เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ตาวิเศษdoryprevins
The Wars of the Roses (1965)
  • เมื่อพูดถึงวิลเลียม เชกสเปียร์ ผลงานเรื่องที่คุ้นหูคนไทยเราคงเป็นจะเป็นบทประพันธ์โศกนาฏกรรมคลาสสิกอย่างโรมิโอและจูเลียต แฮมเล็ต ละครสก็อตติชเรื่องนั้น (!) หรือละครสุขนาฏกรรมอย่างเวนิสวาณิชและตามใจท่าน หากลงลึกไปอีกสเต็ปในแคนอนของเชกสเปียร์ก็จะรู้จัักผลงานละครอิงประวัติศาสตร์ของเขาอย่างเฮนรี่ที่ 5 หรือริชาร์ดที่ 2 แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักและเคยได้ดูเรื่องเฮนรี่ที่ 6 ที่เชกสเปียร์*เขียนไว้ในรูปแบบของไตรภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่ละครเรื่องนี้จะได้รับการฟื้นฟูความนิยมในรูปแบบที่ถูกหยิบยก (พร้อมกับริชาร์ดที่ 3 อีกเรื่อง) มาดัดแปลง ตัดตอน รวมทั้งเขียนเพิ่มเล็กน้อยมาแล้ว ในชื่อใหม่ว่า The Wars of the Roses โดยสองผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงละครเวทีอังกฤษช่วงกลางศตวรรษที่ 20 อย่างปีเตอร์ ฮอลล์และจอห์น บาร์ตัน เสาหลักของคณะละคร Royal Shakespeare Company ในช่วงต้นยุค 1960s

    *มีข้อถกเถียงว่าเชกสเปียร์ไม่ได้เขียนเรื่องนี้คนเดียว


    The Wars of the Roses เล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสงครามดอกกุหลาบดังชื่อ โดยเริ่มดำเนินเรื่องตั้งแต่การตายของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ผู้ซึ่งทิ้งพระราชโอรสนั่นก็คือพระเจ้าเฮนรี่ที่ 6 ให้ครองบัลลังก์อังกฤษต่อ แต่ด้วยความอ่อนแอของเฮนรี่คนลูกก็ทำให้เกิดการแก่งแย่งชิงบัลลังก์กันจนทำให้ราชวงศ์แลนแคสเตอร์ของเฮนรี่ที่ 6 ตกอยู่ใต้อำนาจของราชวงศ์แพลนแทเจเนตของดยุกแห่งยอร์กในที่สุด และเล่าต่อไปถึงความขัดแย้งในสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และริชาร์ดที่ 3 จนจบสงครามดอกกุหลาบเมื่อเฮนรี่ ทิวดอร์สวมมงกุฏและขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ทิวดอร์

    ฮอลล์และบาร์ตัน ได้ทำการจัดแสดง The Wars of the Roses ขึ้นครั้งแรกในปี 1963 นักวิจารณ์ในขณะนั้นแตกความเห็นเป็นสองฝ่าย บ้างมองว่าทั้งคู่ไม่ควรไปแตะต้องเท็กซ์ของเชกสเปียร์ บ้างก็มองว่าก่อนหน้านี้เฮนรี่ที่ 6 ทั้งสามภาคไม่น่าจะเป็นละครที่เล่นได้อย่างสมบูรณ์หากไม่ผ่านการปรุงแต่ง และสิ่งที่ฮอลล์และบาร์ตันทำถือเป็นการชุบชีวิตให้กับละครเรื่องนี้ นอกจากนี้ ด้วยความ "ใหม่" ของการตีความ หลายคนจึงจัดโปรดักชันนี้เป็นโปรดักชันแลนด์มาร์กหนึ่งของการแสดงเชกสเปียร์เลยทีเดียว และเราก็โชคดีมากที่โปรดักชันที่สำคัญขนาดนี้ถูกถ่ายไว้โดย BBC และออกฉายทางทีวีในปี 1965 และยังมีให้เราดูจนถึงทุกวันนี้ (!!!)


    เรามีโอกาสได้ดู The Wars of the Roses (1965) จนจบทั้งหมด 8 ชั่วโมงไปไม่กี่วันก่อน ยาวมากกก ทั้งหมดดูในระยะเวลาสามวัน แต่เป็นการดูที่ ดี อ่ะ เราในฐานะคนดูจากยุคปัจจุบันคิดว่ามันน่าสนใจมากที่เค้าเป็นกวีตั้งแต่ศตวรรษที่ 16  แต่สิ่งที่เค้าเขียนมัน relevant มาโดยตลอด ซึ่งเราก็รู้ ๆ กันว่าเป็น
    เพราะเชกสเปียร์เป็นนักเขียนที่เข้าใจและเขียนถึงธรรมชาติมนุษย์ได้ดีที่สุดคนนึง ต่อให้เวลาผ่านไปแค่ไหนมนุษย์ก็ยังถูก motivate ด้วยอะไรเดิม ๆ การที่เราเห็นคนมีอำนาจในยุคกลางตีกันอย่างเนี้ย มันก็สะท้อนถึงภาพปัจจุบันทุกวันนี้ ก้นบึ้งของมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยนอะไรไปมากนัก

    หนึ่งในฉากไฮไลต์: ริชาร์ดที่ 3 โดนผีของคนทั้งหมดที่เขาอยู่เบื้องหลังการตายมาหลอกคืนก่อนออกรบ

