เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryNamthip Pattamawadee
ประสบการณ์การชมคอนเสิร์ต วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬา ฯ ครั้งแรก
  • *บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาสังคีตนิยม 2737110 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย*


    ในปัจจุบันนี้หากพูดถึงความชื่นชอบของแต่ละคนในเรื่องของการเลือกรับชมหรือรับฟังดนตรี ทุกคนก็คงมีแนวดนตรีที่ชื่นชอบ ศิลปินคนโปรด และคอนเสิร์ตในฝันที่อยากจะไป แต่อาจจะมีน้อยคนที่ตอบว่าชื่นชอบและอยากที่จะไปรับชมคอนเสิร์ตวงซิมโฟนีออร์เคสตรา


    วันนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้รับชมคอนเสิร์ตในรูปแบบออนไลน์ของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในรูปแบบออนไลน์เนื่องในโอกาสครบรอบ 105 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคอนเสิร์ตนี้จัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีระยะเวลาในการแสดงประมาณหนึ่งชั่วโมง จึงอยากนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการชมคอนเสิร์ตนี้มาแบ่งปันให้กับทุกคนได้อ่านค่ะ




    ก่อนจะเข้าสู่ช่วงของการแบ่งปันประสบการณ์ ผู้เขียนอยากจะขอเล่าถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของคอนเสิร์ตนี้เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบกันก่อนเลยค่ะ นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2533 วงซิมโฟนีออเคสตราแห่งจุฬา ฯ ก็ได้จัดกิจกรรมการแสดงดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดแสดงในแต่ละครั้ง ทางวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬา ฯ ก็ได้คัดเลือกบทเพลงที่มีเนื้อหาทางดนตรีอันเข้มข้น เพื่อให้ผู้ฟังได้เพลิดเพลินและรับรู้ถึงคุณค่าทางดนตรี นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้นักดนตรีได้มั่นพัฒนาและฝึกฝนทักษะทางดนตรีอีกด้วย


    การแสดงในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือและการทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจของคณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน รวมถึงศิลปินแห่งมหาวิทยาลัยและผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมาย โดยวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีการพัฒนาในหลายด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของจำนวนคอนเสิร์ตที่นำเสนอในแต่ละฤดูกาล บทประพันธ์ในแต่ละครั้ง รวมไปถึงจำนวนผู้เข้าชมที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง



    การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬา ฯ ได้นำเสนอบทเพลงคลาสสิกของนักประพันธ์ชื่อดัง 2 ท่าน ท่านแรกคือ โยฮันน์ สเตราส์ จูเนียร์ (Johann Strauss Jr.)  นักประพันธ์เพลงและนายวงดุริยางค์ชาวออสเตรีย ผู้ได้รับการยกย่องเป็นราชาเพลงวอลทซ์ แห่งกรุงเวียนนา ด้วยผลงานเพลงวอลทซ์ เพลงเต้นรำ รวมไปถึงผลงานละครจุลอุปรากรราว 16 เรื่อง โดยละครจุลอุปรากรแบบเวียนนา เป็นละครร้องผสมบทพูดเจรจา เนื้อหาสนุกสนาน มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก การเล่นตลก การซ้อนกลไปมาของตัวละคร 



    สำหรับบทเพลงโหมโรงที่มีชื่อเสียงของท่านในการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้มีชื่อว่า Die Fledermaus Overture ซึ่งอุปรากรเรื่อง Die Fledermaus มีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครเอกตัวหนึ่ง แต่งชุดแฟนซีค้างคาวไปในงานเลี้ยง โดยคำว่า Fledermaus ในภาษาเยอรมัน มีความหมายว่า ค้างคาว อุปรากรเรื่องนี้ถูกประพันธ์และนำออกแสดงครั้งแรกที่กรุงเวียนนาในปี 1874 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งจนได้รับการยกย่องว่าเป็นละครอุปรากรแบบเวียนนาที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งของยุคสมัยจนถึงทุกวันนี้


    ลำดับถัดมาเป็นผลงานประเภทซิมโฟนีที่มีชื่อเสียงของ โยฮันเนิส บรามส์ (Johannes Brahms) นักประพันธ์เพลงชาวเยอรมันที่มีความสำคัญที่สุดท่านหนึ่งในสมัยโรแมนติก เนื่องจากท่านได้แต่งเพลงไว้เกือบทุกประเภทของบทประพันธ์ที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น บรามส์ ประพันธ์เพลงประเภทซิมโฟนีไว้ 4 บท และได้รับการยกย่องว่าเป็นซิมโฟนีที่สมบูรณ์แบบ และสำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่ง หลังจากยุคของ Beethoven บรามส์ได้ชื่อว่าเป็นนัก Symphonist ที่สืบทอดแนวทางของนักประพันธ์เพลงรุ่นก่อนจากสมัยคลาสสิกผสมผสานกับทำนองและอารมณ์เพลงโรแมนติก



    สำหรับ Symphony No.2 in D Major, OP. 73 ที่จะนำเสนอในคอนเสิร์ตนี้บรามส์ประพันธ์ไว้ในปี ค.ศ. 1877 ขณะที่ไปพักผ่อนที่เมือง Portschach am Worthersee ของประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นแคว้นที่มีภูเขาและทะเลสาบที่สวยงาม


