เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
'เก่งมาจากไหน? : Oxford - Cambridge'BANLUEBOOKS
ระบบการศึกษาของ Oxbridge
  • ระบบคอลเลจพิเศษตรงไหน?

    ระบบคอลเลจคล้ายกับระบบบ้านใน Harry Potter ไหม?

    ถ้าใครเคยอ่าน Harry Potter ก็คงจะสนุกไปกับการจินตนาการว่าตัวเองจะได้อยู่บ้านอะไรที่โรงเรียนฮอกวอตส์ระหว่างกริฟฟินดอร์ เรเวนคลอ ฮัฟเฟิลพัฟและสลิธิริน ทุกคนคงจะมีบ้านในใจก่อนจะได้ลุ้น
    สวมหมวกคัดสรร

    ระบบบ้านนี้จะพบได้ทั่วไปในโรงเรียนประจำของอังกฤษหรือ ‘Boarding School’ ซึ่งใช้คำเรียกตรงตัวว่า ‘House’ 

    ระบบคอลเลจ (Collegiate System) ของออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์มีพื้นฐานแบบเดียวกับ House แต่เข้มข้นกว่าเพราะแต่ละคอลเลจถือเป็นเขตปกครองพิเศษ มีกฎ กติกา มารยาท เป็นของตนเอง เป็นเขตปกครองพิเศษที่บริหารทรัพย์สินและงบประมาณด้วยตัวเอง มีหน้าที่ดูแลสมาชิกเรื่องความเป็นอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็เสริมวิชาการระดับเข้มข้นเข้าไปด้วยด้วย เท่ากับว่า นอกจากนักศึกษาจะได้พบอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย กลับคอลเลจก็มีอาจารย์เป็นของตัวเองที่เก่งเหมือนกันอีกชุดหนึ่งเอาไว้ติวเข้ม เป็นระบบการศึกษาแบบแพคคู่ที่มีต้นทุนสูงแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ

    ในแต่ละคอลเลจจะมีสมาชิกที่เรียนคณะ ภาควิชาต่างๆ กัน มาพักอาศัย ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะกิน นอน เล่น เรียน และทำกิจกรรมยามว่าง รวมถึงการสัมมนาทางวิชาการต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในคอลเลจ ซึ่งแต่ละคอลเลจจะมีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับที่เรารู้สึกได้ว่าบ้านแต่ละหลังของฮอกวอตส์มีคาแรกเตอร์ที่ไม่เหมือนกัน
  • การเลือกคอลเลจ นอกจากหมวกคัดสรรหรือการเสี่ยงทาย มีคำแนะนำอื่นไหม?

    เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาอยู่ในคอลเลจตลอดหลักสูตร (เปลี่ยนไม่ได้) ถ้าเลือกได้ก็ควรเลือกให้ดี นักศึกษาส่วนใหญ่จะเลือกคอลเลจโดยพิจารณาจาก

    • ชื่อเสียงของคอลเลจเอง ประวัติศาสตร์การก่อตั้ง

    • ชื่อเสียงผู้ก่อตั้ง

    • ชื่อเสียงด้านผลการเรียนของสมาชิกในคอลเลจ

    • ชื่อเสียงของ Fellow (ผู้ทรงคุณวุฒิประจำคอลเลจ)

    • จำนวนศิษย์เก่าที่มีผลงานโดดเด่นระดับโลก

    • การสะสมรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลโนเบล

    • รางวัลจากการแข่งขันกีฬา สำหรับคนชอบกีฬา

    • ความสวยงามของอาคารคอลเลจ บางคนก็ชอบสถาปัตยกรรมแบบเก่า บางคนก็ชอบคอลเลจที่มีการสร้างอาคารใหม่ๆ

    • ความใกล้ไกลของคอลเลจกับอาคารเรียน

    • ความสะดวกสบายถ้าได้อยู่คอลเลจกลางเมือง

    • คอลเลจที่ห้องพักมีห้องน้ำในตัว

    • คอลเลจที่อยู่นอกเมือง แต่มีสนามบาสเกตบอลและสนามฟุตบอลให้สมาชิกเล่น

    • คอลเลจที่อาหารการกินดีเป็นพิเศษ เช่น Merton College ที่ออกซฟอร์ด เนื่องจากได้รับเงินสมทบจากมกุฎราชกุมารญี่ปุ่น (Crown Prince Naruhito) ผู้ทรงเป็นศิษย์เก่า

    • คอลเลจที่มีวิวสวยอยู่ริมแม่น้ำ บางคอลเลจยังมีสวนกวางด้วย
  • ระบบการเรียนการสอน


    ปัจจัยที่สำคัญมาก... อาจเรียกได้ว่ามากที่สุดในกระบวนการสร้างคนเก่งของออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ก็คือ กระบวนการถ่ายทอดวิทยาการผ่านระบบการเรียนการสอนในแบบเฉพาะของ Oxbridge

    อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ Oxbridge สร้างบุคคลที่สร้างคุณค่าให้กับโลกได้อย่างมากมายตลอดระยะหลายร้อยปี ด้วยระบบการสอนที่ลือลั่นกันว่าลงทุนสูงมากและมีเพียงแค่ออกซฟอร์ดกับเคมบริดจ์เท่านั้นที่เลือกใช้ระบบนี้

    สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ทั้งออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ไม่ได้ใช้การควบคุมด้วยการเช็กชื่อหรือมีบทลงโทษหนักถ้านักศึกษาขาดเรียน แต่ให้อิสระกับนักศึกษาสูงมาก แสดงว่าเคล็ดลับความสำเร็จของสองสถาบันนี้ไม่ได้มาจากการคุมเข้มเรื่องการเข้าเรียน

    ถ้าเอาเรื่องจำนวนชั่วโมงเลกเชอร์มาพิจารณา บางคณะจะกำหนดชั่วโมงเรียนมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นโดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเป็นสายสังคมศาสตร์ นักศึกษาบางคนยอมรับว่าไม่ได้มีชั่วโมงเรียนเพิ่มจากช่วงที่เรียนระดับมัธยมปลายมากนัก แสดงว่าจำนวนชั่วโมงเลกเชอร์ก็ยังไม่ใช่เคล็ดลับของ Oxbridge
  • ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ความลับที่ปกปิดมิดชิดอะไร บรรดาศิษย์เก่าต่างก็ยอมรับกันทั้งสิ้นว่ากลยุทธ์สำคัญของ Oxbridge คือ การทำงานร่วมกันของระบบ Tutorial ที่บริหารโดยคอลเลจ (Living Community) และการจัดการเรียนการสอนโดยมหาวิทยาลัย (Academic Community) ซึ่งทำให้เกิดพลังทวีในการเรียนการสอนมากที่สุด

    มหาวิทยาลัยรับหน้าที่เป็นองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องการจัดสอนในรูปแบบ ‘เลกเชอร์’ เป็นการเรียนที่เด็กทุกคอลเลจเรียนร่วมกัน ส่วนมากจะจัดขึ้นในช่วงเช้า ภายใต้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยแต่ละคณะ โดยถ้าเป็นคณะทางสายวิทยาศาสตร์ก็อาจมีชั่วโมงที่เรียนในห้องปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่าทำ ‘แล็บ’ ร่วมด้วย

    ระบบสนับสนุนที่สองอยู่ที่ระบบซึ่งออกซฟอร์ดเรียกว่า ‘Tutorial’ ส่วนเคมบริดจ์จะเรียกว่า ‘Supervision’ (ถึงจะเรียกต่างกันแต่คอนเซ็ปต์เหมือนกัน) เป็นระบบที่รับผิดชอบโดยแต่ละคอลเลจ ส่วนมากจะจัดภายในคอลเลจช่วงบ่ายถึงเย็น

    ระบบ Tutorial หรือ Supervision คือ ระบบการสอนในความรับผิดชอบของคอลเลจ ที่ให้อาจารย์หรือนักวิชาการประจำคอลเลจที่คัดมาแล้วว่ามีความรู้ดี ฝีมือสอนระดับเซียน ทำหน้าที่ดูแลนักศึกษาที่อยู่ในคอลเลจนั้นๆ โดยเฉพาะ ตลอดระยะเวลาที่นักศึกษาผู้นั้นยังศึกษาอยู่ตลอดหลักสูตร โดย Tutor หรือ Supervisor จะทำหน้าที่เสมือนโค้ชส่วนตัว ที่คอยสอนและสนับสนุนช่วยเหลือด้านวิชาการอย่างสุดความสามารถเพื่อให้สัมฤทธิผลทางการศึกษาสูงสุด

    ความพิเศษอีกประการหนึ่งคือ Tutor หนึ่งคนจะดูแลนักศึกษาเพียง 1-3 คนเท่านั้นต่อหนึ่งวิชา บางครั้งก็ 1:1 ด้วยซ้ำ! นักศึกษาหนึ่งคนจะมี Tutor หลายคนถ้าเรียนหลายวิชา ซึ่งในหนึ่งสัปดาห์ก็จะต้องพบ
    Tutor ให้ครบทุกวิชา วิชาละประมาณหนึ่งชั่วโมง ซึ่ง Tutor แต่ละคนก็มีวิธีสั่งงานและผลักดันนักศึกษาไม่เหมือนกัน
  • การที่คอลเลจออกแบบให้ Tutor แต่ละคนดูแลนักศึกษาน้อยที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เรียนทุกคนได้รับการดูแลใส่ใจอย่างทั่วถึง แทบจะมีความหมายเท่ากับ Personalize ในบางวิชา ทั้งยังได้เรียนกับผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ แบบตัวต่อตัวอย่างเข้มข้นทุกอาทิตย์ ถึงแม้ว่าวิธีการสอนแบบคู่ขนานนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยและคอลเลจรับนักศึกษาได้จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่ก็แลกมากับการเรียนการสอนที่เสถียรด้วยคุณภาพ

