สวัสดีค่ะ ในสุดสัปดาห์นี้ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษได้กลับมาอีกครั้ง โดยครั้งนี้น่าสนใจกว่าทุกครั้ง นั่นคือทุกๆสโมสร รวมไปถึงเหล่านักวิเคราะห์เกม จะแสดงออกถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในกีฬาเช่นการสวมปลอกแขนกัปตันที่เป็นสีสายรุ้ง (สีธงของกลุ่มLGBTQ) หรือการร้อยเชือกสายรุ้งที่รองเท้าสตั้ด
Make sport everyone's game.
ทำให้กีฬาเป็นของทุกๆคน
(ถึงยอดดิสไลค์สูงแต่นั่นแสดงให้เห็นถึงการไม่เปิดกว้างในสังคมกีฬาอยู่ค่ะ แต่ก็พอมีความหวังนะ หลายคอมเม้นต์ในบอร์ดกีฬาเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ )
อันนี้เป็นอีกคลิปนึง ของอาร์เซน่อล ทำไว้เมื่อ 2 ปีก่อน
ตัวอย่างหนังเรื่อง Wonderkid ภาพยนตร์โดย Rhys Chapman ซึ่งสะท้อนและช่วยกันจับตากับประเด็นใหญ่ในกีฬาฟุตบอลนั่นคือ ประเด็นของ Homophobia กลุ่มของทัศนคติและความรู้สึกเชิงลบที่มีต่อเกย์ หรือเลสเบียน โดยคร่าวๆภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของการเป็นนักเตะเกย์ แต่ต้องการที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพของเขาท่ามกลางสภาพเเวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเป็นชาย (Hyper-Masculinity)
เราเห็นว่าเราได้ทำรายงานไฟนอลวิชาเจนเดอร์ในหัวข้อนี้พอดี จึงเลือกเรื่องนี้มาเป็นบทความแรกของเราและอยากจะนำมาแบ่งปันให้กับคนที่สนใจและเล่าถึงสาเหตุที่ฟุตบอลยุคใหม่เริ่มปรับตัวเข้าหาคนทุกกลุ่มมากขึ้น เพราะนับตั้งแต่ฟุตบอลได้กลายมาเป็นกีฬายอดนิยมไปเกือบครึ่งโลก ฟุตบอลได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมมากมาย ด้วยลักษณะของฟุตบอลกีฬามีกติกาที่เข้าใจง่ายและแสดงให้เห็นถึงการรวมตัวกันฉันท์พี่น้องเพื่อความสามัคคี และชัยชนะอันหอมหวานยังเป็นการมอบความบันเทิงให้แก่ผู้ชม
หรือแม้กระทั่งเป็นสิ่งที่แสดงการต่อรองทางการเมืองอย่างในลีกของสเปน ทีมบาร์เซโลนา(คาตาลัน) หรือทีมแอตเลธิกบิลเบา(บาสก์) มีขึ้นเพื่อแสดงออกทางการเมืองเเละต่อรองกับอำนาจรัฐส่วนกลางอย่างมาดริดที่มีทีมประจำเมืองอย่างทีมเรอัลมาดริด เรียกได้ว่ากีฬาฟุตบอลได้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างกลมกลืนและยังสามารถสะท้อนความคิดของสังคมผ่านทางกีฬาชนิดนี้
“Chelsea rent boy,
Chelsea rent boy,
Hello,
Hello”
