เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First Storyclassicalrealism
1984 the righteous Winston
  • อันที่จริงหนังสือเล่มนี้เคยยืมจากห้องสมุดมาครั้งนึงแล้วแต่เพราะอะไรบางอย่างทำให้อ่านไม่จบ ประกอบกับความรู้สึกที่ว่าเป็นวรรณกรรมที่ควรจะอ่านให้ได้ภายในปี 2021 มันคงทำให้เราเข้าใจบริบทสังคมของการต่อสู่กับเผด็จการได้มากขึ้น จึงตัดสินใจหยิบมาอ่าน

    ***ออกตัวก่อนว่าอาจไม่ใช่การรีวิวแต่เหมือนเป็นการตกตะกอนความคิดมากกว่า 

    เอาเข้าจริงบริบทของสังคมโลกในตอนนี้ค่อนข้างจะมีความคล้ายคลึงกับตัว 1984 เรามีมหาอำนาจ เรามีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ถ่วงดุล เรามีระบบเศรษฐกิจ เรามีชนชั้น เรามีการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางชนชั้น เรามีแนวคิดที่เชื่อในการปฏิวัติที่ต้องเริ่มจาก ‘แรงงาน’ ที่เป็นฐานมวลชนส่วนใหญ่ของประชากรโลก

    แต่เอาเข้าจริงมันไม่สำเร็จ ยอดปิระมิดไม่เคยถูกพังทลาย หากแต่มีปิระมิดที่เพิ่มขึ้นจำนวนและคานอำนาจกันไว้ภายใต้ชื่อระบบการปกครองต่างๆ 

    ตัวละครเอกของวินสตันที่ใช้ชีวิตอยู่ในโอเชียเนีย มีพี่เบิ้ม เป็นผู้ปกครองและมีอำนาจมากสุด มีพรรคที่ทำงานอย่างจงรักภักดี มีกระทรวงต่างๆที่หล่อหลอมความคิด ปรับพฤติกรรม รวมทั้งมอบบทลงโทษ ซึ่งชื่อแต่ละกระทรวงก็เสียดสีผู้อ่านไม่น้อย ในวรรณกรรมนั้นวินสตันต้องระวังจอทีวีที่ติดตามเขาเสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเมื่อใด คุณจะมีพี่เบิ้มมองอยู่ตลอดเวลา

    วินสตันเริ่มตั้งคำถามกับระบบการปกครอง ประวัติศาสตร์ความทรงจำที่บิดเบือนไปมากโข เริ่มตามหาความจริงว่าอันที่จริงแล้วโลกในปัจจุบันที่ตนอยู่นั้นดีกว่าอดีตจริงแท้หรอ ในตอนนึงที่วินสตันพยายามเค้นคำถามกับคนแก่ในร้านเบียร์ถึงโอเชียเนียในอดีตหรือปัจจุบันที่ดีกว่า 

    เขาคาดหวังกับคำตอบว่าอดีตดีกว่าเป็นอย่างมากเพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่าประวัติศาสตร์หลายอย่างก่อนจะถึงยุคพี่เบิ้มนั้นแท้จริงถูกแก้ไขหลอกลวง โลกในอดีตนั้นต้องดีกว่านี้เป็นแน่ ไม่ต่างอะไรจากปัจจุบันที่แนวความคิด “เมื่ออดีตมันดีกว่านี้” มันคงมีอยู่

     ถ้าให้เทียบกับบริบทของไทย ประวัติศาสตร์ในช่วง 2475 กลุ่มเสรีไทย คณะราษฎร ล้วนถูกมองในแง่มุมที่ดีขึ้นแน่นอนหากเทียบกับในยุคก่อนๆ จนถึงกับมีการแสดงความคิดเห็นในจำนวนมากที่กล่าว่าสมัยนั้นประเทศไทยถือเป็นช่วงที่มีประชาธิปไตยมากที่สุด 

    นั้นเพราะเราค้นพบประวัติศาสตร์ในอีกแง่มุมที่อำนาจมิอาจหลอกเราได้อีกต่อไป

    กลับมาที่ตัววินสตันเองนั้นในสายตาของพี่เบิ้มถือเป็นมนุษย์ปัจเจกชนที่มีสำนึกทางความคิด ไม่สามารถควบคุมความคิดได้ สำหรับผู้อ่านวรรณกรรมเล่มนี้มีความน่าสนใจในกระบวนการควบคุมความคิดผ่านทางภาษา คำศัพท์ ในวรรณกรรมนั้นน่าสนใจมาก เราจะเห็นได้จากสื่อในปัจจุบันที่มีการใช้คำศัพท์ เน้นความเป็นอื่นเพื่อปลุกระดมความรักชาติ ลดทอนความเป็นคนในข้ออ้างของศีลธรรม 

    จุดจบของวินสตันนั้นไม่ต้องเดาไม่ต่างจากพวกหัวขบถทั้งหลายในยุคปัจจุบัน พี่เบิ้มและเหล่าพรรคย่อมไม่ปล่อยการตระหนักรู้ของวินสตันไว้แน่นอน เราจะเห็นกระบวนการทำให้วินสตันกลับมาเลื่อมใสรักพี่เบิ้มได้อย่างหดหู่ผ่านตอนท้ายของวรรณกรรม 

    เมื่ออ่านไปถึงตอนสุดท้ายแล้วผู้อ่านมีความรู้สึกหดหู่ใจกับชะตากรรมของวินสตันเหมือนเห็นเพื่อนร่วมความคิดนับร้อยนับพันที่สุดท้ายอาจเจอจุดจบแบบนี้

    สำหรับเผด็จการ 2+2 จะเป็น 4 ไหมไม่สำคัญ ที่สำคัญคือถ้าอำนาจสั่งให้คุณคิดว่ามันคือ 5 เราต้องคิดว่ามันคือ 5 เพราะพี่เบิ้มอยู่กับคุณและอนาคตของเราก็ไม่มีใครกล่าวขานเราจะเป็นแค่กระแสความคิดที่จางหายไปเหมือนควันอากาศหาได้มีตัวตนไม่

    เราไม่ใช่อื่นใดนอกจากมวลชน ไร้ซึ่งตัวตนและความคิด 
    นี้คงเป็นสิ่งที่วรรณกรรมเล่มนี้สอนให้เราเห็นถึง Dystopia ที่มีอยู่จริงและอารมณ์อึดอัดตลอดการอ่านนั้นคงจะเป็นให้บทเรียนแก่เราอีกนาน



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in