วันแรก... การต่อสู้กับความกลัว
07.30 นาฬิกาของเช้าวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2558 เช้าที่แสงแดดรีบทำงานเช้าที่ฉันไม่ได้นอนอ้อยอิ่งอยู่บนเตียงเช่นทุกวันที่เคยเป็น...ฉันกำลังนั่งอยู่ที่สนานีรถไฟศาลายาเพื่อรอรถไฟขบวนรถบริการสังคม (หรือจะเรียกให้ง่ายก็รถไฟฟรีจากภาษีประชาชนนี่แหละ)รอบ 08.21 นาฬิกา ต้นทางศาลายา มุ่งหน้าสู่สถานีน้ำตก กาญจนบุรีผู้คนที่สถานีมีไม่มากนัก เพราะเป็นวันธรรมดา ฉันมาพร้อมกับเป้ 1 ใบและกล้องคู่ใจ นั่งรอด้วยใจที่เต้นไม่เป็นจังหวะเท่าใดนักเนื่องจากนี่คือการนั่งรถไฟไทยครั้งแรกในชีวิตและที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้นคือการเดินทางด้วยตัวเอง...ด้วยตัวฉันและใจฉัน
ความรู้สึกตอนนั่งรอรถไฟอยู่นั้นเต็มไปด้วยความกลัวมากมายกลัวเพราะยังไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไรข้างหน้าธรรมชาติของมนุษย์ย่อมกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพื่อสร้างเกราะกำบังให้จิตใจแต่ถ้ามัวแต่กลัวแล้วเราจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างไรกันฉันคิดมากมายร้อยแปด แต่สุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็พาตัวเองขึ้นมานั่งบนรถไฟเป็นที่เรียบร้อยไม่มีใครรู้ว่าอะไรทำให้ฉันตัดสินใจทำแบบนี้ เพราะฉันเองก็อยากรู้ตัวเองเหมือนกัน...การเดินทางเริ่มต้นขึ้นแล้ว
ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจเดินทางฉันอ่านรีวิวการแบกเป้เดินทางด้วยตัวเอง เก็บข้อมูลเยอะมากมากจนคิดขึ้นมาได้ว่ามัวแต่อ่านประสบการณ์ของคนอื่นแล้วเมื่อไรจะได้สร้างประสบการณ์ของตัวเองสักทีถ้ามัวแต่คิดมันก็คงอยู่แค่ในความคิดแต่ถ้าคิดแล้วลงมือทำความคิดคงจับต้องได้ขึ้นมา... อยากทำก็ทำเลยชีวิตมันไม่ได้มีเวลามานั่งลังเลกับอะไรมากนักโอกาสและประสบการณ์บางทีก็ต้องวิ่งเข้าหา... อย่างน้อยก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ลองนั่งรถไฟไทยครั้งแรกในชีวิตแบบตอนนี้และความบังเอิญก็คือวันที่ฉันนั่งรถไฟเป็นครั้งแรกนี้ตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟครบปีที่118 พอดิบพอดี
เสียงลือเสียงเล่าอ้างกันว่าทางรถไฟสายที่ฉันนั่งอยู่นี้คือสายที่สวยที่สุดในประเทศไทยและการเดินทางก็ยาวนานมากด้วยเช่นกันถึงจะนานมากและร้อนมากแต่การนั่งมองระหว่างทางและปล่อยให้ความคิดได้โลดแล่นก็ทำให้ลดความเร่งรีบของชีวิตลงได้มองความสวยงามของสิ่งรอบตัวอย่างที่ไม่เคยมองมาก่อน ได้ลองใช้ชีวิตช้าๆให้ใจได้คิดและหยุดพักบ้าง ... นี่สินะที่เค้าบอกว่าบางครั้งระหว่างทางก็สำคัญไม่แพ้จุดหมายปลายทางเลย...ถ้าไม่ได้เรียนรู้ความลำบากของระหว่างทางแล้วจะรู้จักความสุขของปลายทางได้อย่างไร