อย่างในตัวอย่างเนื้อเพลงที่เห็นอยู่ด้านบนมีชื่อว่าเพลง ‘Chelsea Rent Boys’ ซึ่งเป็นเพลงที่ถูกเเต่งขึ้นในปี 1980 มีที่มาจากข่าวลือที่ว่าตำรวจพบแฟนบอลเชลซีที่เรียกภาษาง่ายๆว่าพวกอุลตร้า (Ultras) หรือที่อีกอย่างหนึ่งว่าฮูลิแกนส์ ได้ซื้อบริการผู้ชายที่ขายบริการทางเพศ โดยคำว่า’Rent boy’ เป็นคำเรียกอย่างง่ายของคำว่า ‘Male Prostitute’ แปลว่าผู้ชายขายบริการทางเพศ
ในเวลานั้นกลุ่มฮูลิแกนส์กองเชียร์ของทีมเชลซีที่มีชื่อเรียกกลุ่มของตนว่า ‘ Chelsea Headhunters ’ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มแฟนบอลหัวรุนเเรงกลุ่มแรกๆ ที่มีพฤติกรรมรุนแรงมากที่สุดในทศวรรษ1980 โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับอิทธิพลมาจากการเมืองจากสโลแกนพรรคชาตินิยม (BNP : British National Party) อย่างการเหยียดผิว
แฟนบอลพวกนี้ในขณะนั้นมีเพลงเชียร์ประจำกลุ่มชื่อว่า ‘Chelsea Aggro’ ( Aggro-มาจากคำว่า Aggressive แปลว่า ก้าวร้าว ดุดัน ) หลังจากข่าวของแฟนบอลเชลซีคนดังกล่าวได้ถูกแพร่ออกไปแฟนบอลทีมคู่แข่งทีมอื่นๆอย่างเช่นลิเวอร์พูล ได้แทนคำว่า ‘Rent Boys’ แทนคำว่า ‘Aggro’ และเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงคริสตทศวรรษที่ 80-90’s
หรืออีกสาเหตุหนึ่งอันเป็นที่มาของเพลงนี้ได้กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในทีมคู่อริ นั้นก็เพราะบริเวณ Earl's Court ที่ซึ่งเป็นบริเวณใกล้ๆกับสนามสเเตมฟอร์ดบริดจ์ สนามเหย้าของทีมเชลซี เป็นพื้นที่ที่มีการนัดเจอหรือซื้อบริการเหล่า Rent boys หรือผู้ชายที่มาขายบริการทางเพศได้ง่ายนั่นเอง
สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์สนามเหย้าของที่เชลซีเมื่อปี 1980 หากมองจากมุมนี้จะเห็นบริเวณ Earl’s Court
ซึ่งโดยปกติเพลงเชียร์สำหรับร้องเพื่อให้กำลังใจทีมฟุตบอลที่ตนเองชื่นชอบและร้องข่มขวัญทีมคู่แข่งนั้นเป็นของคู่กันกับกีฬาฟุตบอล ในบางครั้งเพลงเหล่านี้ก็มีเนื้อหาล้อเล่น (banter) กับทีมคู่แข่งหรือนักเตะของคู่แข่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน โดยเน้นเพื่อความสนุกสนาน
และในปัจจุบันเพลงเชียร์มักจะไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือเชื้อชาติเพื่อสะท้อนความก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นในสังคมยุคใหม่ แต่ในขณะเดียวกันเพลงดังกล่าวกลับสะท้อนความคิดบางอย่างของสังคมหนึ่ง ปรากฎอยู่ในเนื้อเพลง
อย่างไรก็ตามเพลง Chelsea rent boys ไม่ใช่เพลงเชียร์เพลงเดียวที่แสดงถึงการเหยียดเพศแต่รวมถึงเพลง Does your boyfriend know you're here? และอีกเพลงก็คือเพลง you're just a town full of faggots (คำหยาบไว้ใช้เรียกเกย์หรือคนรักร่วมเพศในภาษาอังกฤษ เพลงนี้ไม่สามารถหาเนื้อเพลงได้)
