวันแรกจับสัญญาณ China Mobile เลยจ้า  ขึ้นมาก็ EDGE เลย เต็มที่คือ 3G อะไรคือ 4G ไม่รู้จัก  ยิ่งไปอยู่ในที่ที่คนใช้มือถือกันเยอะๆ อย่างในคอนเสิร์ต  เชิญเก็บมือถือยัดใส่กระเป๋าได้เลย ไม่มีสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น

    วันที่เหลือเราก็เลยถอดซิม True ออก เปลี่ยนมาใช้ซิมจีนแทน เป็นซิมของ China Unicom ที่ซื้อล่วงหน้าผ่าน My China Unicom เว็บซึ่งขายซิมให้คนต่างชาติ สามารถลงทะเบียนซิมโดยใช้พาสปอร์ตได้ โดยแพ็คเก็จถูกสุดอยู่ที่ $27.5 ราคาก็เอาเรื่องอยู่  แต่เขามีบริการจัดส่งฟรีให้ถึงโรงแรม แล้วยังเอาเบอร์กลับมาใช้ที่ไทยได้ด้วย  ถ้าหากต้องการรักษาเบอร์ตัวเองเอาไว้ไม่ให้หมดอายุ ก็ใช้วิธีเติมเงินผ่านบัตรเครดิตได้

    แพ็คเก็จของ My china unicom ซิมสำหรับคนต่างชาติ

    เพราะรักจะติ่ง TFBOYS ไปอีกนานๆ เลยคิดว่ามีซิมจีนติดตัวไว้ดีกว่า ถึงคราวต้องใช้จะได้ไม่ต้องไปรบกวนใคร  แต่นั่นแหละ เพราะว่าเป็นซิมจีน ทริปหนานกิงครึ่งหลังของเราเลยเล่น SNS อย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจาก Wechat และ Weibo

    เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมที่สนามบินหนานกิงถึงไม่มีซิมขายให้คนต่างชาติก็ไม่รู้  ไปเดินหาซื้อตามร้านขายมือถือในตัวเมืองก็ไม่มีร้านไหนยอมขาย โยนกันไปกันมา  เห็นบอกว่าแต่ก่อนใช้พาสปอร์ตลงทะเบียนซิมได้นะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ได้แล้ว ให้ใช้บัตรประชาชนจีนอย่างเดียว  ขณะที่เซี่ยงไฮ้ได้ยินว่ามีตู้กดซื้อซิมตั้งอยู่ที่สนามบินเลยทีเดียว (เมืองอยู่ใกล้กันแท้ๆ)

    7 การทำประกันการเดินทาง

    เราเปลี่ยนไปทำประกันกับทาง MSIG แทน  เพราะเห็นแก่ของแถมเป็นบัตรสตาร์บัคส์แท้ๆ ทริปนี้ยอมซื้อประกันแพงขึ้นมานิดนึง เผื่อดีเลย์+กระเป๋าหาย แต่กลายว่าดีเลย์ไม่ถึง 6 ชั่วโมง เพราะงั้นเคลมไม่ได้นะจ๊ะ  โดนไป 505 บาท ได้บัตรสตาร์บัคส์มูลค่า 100 บาทมา 1 ใบ

    เขียนไปเขียนมา จากที่คิดว่า ทริปหนานกิงก็เหมือนๆ ทริปปักกิ่งปีที่แล้วนั่นแหละ  สรุปว่า รายละเอียดต่างกันเยอะอยู่แฮะ  ในส่วนรีวิวทริปพยายามแบ่งออกเป็น 2 ตอนจะได้เท่ากันกับทริปที่แล้ว  แต่ไม่รู้จะทำได้รึเปล่านะ ยิ่งเป็นพวกเขียนอะไรเรื่อยเปื่อยและคอยจะยาวอยู่เรื่อย (ทวิตเตอร์ไม่เคยตอบโจทย์อ่ะ)  ถ้าชอบอ่านกันไม่ต้องคอมเม้นต์ก็ได้ แต่ช่วยกดแสดงความรู้สึกกันหน่อย จะขอบคุณมากเลย 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in