เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
POWERISMSALMONBOOKS
คำนำ



  • คำนำสำนักพิมพ์


    รู้ตัวอีกที เราก็เสพติดอำนาจไปซะแล้ว

    เปล่า—เราไม่ได้กระหายหรือชื่นชอบการชี้นิ้วสั่งใคร อำนาจที่เราติดใจ คืออำนาจที่อยู่ในเรื่องเล่าของ โตมร ศุขปรีชา ต่างหาก

    ก่อนที่ POWERISM จะมารวมตัวเป็นกลุ่มก้อนอยู่ในมือคุณ บทความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ The MATTER

    สารภาพตามตรงว่าเมื่อแรกเห็น เราคิดว่าคอลัมน์นี้ต้องอ่านแล้วหนักสมองแน่นอน

    ด้วยความที่คอลัมน์มีชื่อจริงจัง สื่อถึงพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่

    เราเลยกดอ่าน POWERISM อย่างหวาดผวา

    คุณคงพอเดาได้ว่าเราจะพูดอะไรต่อไป—ใช่ มันเป็นคอลัมน์ที่อ่านสนุก

    จริงอยู่ว่าบางครั้งโตมรก็เขียนถึงอำนาจที่เกี่ยวพันกับสังคมและการเมือง แต่หลายครั้ง เขาก็หยิบจับเอาเหตุการณ์ที่ดูไม่น่ามีอำนาจฝังอยู่มาขยายให้เราเห็นว่ารอบตัวนั้นมีอำนาจซ่อนอยู่มากขนาดไหน

    โตมรชี้ชวนให้เราดูอำนาจอันร้ายกาจที่แฝงอยู่ใต้ลวดหนาม บอกเล่าให้เราฟังว่าข่าวลือมีอานุภาพร้ายแรงเพียงไหน—แม้กระทั่งมะเขือเทศก็ยังถูกเขาสืบสาวไปถึงประวัติความเป็นมาที่รุนแรงมากเหลือเกินได้ 

    อำนาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้นเมื่อถูกเล่าผ่านน้ำเสียงของโตมร

    จากที่เคยมองเป็นเรื่องไกลตัว เราก็พบว่าอำนาจเกี่ยวพันกับชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

    เราสนุกกับการอ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับอำนาจของโตมรมากเพียงไหน เราก็ยิ่งสนุกกับการเสาะหาอำนาจที่เจือปนอยู่ในอากาศมากเท่านั้น

    รู้ตัวอีกที เราก็เสพติดอำนาจไปซะแล้ว


    สำนักพิมพ์แซลมอน


  • คำนิยม


    ผมได้รับของขวัญทุกวันศุกร์, เอ๊ะ หรือจริงๆ ต้องบอกว่าวันพฤหัสฯ?

    คงไม่ต้องแนะนำกันอีกแล้วว่า โตมร ศุขปรีชา เป็นใคร เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ขยันผลิตงานที่สุดคนหนึ่งของประเทศ และงานของเขาก็มักจะทำให้ผมได้กลับมาทบทวนและตรวจสอบความคิดของตัวเองสม่ำเสมอ

    ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเริ่มทำ ‘สำนักข่าว’ (หรือที่เราเรียกกันอย่างเหมาะเหม็งกว่าว่าเป็น ‘สำนักคอนเทนต์’) The MATTER ผมจึงพลาดไม่ได้ที่จะต้องชวนนักเขียนคุณภาพ—ที่ผมเคารพเป็นการส่วนตัว—อย่างเขามาเขียนคอลัมน์รายสัปดาห์ด้วย และนั่นก็คือที่มาของคอลัมน์ POWERISM

