เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films YesterdayK.Kean
ความเหงาเคล้าน้ำตา– “The Whale, 2022”
  • พวกคุณเคยรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวบ้างหรือไม่ แล้วความรู้สึกนั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตคุณมากน้อยแค่ไหน…  


    บางทีความเหงาก็เป็นเพียงอารมณ์ที่มาเยือนในเวลาสั้น ๆ ทำให้คนเราได้คิดถึงใครคนหนึ่ง หรือบางครั้งมันก็เป็นความรู้สึกเรื้อรังที่คอยกัดกินจิตใจของเราที่ละเล็กทีละน้อย


    จะเป็นอย่างไรถ้ามีหนังที่นำความเหงาและความเศร้ามาคลุกเคล้ากันได้อย่างลงตัว ส่วนผสมทั้งสองอย่างนั้น เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการเรียกน้ำตาของผู้ชมให้ออกมาได้ 


    The Whale ภาพยนต์ที่จะพาคุณดำดิ่งไปสู่ห้วงอารมณ์แห่งความโดดเดี่ยวและความเศร้า ผ่าน Charlie นำแสดงโดย เบรนแดน เฟรเซอร์ (Brendan Fraser) ชายร่างใหญ่น้ำหนักตัวกว่า 136 กก. ด้วยน้ำหนักตัวที่มากทำให้เขามีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตอยู่มากมายทั้งการไปไหนมาไหน การทำกิจวัตรประจำวัน หรือแม้แต่การทำงาน เขาเป็นอาจารย์พิเศษสอนด้านการเขียนภาษาอังกฤษทางออนไลน์ เนื่องด้วยรูปลักษณ์ของเขา ทำให้ทุกครั้งที่เขาสอนเขาจะไม่เปิดกล้องให้นักเรียนได้เห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว 



    #ปูมหลังก่อนเข้าเรื่อง

    ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอผู้เขียนอารัมภบทสักนิดเพื่อให้ทุกท่านได้รู้ข้อมูลของภาพยนต์เรื่องนี้ก่อน โดยภาพยนต์เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ ดาร์เรน อโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) ผู้กำกับที่ขึ้นชื่อเรื่องการชุบชีวิตนักแสดงหลาย ๆ คนให้กลับมาโลดแล่นบนจอเงินอีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือ เบรนแดน เฟรเซอร์ พระเอกดังยุค 90s ที่เป็นที่รู้จักจากภาพยนต์ ‘The Mummy’ ซึ่งในครั้งนี้อโรนอฟสกีได้พาเขากลับมาเฉิดฉายอีกครั้งในบทของชาลี 


    อีกหนึ่งจุดเด่นของภาพยนตร์ของอโรนอฟสกีคือ พล็อตที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร เน้นเนื้อเรื่องที่ชวนสับสน แต่ก็จบในตัวของมันเอง และที่สำคัญภาพยนต์ของเขามีความเป็นศิลปะในตัวอยู่มากพอสมควรเลย 


    The Whale นั้นมีต้นฉบับมาจากบทละครของ แซมมูเอล ดี ฮันเทอร์ (Samuel D. Hunter) ซึ่งโครงสร้างเรื่องนั้นจะเน้นการเล่าเรื่องผ่านตัวละครเป็นหลัก (Character Driven Plot) โดยตัวแซมูเอลเองก็ได้กลับมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนต์ในครั้งนี้เองด้วย 


    อย่างไรก็ดี อโรนอฟสกี ก็สามารถจัดการร้อยเรียงเรื่องราวของตัวละครและนำเสนอสู่สายตาผู้ชมได้อย่างไรที่ติ ในครั้งนี้หากใครได้รับชม The Whale แล้วก็คงพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า อโรนอฟสกีนั้นสามารถถ่ายทอดความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละครออกมาได้อย่างดีมาก จนผู้ชมอย่างเรามีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครเลยทีเดียว  


    (ขอบอกผู้อ่านทุกท่านก่อนว่าการรีวิวที่ครบรส คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่หลุดสปอย หากใครที่ยังไม่ได้ดูก็เชิญไปรับชมกันเสียก่อน แต่ถ้าใครไม่ซีเรียสก็ขอเชิญอ่านได้) 



    #เลเยอร์ของอารมณ์ที่ค่อย ๆ ปล่อยมาให้คนดูได้ลิ้มรส

    ระหว่างที่ดูภาพยนต์ความรู้สึกหนึ่งของผู้เขียนที่มีอยู่ตลอดคือความอึดอัด อาจด้วยฉากของภาพยนต์ที่มีอยู่เพียงฉากเดียวคือ ห้องของชาลี แต่เปลี่ยนมุมไปมา การตกแต่งห้องที่ให้ความรู้สึกรกและเยอะเองก็มีส่วนเช่นกัน ทั้งนี้ปัจจัยที่สำคัญที่ผู้เขียนคิดว่ามีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดกับฉากต่าง ๆ คือ ขนาดร่างกายของตัวเอกที่ใหญ่ ทำให้ห้องมันดูคับแคบเมื่อเทียบกับขนาดตัว 


