หนูอยากโดนอุ้ม หนูอยากโดนอุ้ม หนูอยากโดนอุ้ม ฟังข่าว อุ้มผู้ใหญ่บ้าน ทนายกำนัน อุ้ม อ.บ.ต. พ่อค้า เจ้าแม่เจ้าพ่อ ส.จ. ส.ข. ยังมีคนอุ้มเขา (กรุณาอ่านแบบใส่ทำนอง)
ใจคว่ำใจหาย อุ๊ยต๊ายตายสมชายโดนอุ้ม ข่าวคราวเร้ารุม น้องกลุ้ม สับสนวุ่น วาย ก็โทรไปทุกที่ ข่าวมี ว่ายังไม่ตาย ถามดูก็คลับคล้าย ว่านั้น สมชายหรือไม่ สมชายเปลี่ยนไป สมชายเปลี่ยนไป พี่สมชายเปลี่ยนไป (กรุณาอ่านแบบใส่ทำนอง)
วันนี้ไม่ได้ตั้งใจจะมาชวนคุณผู้อ่านร้องเพลงแต่อย่างใด เพียงแค่อยากยกเอาบทเพลงที่แสดงถึงความตลกร้ายของสังคมไทย สังคมที่เราชอบบอกใครต่อใครว่าเป็นสังคมที่มีความสูงส่งไปด้วยคุณธรรมและความดี แต่สังคมนี้ก็ยังเอาเรื่องราวของคนที่ถูกอุ้มหาย(คนตาย)มาแต่งเป็นเพลงล้อเลียนให้มีความสนุกสนาน
เพียงเพราะเรื่องราวของผู้ที่โดนอุ้มกำลังเป็นกระแส ทำให้นักแต่งเพลงหยิบเอากระบวนการอย่างการอุ้ม และเอาชื่อของผู้ที่ถูกอุ้มหายมาแต่งเป็นเพลงได้ตั้ง 2 เพลง แถมยังเป็นเพลงที่ติดตลาดอีกต่างหาก สังคมไทยช่างรื่นเริงเสียจริง กระทั่งความตายและเรื่องจริงจังอย่างการอุ้มหายที่ดูขัดต่อกระบวนการยุติธรรม คนไทยยังทำให้เป็นเรื่องรื่นเริงได้
เรื่องราวของเขาคือใครในวันนี้ ผู้เขียนอยากนำเสนอเรื่องราวของคนไทยธรรมดา ๆ ที่ประกอบอาชีพธรรมดา ๆ อย่างทนายความ แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาสำหรับทนายท่านนี้ คือการที่หาญกล้าท้าทายต่ออำนาจของรัฐ ทำให้ในท้ายที่สุดทนายท่านนี้ก็ถูกอุ้มหายไปตลอดการ เป็นเวลากว่า 12 ปี(2559) ที่ทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพยายามตามหาทนาย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครทราบข่าวของทนายท่านนี้เลยแม้แต่น้อย
หลายคนที่เกิดร่วมยุคกับผู้เขียน หรือเกิดก่อนผู้เขียน น่าจะเคยได้ยินชื่อของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายผู้หาญกล้าทาทายอำนาจรัฐ เพื่อทวงถามถึงการใช้อำนาจในทางยุติธรรมที่ไม่มีความยุติธรรม ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญคุณผู้อ่าน ทำความรู้จักกับเขาผู้นี้ได้ในย่อหน้าต่อไป
สมชาย นีละไพจิตร (เกิด 13 พฤษภาคม 2494) อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547
สมชายมักทำคดีด้านสิทธิมนุษยชนที่ทนายความส่วนมากปฏิเสธ เช่น คดีที่ชาวบ้านถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ คดีคนพม่าลี้ภัยการเมือง คดีชาวอิหร่านที่ถูกจับในข้อหาเป็นผู้วางระเบิดสถานทูตอิสราเอลในประเทศไทย
สมชายเคยร่วมกับองค์กรมุสลิมต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมทั้ง ชมรมสมาชิกรัฐสภาไทยมุสลิม เสนอแนวทางในการแก้ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 และในเวลาเดียวกันก็เรียกร้องขอความเป็นธรรม ในการสอบสวน 5 ผู้ต้องหา ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมูจาฮีดีน ซึ่งสมชายได้ยืนยันว่าได้พบกับผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้ความว่า ทั้งหมดไม่ได้กระทำความผิด แต่จำต้องรับสารภาพ เนื่องจากถูกตำรวจขู่เข็ญทำทารุณกรรม ซึ่งกรณีนี้สร้างความอับอายให้กับกระบวนการสืบสวนสอบสวนของรัฐเป็นอันมาก
ก่อนหายตัวไป สมชาย นีละไพจิตรเป็นทนาย และเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ก่อนถูกลักพาตัวเป็นเพียง 1 วัน เขาได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหา 5 คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในคดีปล้นปืน (คดีปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.47)
นอกจากนั้น วันที่ทนายสมชายถูกอุ้มหาย ยังเป็นเพียง 13 วันหลังจากที่เขาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และไม่ถึงเดือนก่อนที่เขาจะหายตัวไป เขาได้ขึ้นเวทีร่วมอภิปรายปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