    POWERISM
    เป็นคอลัมน์ที่พาเราไปสำรวจมุมมองด้านอำนาจและ ‘พลัง’ ทั้งพลังแข็งๆ อย่างพลังของรัฐ และพลังอ่อนกว่าอย่างเช่นการบีบและรัดทางวัฒนธรรม—ผมอ่านคอลัมน์นี้แล้วรู้สึก ‘คุ้ม’ กว่าคอลัมน์อื่นๆ ของโตมรอยู่มากเหมือนกัน เป็นความคุ้มที่เกิดจากความเร็วของอินเทอร์เน็ต เนื่องจากคาบเวลาของสื่อออนไลน์นั้นสั้นกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ (เช่นส่งงานวันนี้ ได้ลงพรุ่งนี้เลย) เราจึงได้เห็นการตอบโต้ของโตมรต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแทบจะตามเวลาจริง

    ทุกๆ วันศุกร์ คอลัมน์ POWERISM จะถูกอัพขึ้นบนเว็บไซต์และเพจ The MATTER สิบเอ็ดโมงตรงเผง ผมรู้สึกโชคดีกว่าคนอื่นอยู่หน่อย—ตรงที่จะได้อ่านก่อนใครในทุกวันพฤหัสบดีตอนดึกๆ นี่เอง

    ผมคงพูดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ข้อเขียนของโตมรที่เกิดขึ้นตามเวลาจริงทำให้ผมมองเห็นและตรวจสอบฐานคิดของตนเองได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น เมื่อเกิดข่าวหนึ่งๆ และเราได้อ่านข่าวนั้นร่วมกับ POWERISM เราก็อาจได้เห็นมันด้วยมุมมองที่ผิดแผก แปลก หรือใหม่กว่าเดิม และนั่นแหละ คือคุณค่าของคอลัมน์นี้

    ที่ดีเยี่ยมไปกว่านั้นคือ เมื่อเวลาผ่านไป POWERISM ถูกนำมารวมเล่ม แทนที่จะ ‘เก่า’ ไปตามข่าว มันกลับไม่เป็นอย่างนั้น แต่ละข้อเขียนยังคงความสดใหม่เหมือนเพิ่งเขียนเมื่อวาน 

    อาจเป็นเพราะวิธีเขียนของโตมรที่พาเราไปดูภาพกว้างๆ ไม่ยึดกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า อาจเป็นวิธีที่เขาเชื่อมโยงจากเรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่ อาจเป็นการให้ข้อมูลที่ทั้งละเอียดและครอบคลุมในมิติเวลา หรืออาจเพราะสถานการณ์บ้านเมืองของเราอยู่ในวังวนที่ไม่เคลื่อนไปข้างหน้า (!) จึงทำให้ข้อเขียนเหล่านี้มีอายุยาวนานจนเราสามารถนำหลักคิดในวันก่อนมาอธิบายสถานการณ์ในวันนี้และวันข้างหน้าได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

    หวังว่าคุณจะชอบ และเมื่ออ่านจบก็หวังว่าคุณจะมองเห็นอำนาจที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกที่


    ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
    บรรณาธิการบริหาร The MATTER


  • คำนำ
    อำนาจของอำนาจ


    คุณคิดว่าอำนาจใช้ได้ผลมากที่สุดเมื่อไหร่?

    โจเซฟ สตาลินอาจจะบอกว่า อำนาจย่อมใช้ได้ผลมากที่สุดเมื่อมีการขู่เข็ญบังคับ ใช้กำลังสร้างความรุนแรงต่อผู้คน ทำให้ผู้คนเกิดความ ‘กลัว’ เมื่อกลัวก็ย่อมสยบยอมอยู่ในอำนาจนั้นๆ

    จูเลียส ซีซาร์อาจจะบอกว่า อำนาจที่ได้ผลมากที่สุด คืออำนาจที่เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นเราจึงควรปฏิรูปกฎหมายให้สอดรับกับสังคม และบังคับใช้กฎหมายนั้นอย่างเด็ดขาด