We can see you
We can see you
We can see you
holding hands
We can see you,holding hands
ซึ่งเป็นเพลงที่แฟนบอลของทีมอื่นๆในลีกเเชมป์เปี้ยนชิพ เช่น ในเกมส์ที่ลีดส์ ยูไนเต็ดไปเยือนทีมไบร์ทตันแอนด์โฮฟอัลเบียน แฟนบอลของลีดส์ก็ร้องเพลงนี้ระหว่างการเเข่งขัน เพราะว่าเมืองไบร์ทตันเป็นเมืองทีมีกลุ่ม LGBTQ อาศัยอยู่มากเปรียบได้ว่าเมืองไบร์ทตันเป็นเมืองหลวงของเกย์แห่งสหราชอาณาจักรก็ว่าได้ ด้วยเหตุนี้เองเเฟนๆทีมอื่นจึงนำเอาความเปิดกว้างของเมืองไบร์ทตันมาล้อเลียนผ่านเพลงเชียร์อย่างสนุกปาก
นอกจากเพลงเชียร์แล้วก็จะมีข่าวที่เพิ่งผ่านมาไม่นาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2558 มีรายงานจาก Mirror สื่อของประเทศอังกฤษว่ามีนักเตะสองคนในพรีเมียร์ลีกเป็นเกย์และหนึ่งในนั้นเป็นนักเตะของทีมชาติอังกฤษ (กดเข้าไปอ่านข่าวตามลิ้งค์ที่เราใส่ไว้ได้เลย)
อย่างไรก็ดีนักเตะทั้งสองคนได้บอกเรื่องนี้กับครอบครัว และเพื่อนๆแล้ว ซึ่งได้รับการยอมรับจากสโมสรต้นสังกัดรวมถึงสมาคมฟุตบอลอังกฤษได้ให้การช่วยเหลือทั้งคู่อย่างเต็มที่ ซึ่งข่าวนี้สอดคล้องกับข่าวของแฟรงก์ แลมพาร์ด อดีตนักเตะของทีมเชลซีปัจจุบันค้าแข้งอยู่ที่ทีมนิวยอร์กซิตี้ทีมในเมเจอร์ลีก สหรัฐอเมริกา ที่ออกมาสนับสนุนให้นักเตะที่เป็นเกย์แสดงตัวคาดหวังให้สังคมยอมรับ เขายอมรับว่า ตนคงมีความสุขไม่น้อย หากผู้เล่นที่เป็นเกย์เปิดเผยตัวตนออกมาและได้รับการปฏิบัติที่ดีจากทุกคนในสังคม จากข่าวนี้ แลมพ์หนุนแข้งเกย์เปิดตัว....
แฟรงก์ แลมพาร์ด อดีตนักเตะของทีมเชลซี ปัจจุบันค้าแข้งอยู่ที่ทีมนิวยอร์กซิตี้ทีมในเมเจอร์ลีก สหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ นิตยสาร FourFourTwo เคยทำโพลสำรวจนักเตะอาชีพ 123 คนจาก 4 ลีกในอังกฤษ ปรากฏว่า มีถึง 11% รู้จักนักเตะอาชีพที่เป็นเกย์ แต่ไม่มีการเปิดเผยตัวตนแต่อย่างใด
แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่มีนักเตะในพรีเมียร์ลีก(ในเวลานั้นยังเป็นฟุตบอลลีกดิวิชั่นส์1) เป็นเกย์เพราะ เมื่อปี 1990 จัสติน ฟาชานู อดีตกองหน้า นอร์ริช ซิตี้ เปิดตัวเป็นนักเตะเกย์คนแรกของวงการลูกหนัง ทว่ากลับโดนกระแสต่อต้านจากแฟนบอลอย่างหนักเรื่องที่น่าเศร้าก็คือไม่ใช่จากแฟนบอลเท่านั้นแต่รวมถึงการไม่ได้รับการไว้วางใจจากผู้จัดการทีมและไม่ได้รับสัญญาระยะยาวอย่างนักเตะคนอื่นๆ ทั้งที่เขาก็มีความสามารถโดดเด่น จน 8 ปีต่อมา เนื่องจากความกดดันและมีข่าวฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดเด็กผู้ชาย เขาจบชีวิตด้วยการผูกคอตาย ในวัยเพียง 37 ปี