การเดินทางอันแสนยาวนานบนรถไฟไทยกับอากาศอันอบอ้าวของหน้าร้อนในที่สุดก็มาถึง “ทางรถไฟสายมรณะ” (แต่ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางนะ) ที่บอกกันว่าสวยเคยเห็นในรูปก็ว่าสวยแล้ว แต่เมื่อมาเห็นด้วยสองตาของตัวเองมันสวยกว่าภาพที่เห็นนัก ไม่เสียแรงที่เดินทางมาหา แต่ก็เช่นกันภาพที่ถ่ายมาคงไม่สามารถสะท้อนความจริงได้ทั้งหมดอย่างน้อยก็อธิบายได้ยากว่าตอนที่ถ่ายภาพมานั้นฉันรู้สึกอย่างไรมีแต่เพียงฉันเท่านั้นที่เข้าใจอารมณ์ ณ ตอนนั้น ถ้าอยากรู้ก็คงต้องมาสัมผัสเอง
สำหรับทางรถไฟสายมรณะ(The Death Railway) สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้แรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านไปยังประเทศพม่าการสร้างทางรถไฟและสะพานเต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงคราม โรคภัยและการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกที่ถูกเกณฑ์มาสร้างต้องเสียชีวิตลงทางรถไฟสายนี้จึงถือได้ว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความโหดร้ายของสงครามและเป็นอนุสรณ์ที่ทำให้ระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตที่ถึงแม้จะจากไปแต่ยังสร้างความทรงจำเอาไว้ให้กับโลกนี้อาจจะเป็นความทรงจำที่ไม่สู้ดีเท่าใดนักแต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าประวัติศาสตร์ไม่ควรจะซ้ำรอยเดิมถึงแม้ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ แต่เราทำปัจจุบันให้ดีได้เพื่ออนาคตที่ดีเช่นกัน
นั่งรถไฟไปได้อีกสักพัก(ใหญ่ๆ) ในที่สุดก็มาถึงจุดหมายปลายทางสถานีน้ำตก ในตั๋วรถไฟบอกว่าต้องมาถึง 12.53นาฬิกาฉันเหลือบมองนาฬิกาข้อมือ นี่มันบ่ายสองกว่าๆ แล้ว จะทันเวลาไหม เพราะจุดหมายปลายทางจริงๆที่เดินทางมาในครั้งนี้ไม่ใช่แค่สถานีน้ำตก แต่เป็น “สังขละบุรี”ที่หาข้อมูลมาบอกว่าสังขละบุรี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 215 กิโลเมตร...อีกไกลมาก วันนี้เดินทางทั้งวันโดยยังไม่มีวี่แววของจุดหมายเลย
คุณป้าแม่ค้าขายของฝากที่สถานีน้ำตกบอกว่าจะไปสังขละฯ ต้องไปโบกรถกาญจนบุรี – ทองผาภูมิ – สังขละบุรี (ขอเรียกว่ารถหวานเย็น)ที่ด้านหน้าทางขึ้นน้ำตก โดยต้องต่อรถสองแถวลงไป ราคา 20 บาท (หลายต่อมาก)เมื่อรถสองแถวมาปล่อยลงตรงทางขึ้นน้ำตก สักพักรถหวานเย็นที่รอคอยก็มาถึงค่าเดินทางชิวๆ คือ 120 บาท บวกกับระยะทางและเวลาอีกแสนยาวนาน ... สังขละฯ จ๋า รอก่อนนะใกล้จะได้เจอกันแล้ว
การเดินทางด้วยรถหวานเย็นต้องไปเปลี่ยนรถอีกคันที่อำเภอทองผาภูมิเพื่อไปยังสังขละบุรี กว่าจะมาถึงจุดเปลี่ยนรถ เวลาก็ล่วงเลยมาจน 16.00 นาฬิกาแล้วแสงแดดในตอนแรกที่แสนรุนแรง ตอนนี้กลับดูครึ้มฟ้าครึ้มฝน...สภาพอากาศดูขมุกขมัวไม่ต่างจากใจฉันในตอนนี้เลย
ระหว่างต่อรถที่อำเภอทองผาภูมิเพื่อไปยังอำเภอสังขละบุรีระยะทางไกลแสนไกล ไกลเหมือนจะไปอีกประเทศหนึ่ง สองข้างทางมีแต่ป่าและภูเขาและแน่นอนว่าไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ฉันถูกตัดขาดจากโลกเสมือนที่เป็นเพื่อนกันมาตลอดทางเรียบร้อยแล้วตอนนี้ต้องอยู่กับตัวเอง... อยู่กับความกลัวและต้องเอาชนะความกลัวด้วยเช่นกัน
... สักพักฝนก็เทลงมาอย่างไม่ขาดสาย...
