บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 2737110 สังคีตนิยม (Music Appreciation)
สวัสดีค่ะ สำหรับบทความนี้เราก็อยากจะมารีวิวการไปดูคอนเสิร์ต STRAY KIDS 2ND WORLD TOUR “MANIAC” Live in Bangkok ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตครั้งแรกในชีวิตของเราเลย!
ผู้อ่านท่านใดที่อาจจะมีความคุ้นเคยกับวงการ K-POP หรือติดตามข่าวสารเวลามีศิลปินมาจัดคอนเสิร์ตที่ไทย อาจจะพอคุ้น ๆ หูหรือเคยเห็นผ่าน ๆ ตามาบ้างว่านี่เป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตที่ราคาบัตรแพงแบบไม่สมเหตุสมผล จนกระทั่งเหล่า STAY (ชื่อแฟนคลับของวง) รวมตัวกันยื่นเรื่องร้องเรียนสคบ.กันเลยทีเดียว (แม้ยื่นไปแล้วจะไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงก็ตาม…)
ก่อนอื่นขอเท้าความก่อนสักเล็กน้อย ว่าวง ‘Stray Kids’ ที่ว่านี่คือวงอะไร แล้วอะไรทำให้เราที่ไม่เคยดูคอนเสิร์ตจริงจังมาก่อนเลยยอมเสียเงินซื้อบัตร(ที่ราคาไม่ถูก)ไปดูถึงในฮอลล์
วง Stray Kids (หรือที่คนมักเรียกกันว่า ‘เด็กหลง’) เป็นวงบอยกรุ๊ปจากประเทศเกาหลีใต้ ที่เดบิวต์ในปี 2018 มีสมาชิกทั้งหมด 8 คน ได้แก่ บังชาน ลีโน ชางบิน ฮยอนจิน ฮัน ฟีลิกซ์ ซึงมิน และไอเอ็น จุดเด่นของวงนี้คือเป็นวง self-produced group หรือเป็นวงที่สมาชิกโปรดิวซ์เพลงเองมาตั้งแต่อัลบั้มแรกเลย โดยจะมีโปรดิวเซอร์หลักของวงเป็นยูนิต 3RACHA ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 3 คน คือ บังชาน ชางบิน และฮัน ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ก็คอยมีส่วนร่วมบ้างเช่นกัน
เพลงส่วนใหญ่ของวงนี้จะค่อนไปทางแนว Hip-Hop / Electronic / EDM ที่มีบีทที่ค่อนข้างหนัก ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยความขี้เล่นและความ Creative ในการใช้เสียงเอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ แทรกในทำนองเพลง (โดยเฉพาะเสียงไซเรนที่ใช้ในหลายเพลงมากจนคนฟังชอบหลอนว่ามีรถฉุกเฉินอยู่แถวนี้หรือเปล่า) และยังมีโครงสร้างทางดนตรีที่คาดเดาได้ยาก ลักษณะเหล่านี้ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำวง Stray Kids แม้ว่ามันจะทำให้คนจำนวนหนึ่งให้คำนิยามเพลงของ Stray Kids ในด้านลบ ว่าเป็น ‘Noise Music’ หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า ‘เพลงหูแตก’ แต่พวกเขากลับมองว่าสิ่งนี้นี่แหละคือ ‘อาวุธ’ ของวง
