เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เราจะขายจนกว่าคุณจะมาฟังเพลงคลาสสิกกับเราNinnart R.
The Playlist: 5 เพลงคลาสสิกรับเทศกาลฮาลโลวีน
  • ทุกคนพร้อมสำหรับเทศกาลฮาลโลวีนหรือยัง? นี่ก็ใกล้ถึงเทศกาลฮาลโลวีนกันแล้ว ถ้าเป็นในประเทศตะวันตก ตอนนี้ก็เป็นช่วงที่อากาศเริ่มหนาว ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี และยามค่ำคืนยาวนานขึ้นทุกที เนื่องในโอกาสเทศกาลฮาลโลวีนปีนี้ เราก็ขอรวมเพลงคลาสสิกที่เข้ากับบรรยากาศชวนขนหัวลุกมาให้ทุกคนฟังกัน!

    1. ‘Danse Macabre’ - Camille Saint-Saëns




    หากพูดถึงเทศกาลฮาลโลวีนแล้ว จะไม่พูดถึงบทเพลง Danse Macabre หรือ ‘Dance of the Death’ โดย Camille Saint-Saëns (กามีย์ แซ็ง-ซองส์) ไม่ได้จริงๆ เพราะบทเพลงนี้เรียกได้ว่าเป็นเพลงชาติแห่งวันฮาลโลวีนเลยทีเดียว


    Danse Macabre เป็นบทประพันธ์ประเภท ‘tone poem’ หรือ ‘symphonic poem’ ดนตรีคลาสสิกประเภทหนึ่งที่มีจุดประสงค์เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกของภาพวาด บทกวี บทละคร นวนิยายหรือแรงบันดาลใจอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ ‘ดนตรี’ ให้ผู้ฟัง พูดแบบนี้หลายคนอาจจะยังงงๆ อยู่ เอ๊ะ แล้วปกติดนตรีไม่ได้มีจุดประสงค์เป็นการบอกเล่าเรื่องราวอะไรให้เราฟังอย่างนั้นหรือ?


    ตรงนี้ต้องขออธิบายอย่างง่ายๆ ว่า กาลครั้งหนึ่งเมื่อ “Franz Liszt” (ฟรานซ์ ลิซท์) ซึ่งเป็นนักเปียโนนามเอกอุคนหนึ่งเริ่มประพันธ์และนิยามบทประพันธ์ของเขาว่า “symphonic poem” หรือ “tone poem” ขึ้นมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ดนตรีคลาสสิกที่เป็นกระแสหลักในยุคนั้น ยังเป็นบทเพลงซิมโฟนี บทเพลงคอนแชร์โต หรือบทเพลงโซนาต้า ฯลฯ ซึ่งเป็นดนตรีที่เกิดขึ้นผ่านการเรียงร้อยตัวโน้ตต่างๆ ของเครื่องดนตรีต่างๆ ให้สอดประสานกันจนเกิดเป็นเสียงไพเราะตามรูปแบบที่มีอยู่ ไม่ได้มีโจทย์ว่าคนฟังฟังแล้วต้องเห็นภาพนี้ๆ นะ ฟังแล้วต้องเห็นแม่มดออกมาวิ่งไล่เด็กเลยนะ ฟังถึงท่อนนี้ต้องเห็นภาพพ่อมดออกมาร่ายคาถาช่วยลูกศิษย์ตัวเองเลยนะ ฯลฯ ตอนที่ Liszt เริ่มประพันธ์และเผยแพร่ symphonic poem ขึ้นจึงเป็นที่ถกเถียงในหมู่มิตรรักแฟนเพลงในยุคนั้นพอตัว (ฮา)


    แล้วถามว่า ‘เนื้อเรื่อง’ เบื้อหลังบทเพลงที่มีชื่อชวนหลอนอย่าง ‘Danse Macabre’ หรือ ‘Dance of the Death’ นี้คืออะไร?


