สิ่งที่เรามักจะคิดถึงเมื่อวันคริสต์มาสเวียนมาถึงคือช่วงเวลาแห่งความสุข ช่วงเวลาปลายปีที่จวนจะได้หยุดพักหรือเริ่มต้นใหม่ เป็นช่วงเวลาที่คริสตชนทั่วโลกเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู ส่วนภาพที่ปรากฏขึ้นในหัวนั้นก็มักเป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลองท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ภาพหิมะสีขาวโพลนตัดกับสีเขียวของต้นสนและสีแดงของลูกฮอลลี่ที่ประดับประดาบนต้น รวมไปถึงภาพสีเหลืองอันเรืองรองสวยงามของไฟประดับตกแต่งต้นไม้และอาคารสถานที่
ทั้งภาพและห้วงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกร่วมไปกับเทศกาลช่วงปลายปี ทั้ง ๆ ที่เราอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับบรรยากาศคริสต์มาสแบบนั้น อาจเป็นเพราะสื่อภาพยนตร์คริสต์มาสชื่อดังหลายเรื่องที่นำเสนอภาพบรรยากาศงานรื่นเริงนี้ จนเกิดเป็นภาพจำที่แม้จะห่างไกลจากบริบทสังคมไทย แต่กลับไม่ห่างเหินทางความรู้สึก
“พูห์ ชีวิตมันมีอะไรมากกว่าแค่ลูกโป่งและน้ำผึ้งนะ เจ้าหมีโง่ ฉันไม่รู้ว่านายกลับมาทำไม
ฉันไม่ใช่เด็กแล้ว ฉันเป็นผู้ใหญ่ที่มีเรื่องต้องรับผิดชอบ ฉันไม่ใช่เด็กน้อยคนเดิมที่นายจำได้”
การที่คริสโตเฟอร์รู้สึกไม่พอใจและพยายามนำพูห์กลับมาส่งที่บ้านเพื่อรีบตัดจบความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นเหมือนการที่คริสโตเฟอร์พยายามหลีกหนีและปฏิเสธความเป็นเด็กในตัวเขาเอง เพราะเขามองว่าการกระทำของพูห์ เรื่องราวในป่าร้อยเอเคอร์ รวมถึงความเชื่อในการมีอยู่ของวูเซิลและเฮฟฟาลัมพ์ ล้วนเป็นมุมมองแบบเด็ก ๆ ที่เขามองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันและไร้สาระ
แต่ในท้ายที่สุด ความเป็นเด็กที่เขามองว่าเป็นสิ่งไม่ดีและเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเขาไม่ควรจะมี กลับช่วยให้เขาคิดไอเดียงานออกมานำเสนอหัวหน้าได้สำเร็จ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่ว่าเขาจะใช้ตรรกะและเหตุผลในแบบของผู้ใหญ่เท่าไรก็คิดงานนั้นไม่ออก มุมมองแบบเด็กๆ ที่เขามองข้ามนี้เองทำให้เขาคิดได้ว่า การคงไว้ซึ่งความเป็นเด็กในตัวไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร บางครั้งความเป็นเด็กเหล่านั้นยังช่วยเปิดมุมมองที่พวกผู้ใหญ่มองข้ามได้ด้วยซ้ำ แถมความเป็นเด็กยังช่วยทำให้เราหันกลับมาใส่ใจและมองเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราจริงๆ ในขณะที่ความเป็นผู้ใหญ่กลับทำให้เราสนใจแต่หน้าที่การงานและตรรกะเหตุผล จนหลงลืมสิ่งอื่นๆ ไป เหมือนอย่างที่คริสโตเฟอร์คิดได้ว่าตนเองควรหันกลับมาใช้เวลากับครอบครัว แทนที่จะทุ่มเทเวลาให้กับงานทั้งหมด
“ลูกรัก พ่อคิดผิดเรื่องงาน พ่อคิดผิดไปทุกเรื่อง พ่อทำตัวเป็นพ่อที่มีสมองน้อย
พ่อเสียความเป็นตัวเอง และพ่อเกือบเสียลูกไปแล้ว ลูกเป็นความรักที่มีค่าที่สุดของพ่อ”
ภาพกล่องของขวัญหลากสีสันหลายขนาดใต้ต้นคริสต์มาส คงจะเป็นภาพจำเทศกาลคริสต์มาสที่คุ้นเคยของใครหลาย ๆ คน ธรรมเนียมการให้ของขวัญมีมานานก่อนคริสต์ศาสนาจะถือกำเนิดขึ้น กล่าวคือ มีต้นกำเนิดจากเทศกาล “แซทเทอร์นาเลีย (Saturnalia)” ในสมัยโรมัน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 17 – 23 ธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นเกียรติแก่ “แซทเทิร์น (Saturn)” เทพแห่งการเกษตร
แล้วธรรมเนียมการให้ของขวัญนี้มาสัมพันธ์กับคริสต์ศาสนาได้อย่างไร?