ทนายสมชายได้ล่ารายชื่อประชาชน 50,000 คนเพื่อให้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้ นอกจากนั้นเขาได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน จ.นราธิวาส 5 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและถูกซ้อมทรมาน พร้อมทั้งได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
หลังถูกอุ้มหายเมื่อ 12 มี.ค.47 ปรากฏว่าในเดือน เม.ย.47 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายถูกจับกุมฐานเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย แต่เนื่องจากกฎหมายไทยไม่มีฐานความผิดกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงไม่มีการตั้งข้อหาดังกล่าว และเนื่องจากไม่สามารถหาศพของทนายสมชายได้ จึงทำให้ไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อตำรวจทั้ง 5 นาย คงตั้งข้อหาเพียงปล้นทรัพย์ ใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย และกักขังหน่วงเหนี่ยว
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คดีทนายสมชายไม่คืบหน้า และไม่สามารถฟ้องอาญาฐาน "อุ้มฆ่า" หรือบังคับบุคคลให้สูญหายกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยได้ แต่ต้องใช้กฎหมายมาตราข้างเคียงเท่านั้น ก็เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แม้ว่าจะเข้าเป็นภาคี อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และร่วมลงนามใน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ แล้วก็ตาม
แต่ความหวังก็ยังพอมี เมื่อกระทรวงยุติธรรมกำลังเร่งจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... เรียกสั้นๆ ว่า ร่างกฎหมายทรมานและสูญหายฯ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ก็ได้
ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในระดับกระทรวงยุติธรรม และเปิดเวทีประชาพิจารณ์ไปเรียบร้อยแล้ว เตรียมส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนนี้ หากไม่มีปัญหา ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทาน และบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการอนุวัตกฎหมาย. ภายใน หลังจากไทยได้เข้าเป็นภาคีและร่วมลงนามในอนุสัญญาฯทั้งสองฉบับ
ที่ผ่านมาการไม่มีกฎหมายกำหนดความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะ "อุ้มหาย" คงมีแต่เพียงบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยว และฐานความผิดข้างเคียงเท่านั้น ถือว่าไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการกระทำความผิดในลักษณะ "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" โดยเฉพาะหากเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ "ลอยนวล" ของผู้กระทำผิดมากมายหลายกรณี
และคดีทนายสมชายก็คือกรณีตัวอย่างอันแสนเจ็บปวด...มิใช่แค่ของอังคณาและครอบครัว แต่เป็นของสังคมไทย!
หลังการหายตัวไปอย่างลึกลับ อังคณา นีละไพจิตรภรรยา เป็นตัวแทนเรียกร้องความเป็นธรรมและมีบทบาททางสังคมนับแต่นั้นมา หวังว่าต่อจากนี้ไป ในสายตาของคุณผู้อ่าน การอุ้มหายจะไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป กระบวนการยุติธรรม จะยุติธรรมหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่รัฐกำหนด แต่อยู่ที่คนในรัฐจะยอมรับและเพิกเฉยต่อกระบวนการดังกล่าวแค่ไหนกัน และขึ้นอยู่กับคนในรัฐว่าจะปล่อยให้กระบวนการอยุติธรรม กลายมาเป็นกระบวนการบุติธรรมหรือไม่
ที่มา : http://www.isranews.org/เรื่องเด่น-สำนักข่าวอิศรา/item/37156-eleven_37156.html
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in