มองป้ายข้างทางผ่านหน้าต่างกระจกรถหวานเย็นที่เต็มไปด้วยฝ้า ป้ายบอกว่าอีก 60 กิโลเมตรถึงสังขละบุรี แต่นั่งมาได้อีก 20 นาที ป้ายต่อมาบอกว่า อีก 59 กิโลเมตรต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ อย่าไปสนใจกับป้ายเลยตอนนี้ต้องจัดเก็บอารมณ์กลัวไปไว้มุมใดมุมหนึ่งของห้วงความคิดจะดีกว่าจะเปลี่ยนใจกลับบ้านตอนนี้คงไม่ทัน เพราะมาไกลแล้ว ไม่แน่ใจว่าน้ำตาที่ซึมๆนี่เพราะลมเข้าตาหรืออะไร... ฉันอยู่ในระหว่างทางที่ต้องเอาชนะความกลัวเพื่อไปถึงจุดหมายให้ได้... ชีวิตก็เช่นกัน
ระหว่างทางงดงามเสมอถึงแม้จะเป็นระหว่างทางที่เต็มไปด้วยสายฝน แต่เราก็ได้มองเห็นความเจริญงอกงามของอีกหลายชีวิตสายฝนไม่ได้เป็นอุปสรรคเสมอไป... ใจเราเองต่างหาก
ในที่สุดการเดินทางอันแสนยาวนานก็ได้สิ้นสุดลงฉันมาถึงสังขละบุรีในช่วงฟ้ามืด แต่ฉันก็ค้นพบว่าการอดทนกับความกลัวระหว่างทางทำให้ได้พบจุดหมายที่สวยงามจริงๆด้วย
วันที่สอง...ฉันเรียนรู้ว่าสายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ
วันแรกที่มาถึงฉันพักที่ฝั่งไทย การนอนหลับเป็นไปอย่างไม่ยากเย็นนักแทบจะหลับตั้งแต่หัวยังไม่ถึงหมอนด้วยซ้ำไป
ฉันรีบตื่นมาแต่เช้าตรู่เพื่อถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นแต่ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจเท่าใดนักสิ่งที่รับด้วยประสาทสัมผัสทางการมองเห็นในตอนนั้น มีแต่หมอก หมอก และหมอก...อุปสรรคต่อการถ่ายภาพและการมองเห็นอย่างมาก แต่ด้วยประสาทสัมผัสทางความรู้สึกฉันสัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติ ที่เมืองหลวงไม่เคยให้ฉันได้ความรู้สึกปลอดภัยในการสูดอากาศเข้าไปให้เต็มปอด... ที่เขาบอกว่า สังขละบุรีเป็นเมืองสามหมอก ดินแดนสามวัฒนธรรม มันเป็นอย่างนี้นี่เอง หมอกมาเต็มๆ ส่วนวัฒนธรรมคงต้องรอให้หมอกจางก่อนแล้วจะไปค้นพบนะ... เมื่อหมอกจางเราคงเห็นอะไรชัดเจนขึ้น
มีสิ่งหนึ่งที่สายหมอกไม่สามารถบดบังได้คือความงดงามของลำน้ำซองกาเลียที่พาดผ่านคั่นกลางระหว่างฝั่งไทยและฝั่งมอญ ซองกาเลียเป็นภาษามอญที่แปลเป็นไทยได้ว่า “ฝั่งโน้น” ความหมายสั้นๆแต่ครอบคลุมทุกใจความ ลำน้ำสายนี้หล่อเลี้ยงผู้คนสองฝากฝั่งมายาวนานและแน่นอนว่าเต็มไปด้วยมิตรภาพอันงดงามบนความหลากหลายอันลงตัวทางวัฒนธรรม
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นและดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกสารทิศให้เดินทางมายังที่แห่งนี้คงจะเป็น สะพานมอญ หรือ สะพานอุตตมานุสรณ์ บนลำน้ำซองกาเลียที่เชื่อมโยงระหว่างคนฝั่งโน้นมายังฝั่งนี้และคนฝั่งนี้ไปยังฝั่งโน้น ความไกลแค่ลำน้ำคั่นกลางไม่ใช่อุปสรรคเท่าใดนักเพราะมีสะพานเป็นตัวเชื่อม แต่ความไกลของเป้าหมายในชีวิตที่มีความกลัวเป็นตัวคั่นกลางนั้นเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงทีเดียว
ฉันรีบเก็บกระเป๋าและสะพายเป้ เดินข้ามสะพานมอญจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้นตามความหมายของลำน้ำซองกาเลียเพื่อไปเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของที่นี่แบบจริงๆ จังๆ สักทีก่อนเดินข้ามไปก็ไม่ลืมที่จะเช่ารถมอเตอร์ไซค์เพื่อให้การเดินทางในฝั่งมอญดูไม่เป็นการมาเข้าค่ายเดินทางไกลแบบลูกเสือ – เนตรนารี เกินไปนัก ค่าเช่ารถ 1 วัน 200บาทก่อนไปตะลุยให้หนำใจก็ไม่ลืมที่จะหาที่พักก่อน (จะได้ไม่ต้องแบกเป้หนักๆ ไปด้วย)โชคดีที่เป็นวันธรรมดา จึงได้ที่พักเป็น โฮมสเตย์ของชาวบ้าน ลุงเจ้าของใจดีและคุยสนุกมากลุงบอกว่าช่วงเย็นๆ จะพานั่งเรือไปชมเมืองบาดาล
ฉันออกมาเดินเล่นบนสะพานมอญที่ถึงแม้แสงแดดตอนนี้จะค่อนข้างแรงแต่ก็คงไม่แรงไปกว่าไฟในตัวตอนนี้ที่อยากออกไปเรียนรู้และสัมผัสความน่าหลงใหลของที่นี่
สะพานมอญที่เคยเห็นแต่ในภาพถ่ายวันนี้ได้มาเห็นกับตาตัวเอง ไม่ทำให้ผิดหวังแม้แต่น้อยความเหนื่อยจากการเดินทางอันแสนยาวนานของเมื่อวานมลายหายไปเพราะเห็นความยิ่งใหญ่และสวยงามของสะพานที่เกิดจากแรงศรัทธาการเดินทางคงไม่เหนื่อยไปกว่าการสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นมา
สะพานมอญ หรือ สะพานอุตตมานุสรณ์สร้างขึ้นจากดำริของพระราชอุดมมงคล หรือ หลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ท่านได้รับการขนานนามว่า“เทพเจ้าของชาวมอญ” เนื่องด้วยท่านสร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับชาวบ้านและเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจสมกับเจตนารมณ์ของท่านที่เคยกล่าวไว้ก่อนเดินทางมายังเมืองไทยว่า“การไปของเราจะเป็นปรหิต เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น”ซึ่งได้ประจักษ์แก่สายตาของทุกคนแล้วในวันนี้ ถึงแม้ตัวท่านจะไม่อยู่แล้วแต่คุณประโยชน์ที่ท่านได้สร้างไว้ ยังคงยืนหยัดสืบมา ...รวมถึงสะพานมอญที่ฉันยืนอยู่ณ ตอนนี้ อาจะเรียกได้ว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความดีงามของหลวงพ่ออุตตมะที่ประจักษ์ให้คนทั่วไปได้เห็นเป็นรูปธรรมตามชื่อเรียกของสะพาน “อุตตมานุสรณ์”
สะพานมอญเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยและเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า แต่เดิมเรียกว่า “สะพานบาทเดียว”สร้างด้วยแพไม่ไผ่ติดกัน ตรงกลางเป็นแพมีคนชักสะพานให้มาเชื่อมกันเนื่องจากคนที่สัญจรไปมาจะต้องจ่ายค่าข้ามสะพานด้วยราคา 1 บาทนี่จึงเป็นที่มาของชื่อสะพาน หลวงพ่ออุตตมะเห็นว่าเป็นการไม่สะดวกของชาวบ้านจึงได้เกิดเป็นสะพานแห่งศรัทธาแห่งนี้ ที่ใช้เวลาในการสร้างเพียง 2 เดือน
ด้วยแรงกายและแรงใจอีกทั้งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่สำคัญทำให้มนุษย์สามารถรังสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ได้มากมายตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาบนจักรวาลแห่งนี้ สะพานไม้ที่สร้างมาด้วยความรักและศรัทธาอยู่มาได้ 30 ปี ผ่านการซ่อมแซมมาหลายครั้งหลายหน ก็มีอันต้องพังลงจากแรงน้ำที่ซัดสะพานขาดเป็น 2 ท่อน เนื่องจากฝนตกหนัก และน้ำป่าไหลหลาก
การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของที่ยึดเหนี่ยวและเชื่อมโยงคนทั้งสองวัฒนธรรมได้พังลงกำลังใจย่อมเสียไปด้วยเช่นกัน แต่ทุกคนก็ไม่นิ่งเฉยกับโชคชะตา การรวมแรงกาย แรงใจความรัก ความศรัทธา และมิตรภาพ จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ชาวบ้านและทหารช่างจากกองพลทหารค่ายสุรสีห์ช่วยกันซ่อมจนสะพานกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม...ความสุขและรอยยิ้มจึงกลับมาอีกครั้ง
ระหว่างที่สะพานมอญใช้การไม่ได้นั้นชาวบ้านและทหารได้รวมแรงกันสร้าง “สะพานลูกบวบ” ขึ้นมาสะพานแห่งศรัทธาอีกแห่งที่อยู่เคียงข้างสะพานมอญที่ไม่เสียเงินในการสร้างแม้แต่บาทเดียว หากเสียแต่เหงื่อและแรงกายและยังคงไว้ซึ่งมิตรภาพและความรู้สึกมากมาย แม้จะเป็นตัวแทนเพียงชั่วคราวแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสร้างคุณประโยชน์ไม่น้อย...แม้ไม่นานแต่ก็เต็มไปด้วยความทรงจำ
สักวันสะพานลูกบวบจะต้องถูกรื้อทิ้งไปคงเหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์ แต่วันนี้วันที่ฉันยังยืนอยู่ สะพานลูกบวบยังคงอยู่เคียงข้างสะพานมอญและลำน้ำซองกาเลียไม่รู้ว่าวันใดที่ต้องจากไป แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างย่อมมีเวลาของมันไม่มีอะไรจีรังและยั่งยืน นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ฉันต้องรีบเดินทางมาหา...ก่อนที่เราจะไม่ได้เจอกัน ก่อนที่สะพานลูกบวบจะกลายเป็นแค่ความทรงจำระหว่างนั้น ทำให้ฉันนึกขึ้นมาได้ว่า สุดท้ายแล้ว ไม่วันใดก็วันหนึ่งเราทุกคนก็จะกลายเป็นความทรงจำของคนอื่นด้วยเช่นกันเพราะฉะนั้นทำทุกวันให้เป็นวันที่ดีจะดีกว่า
ความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาของสะพานมอญความไม่แน่นอนของสะพานลูกบวบที่รอวันถูกรื้อทิ้งทุกอย่างยังคงหมุนไปตามแบบที่มันควรจะเป็น แต่ลำน้ำซองกาเลียยังคงไหลอยู่เช่นเดิมเหมือนกับว่าเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวอย่างไม่หวั่นไหวสายน้ำยังคงไหลไป... และคงไม่มีวันไหลย้อนกลับ
หลังจากชื่นชมความงามของสะพานมอญได้สักพักฉันก็พามอเตอร์ไซค์ที่เช่ามา (ต้องบอกว่ามอเตอร์ไซค์พาไปถึงจะถูก)เดินทางต่อไปยังวัดวังก์วิเวการามหลังใหม่ที่ย้ายมาจากหลังเดิมที่จมน้ำ(ที่ลุงเจ้าของโฮมสเตย์จะพาไปดูตอนเย็น) ที่นี่สร้างด้วยศิลปะแบบพม่าภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อขาว อีกทั้งยังมีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่ออุตตมะให้ได้สักการะอีกด้วย
จากวัดวังก์วิเวการามแยกไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรจะเป็นเจดีย์พุทธคยาที่หลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้คิดริเริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521โดยจำลองมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ใช้แรงงานมอญในการสร้าง 400 คน ฐานของเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวา
ช่วงที่ไปถึงเจดีย์พุทธคยาเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตั้งฉากตรงหัวพอดีอากาศร้อนและแห้งมากแต่แสงแดดที่ร้อนก็ยังมีข้อดีที่ทำให้ตัวเจดีย์ที่สวยอยู่แล้วยิ่งสวยงามมากขึ้นไม่ว่าจะมองมุมใดก็ตามหากสักการะพระบรมสาริริกธาตุเสร็จแล้ว บริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีร้านเครื่องไม้พม่ามากมายให้ได้เลือกซื้อเป็นของฝากก็ดีหรือซื้อเก็บเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งก็เคยมาที่นี่ ส่วนฉันเลือกจะเก็บภาพของความรู้สึกแทนสิ่งของ
หลังจากพักจนหายเหนื่อยก็ได้เวลานั่งเรือไปชมเมืองบาดาลต่อเมืองบาดาลที่ว่านี้ก็คือ วัดวังก์วิเวการามหลังเก่า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดหลวงพ่ออุตตมะ ถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ (Unseen Thailand) เป็นวัดที่หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญสร้างขึ้นในปี2496 ตั้งอยู่บนเนินสูง บริเวณที่เรียกว่า “สามประสบ”อันเป็นที่บรรจบรวมกันของลำน้ำสามสายคือ ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ก่อสร้างเขื่อนเขาแหลมหรือเขื่อนวชิราลงกรณ์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมตัววัด ทำให้ต้องย้ายวัดไปอยู่ที่เนินเขาส่วนวัดเดิมแห่งนี้คงต้องปล่อยให้จมอยู่ใต้น้ำ แต่เมื่อยามที่น้ำลดระดับลงเมืองบาดาลแห่งนี้ก็จะปรากฏให้ได้เห็น ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนจะเป็นช่วงที่น้ำลดลงสูงสุด ทำให้สามารถเดินเที่ยวในตัววัดได้
เมื่อนั่งเรือมาถึงฉันได้พบกับกลุ่มเด็กที่วิ่งกรูกันเข้ามาเพื่อขายดอกไม้และเสนอตัวเป็นไกด์นำชมเมืองบาดาลแห่งนี้หนึ่งในนั้นคือ “น้องชาติ” หนุ่มน้อยผิวสีเข้ม ท่าทางดูคล่องแคล่วน้ำเสียงที่ดูไม่เคอะเขิน “พี่สงสัยตรงไหน ถามได้เลยนะครับ”นี่คือประโยคแรกที่เราได้คุยกัน น้องเป็นเด็กชาวมอญที่กระดกลิ้น ร.เรือได้เก่งกว่าเด็กไทยหลายๆ คน และบทสนทนาต่อไปก็เริ่มขึ้นอย่างไม่ขาดสายมันเป็นความรู้สึกดีที่อย่างน้อยระหว่างทางเราก็ได้พูดคุยกับใครสักคนที่ทำให้บรรยากาศไม่เงียบจนเกินไป
ความจริงแล้วรายละเอียดเนื้อหาของตัววัดไม่ใช่ประเด็นหลักแต่การได้เห็นรอยยิ้ม และความภาคภูมิใจในตัวเองของน้องชาติที่ส่งออกมาทางแววตาเมื่อตอบคำถามกับฉันได้มันทำให้ฉันมีความสุขและคิดว่าน้องชาติเองก็มีความสุขเช่นกันฉันคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้น้องชาติเลือกที่จะทำสิ่งดีๆ ที่ตัวเองรักต่อไปการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ของเด็กชายตัวเล็กๆทำให้ฉันมองย้อนไปเมื่อตัวเองเป็นเด็ก ฉันก็ชอบทำอะไรแบบนี้เหมือนกันและมันเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน ฉันเชื่อว่าน้องชาติจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี...ฉันเชื่อแบบนั้น