    หลังจากที่ทุกท่านได้ทราบประวัติและความเป็นมาของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว ผู้เขียนจะขอแนะนำทุกท่านให้ได้รู้จักกับรองศาสตราจารย์ ดร. นรอรรถ จันทร์กล่ำ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2561 ผู้อำนวยเพลงประจำวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬา ฯ และผู้อำนวยเพลงในคอนเสิร์ตนี้ อาจารย์นรอรรถ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางค์ศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตร์จารย์ จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการแสดงไวโอลิน ​ณ สถาบันดนตรีนิวอิงแลนด์ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาดุษฎีบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานการสร้างสรรค์ทางดนตรีที่หลากหลาย ทั้งการอำนวยเพลง การเรียบเรียงประสาน การประพันธ์เพลง การบรรเลงและการขับร้อง อาจารย์นรอรรถและวงรอยัลบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตรา ได้สร้างผลงานที่เป็นนวัตกรรมทางดนตรีชิ้นสำคัญ คือ อัลบั้ม บีเอสโอบรรเลงสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นการผสมผสานบทเพลงสุนทราภรณ์กับวงซิมโฟนีออร์เคสตราและแนวทางการเรียบเรียงแบบดนตรีคลาสสิก



    ตอนนี้บทความของเราก็ได้เดินทางมาถึงช่วงของการบอกเล่าประสบการณ์การรับชมคอนเสิร์ตในครั้งนี้แล้วนะคะ สำหรับการแสดงแรก Die Fledermaus Overture ในช่วงแรกผู้เขียนไม่ได้รับรู้ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับบทละครแต่การเบิกโรงเริ่มต้นขึ้นด้วยมาร์ชที่มีความยิ่งใหญ่ ตามด้วยเสียงเพลงที่มีความสดชื่นแจ่มใส ดูมีชีวิตชีวาทำให้ผู้เขียนมีความรู้สึกเพลิดเพลิน ฟังแล้วสบายใจ และจินตนาการว่าตนเองกำลังวิ่งเล่นอยู่ในสวน ที่มีต้นไม้ให้ความร่มรื่นและมีดอกไม้มากมาย ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ที่มีฉากผู้หญิงตัวเล็ก ๆ กำลังวิ่งเล่นอยู่ในสวน เจอสัตว์มากมายตลอดทาง สลับกับช่วงที่มีทำนองอ่อนหวานและไพเราะแต่ในช่วงท้ายกลับให้ความรู้สึกที่ตื่นเต้น 



    สำหรับซิมโฟนีหมายเลข 2 ก็ให้ความรู้สึกที่สดชื่นแจ่มใสกับผู้ฟังเช่นกัน สมกับการสร้างสรรค์ผลงานของบรามส์ที่ถูกประพันธ์ขึ้นระหว่างการท่องเที่ยวฤดูร้อนของเขา ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม หากท่านใดเคยไปท่องเที่ยวทางตอนใต้ของประเทศออสเตรียในช่วงฤดูร้อนจะสามารถนึกถึงบรรยากาศดี ๆ ที่มีภูเขาและทะเลสาบล้อมรอบได้เลยค่ะ ขณะรับฟังดนตรีตัวผู้เขียนเองก็รู้สึกเช่นนั้นและเสียงดนตรีก็ทำให้ตัวผู้เขียนเองหวนนึกถึงบรรยากาศดี ๆ ตอนที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสบรรยากาศความเป็นธรรมชาติของประเทศนี้มาเช่นกัน 


    ซิมโฟนีหมายเลข 2 ของบรามส์นั้นประกอบด้วย 4 กระบวนตามโครงสร้างของเพลงซิมโฟนีฉบับคลาสสิก ที่มีท่อนเปิดที่เร็วพอสมควร ( Allegro non troppo ) สลับด้วยท่อนที่สองในลีลาที่ช้าพอสมควร ( Adagio non troppo ) ท่อนที่สามในลีลาคล้ายเพลงเต้นรำ ไม่เร็วมากนัก มีความเป็นเพลงในลีลาสง่างาม ( Allego con spirito ) และปิดจบด้วยท่อนส่งท้ายในลีล่าเร็ว ให้บรรยากาศที่แจ่มใส เต็มไปด้วยความสดใสมีชีวิตชีวา ( Allegro con spirito ) สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้มีมากมายหลายชนิด ได้แก่ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส ฟลุต โอโบ คลาริเน็ต บาสซูน ฮอร์น ทรัมเป็ต ทรอมโบน เบสทรอมโบน ทูบา และเครื่องกระทบจังหวะ 





    สำหรับเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจลองมานั่งชมคอนเสิร์ตนี้ ก็เพราะว่าผู้เขียนมีโอกาสได้เรียนวิชาสังคีตนิยม ทำให้ผู้เขียนได้เริ่มต้นเรียนรู้ เปิดหู เปิดใจฟังดนตรีที่หลากหลายชนิดมากขึ้น จึงเลือกรับชมคอนเสิร์ตวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะไม่เคยได้รับชมมาก่อนเลย ตัวผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากค่ะ เพราะเป็นประสบการณ์ใหม่ในชีวิต ระหว่างรับฟังก็รู้สึกผ่อนคลายไปกับเพลงด้วย นอกจากนี้ระหว่างการแสดงยังได้เห็นถึงความสามารถของนักดนตรีทุกท่าน ที่ร่วมมือร่วมใจกันจนทำให้คอนเสิร์ตนี้ออกมาอย่างน่าประทับใจมาก ๆ 


    ส่วนใครที่สนใจอยากลองเปิดประสบการณ์ทางดนตรีแบบผู้เขียนก็สามารถลองเข้าไปกดติดตามแฟนเพจ Facebook : CU Art Culture , CU Symphony Orchestra Line : @cuartculture Youtube : CU Art Culture และ Instagram : cu.art.culture เพื่อรับข่าวสารเกี่ยวกับการจัดแสดงคอนเสิร์ตใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือจะรับชมคอนเสิร์ตที่ผ่านมาย้อนหลังก็ได้นะคะ 


    ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกท่านได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการรับชมและรับฟังดนตรีนะคะ

                                                                                                                                                 

                                                                                                                                                          ปฐมาวดี แสงพล 



    หากผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/10811/



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in