    แต่มิเชล ฟูโกต์บอกไว้น่าสนใจครับ ว่าอำนาจจะใช้ได้ผลดีที่สุด ก็ต่อเมื่อผู้ถูกใช้อำนาจด้วยนั้น—ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกใช้อำนาจอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมีสภาวะ ‘เพิกเฉย’ (ignorant) ต่อการใช้อำนาจนั้นๆ ทำให้ทำตามอำนาจนั้นไปโดยไม่รู้ตัว และมักคิดว่าตัวเองไม่ได้ถูกกำกับโดยอำนาจอะไรเลย แต่ทำทุกอย่างไปเพราะตัวเองมี ‘เจตจำนงเสรี’ ด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว

    อำนาจแบบเผด็จการที่ขู่เข็ญบังคับ หรืออำนาจที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตามกฎหมายจึงไม่ใช่อำนาจที่มีอำนาจมากเท่าอำนาจแบบหลัง

    ในทางสังคมวิทยา ‘อำนาจ’ ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากความสามารถที่จะ ‘แผ่อิทธิพล’ เหนือคนอื่นๆ ทำให้คนอื่นๆ แสดงพฤติกรรมหรือทำโน่นนี่นั่นได้ตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ

    ถ้ามองแนวคิดเรื่องอำนาจที่ว่ามาข้างต้น เราจะเห็นได้เลยว่าอำนาจแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกก็คืออำนาจอย่างอำนาจทางกฎหมายหรืออำนาจเผด็จการ คือเป็นอำนาจแข็งๆ อำนาจที่มองเห็นออกมาเป็นก้อนๆ อำนาจที่อาจมากับปากกระบอกปืนหรือค้อนของผู้พิพากษา อำนาจที่มาพร้อมกับเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ของรัฐ การตรากฎหมาย สภา การออกเสียงเลือกตั้ง ระบอบการปกครอง หรืออะไรอื่นที่ใหญ่โตโอ่อ่า จึงมักมาพร้อมกับ ‘คำใหญ่ๆ’ ทั้งหลายแหล่ เช่น คำว่าโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำ การกดขี่่ การบังคับใช้ ฯลฯ

    แต่อำนาจในแบบที่ผู้ถูกใช้อำนาจไม่รู้ตัวนั้นมาในอีกรูปแบบหนึ่ง มันคืออำนาจที่ไหลรินมาเรื่อยๆ เอื่อยๆ แลดูน่าสบาย เหมือนนั่งอยู่ริมลำธารในฤดูร้อนแล้วอดใจไม่ไหว ต้องถอดรองเท้าถุงเท้าเอาเท้าไปจุ่มน้ำ แสนสบายและเพลิดเพลิน

    อำนาจแบบนี้เป็นอำนาจที่มองไม่ค่อยเห็น มันไม่ได้มาเป็นก้อนแข็งๆ และไม่ใช่แม้กระทั่ง ‘อำนาจอ่อนนุ่ม’ (soft power) ที่หมายถึงการชักชวน—ไม่ใช่การบังคับด้วย เพราะถึงจะเป็นอำนาจอ่อนนุ่ม เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐออกมารณรงค์ให้คนทำโน่นนี่ แล้วคนทำตาม คนก็ยัง ‘เห็น’ อยู่ดีว่ามีอำนาจและการใช้อำนาจเป็นก้อนๆ เพียงแต่ก้อนอำนาจนั้นไม่ได้แข็งกระด้างเท่านั้นเอง มันคือการเชิญชวน คือคีมคีบที่รองไว้ด้วยผ้ากำมะหยี่อ่อนนุ่ม แต่กระนั้นก็ยังบีบบังคับให้คนต้องจำยอมอยู่ดี

    อำนาจอย่างหลังคืออำนาจที่มองไม่เห็น เป็นอำนาจที่ไม่ได้มาเป็นก้อน ไม่ว่าจะเป็นก้อนแข็งหรือก้อนอ่อนนุ่ม ทว่าเป็นอำนาจที่พลิ้วไหวเหมือนผืนผ้าที่บางใสเสียจนเกือบมองไม่เห็น เป็นอำนาจที่ชวนให้เราคิดว่ามันคืออากาศที่ใช้หายใจ ถ้าปราศจากอำนาจนี้เสียแล้ว—เราก็จะตาย