เมื่อถามว่าน้องรู้ข้อมูลต่างๆได้อย่างไร น้องตอบด้วยน้ำเสียงใสซื่อว่า อ่านจากหนังสือและแม่เล่าให้ฟัง“ผมอ่านเอา เพราะผมเกิดไม่ทัน แต่ก็เชื่อนะ” คำว่า “เชื่อ” ของน้องชาติในที่นี้คือ ความศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะที่เด็กคนนี้รับรู้ได้จากผู้เป็นแม่และจากหนังสือส่งต่อมายังความรู้สึก ข้อดีของน้องคือการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมีเวลาว่างก็อ่านหนังสือ ความเป็นเด็กไม่ต้องถูกเร่งวันเร่งคืนให้โตเช่นในเมืองศิวิไลซ์น้องไม่ต้องอยู่กับโลกเสมือนบนหน้าจอไอแพดแต่น้องอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่เด็กคนหนึ่งต้องดิ้นรนและพัฒนาตัวเองเพื่อปากท้องและแบ่งเบาภาระทางบ้าน
“ผมเพิ่งไปรับผลสอบมาเสร็จแล้วก็มาที่นี่เลย” ฉันเลยลองถามน้องดูว่า “หนูคงเรียนเก่งใช่ไหม”น้องยิ้มและตอบกลับว่า “ผมชอบอ่านหนังสือ” ดูเหมือนจะตอบไม่ตรงคำถามเท่าใดนักแต่ฉันเชื่อว่าเป็นไปตามที่ตัวเองเข้าใจหลังจากน้องชาติพาชมวัดใต้บาดาลแห่งนี้จนทะลุปรุโปร่งพร้อมข้อมูลที่น้องบอกว่าอ่านมาจากหนังสือ(จำปี พ.ศ. ได้แม่นมาก) ก็ถึงเวลาที่เราต้องร่ำลากัน บอกตามตรงว่าถึงจะเป็นเวลาแค่ครู่เดียวแต่ฉันก็คุยกับน้องชาติได้อย่างถูกคอฉันให้เงินน้องชาติไว้กินขนมเป็นค่าตอบแทนที่ไม่มากนัก แต่น้องก็คงดีใจฉันเห็นได้จากแววตาเช่นเดิมก่อนจากกันฉันไม่ลืมที่จะเซลฟี่กับน้องเก็บไว้เป็นที่ระลึก...ทุกการพบเจอย่อมมีการจากลา แต่อย่างน้อยฉันก็ได้เก็บเรื่องราวของน้องชาติไว้ในเรื่องนี้หวังว่าน้องจะได้อ่านในสักวัน ถ้าความบังเอิญมหัศจรรย์มากพอ... ขอบคุณที่ทำให้ได้รู้ว่า“ผู้คนระหว่างทาง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเสมอ”
หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันฉันกลับมาที่สะพานมอญอีกครั้ง คราวนี้ไม่ร้อน ไม่มีแสงแดดอันแผดเผาจะมีก็แต่แสงไฟจากรีสอร์ทต่างๆ จากบ้านเรือนทั้งสองฝั่งลำน้ำซองกาเลียและแสงไฟจากเสาหงส์บนสะพานมอญ แสงไฟที่ไม่สว่างจ้าจนเกินไป และไม่มืดจนเกินไปทำให้สะพานมอญดูมีมนต์ขลัง มีความน่าหลงใหลในตัวมันเอง พระอาทิตย์ตกดินไปแล้วสายลมเย็นพัดเอื่อยๆ มาปะทะหน้าฉัน ไม่แรงมากแต่ชื่นใจ ฉันนั่งอยู่บนสะพานมองผู้คนเดินผ่านไปผ่านมา บ้างเป็นนักท่องเที่ยว บ้างเป็นชาวบ้านหลายคนพูดคุยกันด้วยภาษามอญที่ฉันฟังไม่ออก แต่ฉันกลับรู้สึกสนุกไปกับบทสนทนานั้นเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆที่ยังคงเล่นน้ำอยู่อย่างสนุกสนานคงเป็นเสียงเดียวที่ดังที่สุดในช่วงเวลานี้แต่กลับไม่รู้สึกว่าถูกรบกวนมากนัก เพราะนั่นคือเสียงของความสุข...ฉันมีความสุขเมื่อคนอื่นมีความสุข
ฉันนั่งอยู่ที่นั่งพักบนสะพานมองเด็กๆ เล่นน้ำ และมองลำน้ำซองกาเลียที่สะท้อนแสงจากบ้านเรือนและรีสอร์ท...สายน้ำที่ไหลผ่านตรงนี้มาเนิ่นนานคงสะท้อนเรื่องราวต่างๆ มาอย่างมากมายทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความสุข มิตรภาพ หรือแม้แต่ความเศร้าแต่สายน้ำก็ไม่เคยผันแปร คงมีแต่สิ่งต่างๆ รอบตัวที่แปรเปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์ของเวลา