    Danse Macabre มีที่มาจากตำนานของฝรั่งเศสว่าในเวลาเที่ยงคืนของวันฮาลโลวีน ‘ความตาย’ จะนำไวโอลินมาเล่นในสุสาน ปลุกให้บรรดาโครงกระดูกของคนตายทั้งหลายลุกขึ้นมาเต้นรำกัน เมื่อไก่ขันในรุ่งเช้าวันถัดไป คนตายเหล่านี้ก็จะกลับไปนอนในหลุมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น


    เป็นตำนานที่หลอนสมกับวันฮาลโลวีนดีแท้…


    ด้วยเหตุนี้บทเพลง Danse Macabre จึงมักถูกนำไปใช้เพื่อเสริมบรรยากาศ ‘สยองขวัญ’ ในสื่อต่างๆ และหากนั่นยังหลอนไม่พอ บทเพลง Danse Macabre ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอยู่อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ท่อนแรกของโวโอลินโซโล่ในเพลงนี้ เริ่มมาด้วยคู่เสียง “Tritone” (ไตรโทน) หรือก็คือตัวโน้ต 2 ตัวที่มีระยะห่างกัน 3 เสียง


    พูดแบบนี้อาจฟังดูไม่หลอน แต่คู่เสียงไตรโทนนี้เคยได้รับสมญาว่า “คู่เสียงปีศาจ” (Diabolus in Musica/Devil in the music) อีกด้วย! เรียกได้ว่าเป็นการเก็บรายละเอียดความหลอนได้อย่างครบเครื่องจากแซ็ง-ซ็องส์ ฉะนั้นถ้าพูดถึงเพลงคลาสสิกที่หลอนครบเครื่องเหมาะสำหรับเทศกาลฮาลโลวีนแล้ว จะขาด Danse Macabre ไปไม่ได้จริงๆ!


  • 2. Night on Bald Mountain - Modest Mussorgsky




    “คืนบนเขาหัวโล้น”


    แหม่ ถ้าแปลแบบนี้ก็อาจจะไม่หลอนเท่าไหร่ แต่เพลงคลาสสิกเพลงนี้เป็นอีกหนึ่งเพลงชาติของวันฮาลโลวีนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้จริงๆ ใครที่เคยชมภาพยนตร์ชุด ‘Fantasia’ ของวอลต์ ดิสนีย์ก็อาจเคยได้ยินเพลงนี้มาแล้ว


    แต่ความจริงแล้ว บทเพลงนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับวันฮาลโลวีนเลยแม้แต่นิดเดียว (อ้าว)


    บทเพลง Night on Bald Mountain เป็นอีกหนึ่ง tone poem หรือ symphonic poem จากปลายปากกาของคีตกวีชาวรัสเซีย “Modest Mussorgsky” (โมเดสต์ มูสซอร์กสกี) โดยมูสซอร์กสกีตั้งใจประพันธ์เพลงนี้ขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโอเปร่าชื่อ “St. John's Eve on Bald Mountain” แต่น่าเสียดายว่าเขาไม่เคยประพันธ์โอเปร่าเรื่องนี้ได้เสร็จสิ้น


    ในจดหมายถึงเพื่อนชื่อวลาดิมีร์ นิโคลส์กี้ มูสซอร์กสกีกล่าวถึงบทเพลง Night on Bald Mountain และโอเปร่าเรื่อง St. John’s Eve on Bald Mountain ไว้ว่า จะเป็นการเล่าถึงการชุมนุมของแม่มดบนภูเขาในคืนก่อนวันเกิดของนักบุญจอห์น (St. John’s Eve) ซึ่งวันเกิดของนักบุญจอห์นเนี่ย…


    มันคือวันที่ 24 มิถุนายนค่ะ


    ฉะนั้นคืนก่อนวันเกิดของนักบุญจอห์นก็คือคืนวันที่ 23 มิถุนายน ในประเทศยุโรปหลายๆ แห่งเรียกได้ว่าตกกลางฤดูร้อนพอดิบพอดี แล้วยิ่งในประเทศทางเหนืออย่างรัสเซีย ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ฟ้าสว่างโร่ยันเที่ยงคืนอีกด้วย ฉะนั้นถ้าว่ากันตามตรงแล้ว บทเพลงนี้นอกจากไม่ได้มีตำนานอะไรเกี่ยวกับวันฮาลโลวีนแล้ว ฤดูกาลยังไม่ตรงอีกต่างหาก (ฮา)