จัสติน ฟาชานูคนต่อมาคือ โธมัส ฮิตเซิลแปร์เกอร์ อดีตกองกลาง เวสต์แฮม ยูไนเต็ดและทีมชาติเยอรมัน ออกมาเปิดตัวเป็นเกย์ หลังจากแขวนสตั๊ดได้ 1 ปี
โธมัส ฮิตเซิลแปร์เกอร์
หลังจากนั้นประมาณ 10 ปีต่อมาผลตอบรับของสังคมเมื่อนักเตะออกมาเปิดตัวว่าเป็นเกย์ได้เปลี่ยนไป ซึ่งนักเตะคนล่าสุดที่ประกาศตัวว่าเป็นเกย์นั้นคือ รอบบี้ โรเจอร์ส เขาได้ประกาศตัวเป็นเกย์ ในปี 2013 และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากคนในวงการกีฬาปัจจุบันเป็นนักเตะของทีมเเอลเอกาแล็คซี่ II ทีมในเมเจอร์ลีก สหรัฐอเมริกา
รอบบี้ โรเจอร์สในกรณีของ รอบบี้ โรเจอร์ส เขาไม่ได้มาประกาศตัวหลังจากเลิกเล่นฟุตบอลไปแล้วอย่างนักเตะคนอื่น ๆ ทำแต่เขาออกมาในขณะที่เขากำลังเป็นนักเตะอยู่ แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ค้าเเข้งให้กับทีมเเอลเอกาแล็คซี่ ทีมในเมเจอร์ลีก สหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ประเทศอังกฤษที่เป็นประเทศที่กีฬาฟุตบอลนั้นเป็นที่นิยมมากกว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งตอกย้ำว่าวงการฟุตบอลของประเทศอังกฤษยังคงคติหรือกรอบความคิดในเรื่องของ Masculinity หรือความเป็นชายไว้อย่างชัดเจนมากๆ
ซึ่งเราแยกมาได้เป็น 3 ประการหลักๆ ที่การกีดกันทำให้ฟุตบอลไม่ใช่พื้นที่ของคนรักร่วมเพศซึ่งนำไปสู่การเกิดเป็น Homophobia หรือ การกลัวโดยไม่มีเหตุผล การเกลียดชัง หรือการเลือกปฏิบัติ ต่อพวกรักร่วมเพศหรือพฤติกรรมรักร่วมเพศ และยังอธิบายถึงความกลัวหรือการดูถูกเลสเบียนและเกย์ รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ
เริ่มที่ประการเเรกฟุตบอลกลายมาเป็นเป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับความคิดและสร้างพื้นที่เฉพาะสำหรับความเป็นชาย (Masculinity) ฟุตบอลจึงเป็นเหมือนพื้นที่สุดท้ายที่เหลืออยู่ที่จะแสดงออกถึงความเป็นชายอย่างแท้จริงมานานหลายศตวรรษถ้าหากเทียบกับทฤษฎีของ R.W. Connell แบ่งความเป็นชายออกเป็น 4 ระดับ โดยส่วนที่อยู่อันดับแรกคือความเป็นชายที่มีอำนาจนำอย่างผู้ปกครองรัฐ ทหาร ดารา บุคคลสาธารณะ ซึ่งจะมีอิทธิพลมีอำนาจนำในส่วนต่างๆของสังคม
ลำดับต่อมาคือความเป็นชายเเบบรอง จะมีลักษณะที่อ่อนแอ หรืออาจจะไม่กล้าแสดงออก
ลำดับที่สามคือความเป็นเป็นชายเเบบสมรู้ร่วมคิดคือผู้ชายที่อยู่ในสังคมผู้หญิง แสดงออกถึงความเป็นชายไม่ได้ มักจะไปแสดงออกเวลาอยู่กับกลุ่มผู้ชายด้วยกันอย่างเช่นการชมกีฬาฟุตบอล
