ในตอนนี้ เราเชื่อว่าใครหลายคนก็ต้องรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อสไปเดอร์แมนมากันบ้าง วันนี้เราจะมาขอพื้นที่นี้เพื่อเขียนถึงบทวิเคราะห์คร่าวๆว่าตัวละครนี้แอบแฝงนัยยะถึงอะไร ผิดพลาดหรือต้องการแลกเปลี่ยนอะไรเราก็ยินดีจะรับฟังค่ะ
"สไปเดอร์แมน" หรือ "ไอ้แมงมุม" ซุปเปอร์ฮีโร่ยอดมนุษย์ของอเมริกาที่ผ่านการรีบูทเป็นหนังมาแล้วสามครั้ง โดยได้พระเอกสุดหล่ออย่าง โทบี้ แม็คไกวร์ (Tobey Maguire ), แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (Andrew Garfield) และ ทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland) รับบทเป็นนักแสดงนำตามลำดับ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ทั้งบทและคาแรกเตอร์ของไอ้แมงมุมทั้งสามเวอร์ชั่นนั้น มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สไปเดอร์แมนในฉบับของโทบี้ ไอ้แมงมุมเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่ทำให้คนดูรู้สึกเห็นใจเพราะเป็นยอดมนุษย์ที่ยากจนดูแลตัวเองยังลำบาก แต่กลับต้องรับภาระอันใหญ่หลวงให้ปกป้องชาวเมือง แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นของทอม ฮอลแลนด์ที่ให้คนดูรู้สึกเอ็นดูในความไม่ประสีประสาของไอ้แมงมุมฝึกหัด
“เหตุใดสไปเดอร์แมนทั้งสามเวอร์ชั่นมีคาแร๊กเตอร์แตกต่างกันถึงเพียงนี้” เราคงพอจะทราบกันบ้างว่า
สไปเดอร์แมนนั้นเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ของสหรัฐอเมริกาที่อาศัยอยู่ในกรุงนิวยอร์ก ไอ้แมงมุมจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของอเมริกาโดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในเวอร์ชั่นของโทบี้ สไปเดอร์แมนเป็นเด็กฉลาดที่กำพร้าพ่อแม่อย่างปริศนา เขาไม่ทราบภูมิหลังของทั้งสองเลย เขาเติบโตมาเพราะมีป้าเมย์และลุงเบนคอยเลี้ยงดู มิหนำซ้ำ ครอบครัวยังเป็นเพียงชนชั้นแรงงาน ยากจน และยิ่งลำบากขึ้นไปอีกเมื่อเขาต้องสละเวลามาเป็นผู้พิทักษ์เมืองนิวยอร์กตามคำสอนของลุงเบนที่ว่า “พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง” โดยหากสไปเดอร์แมนไม่เข้าไปช่วยเหลือ เมืองนิวยอร์กก็จะต้องประสบกับความวุ่นวาย เปรียบเสมือนสหรัฐฯในสมัยที่ภาพยนตร์จัดทำ อเมริกามองว่าตนเป็นประเทศใหม่ ไม่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตนและยังร่ำรวยไม่เทียบเท่ากับประเทศประมหาอำนาจอื่น แต่มีความเชื่อว่าตนนั้นมีความสามารถและฉลาดล้ำหน้ากว่าประเทศทั้งปวง จึงจำต้องรับผิดชอบ ดูแลจัดการปัญหาต่างๆของโลก เช่น การยื่นมือเข้ามาดูแลการค้าอาวุธระหว่างประเทศเพื่อความสงบสุขในทุกประเทศ
ไอ้แมงมุมที่แอนดรูว์แสดงก็ยังต้องรับหน้าที่ดูแลชาวเมืองนิวยอร์กเพียงผู้เดียวเช่นเคย แตกต่างจากโทบี้ตรงที่เขามีทั้งพ่อและแม่อีกทั้งยังร่ำรวยเสียด้วย เหมือนกับสหรัฐฯที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้นมากกว่าสมัยก่อน และสไปเดอร์แมนในภาคนี้ ได้มีการเพิ่มเติมให้ตัวเอกเจรจาต่อรองกับวายร้าย เหตุเพราะสหรัฐฯในยุคที่แอนดรูว์แสดงนั้นตรงกับสมัยประธานาธิบดีโอบามา (Obama) ที่มีการแก้ปัญหาระหว่างประเทศผ่านวาทศิลป์หรือใช้ Soft power มากกว่าภาคก่อนที่ตรงกับสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George H. W. Bush) ที่ใช้ Hard power มากกว่า อย่างที่เราเห็นกันว่าไอ้แมงมุมเวอร์ชั่นโทบี้ตั้งใจจะอัดคู่ต่อสู้ให้จอดเสียท่าเดียว
อย่างไรก็ตาม ในฉบับของทอม ฮอลแลนด์ สไปเดอร์แมนเป็นเพียงซุปเปอร์ฮีโร่หนึ่งในอเวนเจอร์ส (Avengers) แถมยังอ่อนประสบการณ์และถูกกีดกันไม่ให้ร่วมทีมจากรุ่นพี่อย่างไอรอนแมน (Ironman) เปรียบเสมือนปัจจุบัน ที่สหรัฐฯเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่าตนไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางในการดูแลความสงบของโลกแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังมีฮีโร่อีกหลายตนหรือประเทศอื่นๆรวมอยู่ด้วย และยังมองว่าตนเองเป็นประเทศใหม่ ด้อยประสบการณ์เมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆด้วยซ้ำ
ดูเหมือนว่าการรีบูทภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้เปลี่ยนแค่ตัวบทและนักแสดงเพียงเท่านั้น ถ้าเรามองให้ลึกขึ้นอีกหน่อย ซุปเปอร์ฮีโร่ที่พ่นใยไปตามตึกกรุงนิวยอร์กตนนี้อาจทำให้เราได้เห็นว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามีมุมมองหรือปฏิสัมพันธ์ต่อประเทศอื่นๆเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
อ้างอิงจาก
http://www.wisecrack.co/shows/wisecrackedition/philosophy-of-spiderman/
Content by mymadnessdiary
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in