กล่าวกันว่าชาวคริสต์นำธรรมเนียมการให้ของขวัญของชาวโรมันมาเชื่อมโยงกับตำนานความเชื่อทางคริสต์ศาสนาที่เชื่อว่าการให้ของขวัญในวันคริสต์มาส คือการให้เชิงสัญลักษณ์ เพื่อหวนระลึกถึงของขวัญสามชิ้นที่นักบุญทั้งสามมอบให้แก่พระเยซูในวันประสูติ ทำให้ธรรมเนียมการให้ของขวัญแพร่หลายออกไป จนกลายเป็นธรรมเนียมที่คนในครอบครัวมานั่งล้อมวงเพื่อแลกของขวัญกันใต้ต้นคริสต์มาส
หากเราได้รับของขวัญคริสต์มาสเป็นสิ่งของที่เรารอคอยมาทั้งปี เราคงจะดีใจและจดจำความรู้สึกขณะได้รับของขวัญนั้นไปอีกนาน แต่หากของขวัญที่ได้รับไม่ใช่สิ่งของที่เราอยากได้ พอจบเทศกาลคริสต์มาส ของขวัญชิ้นนั้นก็อาจถูกวางไว้ในมุมใดมุมหนึ่งของห้องเก็บของ ความรู้สึกในตอนที่เราได้รับของขวัญก็คงจะถูกลืมเลือนไปด้วย ในทางกลับกัน หากของขวัญที่เราได้รับเป็น “ของขวัญทางความรู้สึก” ของขวัญชิ้นนี้ก็คงจะมีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าของขวัญที่เรารอคอยมาทั้งปี เหมือนกับของขวัญที่ ‘วอลเตอร์ มิตตี้’ ได้รับในภาพยนตร์เรื่อง The Secret Life of Walter Mitty (2013)
‘วอลเตอร์ มิตตี้’ เป็นผู้จัดการแผนกฟิล์มเนกาทีฟที่บริษัทนิตรสารไลฟ์ เขาใช้ชีวิตเหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไป มีกิจวัตรประจำวันที่ซ้ำซากจำเจและค่อนข้างน่าเบื่อ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับตลับฟิล์มจาก ‘ฌอน โอคอนเนลล์’ ช่างภาพที่เขาทำงานด้วยกันมานาน ในนั้นมีรูปฟิล์มหมายเลข 25 ที่ฌอนอยากให้เขาตีพิมพ์ลงบนปกนิตรสารไลฟ์เล่มสุดท้าย แต่วอลเตอร์กลับพบว่าตลับฟิล์มนั้นไม่มีฟิล์มหลายเลข 25 ที่ฌอนกล่าวถึง เขาจึงต้องออกเดินทางตามหาฌอนด้วยตนเอง เพราะฌอนไม่ใช้โทรศัพท์ และออกเดินทางอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
การออกเดินทางตามหาตัวช่างภาพในครั้งนี้ จึงทำให้วอลเตอร์ได้ก้าวออกมาจากเซฟโซนของตัวเอง เขาได้ทำอะไรใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยทำ อย่างการนั่งเฮลิคอปเตอร์ที่กรีนแลนด์เพื่อไปส่งไปรษณีย์บนเรือที่ลอยอยู่กลางทะเล การนั่งรถหนีภูเขาไฟระเบิดที่ไอซ์แลนด์ จนไปถึงการปีนยอดเขาหิมาลัย
แม้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีที่วอลเตอร์ได้ออกมาทำอะไรใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยคิดจะทำ แต่ระหว่างการผจญภัยนั้น เขากลับตั้งคำถามถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังทำว่าทำไมเขาต้องลำบากขนาดนี้เพื่อตามหารูปเพียงรูปเดียวด้วย จนท้ายที่สุดเมื่อวอลเตอร์ตามหาฌอนจนพบและสามารถนำฟิล์มหมายเลข 25 ไปตีพิมพ์ได้ ทุกคำถามที่เขาเคยถามกับตนเองระหว่างการผจญภัยก็มลายหายไป เหลือเพียงแต่ “ของขวัญทางความรู้สึก” อันยิ่งใหญ่ที่ทิ้งไว้จากฌอน เพราะฟิล์มรูปนั้นที่จะนำไปขึ้นปกนิตยสารไลฟ์เล่มสุดท้าย กลับไม่ใช่ภาพที่ยิ่งใหญ่อะไรอย่างภาพสัตว์หายากหรือภาพวิวทิวทัศน์อันสวยงามตระการตา แต่เป็นภาพของวอลเตอร์ที่กำลังนั่งเรียงฟิล์มเนกาทีฟอยู่นั่นเอง