และสุดท้ายคือความเป็นชายแบบชายขอบอาจะเป็นชายที่รักเพศเดียวกันหรือผู้ชายกลุ่มชาติพันธุ์อื่น รวมไปถึงผู้อพยพ
จากทั้ง 4 ขั้น กีฬาฟุตบอลมีทั้งความเป็นชายเเบบขั้นที่ 1 และขั้นที่ 3 ซึ่ง่ในความเป็นชาย ก็ยังถูกแบ่งส่วนเข้าไปอีกรวมถึง Gender Traits ที่เป็นตัวกำหนดความเป็นชายหรือความเป็นหญิง ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งในกรณีนี้ฟุตบอลจะเป็น Gender Traits ที่มากำกับความเป็นชาย (Masculinity) กล่าวคือผู้ชายจะเป็นเพศที่เล่นกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอล (ผู้ชายต้องเตะฟุตบอล) และบทบาทของผู้ชายที่ยังคงเป็นเพศที่เป็นตัวแทนของคุณลักษณะที่สมบูรณ์แบบอย่าง เช่น มีความกล้าหาญ เป็นผู้นำ ชอบการแข่งขัน ชอบเอาชนะ เมื่อกรอบได้ถูกวางมาแบบนี้อะไรก็ตามที่ไม่ใช่สิ่งที่กล่าวมา ก็จะไม่ใช่ความเป็นชาย(ทฤษฎี Masculinity โดย Matthew Gutman) ด้วย
ภาพประกอบเฉยๆเป็นเกมลอนดอนดาร์บี้ระหว่างเชลซี-ทอตเเน่ม ฮอตสเปอร์สเมื่อต้นปี 2016
ซึ่งการจัดหมวดหมู่ลักษณะนี้ จึงทำให้กีฬาฟุตบอลแบ่งพื้นที่ไว้จำเพาะให้กับเพศชายไปโดยปริยาย ซึ่งมันจะเห็นได้ชัดจากการเล่นให้กับฟุตบอลทีมชาติ หรือการเเข่งขันทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ๆ โดยเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ สำหรับชีวิตของนักเตะคนหนึ่งการได้ติดทีมชาติเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เพราะการไปแข่งให้ทีมชาติก็เปรียบตนเองเป็นตัวแทนของชาตินั้นๆ สัญญะของความเป็นชายจึงเป็นสัญญะเเห่งความภาคภูมิใจของชาติอยู่ที่นักเตะที่จะมาแสดงทักษะ กระหายชัยชนะ เป็น Symbolic Challenged หรือการต่อสู้ทางสัญญะ นั่นเอง
ประการที่สองหากเรายึดโยงกับประการแรกการกีดกันคนรักร่วมเพศออกจากจากการพื้นที่ของฟุตบอลโดยให้ฟุตบอลเป็นพื้นที่สำหรับเพศชายเพียงฝ่ายเดียวแบบ Homosociality (สังคมแบบลูกเสือ ทหาร ชายล้วน ประมาณนี้) แต่การเกิด Homophobia หรือการกีดกันทางเพศ แสดงให้เห็นถึงการเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างสุดโต่ง (Binary Position) ว่าอะไรก็ตามที่ไม่มีความเป็นชายอย่างในที่นี้คือการรักร่วมเพศก็จะถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาดหรือเป็นสิ่งที่เลวร้ายเป็นสิ่งผิดปกติทางจิต และเป็นการทำให้เหนือกว่ากลุ่มรักร่วมเพศก็คือการรักเพศตรงข้ามว่ามีอำนาจเหนือกว่าเพราะเป็นไปตามธรรมชาติเเละเชิงชีวภาพ อย่างสืบพันธุ์ได้จึงทำให้ heterosexual อยู่เหนือกว่า homosexual