ฉันเรียนรู้ความไม่แน่นอนจากเรื่องราวของสะพานมอญความจริงที่ว่า ทุกอย่างในชีวิตเราหรือรอบตัวล้วนตกอยู่ในกฎของการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้นและเราไม่สามารถควบคุมมันได้ อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับมันได้มากน้อยเพียงใด
ฉันเห็นว่าสะพานที่พังลงไปแล้วนั้นสามารถซ่อมกลับให้เป็นดังเดิมได้...แต่ก็คงไม่เหมือนเดิมซะทีเดียวฉันไม่รู้เลยว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจะยั่งยืนตลอดไปไหม และฉันก็ได้คำตอบเมื่อมองไปยังลำน้ำซองกาเลียไม่มีอะไรที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอนทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอและตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่ฉันนั่งอยู่ตรงนี้ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามทางของมันเหมือนสายน้ำที่ยังคงไหลไม่หยุดนิ่งใต้สะพานนี้...และมันไม่เคยไหลย้อนกลับ
บ่อยครั้งที่เราปล่อยให้หลายอย่างผ่านไปโดยไม่ลงมือทำอะไรกับมันเลยหลายเรื่องที่อยากทำ แต่รู้ตัวอีกทีก็ “แก่เกินไปซะแล้ว” หรือ “สายเกินไปซะแล้ว”บางครั้งเราอาจจะแค่อยากฝันเหมือนตอนเราเป็นเด็กแต่เวลาและประสบการณ์ก็บอกกับเราว่าควร “ลงมือทำ” มากกว่าจะปล่อยให้มันโลดแล่นอยู่แค่เพียงในห้วงความคิดความงดงามของชีวิต ความไร้เดียงสาอาจจะลดลง เมื่อเราต้องแข่งขัน...แข่งขันกับใจเราเอง
อย่างที่ใครหลายคนบอก“เวลาและวารีไม่รีรอใคร” เราเองก็รอให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ไม่ได้เช่นกันเพราะเมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่งไปแล้วทุกอย่างมันไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขหรือทำซ้ำได้อีกสิ่งที่ทำได้คือการใช้ชีวิตอย่างมีสติ และเรียนรู้ว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง
ฉันได้ลองให้ความคิดได้ล่องลอยไปเหมือนกับสายน้ำถึงแม้ตอนนี้จะไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์ แต่มันก็มืดมิดแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้นตะวันไม่เคยตก เพียงแต่โลกเราไม่หยุดหมุน พรุ่งนี้เราจะพบกับตะวันอีกครั้ง มันคือการเปลี่ยนแปลงแค่ชั่วคราวแต่ใครจะรู้ว่าวันพรุ่งนี้อาจไม่ได้มีมาเสมอ วันนี้อาจเป็นวันสุดท้ายทำทุกวันให้ดีที่สุด มีความสุขที่สุด และไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเมื่อเราทำปัจจุบันอย่างดีที่สุดแล้ว และเมื่ออนาตมาถึงเราจะไม่อยากย้อนกลับมาแก้ไขอะไรอีก...เช่นกันกับสายน้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับ
เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆเงียบลงแล้ว รอบตัวของฉันในตอนนี้คงมีแต่ความเงียบ...เงียบจนได้ยินเสียงความคิดของตัวเอง ฉันเรียนรู้อะไรมากมายจากการออกมาสัมผัสมันจริงๆแทนที่จะนั่งอ่านประสบการณ์ของคนอื่นอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ โอกาสไม่ได้มีมาบ่อยๆและสายน้ำก็ไม่เคยไหลย้อนกลับ และนี่คือเหตุผลที่ฉันออกเดินทาง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in