จริง ๆ แล้วเดิมทีเราไม่ใช่คนที่ชอบฟังเพลงที่ดนตรีหนัก ๆ เลยค่ะ แต่พอลองเปิดใจดูก็รู้สึกชอบลูกเล่นในการทำเพลงของ Stray Kids มาก ๆ รู้สึกสนุกในการฟังองค์ประกอบต่าง ๆ ในเพลงมาก หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจไปดูคอนเสิร์ต ก็เพราะว่าวงนี้เป็นวงที่ขึ้นชื่อเรื่อง performance ดี ร้องสดจัดเต็ม และมีแต่เพลงมันส์ ๆ ที่ hype ผู้ชมได้ แถมเวิลด์ทัวร์ในครั้งนี้พวกเขายังขนวง live band มาด้วย! แม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับก็ยังพูดกันทุกคนว่าโชว์ของ Stray Kids ดีมาก ๆ เราที่ชอบตัวศิลปินอยู่แล้วด้วยจึงพลาดไปไม่ได้แน่นอนค่ะ
STRAY KIDS 2ND WORLD TOUR “MANIAC” Live in Bangkok จัดขึ้นที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี และวันศุกร์...😇 โชคดีที่วันศุกร์เรามีเรียนแค่ช่วงเช้า เลยไปได้โดยไม่ต้องลาหยุดค่ะ (แต่ครั้งหน้าก็ได้โปรดจัดวันเสาร์-อาทิตย์เถอะนะ) สำหรับการเดินทาง ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะมีท่ารถตู้ไปอิมแพ็ค แล้วก็มีรถเมล์ที่ผ่านด้วย ตอนแรกเราตั้งใจจะขึ้นรถตู้ไปค่ะ แต่พอถึงเวลาแล้วแถวรถตู้นั้นเต็มไปด้วยมนุษย์เสื้อชมพู (สี dress code ของคอนเสิร์ต) ทั้งแถวยาวแล้วอากาศก็ร้อนมากด้วย สุดท้ายเลยตัดสินใจหาร Grab Taxi กับแฟนคลับท่านอื่น(ที่เพิ่งรู้จักกัน)ไปแทนค่ะ
สำหรับความเหมาะสมของสถานที่กับการแสดง ในแง่ความจุของสถานที่กับวันจัดงานเทียบกับจำนวนฐานแฟนในประเทศ อาจจะไม่ได้เหมาะสมเท่าไหร่ค่ะ เพราะเดิมทีฐานแฟนในประเทศไทยของวงไม่ได้เยอะมากเป็นทุนเดิม แต่ราคาบัตรสูงมาก แล้วยังจัดคอนเสิร์ตในวันธรรมดาอีก ขนาดแฟนคลับจำนวนหนึ่งยังต้องยอมแพ้ไปเพราะไม่สามารถลางาน ลาเรียนมาดูได้ การจะดึงแฟนเพลงขาจรมาดูคอนเสิร์ตยิ่งทำได้ยากค่ะ วันพฤหัสบดีจึงมีที่นั่งว่างอยู่ประมาณหนึ่ง ส่วนวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่เราไป ถือว่าคนมาค่อนข้างเต็มฮอลล์อยู่ค่ะ แต่ในแง่ของสเกลงานแสดง คิดว่าการจัดที่อิมแพ็คก็น่าจะเหมาะสมแล้ว เพราะเป็นฮอลล์ที่กว้างขวาง เวทีใหญ่กว่าธันเดอร์โดม มีพื้นที่เพียงพอสำหรับไลฟ์แบนด์และการวางพร็อพในการแสดง
วินาทีที่เข้าฮอลล์ไปรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก ๆ ค่ะ ฮอลล์กว้างมากและคนเยอะมาก เหมือนเป็นอีกโลกใบหนึ่งเลย แสงสีเขียวจากจอภาพสว่างไปทั่วทั้งฮอลล์ (เพราะ Theme ของ Maniac คือสีเขียว) เสียงแฟนคลับดังอึกทึกครึกโครมตั้งแต่ยังไม่เริ่มคอนเสิร์ตดี (และคนต่างชาติเยอะมาก ๆ ได้ยินเสียงคนคุยกันเป็นภาษาอื่นตลอดเลยค่ะ) พอคอนเสิร์ตเริ่มแล้วทุกคนก็กรี๊ดสนั่นและร้องตามเพลงอย่างสนุกสนาน