    แต่ด้วยฉากหลังที่เป็นการชุมนุมของ “แม่มด” และท่วงทำนองที่ฟังดูยุ่งเหยิง สับสน ชวนให้นึกถึงเหล่าแม่มดที่เต้นระบำอย่างบ้าคลั่งอยู่รอบกองไฟ บทเพลงนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในบทเพลงประจำเทศกาลฮาลโลวีนไปโดยปริยาย


    ว่าไป เมื่อพูดถึงเพลงนี้แล้ว เรื่องน่าเสียดายอีกอย่างหนึ่งคือตลอดช่วงชีวิตของมูสซอกสกี้ เขาไม่สามารถ “ขาย” บทเพลงนี้ให้วงดนตรีไหนเอาไปเล่นได้เลยแม้แต่วงเดียว จนเขาเสียชีวิตไปได้ 9 ปี เพื่อนสนิทของเขา “Nikolai Rimsky-Korsakov” (นีโคไล ริมสกี-กอร์ซากอฟ) ผู้ประพันธ์บทเพลง ‘Scheherazade’ จึงนำเพลงนี้มาปรับปรุงใหม่จนมีวงดนตรีนำมันไปเล่นในที่สุด

  • 3. The Noon Witch - Antonín Dvořák 



    เช่นเดียวกับบทเพลง Night on Bald Mountain ก่อนหน้านี้ เราอาจต้องขอทำลายภาพจำวันฮาลโลวีนของคุณอีกแล้ว (ฮา)


    เพราะหากพูดถึงบรรยากาศวันฮาลโลวีน หลายคนอาจนึกภาพคืนฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีส้ม ตามหน้าบ้านมีตะเกียงฟักทองตาโบ๋คอยมองตามบรรดาเด็กๆ ในชุดภูติผีปีศาจที่มาเคาะประตูขอขนม แต่สำหรับบทเพลง ‘The Noon Witch’ โดย Antonín Dvořák (อันโตญีน ดโวชาก) คีตกวีชาวเช็กแล้ว นี่เป็นความน่ากลัวที่นอกจากจะไม่เกี่ยวกับวันฮาลโลวีนแล้ว ยังเกิดขึ้นในเวลาเที่ยงวันอีกต่างหาก (อ้าว)


    สำหรับบทเพลงนี้ Dvořák ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีชื่อเดียวกันโดย Karel Jaromír Erben ซึ่งกล่าวถึงตำนานของ ‘Lady Midday’ หรือ ‘The Noon Witch’ (แม่มดเที่ยงวัน) ในความเชื่อของชาวสลาฟ


    ว่ากันว่า Lady Midday จะปรากฏกายขึ้นในทุ่งข้าวสาลีเมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงตรง บางตำนานก็ว่าเธอเป็นหญิงสาวถือเคียวในชุดสีขาว บ้างก็ว่าเธอเป็นหญิงแก่น่าเกลียด บ้างก็ว่าเธอเป็นเด็กหญิงวัยสิบกว่าขวบถือแส้ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ หาก Lady Midday พบใครอยู่ในทุ่งข้าวเวลาเที่ยงวัน คนคนนั้นจะถูกลงโทษ โดยบางตำนานกล่าวว่าชาวนาคนไหนที่พบเจอเธอจะมีอันเป็นไป บางที่ก็กล่าวว่าเธอจะทำให้ชาวนาป่วยไข้หรือวิกลจริต บางที่ก็ว่าหากเธอไปพบเด็กสาวที่มาแอบงีบหลับในทุ่งข้าว เธอจะสาปให้เด็กสาวคนนั้นต้องเต้นรำไปตลอดวันจนกว่าพระอาทิตย์จะตกดิน ซึ่งหากเรามาคิดดูแล้ว ตำนานของ Lady Midday ก็น่าจะเป็นการสอนให้ผู้คนไม่ออกไปทำงานกลางแดดร้อนที่อาจก่อให้เกิดโรคลมแดดนั่นเอง