ของขวัญที่วอลเตอร์ได้รับจึงไม่ใช่ของขวัญธรรมดาทั่วไปที่หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า แต่ของขวัญชิ้นนี้กลับมีคุณค่ามากกว่านั้นจนอาจเรียกได้ว่าประเมินค่าไม่ได้ วอลเตอร์เปรียบเสมือนเด็กที่คิดว่าตนเองเป็นเด็กไม่ดี เป็นคนจืดชืดที่ไม่ได้มีคุณค่าอะไร ในขณะที่ฌอนเปรียบเสมือนซานต้าที่มามอบของขวัญให้เด็กอย่างวอลเตอร์ เพราะฌอนมองเห็นคุณค่าในตัวเขามาโดยตลอด และมองว่าเขาเป็นเด็กดีที่ควรได้รับของขวัญชิ้นนี้ตอบแทน เหมือนดั่งประโยคที่ฌอนพูดถึงรูปหมายเลข 25 ไว้ว่า
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะพิจารณารูปหมายเลข 25 ขึ้นปกนิตยสาร
มันคืองานชิ้นโบว์แดงของผม แก่นสารสำคัญของชีวิต”
ของขวัญที่ดีที่สุดที่วอลเตอร์ได้รับจากฌอนจึงเป็นประสบการณ์ระหว่างการเดินทางอันล้ำค่าที่เขาไม่สามารถหาได้จากการนั่งเฉย ๆ อยู่ที่ออฟฟิศ และการที่เขามีตัวตนและคุณค่าในสายตาคนอื่น เหมือนดั่งประโยคที่ฌอนพูดว่ากับแม่ของวอลเตอร์ว่า
“เขาบอกว่าลูกเป็นคนที่เข้าใจชีวิต ลูกคือคนที่ทำงานหนักที่สุด
เพื่อให้รูปของเขาปรากฏในแบบที่เขาตั้งใจ ลูกทำให้งานเขาสำเร็จ”
ภาพยนตร์เรื่องนี้พาทุกคนออกเดินทางตามหาของขวัญที่ “ใช่” และมีคุณค่าต่อใจของเราเองอย่างแท้จริง หากในวันคริสต์มาสเราได้รับของขวัญอันล้ำค่าเช่นนี้ ทุกครั้งที่เรานึกถึงเทศกาลคริสต์มาส หรือทุกปีเวลาเทศกาลคริสต์มาสเวียนมาถึง ความทรงจำอันสวยงามเกี่ยวกับของขวัญชิ้นนั้นคงจะหวนกลับมาทำให้เรายิ้มได้ทุกครั้งที่นึกถึง
อีกหนึ่งความพิเศษของวันคริสมาสต์คือวันที่นำพาสมาชิกครอบครัวที่แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของตนเองให้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันและร่วมพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวทุกข์สุขที่ได้พบเจอมาตลอดทั้งปีบนโต๊ะอาหารค่ำที่เต็มไปด้วยเมนูพิเศษอันโอชะ อย่างไก่งวงหรือฟรุ๊ตเค้กที่เรามักเห็นกันจนชินตาผ่านสื่อตะวันตก
ในบทความนี้ เราขอพาคุณมาสัมผัสบรรยากาศความเป็นครอบครัวแบบตะวันออกที่หลายคนคุ้นชินผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Farewell (2019) ที่แม้จะเป็นภาพยนตร์ครอบครัวที่แฝงอารมณ์หม่น ๆ อยู่บ้าง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็นำเสนอแง่มุม “ช่วงเวลาที่ครอบครัวได้กลับมาอยู่กันพร้อมหน้า” ผ่านเรื่องราวของ ‘บิลลี่’ หญิงสาวชาวจีนเชื้อสายอเมริกันที่ต้องบินลัดฟ้าจากอเมริกากลับมาประเทศจีนเพื่อมาหาอาม่าของเธออย่างกะทันหัน เหตุเพราะอาม่าป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4