    หนึ่งในความน่าจดจำอันดับต้น ๆ ของ The Wars of the Roses สำหรับเราคือโปรดักชันที่ให้ความรู้สึกอึดอัดเหลือจะทนมาก ๆ คือปกติเราอาจจะเห็นละครประวัติศาสตร์เชกสเปียร์ถูกทำให้เป็นละครเอพิกหน่อย โปรดักชันใหญ่โต คอสตูมอลังการ (อย่างริชาร์ดที่ 3 ภาคหนัง technicolor ของลอเรนซ์ โอลิวิเยร์) แต่ The Wars of the Roses ที่เราดูนี้ทำฉากต่าง ๆ ให้ดู severe ดูกระด้าง ๆ รวมทั้งคอสตูมที่ค่อนข้างเรียบง่ายไม่หวือหวา เบื้องหลังความอึดอัดนี้ก็คงเกิดจากแนวคิด Theatre of Cruelty ที่มีอิทธิพลกับฮอลล์และบาร์ตันในขณะนั้น แจเน็ต ซัสแมน หนึ่งในนักแสดงเล่าว่า ปีเตอร์ ฮอลล์ให้เอาตะแกรงเหล็กไปติดไว้ใต้พื้นเวที เวลาคนในชุดอัศวินเดินบนพื้นนั้นก็จะทำให้เกิดเสียงน่ากวนใจขึ้นกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ท็อปอัพด้วยความที่ทั้งหมดถูกถ่ายเป็นขาว-ดำบนเวทีในโรงละครที่ทำการแสดงดั้งเดิมเลย ไม่มีเซตในสตูดิโอหรือถ่าย outdoor ใด ๆ ทำให้ทุกอย่างดูหดหู่และอึดอัดไปอีกระดับ 

    ส่วนพวกฉากที่มีความรุนแรงนี่ก็ไม่ต้องห่วงว่าด้วยความ *1965* อะไรแบบนี้จะโดนเซ็นเซอร์ใด ๆ นัก เพราะตรงกันข้ามเลย กล้องแทบจะไม่แพนหนีเท่าไหร่เวลามีใครจ้วงดาบใส่ใคร 


    ในด้านของการแสดงก็น่าจดจำไม่แพ้กัน เราประทับใจในเดวิด วอร์เนอร์กับบทบาทเฮนรี่ที่ 6 มาก ส่วนตัวเราคุ้นชินกับเขาจากหนังในบทเย็นชาอะไรทำนองนี้ แต่นี่คือเดวิด วอร์เนอร์แบบไร้เดียงสา ใจดีซะด้วยซ้ำ เลยแอบเซอร์ไพรส์นิดนึง พอเฮนรี่ progress ไปเป็นตัวละครที่มีอายุมากขึ้น เอือมโลกมากขึ้น วอร์เนอร์ก็ progress ไปกับตัวละครด้วย พอคิดว่านี่เป็นผลงานแรก ๆ ของเขา ก็เลยยิ่งประทับใจ

    เดวิด วอร์เนอร์ ในบทเฮนรี่ที่ 6 ตอนต้นรัชกาล

    เฮนรี่ที่ 6 ตอนปลายรัชกาล

    หากใครติดตามรางวัลออสการ์ก็อาจจะรู้จักกับเพ็กกี้ แอชครอฟต์ในบทมิสซิสมัวร์จาก A Passage to India (1985) หนึ่งในเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ชนะรางวัลออสการ์ที่เราชอบมากที่สุดดด ในที่นี้เราจะได้เห็น
    แอชครอฟต์ในบทควีนมาร์กาเร็ต ราชินีของเฮนรี่ ตัวละครเดียวที่มีชีวิตรอดตั้งแต่รัชกาลของเฮนรี่ที่ 6 จนถึงริชาร์ดที่ 3 พูดได้เลยว่าเธอเป็นตัวละครที่มีสีสันที่สุดในเรื่อง หรือเผลอ ๆ มีสีสันมากที่สุดอันดับต้น ๆ ในบรรดาตัวละครหญิงของเชกสเปียร์ คนดูจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของมาร์กาเร็ต ตั้งแต่ฉากแรกที่เราเห็นเธอในฐานะเจ้าหญิงอายุน้อยผู้ซึ่งกำลังถูกดยุกแห่งซัฟโฟล์กจีบ (ในฉากที่เหมือนหลุดออกมาจาก Much Ado..)  ไปจนถึงมาร์กาเร็ตในวัยกลางคนที่ถือดาบออกรบเคียงคู่กับดยุก ลอร์ด และเอิร์ลทั้งหลาย แล้วมาจบที่มาร์กาเร็ตวัยชราที่สิงสู่อยู่ในวังของริชาร์ด สาปส่งคนในตระกูลแพลนแทเจเนตที่เคยทำร้ายเธอกับเฮนรี่และลูก แอชครอฟต์อาศัยข้อได้เปรียบนี้ในการสร้างเพอร์ฟอร์แมนซ์หนึ่งที่คนดูจะลืมไม่ลงเลย

    วิลเลียม สไควร์ ในบทดยุกแห่งซัฟโฟล์กและเพ็กกี้ แอชครอฟต์ ในบทมาร์กาเร็ต

    มาร์กาเร็ต ตอนปลายรัชกาลเฮนรี่ที่ 6

    นักแสดงอื่น ๆ ที่เราประทับใจ :-)

    เอียน โฮล์ม ในบทริชาร์ดที่ 3 และโดนัลด์ ซินเดน ในบทดยุกแห่งยอร์ก

    แจเน็ต ซัสแมน ในบทโจนแห่งปูแซล (โจนออฟอาร์ก)

    ________

    ใครสนใจจะดู สั่งแผ่นจากอีเบย์ได้!! หรือในเว็บของผู้จัดจำหน่ายก็มีขายเป็นไฟล์พร้อมซับอังกฤษให้ดู ถูกกว่ากันเยอะเลย หรือถ้าไม่สะดวกก็มีคนอัพให้ดูในยูทูปอยู่ แต่ภาพไม่ชัดแล้วก็ไม่มีซับด้วย
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in