    แต่ว่าในบทกวี Lady Midday ของ Karel Jaromír Erben นี้อาจมีเรื่องเล่าที่ต่างออกไปสักหน่อย โดยเรื่องเล่าในบทกวีของ Erben มีอยู่ว่า:


    เด็กชายคนหนึ่งทำตัวซุกซนรบกวนคุณแม่ที่กำลังเตรียมมื้อเที่ยงให้เขาอยู่ คุณแม่จึงหันมาเอ็ดเด็กชายให้ทำตัวดีๆ ไม่งั้นแม่มดเที่ยงวันจะมาเอาตัวเด็กชายไป แต่ดุเท่าไหร่เด็กชายก็ยังทำตัวซุกซนอยู่ไม่สุข เมื่อระฆังโบสถ์ตีบอกเวลาเที่ยงวัน แม่มดเที่ยงวันก็มาปรากฏตัวที่หน้าบ้านของพวกเขาจริงๆ! คุณแม่ตกใจกลัวที่แม่มดตั้งใจจะมาพาตัวลูกชายของเธอไปจริงๆ เธอจึงคว้าตัวลูกชายวิ่งหนีไปจนหมดสติในที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป คุณพ่อของเด็กชายก็กลับมาจากการทำงานในทุ่งข้าว เขาพบเด็กชายหมดสติอยู่ในอ้อมแขนแม่ จึงปลุกแม่ขึ้นมา แต่หลังปลุกคุณแม่ขึ้นมาแล้ว พวกเขากลับพบว่าปลุกเท่าไหร่เด็กชายก็ไม่ตื่นเสียที จากนั้นพวกเขาถึงพบว่าคุณแม่ได้เผลอรัดคอเด็กชายตายไประหว่างวิ่งหนีนางแม่มดเสียแล้ว…


    เรียกได้ว่าเป็นตอนจบที่ขนหัวลุกไม่แพ้นิทานกริมม์ดีๆ สักเรื่องเลยทีเดียว และ Dvořák ก็ถ่ายทอดเรื่องราวนี้ออกมาได้อย่างมีสีสันและซื่อตรงในบทเพลงของเขา เริ่มตั้งแต่ท่วงทำนองที่เรียบง่าย สดใส เหมือนช่วงกลางวันอันแสนธรรมดาในบ้านหลังหนึ่ง ไปจนถึงการปรากฏตัวอันน่าหวาดกลัวของแม่มด และการไล่ล่าที่ตามมา วันฮาลโลวีนนี้ก็ขอฝาก The Noon Witch จาก Dvořák ไปเป็นอีกหนึ่งเพลงให้ทุกคนได้ฟังกัน


  • 4. Violin Sonata in G minor (The Devil’s Trill Sonata) - Giuseppe Tartini



    บทเพลงนี้อาจจะแตกต่างจากบทเพลงที่เราแนะนำมาจนถึงตอนนี้สักหน่อย เพราะความน่ากลัวของบทเพลงนี้ไม่ได้อยู่ในเรื่องราวหรือตำนานที่มันนำเสนอ แต่อยู่ในจุดกำเนิดของมันต่างหาก


    Devil’s Trill Sonata หรือไวโอลินโซนาต้าในบันไดเสียง จี ไมเนอร์นี้เป็นบทเพลงโซโล่สำหรับไวโอลินโดย Giuseppe Tartini (จูเซ็ปเป้ ตาร์ตินี่)


    ตำนานเกี่ยวกับบทเพลงนี้มีอยู่ว่า คืนหนึ่ง ตาร์ตินี่ฝันว่าเขาได้เจอกับปีศาจและเขาขอให้ปีศาจเล่นไวโอลินให้ฟังหน่อยแลกกับวิญญาณของเขา ซึ่งปีศาจก็รับข้อเสนอและเล่นไวโอลินให้ตาร์ตินี่ฟัง บทเพลงที่เจ้าปีศาจเล่นเป็นบทเพลงที่ไพเราะตราตรึงจิตของตาร์ตินี่เป็นอย่างยิ่ง เมื่อเขาตื่นขึ้นมา เขาก็รีบคว้าไวโอลินขึ้นมาประพันธ์บทเพลงที่ปีศาจเล่นให้ฟัง แต่น่าเสียดายว่าตาร์ตินี่พยายามเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถเรียบเรียงบทเพลงออกมาได้ไพเราะเพราะพริ้งอย่างที่เจ้าปีศาจเล่น