ในส่วนถัดไปจะเข้าสู่การรีวิวการแสดงแล้วค่ะ ก่อนอื่นขอเขียน setlist เพลงทั้งหมดเอาไว้ก่อน แล้วจะพูดถึงการแสดงทีละส่วนอย่างคร่าว ๆ จากนั้นก็จะหยิบ 1 บทเพลงมาวิเคราะห์ค่ะ
รวมทั้งหมด 26 เพลง (ไม่รวมเพลงในช่วง Impromptu Solo) ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที การแสดงจะมีทั้งส่วนที่ใช้ดนตรีต้นฉบับ (เพลงที่ 1-10, 19-22 รวม 14 เพลง) และส่วนที่มีวงดนตรีสดมาเล่นประกอบการแสดง (เพลงที่ 11-18, 23-26 รวม 12 เพลง)
การแสดงเริ่มจากเพลง MANIAC ซึ่งเป็นตีมหลักของคอนเสิร์ตนี้ และค่อย ๆ ดำเนินต่อไปตามลำดับแต่ละเพลงที่ขนมาในคอนเสิร์ตครั้งนี้ล้วนเป็นเพลงเต้นที่มีจังหวะเร็ว ดนตรีหนัก เร้าอารมณ์ผู้ชมได้เป็นอย่างดี และสมาชิกในวงแต่ละคนทำการแสดงอย่างเต็มที่ แม้จะเต้นอย่างหนักแต่ก็ยังสามารถประคองเสียงร้องได้อย่างดี แม้จะมีการเปิด backing track เสียงร้องคลอด้วย แต่ก็ยังได้ยินเสียงร้องสดของสมาชิกทุกคนอย่างชัดเจน และยังมีการ improvise การร้องให้แตกต่างออกไปจากเดิม รวมถึงมีการตะโกน hype ผู้ชมเพื่อเพิ่มความสนุกสนานตลอดการแสดง
ส่วนที่เราประทับใจมาก ๆ ในคอนเสิร์ตคือช่วงเพลง 11-13 (Thunderous-DOMINO-God's Menu) เป็นช่วงที่วงดนตรีสดเปิดตัวเป็นครั้งแรก การแสดงในส่วนนี้จะเริ่มจาก Intro เต้นพร้อมเสียงดนตรีพื้นบ้าน และการแร็ปเปิดก่อนเริ่มเพลงของ ‘ชางบิน’ จากนั้นจึงเปิดตัววงดนตรีและเข้าตัวเพลง เดิมทีเพลง Thunderous จะเป็นเพลง Hip-hop ผสม Trap ที่มีการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของเกาหลีมาผสมผสาน ทำให้มีกลิ่นอายของดนตรีพื้นบ้านเข้ากับเพลงที่เล่นกับความเป็นสมัยโบราณของเกาหลี ในฉบับดนตรีสดจะมีบางส่วนที่ใช้เสียงดนตรีเดิมจาก backing track แต่บางส่วนก็ใช้เสียงกีตาร์ไฟฟ้าในการเลียนแบบเสียงดนตรีพื้นบ้านนั้น ๆ แทน ซึ่งจะให้ความรู้สึกร่วมสมัยขึ้นมามากขึ้น ทั้ง 3 เพลงนี้เป็นเพลงดังที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวงได้เป็นอย่างดี เดิมทีก็เป็นเพลงที่ดนตรีหนัก และมีท่อนร้องที่น่าจดจำ พร้อมให้ผู้ชมร้องตามอยู่แล้ว พอเป็นเวอร์ชั่นดนตรีสดแบบในคอนเสิร์ต เสียงกีตาร์ เบส คีย์บอร์ด และกลองชุดแน่น ๆ ยิ่งเสริมให้เพลงสนุกยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนตัวคิดว่า Setlist นี้เรียงลำดับเพลงได้เป็นอย่างดีและถูกต้องมาก ๆ ช่วง 3 เพลงนี้เรียงต่อกันคือช่วงที่สนุกที่สุดและพีคที่สุดของคอนเสิร์ตเลย
ในส่วนของ 1 บทเพลงที่เราอยากหยิบมาวิเคราะห์ จะเป็นเพลง Waiting For Us ซึ่งเป็นเพลงช้า vocal-based เพลงเดียวในคอนเสิร์ต ต่างจากส่วนอื่น ๆ ในคอนเสิร์ตที่จะเป็นแนว Hip-hop / EDM เพลงเต้นที่จังหวะเร็ว ๆ และมีแร็ปเป็นจุดเด่น