แม้ทุกคนในครอบครัวของบิลลี่จะทราบจุดประสงค์ในการมาจีนครั้งนี้ แต่ทุกคนกลับไม่ได้บอกเรื่องอาการป่วยที่แท้จริงให้อาม่ารู้ กลับอ้างว่ากลับมาจีนครั้งนี้เพราะมาร่วมงานแต่งงานของ ‘เฮาเฮา’ ลูกพี่ลูกน้องของบิลลี่ ช่วงเวลาที่ญาติทุกคนได้กลับมาเจอหน้ากันโดยบังเอิญนี้เองจึงเป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวสุขปนเศร้าภายในครอบครัวขึ้นมา
ฝั่งอาม่าก็มีความสุขเพราะได้เห็นลูกหลานกลับมาอยู่กันพร้อมหน้าหลังจากที่ทุกคนแยกย้ายกันไปอยู่อเมริกาและญี่ปุ่นเป็นเวลานานนับ 20 ปี บิลลี่เองแม้จะเศร้าใจอยู่ลึก ๆ เพราะเธอรู้อยู่แก่ใจถึงเหตุผลในการมาจีนครั้งนี้ แต่เหตุการณ์กลับจีน (จำเป็น) ก็ทำให้เธอย้อนนึกถึงความทรงจำเก่า ๆ ที่ทำให้เธอยิ้มได้ สมัยอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเก่ากับอาม่า และทำให้เธอได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว พร้อมทั้งพยายามเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของคนในครอบครัวมากยิ่งขึ้น อย่างตอนที่เธอถามอาแปะว่าทำไมเราถึงไม่บอกความจริงกับอาม่าไป สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง อาแปะจึงให้เหตุผลว่า
“บิลลี่ มีหลายอย่างที่หลานต้องเข้าใจ พวกหลานไปอยู่ตะวันตกเสียนาน
คิดว่าชีวิตคน ๆ หนึ่งเป็นของตนเอง แต่มันคือความแตกต่างของตะวันออกและตะวันตก
ทางตะวันออกชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของเราทั้งหมด ของครอบครัว ของสังคม
หลานอยากจะบอกความจริงกับอาม่า เพราะกลัวที่จะต้องรับผิดชอบแทนอาม่า
เพราะเป็นภาระที่หนักเกินไป เราจะไม่บอกอาม่าเพราะมันเป็นหน้าที่ของเรา
ที่จะต้องแบกรับกันอยู่แล้ว”
ท้ายที่สุดบิลลี่ก็เปิดใจและยอมรับความแตกต่างทางความเชื่อนี้ แม้เธอจะยังเศร้าอยู่ลึก ๆ เรื่องอาการป่วยของอาม่า แต่เธอก็เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตต่อไปให้ดีที่สุด ไม่ทำให้อาม่าต้องกังวลใจ และมีความสุขกับช่วงเวลาทุกวินาทีที่ได้อยู่พร้อมหน้ากับคนในครอบครัว
เมื่อนึกถึงเทศกาลคริสต์มาส ภาพแรกๆ ที่ป็อปอัพขึ้นในความคิดก็มักจะเป็นภาพเชิงบวกและความรู้สึกดี ๆ อย่างบรรยากาศอันรื่นเริงบนท้องถนน ภาพแสงไฟหลากสีสันของไฟประดับต้นคริสต์มาส หรือช่วงเวลาอันอบอุ่นที่เราได้ใช้ร่วมกันกับคนรักและครอบครัว แต่สำหรับใครบางคน คริสต์มาสอาจไม่ใช่ห้วงเวลาแห่งความสุข เมื่อได้ยินเพลง All I Want for Christmas Is You ที่เปิดกันทั่วทุกมุมถนน ก็อาจจะรู้สึกขัดหู การกลับไปร่วมฉลองเทศกาลคริสต์มาสกับครอบครัวก็อาจกลับกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจและรู้สึกอึดอัด หรือบางคนอาจถึงขั้นรู้สึกเศร้าและโดดเดี่ยวในเทศกาลนี้ด้วยซ้ำ อาการที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลเหล่านี้มีชื่อว่า อาการ “Christmas Blues”