    แต่กระนั้น ตาร์ตินี่ก็ยอมรับว่าบทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เขาได้ประพันธ์ขึ้นมา และขนานนามมันว่า “Devil’s Trill Sonata” โดยคำว่า ‘trill’ ในที่นี้เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของการเล่นไวโอลิน โดยนักไวโอลินจะใช้นิ้วใดนิ้วหนึ่งกดสายไวโอลินแบบจับ-ปล่อย จับ-ปล่อยเร็วๆ ทำให้เกิดเป็นเสียงตัวโน้ตสองตัวสลับกัน นั่นคือเทคนิคที่เรียกว่า trill (หากเป็นการกดค้างไว้แล้วขยี้สายโดยไม่ยกนิ้วขึ้น แบบนั้นจะเป็นเทคนิคที่เรียกว่า vibrato ซึ่งทำให้เสียงสั่น แต่ไม่ได้ทำให้โน้ตเปลี่ยนแต่อย่างใด)


    ฉะนั้นหากให้แปลชื่อ Devil’s Trill Sonata อย่างสวยๆ จะแปลว่า “โซนาต้า ‘เสียงครวญ’ แห่งปีศาจ” ก็คงไม่เพี้ยนผิด


    และความ “ปีศาจ” ของบทเพลงนี้ไม่ได้หยุดแค่ที่มาของมันเท่านั้น เพราะบทเพลงนี้ยังเป็นเพลงไวโอลินที่ยากระดับชิบหัยวายป่วง ขนเทคนิคยากๆ มาใส่แบบแน่นเอี้ยด จนกล่าวได้ว่าเป็นบทเพลง “ปีศาจ” สมชื่อเลยทีเดียว

  • 5. The Sorcerer’s Apprentice - Paul Dukas



    สุดท้ายขอจบเพลย์ลิสต์นี้ด้วยบทเพลงที่น่ารักขึ้นสักหน่อย แต่ยังเข้ากับบรรยากาศวันฮาลโลวีนของเราได้อย่างดีเยี่ยม นั่นคือบทเพลง ‘The Sorcerer’s Apprentice’ (ลูกศิษย์พ่อมด) โดย “Paul Dukas” (พอล ดูคาส) ใครที่เคยชมภาพยนตร์ชุด Fantasia ของดิสนีย์ หรือเป็นแฟนการ์ตูนดิสนีย์ น่าจะร้อง ‘อ๋อ’ กันบ้างแล้วหรือเปล่า?


    บทเพลงนี้เป็น symphonic poem ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีชื่อเดียวกันของ Johann Wolfgang von Goethe (โยฮัน วูล์ฟกัง วอน เกอเธอ) 


    เนื้อเรื่องของบทกวีกล่าวถึงลูกศิษย์ของพ่อมดที่ถูกพ่อมดใช้ให้ทำงานบ้านระหว่างที่พ่อมดออกไปข้างนอก คุณลูกศิษย์เกิดคร้านจะทำงานต่อ เลยใช้เวทมนตร์เสกไม้กวาดให้เป็นคนออกไปตักน้ำแทนตัวเอง แต่หลังเสกให้ไม้กวาดลุกขึ้นไปตักน้ำแทนตัวเองได้แล้ว เจ้าลูกศิษย์หนุ่มกลับนึกขึ้นได้ว่าเขาไม่รู้วิธีทำให้มันหยุดเสียนี่ เจ้าไม้กวาดเลยตักน้ำเข้ามาเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนน้ำเอ่อล้นท่วมบ้านพ่อมดในที่สุด ด้วยความร้อนรน ลูกศิษย์หนุ่มใช้ขวานจามไม้กวาดแยกเป็นสองซีก แต่เจ้าไม้กวาดอีกซีกที่แยกออกมาก็ดันมีชีวิตเป็นของตัวเองเสียอย่างนั้น! ลูกศิษย์หนุ่มตกใจเลยใช้ขวานจามเจ้าไม้กวาดมากกว่าเดิมอีก แต่ไม้กวาดทุกชิ้นกลับมีชีวิตขึ้นมาแล้วช่วยกันตักน้ำอย่างแข็งขัน!