ขออนุญาตใช้คลิปวิดีโอจากคุณ SKZzz ประกอบ เนื่องจากวิดีโอที่เราถ่ายมาเองมีเสียงแทรกค่อนข้างมากค่ะ 🙏🏻
เพลง Waiting For Us (ชื่อเกาหลี : 피어난다 แปลว่า เบ่งบาน) เป็นเพลงแนว Rock Ballad เน้นโวคอล ไม่มีท่อนแร็ป ของยูนิตโวคอลไลน์ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ บังชาน ลีโน ซึงมิน และไอเอ็น โดยที่สมาชิกทั้ง 4 คนเป็นคนแต่งเนื้อร้องด้วยตนเอง ในส่วนของทำนองเพลงนี้ แต่งด้วยสมาชิกทั้ง 4 และมีโปรดิวเซอร์ Nickko Young เข้ามาร่วมแต่งด้วย เรียบเรียงโดยบังชาน และคุณ Nickko Young เพลงนี้เป็นเพลงที่พูดถึงการกลับมาพบกันอีกครั้งของพวกเขาและเหล่าแฟนคลับหลังจากผ่านช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ไม่ได้เจอกันมาถึง 2 ปี พวกเขาใช้คอนเซ็ปต์ของฤดูกาลในการสื่อความหมาย ฤดูหนาวหมายถึงช่วงเวลาที่ไม่ได้พบเจอกัน แต่ ณ ช่วงเวลานี้ เราได้ผ่านช่วงเวลาอันหนาวเหน็บ หิมะที่ปกคลุมหัวใจได้ละลายลงเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาเยือน ฤดูใบไม้ผลิเป็นทั้งฤดูที่ดอกไม้เบ่งบาน และฤดูที่ Stray Kids และ STAY ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง การแสดงเพลงนี้ในคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นได้หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด จึงมีความหมายสำคัญมาก ๆ และให้ความรู้สึกอบอุ่นหัวใจเป็นอย่างมาก
Intro ของเพลงเริ่มด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ เสียงกีตาร์โดดเด่น มาจนถึงท่อน Verse ก็ยังไม่มีเสียงกลอง จนกระทั่งเข้าท่อนแยก ที่เมื่อฟังครั้งแรกอาจจะคิดว่าเป็น Chorus เพราะดนตรีเปลี่ยนไป และมีเนื้อเพลงที่ร้องชื่อเพลงภาษาเกาหลี (피어난다) แต่เมื่อฟังต่อไปจนจบจะรู้ว่าท่อนนี้ยังไม่ใช่ท่อนคอรัส ในท่อนแยกนี้กลองจะเริ่มบรรเลงขึ้นเบา ๆ ต่อมาเมื่อเข้า Verse ใหม่ เสียงกลองจะเริ่มเด่นชัดขึ้นมา ดนตรีโดยรวมจะหนักแน่นขึ้นกว่าช่วงแรก จากนั้นจะเป็นท่อน Chorus ที่แท้จริง ที่มีเนื้อเพลงส่วนแรกเป็นภาษาอังกฤษและมีชื่อเพลงรวมอยู่ ทำให้ผู้ฟังจดจำได้ง่าย (Cause I’m right here, waiting for us) ต่อด้วย Post-chorus ที่ไม่มีเนื้อร้อง แต่เป็นเสียงร้องคลอไปกับทำนองก่อน แล้วค่อยมีเนื้อร้อง 1 ท่อนที่เร้าอารมณ์ได้ดี ต่อจากนั้นจะตามมาด้วยท่อน Bridge เสียงกลองและเครื่องดนตรีอื่น ๆ จะเงียบลง มีเพียงเสียงกีตาร์และเสียงร้อง ชูให้เสียงร้องโดดเด่นขึ้นมา ต่อจากนั้นจะมี Harmony คลอเล็กน้อยเป็น Background vocals แล้วเครื่องดนตรีอื่น ๆ จึงค่อย