สาเหตุของอาการ Christmas Blues เกิดจากการที่เรานำตัวเองไปเปรียบเทียบกับภาพบรรยากาศและความรู้สึกอันแสนสุขที่เกิดขึ้นในเทศกาลคริสต์มาส อย่างการที่บางคนรู้สึกดิ่งช่วงคริสต์มาส เพราะมองว่าตนเองไม่มีวันหยุดคริสต์มาสที่สนุกสนานรื่นเริงและมีความสุขเท่าเพื่อน บางคนรู้สึกเปลี่ยวเหงาเพราะอาจมีเหตุจำเป็น ทำให้ไม่ได้กลับไปอยู่พร้อมหน้ากับคนในครอบครัวช่วงคริสต์มาส หรือบางครั้ง คริสต์มาสก็อาจพาให้เราหวนนึกถึงความทรงจำในอดีต อย่างช่วงเวลาที่ยังมีคนรักให้กอด หรือช่วงเวลาที่ยังมีครอบครัวให้กลับไปหาและคอยอยู่เคียงข้าง
ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวท่ามกลางบรรยากาศที่คนอื่นรื่นเริงและมีความสุขนี้เอง เป็นห้วงอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘ลี แชนด์เลอร์’ ในภาพยนตร์เรื่อง Manchester by the Sea (2016) ด้วยเช่นกัน ลีเป็นภารโรงประจำตึกแห่งหนึ่งในเมืองบอสตัน ที่ได้รับมอบหมายให้กลายเป็นผู้ปกครองของหลานชาย ‘แพทริค’ หลังจากพี่ชายของเขาเสียชีวิต ทำให้เขาต้องเดินทางไปยังเมืองที่เต็มไปด้วยความทรงจำอันน่าเศร้ามากมายอย่างแมนเชสเตอร์ เพื่อจัดการเรื่องงานศพและเรื่องการดูแลแพทริค
การได้กลับเมืองแมนเชสเตอร์นี้ เป็นเหมือนการเปิดบาดแผลในใจที่ลีพยายามปกปิดและหลบเลี่ยงมาโดยตลอด เพราะที่แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เหตุการณ์ทุกอย่างในชีวิตเขากลายเป็นอย่างทุกวันนี้ ลีเคยมีครอบครัวที่อบอุ่นและน่ารักอาศัยอยู่ด้วยกันที่เมืองนี้ แต่กลับมีเหตุให้ชีวิตเขาต้องพลิกผันไปเพราะเหตุการณ์อุบัติเหตุเพลิงไหม้ที่คร่าชีวิตลูกทั้ง 3 คนของเขา จนทำให้เขาไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างคนที่มีความสุขได้อีก ภรรยาเก่าตัดสินใจหย่ากับเขาเพราะทำใจกับเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้ ความฝังใจจากเหตุการณ์ในอดีตนี้ ทำให้ลีรู้สึกไม่สบายใจกับการต้องย้ายมาดูแลแพทริคที่เมืองแมนเชสเตอร์ เขาจึงอยากพาแพทริคไปอยู่กับเขาที่บอสตันเพื่อหลีกหนีจากความทรงจำอันเลวร้าย จนทำให้เขาทะเลาะและมีปากเสียงกับแพทริค เพราะแพทริคไม่เข้าใจว่าทำไมลีไม่ยอมย้ายมาทำงานที่นี่และบังคับหัวชนฝาให้ตนไปอยู่ที่บอสตัน
ในท้ายที่สุด แม้ลีจะบังเอิญเจอกับภรรยาเก่า และเห็นว่าเธอสามารถปล่อยวางเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในอดีต ก้าวออกมาจากวังวนความเจ็บปวด และใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่สำหรับลี การสูญเสียนั้นยังคงเด่นชัดอยู่ในใจ เขากลายเป็นคนขวางโลก ตัดมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เขาเหินห่างกับพี่ชายและหลานชายที่เคยสนิท แถมการเดินหน้าต่อก็ดูจะเป็นเรื่องห่างไกลและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเขา เมื่อแพทริคขอร้องให้ลีอยู่กับเขาที่แมนเชสเตอร์ ลีบอกแพทริคว่าเขาไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้ เพราะเขายังไม่สามารถเอาชนะบาดแผลในความทรงจำเหล่านั้นได้ เขาจึงทำได้เพียงใช้ชีวิตหม่น ๆ อยู่กับความเจ็บปวดแบบนี้ต่อไป พร้อมกับพยายามหลีกเลี่ยงการมาเมืองแมนเชสเตอร์ให้ได้มากที่สุดเหมือนที่เขาเคยทำเสมอมา