    เราล้วนเกิดมา แล้วพบว่าตัวเองอยู่กับอำนาจแบบหลังมาตั้งแต่ต้น เราจึงคุ้นชินกับมันจนมองไม่เห็น เหมือนที่ปลาไม่เห็นสายน้ำที่่มันอาศัยอยู่ และเหมือนที่เราไม่ค่อยรู้สึกถึงอากาศที่แวดล้อมตัวเรา อำนาจแบบนี้บอกให้เราอาบน้ำแต่งตัว ล้างหน้าแปรงฟัน เดินทางไปทำงาน ยิ้มให้เพื่อนร่วมงาน และทำอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เราคิดว่าเป็น ‘วัฒนธรรม’ อันดี หรือเป็นสิ่งที่เราควรทำ

    การต่อสู้ขัดขืนกับอำนาจที่เป็นก้อนใหญ่ๆ แข็งๆ นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด เปล่า—มันไม่ใช่การขัดขืนที่ง่ายที่สุด เพราะส่วนใหญ่คือการขัดขืนต่ออำนาจเผด็จการ ปากกระบอกปืน หรือแม้แต่กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม (อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เป็นธรรมกับตัวเราเอง) ดังนั้นจึงมักเป็นการต่อสู้กับอำนาจใหญ่ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนถึงแรงขับและเป้าหมาย ถ้ามีเหตุและผลมากเพียงพอก็สามารถสร้างแนวร่วมมหาศาลขึ้นได้

    แต่การต่อสู้ขัดขืนกับอำนาจใสๆ เบาสบายกลับยากลำบากกว่ามาก เพราะมันมักเป็นการต่อสู้ที่คนอื่นๆ ไม่ได้ ‘เห็น’ เหมือนกับที่เราเห็น การต่อสู้ต่อรองกับอำนาจอย่างหลังจึงมักเป็นเรื่องปัจเจก เป็นการต่อสู้เชิงวัฒนธรรม เป็นการแหวกม่านประเพณี หรือทำในสิ่งที่คนอื่นๆ เขาไม่ทำกัน ส่วนใหญ่จึงไม่ใช่อำนาจที่สามารถสู้รบปรบมือได้ในม้วนเดียวจบ แต่เป็นอำนาจที่ต้องต่อสู้ต่อรองกันไปเรื่อยๆ ชั่วคนแล้วชั่วคนเล่า เพื่อค่อยๆ บ่อนเซาะเปลี่ยนฐานคิดของคนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ดื่มกินภายใต้ผืนผ้าบางใสแห่งอำนาจที่มองไม่เห็นนั้น

    อย่างไรก็ตาม เราแยกอำนาจสองแบบนี้ออกจากกันได้ยาก เพราะอำนาจสองประเภทนี้ต่างก็กำกับควบคุมและต่อสู้ต่อรองกันอยู่เสมอ เช่น ความเป็นหญิงเป็นชายของผู้นำประเทศ หรือคำด่าเรื่องเพศที่มีต่อนักการเมือง การเมืองเรื่องความเชื่อ การเมืองเรื่องศาสนา รวมไปถึงอะไรอื่นๆ อีกมากที่ทำให้เห็นว่า—คนที่คุ้นชินกับอำนาจแบบหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าจะต้องเข้าใจการทำงานของอำนาจอีกแบบหนึ่งเสมอไป

    อำนาจจึงซับซ้อน เพราะมีอำนาจของอำนาจคอยกำกับอำนาจอื่นๆ อยู่อีกชั้นหนึ่ง และสองชั้น และสามชั้น และเรื่อยไปไม่รู้จบ

    อำนาจจึงเป็นเรื่องน่าทึ่งเสมอ—สำหรับการมีชีวิตอยู่ของเราทุกคน


    โตมร ศุขปรีชา



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in