ๆ กลับมาเล่นเพื่อบิลด์อารมณ์ไปสู่ Chorus สุดท้าย ในส่วนของ Post-chorus สุดท้ายนี้ เสียงร้องคลอทำนองที่ครั้งแรกเป็นเสียงร้องหลัก จะกลายเป็น Background vocals เพราะมีการแทรกเนื้อเพลงเพิ่มเข้ามาระหว่างนั้น ทำให้แตกต่างจาก Post-chorus แรก เพลงนี้จบลงที่เสียงร้องท่อนสุดท้ายใน Post-chorus ไม่มี Outro ในส่วนของ Musical Texture เพลงนี้ จะเป็นแบบ Homophonic แต่ในช่วง Bridge และ Post-chorus ที่ 2 จะเป็น Polyphonic ด้วย
สำหรับการแสดงสด ดนตรีจะคงเดิม เพราะดนตรีเดิมก็เป็นดนตรีวงแบนด์อยู่แล้ว ไม่ได้มีการ rearrange แต่ในส่วนของการร้อง สมาชิกบางคนมีการ Improvise บิดโน้ตให้ต่างออกไปจากฉบับ Audio ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น แต่ละคนสามารถสื่ออารมณ์ออกมาได้เป็นอย่างดี เป็นโชว์ที่โดยส่วนตัวคาดหวังมากเพราะชอบเพลงนี้ที่สุดในบรรดา setlist ทั้งหมด แล้วก็ไม่ผิดหวังเลยจริง ๆ ค่ะ แม้ว่าวง Stray Kids อาจจะโดดเด่นและมีภาพจำในแง่ของการแร็ปที่ดุดันมากกว่า แต่ในด้านโวคอลก็ทำได้ดีเช่นกัน และสมาชิกแต่ละคนก็แสดงให้เห็นศักยภาพที่พร้อมจะพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ
โดยรวมแล้วคอนเสิร์ต STRAY KIDS 2ND WORLD TOUR “MANIAC” Live in Bangkok เป็นคอนเสิร์ตที่สนุกมาก อัดแน่นไปด้วยคุณภาพและความมันส์เต็มอิ่ม แทบไม่มีช่วงดร็อปเลยตลอดเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง สมาชิกทุกคนและวงดนตรีสดเต็มที่กับการแสดงมาก ๆ และเอ็นเตอร์เทนผู้ชมได้เป็นอย่างดี และถึงแม้จะเป็นเวิลด์ทัวร์ที่มีเซ็ตลิสต์หลักเหมือนกันทุกประเทศ แต่โชว์ Impromptu ของสมาชิกกับวงดนตรีสดในช่วง Intermission การสับเปลี่ยนยูนิตก็เป็นจุดนึงที่ช่วยทำให้โชว์แต่ละประเทศไม่ซ้ำซากจำเจเลย รู้สึกประทับใจสมาชิกที่คอยหาเพลงใหม่ ๆ มาร้องให้ผู้ชมฟังอยู่ตลอด รวมถึง VCR ที่เปิดในช่วงระหว่างพักการแสดงก็มีโปรดักชันที่ยิ่งใหญ่ ช่วยสร้างบรรยากาศและเสริมอารมณ์ให้เข้ากับตีม Maniac (คนบ้าคลั่ง) ของคอนเสิร์ตได้อย่างดี
ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าในแง่ของโปรดักชันและคุณภาพของการแสดง คอนเสิร์ตนี้ทำได้ดีมาก ๆ แล้ว จุดที่เห็นว่าควรปรับปรุงจะเป็นปัจจัยอื่น ๆ เช่น วันจัดแสดง และความไม่เป็นมืออาชีพในหลายจุดของผู้จัดคอนเสิร์ตในไทยเสียมากกว่า ถ้าตัดปัจจัยเหล่านี้ไป คอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นการเปิดประสบการณ์ไปคอนเสิร์ตครั้งแรกในชีวิตของเราที่น่าประทับใจมากจริง ๆ ค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in