คนกว่าครึ่งค่อนโลกโดยเฉพาะฝั่งอเมริกาและยุโรป ต่างให้ความสำคัญและตั้งตารอคอยการมาถึงของเทศกาลคริสต์มาสเป็นอย่างมาก บางคนถึงขั้นเริ่มหาซื้อของตกแต่งร้านค้าหรือบ้านของตนให้มีบรรยากาศความเป็นคริสต์มาสกันตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้บรรยากาศช่วงปลายปีของคนแถบนั้นเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนานรื่นเริง ความผ่อนคลาย และการตั้งตารอคอยวันหยุดยาวช่วงคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึง
คนไทยเองแม้จะรับเอาเทศกาลคริสต์มาสมาเฉลิมฉลอง แต่หลายคนรวมถึงสถานที่หลายแห่งกลับไม่ได้ถือเทศกาลคริสต์มาสเป็นเทศกาลที่สำคัญขนาดนั้น เทศกาลคริสต์มาสในความรู้สึกของคนไทยจึงเป็นเทศกาลที่ให้ความรู้สึกที่ผสมปนเปกัน มีทั้งคนที่อินกับเทศกาลนี้ คนที่เฉย ๆ และคนที่ไม่อินกับเทศกาลนี้เลย
กลุ่มคนที่ไม่อินกับเทศกาลคริสต์มาสอาจจะมีเหล่ามนุษย์เงินเดือนเป็นหนึ่งในนั้นด้วย เพราะในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศแห่งความผ่อนคลาย สนุกสนานรื่นเริง และใช้ช่วงเวลานี้อยู่กับครอบครัว แต่เหล่ามนุษย์เงินเดือนในไทยทั้งหลายกลับต้องมานั่งทำงานหลังแข็งในช่วงปลายปี เพื่อเร่งทำงานให้เสร็จทันช่วงหยุดปีใหม่ บางคนทนทำงานหามรุ่งหามค่ำในช่วงนี้เพื่อแลกกับโบนัสปลายปี ภาพการเฉลิมฉลองคริสต์มาสในแบบของมนุษย์เงินเดือนจึงไม่ใช่ภาพที่น่ารื่นรมย์สักเท่าไร ออกจะเหี่ยวเฉามากเสียด้วยซ้ำ เหมือนเหล่ามนุษย์เงินเดือนจากภาพยนตร์เรื่อง ยอดมนุษย์เงินเดือน (2012) ที่คงจะรู้สึกเฉาในช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้เป็นพิเศษ
ในเรื่อง เหล่ามนุษย์เงินเดือนได้รับมอบหมายโจทย์หินจาก ‘คุณอนันต์’ กรรมการผู้จัดการบริษัทให้ทีมผลิตสินค้าคิดสินค้าใหม่ออกวางตลาด และขึ้นรายการผลิตให้ทันต้นปีหน้า การมอบหมายงานในครั้งนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยหากทางทีมผลิตมีเวลามากพอในการทำงาน เพราะปกติเวลาจะออกสินค้าตัวหนึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี แต่คุณอนันต์กลับมอบหมายงานนี้ให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนช่วงเดือนตุลาคม ทำให้พวกเขามีเวลาเพียงแค่ 3 เดือน ในการคิดสินค้าใหม่ออกมาวางขาย ก่อนจะต้องนำเสนอไอเดียให้ทางบอร์ดผู้บริหารฟังตอนสิ้นเดือนธันวาคม
ความซวยจึงบังเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น เพราะคุณอนันต์บอกกับทุกคนว่าพวกคุณจะไม่ทำงานนี้ก็ได้ แต่คงไม่ได้รับการพิจารณาโบนัสปลายปี! ทุกคนในทีมของ ‘ปั้น’ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดจึงต้องรับงานนี้ไปทำโดยไม่มีข้อแม้ เมื่อต้องทำงานภายใต้แรงกดดันทั้งเรื่องระยะเวลาและเงินโบนัส ทำให้ระหว่างการทำงาน ทุกคนในทีมของปั้นเกิดคำถามว่าทำไมพวกเขาต้องทนทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำเพื่อบริษัทขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ใช่ทาสของบริษัท และเงินโบนัสที่ได้รับนั้นก็ถือเป็นจำนวนเงินอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับเวลาการทำงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้โปรเจกต์นี้เสร็จทันเวลา
แต่สุดท้าย ทุกคนก็ต้องก้มหน้าทำต่อไป เพราะพวกเขามีความฝันที่อยากทำให้สำเร็จ บางคนอยากได้โบนัสเพื่อเอาไปซื้อรถในฝัน หรือบางคนอยากมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงจึงพยายามรีบเก็บเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงสามารถเข็นให้โปรเจกต์เสร็จทันเวลาได้ในที่สุด แต่คุณอนันต์และทางบอร์ดผู้บริหารกลับบอกว่าอยากให้เลื่อนโปรเจกต์นี้ไปก่อน และยังบอกว่าการเลื่อนแบบนี้ถือว่าโปรเจกต์ไม่ผ่าน คงไม่อนุมัติโบนัสให้
เรื่องราวเหล่านี้เป็นเนื้อหาบางส่วนจากช่วงครึ่งแรกของภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นชีวิตช่วงปลายปีแสนเหี่ยวเฉาของพนักงานออฟฟิศ ซึ่งขัดแย้งกับบรรยากาศเทศกาลคริสต์มาสที่เต็มไปด้วยความสุข ภาพที่ขัดแย้งกันนี้ทำให้เห็นว่าในเทศกาลคริสต์มาสก็มีทั้งด้านที่แสนสุข และอีกด้านที่เหี่ยวเฉาสำหรับคนบางกลุ่มด้วย เหมือนดั่งประโยคตอนเปิดเรื่องที่นำเสนอความสุดเฉาของเทศกาลคริสต์มาสผ่านเหล่ามนุษย์เงินเดือนไว้ว่า
“เราไม่เคยเข้าใจเลยอ่ะว่าคนพวกนี้ทนได้ไง ต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืด แล้วก็ไปติดแหงกอยู่ในรถ
เพื่อทำงานในคอกแคบ ๆ ทุกวัน จะไปเที่ยวก็ไปได้แค่วันหยุดยาว แถมยังต้องแย่งกันกิน
แย่งกันเที่ยว แล้วถ้าเบื่องานก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะผ่อนอะไรไม่รู้เต็มไปหมด คงทำได้แค่ต้อง
ก้มหน้าก้มตาทำต่อไปจนเกษียณ ระหว่างนั้นแต่ละปีก็มีความหวังอยู่อย่างเดียวคือ
โบนัสปลายปี”
หวังว่าคุณจะพบหนังสักเรื่องที่ใช่นะคะ Merry Christmas ค่ะ
#คิดไม่ถึงว่าจะคริสมาสต์
รายการอ้างอิง
Gifts unwrapped: The history of Christmas presents (giftsinternational.net)
The Christmas Blues – Why They Happen and How to Manage - Harley Therapy™ Blog
ผลงานของนักเรียนเขียนเรื่องจากรายวิชา "ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว" ปีการศึกษา 2564
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำ ดัดแปลง
เรื่อง: ภัทราพร ชัยบุตร
ภาพ: . ธมลวรรณ จิ้มลิ้มเลิศ
บรรณาธิการ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in