    โดยในส่วนของการสอบวัดผลนั้น เด็กทุกคนต้องใช้มาตรฐานเดียวกันคือ ข้อสอบและระบบการให้คะแนนรวมของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งแยกจากระบบ Tutorial ของคอลเลจโดยสิ้นเชิง

    การที่มีหลายภาคส่วนทำงานร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างมีระบบในการจัดการของตัวเอง ไม่ขึ้นตรงต่อกัน แต่มีกลไกเสริมจุดอ่อนของกันและกันทำให้ออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ต้องลงทุนกับทรัพยากรบุคคลด้วยงบ
    ประมาณมหาศาล การจัดการศึกษาระบบนี้ทำได้ยาก มีต้นทุนสูง ยุ่งยากในการจัดการและใช้บุคลากรจำนวนมาก ซึ่ง Oxbridge สามารถทำได้เพราะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จึงมีนักวิชาการเก่งๆ สะสมในสังกัดจำนวนมาก Tutor ส่วนใหญ่ก็เคยเรียนที่ Oxbridge จึงมีความเข้าใจในวัตถุประสงค์และวิธีการสอนเป็นอย่างดี ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุสนับสนุนที่ทำให้ Oxbridge สามารถจัดการสอนเช่นนี้ได้
  • การสอบและประเมินผล


    แล้วก็มาถึงบทที่ว่าด้วยเรื่องชี้เป็นชี้ตายอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่อาจพูดได้ว่านักศึกษาทุกคนลืมไม่ลง

    ถ้าถามเด็ก Oxbridge ว่าอยากจะบ่นเรื่องไหนมากที่สุดในชีวิตการเรียนที่นี่ เชื่อว่า 99 % คงจะตอบตรงกันว่าเรื่อง ‘การสอบ’ เป็นแน่

    ในระดับปริญญาตรี การสอบของนักศึกษา Oxbridge ส่วนมากสอบเพียงปีละรอบเท่านั้น บางวิชาก็ไม่มีสอบในปีที่สองด้วยซ้ำ

    หลายคนฟังแล้วอาจจะอิจฉาที่สอบกันน้อยเหลือเกิน แค่ปีละครั้ง ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ทุกเทอมจะมีทั้งสอบกลางภาคและปลายภาค

    แต่ต้องไม่ลืมว่ายิ่งสอบน้อยครั้งเท่าไหร่ ก็หมายถึงผู้สอบจะมีโอกาสพลาดสูงตามไปด้วย เพราะคะแนนทุกวิชาของนักศึกษาที่นี่เกือบจะเรียกได้ว่ามาจากการสอบเพียงครั้งเดียว
  • Senior Wrangler 
    แชมป์ ออฟ เดอะ แชมป์ แห่งวิชาเลข

    ‘Senior Wrangler’ เป็นชื่อตำแหน่งของนักศึกษาปริญญาตรีวิชาคณิตศาสตร์ที่ได้คะแนนสูงสุดในการสอบปีที่ 3 ของเคมบริดจ์ โดยตำแหน่งนี้มีขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1753

    ส่วนนักศึกษาคนอื่นๆ ที่สอบได้เกียรตินิยมอันดับ 1 คะแนนรองๆ ลงมา จะได้รับตำแหน่ง ‘Wrangler’ เช่น ผู้สอบได้อันดับสองจะได้ชื่อว่า ‘Second Wrangler’ และรองลงมา คือ ‘Third Wrangler’ ต่อไปเรื่อยๆ ตามลำดับ

    ชื่อตำแหน่งนี้มีที่มาจากสมัยโบราณที่นักเรียนจะถูกทดสอบคณิตศาสตร์ด้วยการโต้เถียงกับผู้ทดสอบเป็นภาษาละติน ผู้เข้าทดสอบคนใดพูดได้ดีจึงได้ชื่อว่าเป็น ‘Wrangler’ หรือ ‘นักโต้เถียง’

    การสอบได้เป็น Senior Wrangler ถือเป็น ‘ความสำเร็จทางปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอังกฤษ’ และได้รับยกย่องอย่างสูง เนื่องจากข้อสอบคณิตศาสตร์ที่ Oxbridge ถือเป็นข้อสอบที่ยากระดับโลก

    _________________________

    ‘ช้อนไม้’ (Wooden Spoon) เป็นรางวัลและชื่อตำแหน่งของนักศึกษาที่ได้คะแนนต่ำสุดที่ได้เกียรตินิยม โดยเป็นรางวัลกึ่งเยาะเย้ยที่ทางนักศึกษาจัดขึ้นมาเอง การให้ช้อนไม้ถูกบันทึกใน ค.ศ. 1803 และสิ้นสุดใน ค.ศ. 1909 เนื่องจากมหาวิทยาลัยยกเลิกการประกาศอันดับคะแนนสอบของนักศึกษา



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in