    บางฉากก็แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกอึดอัดมากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างฉากยัดขนมเข้าปาก ซึ่งเป็นฉากที่ผู้เขียนรู้สึกกระอักกระอ่วนพอสมควรในระหว่างที่ดู แต่ก็ต้องยอมรับว่าฉากนั้นฉากเดียว กลับเต็มไปด้วยอารมณ์มากมายที่เกิดขึ้น  


    การผู้กำกับได้แฝงอารมณ์ต่าง ๆ เอาไว้เป็น และค่อย ๆ ปล่อยมันออกมา ผู้เขียนขอเรียกมันว่า “ชั้นอารมณ์ (emotional layers)” คืออารมณ์มากมายที่เกิดขึ้นในภาพยนต์และเผยออกมาให้ผู้ชมได้ริมรสอารมณ์นั้น ๆ ทีละเล็กทีละน้อย 


    ดังที่กล่าวไปสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของภาพยนต์เรื่องนี้คือการทำให้ผู้ชมเข้าใจอารมณ์และความปราถนาของชาลี ผ่านการค่อย ๆ เปิดเผยปมและเรื่องราวในอดีตของชาลี ซึ่งมันเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างผู้ชมและตัวละครได้เป็นอย่างดี  


    ความซับซ้อนทางอารมณ์ของชาลีเป็นหนึ่งสิ่งที่ภาพยนต์ต้องการจะให้ผู้ชมอย่างเราได้สัมผัสมัน ระหว่างที่เรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ เราก็จะได้รับรู้ทั้งความกดดัน ความอึดอัด ความโดดเดี่ยว และในทางเดียวกันตัวละครก็พาเราไปพบกับความสุขด้วยเช่นกัน 


    ถึงแม้จะมีความรู้สึกเกิดขึ้นมากมายระหว่างชมภาพยนต์ อย่างไรก็ดีตัวภาพยนต์ก็ไม่ลืมธีมหลักของเรื่องคือความเหงาและความโดดเดี่ยว ที่สามารถแทรกซึมอยู่ในตัวบทได้อย่างแนบเนียนจนผู้ชมอย่างเราก็รู้สึกเหงาเช่นเดียวกันในระหว่างที่ดู 




    #ตัวบทที่จบในตัวของมันเอง 

    นอกจากเรื่องของอารมณ์แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ภาพยนต์เรื่องนี้สมควรได้เข้าชิงรางวัลออสการ์คือ ตัวบทที่ไร้ซึ่งคำถาม ทุกอย่างมันสมเหตุสมผลและเหมาะสมที่สุดแล้ว 


    เนื้อเรื่องทุกอย่างถูกปูมาจนถึงตอนจบของเรื่องทั้งหมด ผู้ชมจึงแทบไม่สงสัยเลยว่าทำไมชาลีถึงรู้สึกอย่างนี้ ทำไมเขาถึงตัดสินใจทำแบบนี้ ทุกอย่างมันถูกตอบเอาไว้หมดแล้วในเนื้อเรื่องนั่นเอง 


    #สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องถูกเปิดเผย…เราจึงต้องยอมรับและก้าวกันต่อไป  

    ฉากที่ผู้เขียนชอบที่สุดอยู่ในตอนท้ายของเรื่อง ที่เรื่องทั้งหมดมันคล่อย ๆ คลี่คลาย ทุกตัวละครค่อย ๆ เปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง หนุ่มน้อยมิชชั่นนารีเปิดเผยเบื้องหลังของตน ตัวชาลีเองก็เปิดเผยเรื่องราวและความปราถนาทั้งหมดที่ตนต้องการ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปล้วนมีเหตุผลทั้งสิ้น คงไม่มีใครยอมที่จะอยู่ตัวคนเดียว ทำงานหลังขดหลังแข็งตามลำพัง โดยไร้ซึ่งเป้าหมายหรอกจริงมั้ย? 


    การที่ชาลียอมเปิดกล้องให้นักศึกษาได้เห็นหน้าเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะต้องลาโลกเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับฉากเปิดเรื่องที่เขากำลังสอน และมีนักเรียนคนหนึ่งพิมพ์ข้อความมาว่าทำไมอาจารย์คนนี้ถึงไม่เปิดกล้อง ตัวผู้เขียนมองว่าฉากนี้คือความขัดแย้งทางอารมณ์ที่ช่วยคลี่คลายความซับซ้อนทางความรู้สึกของชาลี เพียงแค่เขาเปิดกล้องขึ้นมาทุกอย่างมันพร้อมที่จะจบแล้ว มันคือการยอมรับตัวตนและชีวิตของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นผู้เขียนมองว่านี้แหละคือตอนจบที่สมบูรณ์แบบของภาพยนต์เรื่องนี้แล้ว 


    แล้วคุณล่ะ คิดว่าความเหงาและความโดดเดี่ยวกำลังดึงคุณเข้าสู่มุมมืดในชีวิตหรือไม่? 


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in