    เคราะห์ดีว่าคุณพ่อมดกลับมาแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ช่วยเสกให้บรรดาไม้กวาดกลับไปไร้ชีวิตเช่นเดิม และลูกศิษย์หนุ่มก็ถูกพ่อมดเอ็ดว่าเขาห้ามใช้เวทมนตร์คาถาโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก!


    ใครที่เคยดูภาพยนตร์ชุด ‘Fantasia’ ของดิสนีย์อาจจะคุ้นเคยกับเรื่องนี้ เพราะเจ้าหนูมิคกี้เมาส์ก็เคยรับบทเป็นลูกศิษย์พ่อมดที่ใช้เวทมนตร์จนเป็นเรื่องขึ้นมานั่นเอง


    สำหรับใครที่ต้องการบรรยากาศมีมนตร์ขลัง แต่ไม่อยากได้ความหลอนหรือความสยองของวันฮาลโลวีนเท่าไหร่ เพลงนี้อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับคุณอย่างยิ่ง เพราะเพลงนี้มีทั้งเสียงปี่บาสซูนสุดน่ารักเป็นเอกลักษณ์ ไหนจะความโกลาหลฝีมือลูกศิษย์หนุ่มที่ประโคมโดยวงออร์เคสตราอย่างเต็มสูบ เป็นเพลงที่เปี่ยมไปด้วยเวทมนตร์และจะเรียกรอยยิ้มให้คุณได้แน่นอน!



    ความจริงนอกจาก 5 เพลงนี้แล้ว ก็ยังมีบทเพลงเพราะๆ ที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนอีกมากมาย ทั้งสำหรับวันฮาลโลวีนและทุกๆ วันในชีวิตคุณก็ดี หากมีโอกาสเมื่อไหร่ เราจะกลับมาเจอทุกคนอีกแน่นอน!


    ___


    เอกสารอ้างอิงที่ทำให้เกิดบทความนี้:


    - Atlas Mythica. (n.d.). All about Slavic Poludnica: Lady Midday (or Noonwraith). Atlas Mythica. https://atlasmythica.com/poludnica-lady-midday-noonwraith-polevik/
    - Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2011, February 18). symphonic poem. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/art/symphonic-poem
    - Classic FM. (n.d.). Mussorgsky - A Night on the Bare Mountain. Classic FM. https://www.classicfm.com/composers/mussorgsky/music/night-bare-mountain/
    - Henken, J. (n.d.). Noonday Witch, Op. 108. Hollywood Bowl. https://www.hollywoodbowl.com/musicdb/pieces/2470/noonday-witch-op-108
    - Hodge, T. (n.d.). St. John's Night on Bald Mountain. LA Phil. https://www.laphil.com/musicdb/pieces/680/st-johns-night-on-bald-mountain
    - Howard, O. (n.d.). The Sorcerer's Apprentice. LA Phil. https://www.laphil.com/musicdb/pieces/759/the-sorcerers-apprentice
    - Johnson, S. (2016, June 10). What is a... Tone Poem?. Classical Music. https://www.classical-music.com/features/articles/what-tone-poem/
    - May, T. (n.d.). Tartini: Sonata in G minor for Solo Violin, Devil's Trill. San Francisco Symphony. https://www.sfsymphony.org/Data/Event-Data/Program-Notes/T/Tartini-Sonata-in-G-minor-for-Solo-Violin-Devils-T
    - (n.d.). The Noon Witch (Polednice), Op. 108, B196. Antonín Dvořák. https://www.antonin-dvorak.cz/en/work/the-noon-witch/
    - Schwarm, B. (2016, March 16). Night on Bald Mountain. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/topic/Night-on-Bald-Mountain-by-Mussorgsky

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in