เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Story จิปาถะNopportunity
"หุ่นหลวง" จากข้าวกล่องสู่งานพระราชพิธี
  • “ขอข้าวกินหน่อย”

    ชายท่าทางสติไม่สมประกอบเอ่ยขึ้นกับชายหนุ่มอีกคนที่ยืนอยู่หน้าร้านอาหารริมทางในจังหวัดเพชรบุรี


    ชายหนุ่มตัดสินใจซื้ออาหารแล้วยื่นให้ชายแปลกหน้ากล่องหนึ่งโดยคิดเสียว่าเป็นการทำบุญ


    “เอานี่ไป”

    ชายสติไม่ดีกล่าวพร้อมยื่นหนังสือเปียกน้ำเก่าๆให้ชายหนุ่มเป็นการตอบแทน


    แม้ตำราจะไม่ได้ถูกเขียนด้วยภาษาไทย กมล การกิจเจริญ หรือครูกมล ซึ่งสนใจและศึกษาเรื่องราวของหุ่นสำหรับการแสดงนาฏศิลป์มาเป็นเวลานาน ก็พอจะรู้ว่าหนังสือเปียกน้ำเล่มนี้เป็นตำราการสร้างหุ่นไม่ผิดแน่


    “ไปเอามาจากไหน”

    ความสงสัยเกิดขึ้นกับครูกมล แต่ยังไม่ทันได้เอ่ยปากถาม ชายสติไม่ดีก็หายไปเสียแล้ว


    ตำราเก่าๆที่ดูจากภายนอกแล้วน่าจะผ่านกาลเวลามานานพอสมควร ผนวกกับน้ำที่เปียกซึมอยู่ทำให้ตัวหนังสือที่เขียนด้วยหมึกเริ่มเลือนลางไปหลายจุด


    แม้จะอ่านไม่ออกแต่ความรู้และประสบการณ์ที่มีทำให้ครูกมลพอจะรู้ว่าน่าจะเป็นภาษาบาลี และรู้ว่าจะต้องขอความช่วยเหลือจากใคร


    หลวงพ่อวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี ได้ระดมพระสงฆ์ที่รู้ภาษาบาลีมาช่วยกันแปลตำรา จึงรู้ว่าเป็นตำราวิธีการสร้างหุ่นหลวง การแสดงที่สูญหายไปในสมัยรัชกาลที่ 5


    หุ่นหลวงแตกต่างจากหุ่นเชิด หรือหุ่นกระบอกที่เราเคยเห็นกันตรงที่สายที่ใช้ในการเชิดหุ่นจะถูกขึงซ่อนไว้ภายในตัวหุ่น ทำให้เวลาแสดงผู้ชมจะไม่เห็นสายระโยงระยาง หรือก้านไม้ที่ใช้ในการเชิด แม้จะมีการขึงสายไว้มากเกือบ 20 เส้นก็ตาม


    หุ่นหลวงเริ่มลดความนิยม และสูญหายไปในสมัยรัชกาลที่ 5


    เป็นเวลากว่า 150 ปีที่หุ่นหลวงถูกสรุปว่าเป็นสิ่งที่หายสาบสูญ ไม่มีตำราบันทึกวิธีการสร้าง และขึงสาย หรือแม้แต่วิธีการเล่น และเพลงประกอบ เหลือแต่เพียงตัวหุ่นโบราณที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา เท่านั้นที่พอจะเป็นหลักฐานได้ว่าหุ่นหลวงเคยมีอยู่จริง


    คงเป็นเรื่องยากสำหรับใครที่จะยอมรับว่าตำราที่หายไปกว่า 150 ปีนี้จะมีอยู่จริง และมีผู้ได้รับมาจากชายเสียสติ และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆเมื่อครูกมลนำเรื่องนี้ไปบอกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ถูกมองว่าสร้างเรื่องขึ้นมา หรือเป็นตำราที่เขียนขึ้นมาเองหรือเปล่า?


    ครูกมลได้สร้างหุ่นต้นแบบขึ้นมาจากตำราที่ได้รับ และนำไปเป็นหลักฐานว่าตำราเล่มนี้เป็นของจริง และหุ่นที่สร้างขึ้นมาก็ใช้งานได้จริง


    “ถ้าผมคิดเอง เขียนเองได้ขนาดนี้ รบกวนขอตำแหน่งศาสตราจารย์ให้ผมด้วยครับ” 

    เมื่อมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ หุ่นหลวงจึงถูกชุบชีวิตขึ้นมาอย่างเป็นทางการ สัดส่วน และลวดลายของตัวหุ่นกะตามหุ่นโบราณในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรื่องราวที่เล่น และฉากประกอบเป็นไปตามภาพฝาผนังวัดมัชฌิมาวาส ชิ้นส่วนความทรงจำอันเลือนลางถูกรวบรวมมาประกอบกันจนเป็นรูปเป็นร่าง


    มีตัวหุ่นแล้ว มีเรื่องราวแล้ว สิ่งที่ขาดไปคือดนตรีประกอบ และวิธีการเชิด สองสิ่งนี้ไม่มีบันทึกไว้ในที่ใดทั้งสิ้น และบุคคลที่ร่วมสมัยกับการแสดงหุ่นหลวงนั้นก็ล้มหายไปจนหมดสิ้นแล้ว ความหวังสุดท้ายจึงเป็นลูกหลานของท่านเหล่านั้นที่อาจมีโอกาสได้เห็น ได้ยินคำบอกเล่าจากบรรพบุรุษมาบ้าง


    โชคดีที่ครูกมลเป็นคนที่สนใจในเรื่องของหุ่นมาเป็นเวลานาน จึงมีโอกาสได้คุยกับครูเจริญใจ สุทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต  ครูเจริญใจ เป็นทายาทของครูแช่ม สุนทรวาทิน หรือพระยาเสนาะดุริยางค์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ซึ่งเคยเล่นดนตรีประกอบหุ่นหลวงในสมัยนั้น


    ครูกมลนำความรู้จากการพูดคุยในครั้งนั้นมาประกอบเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายทำให้การแสดงหุ่นหลวงกลับมามีลมหายใจอีกครั้ง


    หุ่นหลวงถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งในการแสดงมหรสพในงานพระราชทานเพลิงศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และครูกมลก็ถูกเลือกให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการแสดงชุดนี้อย่างเป็นทางการ


    “ไปเอามาจากไหน”

    จนถึงวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าชายเสียสติคนนั้นเป็นใคร และไปเอาตำราเล่มนี้มาจากไหน และใครจะรู้ว่าข้าวหนึ่งกล่องจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ และบุญจากการให้จะยิ่งใหญ่ได้เพียงนี้

    แม้ผมเองจะมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับครูกมลอยู่บ่อยๆ  แต่เรื่องราวเหล่านี้มาจากคำบอกเล่าของ อ.ศุภกร ครูดนตรีไทยของผม คนสนิทของครูกมล และหนึ่งในคณะนักแสดงหุ่นหลวงบนเวทีมหรสพงานพระราชพิธีฯ ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ


    ภาพการแสดงสด (จาก youtube)




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in