อย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ก็มีจุดที่น่าสนใจว่านักเตะจำนวนมากมักจะแสดงความรักต่อกันในสนามด้วยการกอดคอกันไปจนถึงจูบกันการกระทำเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกมองให้เป็นเกย์หรือดูเป็น homoeroticism เมื่ออยู่ในสนาม แต่ถ้าหากปฏิบัติเช่นนี้นอกสนามแล้วคุณจะถูกตัดสินว่าไม่ใช่ผู้ชายแบบที่ Gender Traits กำหนด masculinity ในทันที ยิ่งแสดงให้เห็นว่าโลกของฟุตบอลเป็นหนึ่งในสังคมที่อนุรักษ์นิยมมากที่สุดสังคมหนึ่งโดยการพยายามบอกว่าพฤติกรรมที่ตนทำนั้นไม่ใช่การเเสดงออกแบบโฮโมเลยแม้แต่น้อยเพราะกระทำบนสนามฟุตบอล ซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้ชาย
ซึ่งสื่อให้เห็นว่าการแสดงออกถึงความกลัวของผู้ชายที่ชอบเพศตรงข้าม (Heterosexual) พวกเขารู้สึกไม่สบายใจที่ต้องมาอยู่กับคนรักเพศเดียวกันในขณะที่เล่นฟุตบอลเพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องมี Body Contact หรือการสัมผัสกันมากที่สุด หลังจากที่ทำประตูที่ผู้เล่นในทีมทุกคนต่างก็วิ่งมากอดและกอดกัน สิ่งที่ทำให้พวกเขากังวลมาจากค่านิยมและวาทกรรมเหมารวมว่าคนที่เป็นเกย์ มักจะถูกมองว่าพวกเขาเหล่านั้นอาจจะเข้ามาล่วงละเมิดทางเพศตนเอง ไม่กล้าหันหลังให้เวลาอาบน้ำ (คำกล่าวของFrank Rost-“… besides, I take my shower with my ass to the wall.” จากเอกสารKick it out – Homophobia in Football เดี๋ยวเราจะไว้ในอ้างอิงตอนท้าย) ไม่สามารถเตะฟุตบอลได้และเหมาะกับนักเต้นบัลเล่ต์มากกว่ามาเตะฟุตบอล
ประการที่สามจากวาทกรรมเหมารวมที่ว่าคนที่เป็นเกย์ มักจะถูกมองว่าพวกเขาเหล่านั้น ไม่สามารถเตะฟุตบอลได้และเหมาะกับนักเต้นบัลเล่ต์มากกว่ามาเตะฟุตบอล ซึ่งการเป็นเกย์ก็เปรียบเสมือนเขาต่างจากความเป็นชายในแบบที่สังคมกำหนดให้ทำหรือให้เป็น จึงทำให้เกิดการกีดกันไม่ให้คนเหล่านี้เข้าไปเล่นฟุตบอล อย่างกรณีไม่ส่งบอลให้ หรือไม่ก็ไม่ยอมแข่งด้วยอย่างทีม Paris Foot Gay (PFG) เป็นทีมฟุตบอลท้องถิ่น เล่นในลีก 2 ของฝรั่งเศส โดยทั้งทีมมีผู้เล่น 30% เป็นเกย์ ที่ถูกปฏิเสธที่จะเข้าแข่งขันด้วยจากทีมอื่นๆ อาจเป็นเพราะว่าพวกเขากลัวที่จะเเพ้ ทีมที่ 30% ของนักเตะทีมนี้เป็นเกย์ ไม่ได้มีความ Macho อยู่ในตัว จึงทำให้ทีมที่เป็น straight ไม่กล้าแข่งด้วย
โลโก้สโมสร Paris Foot Gay มีข้อความเขียนว่า Be Yourself
นักเตะของทีม Paris Foot Gay ทีมฟุตบอลท้องถิ่น เล่นในลีก 2 ของฝรั่งเศส โดยทั้งทีมมีผู้เล่น 30% เป็นเกย์
นอกจากนี้หลังจากที่การก่อตั้งทีม Paris Foot Gay สำเร็จ ก็ดูเหมือนว่าสังคมจะยอมรับและเปิดกว้างให้กับเกย์มากขึ้น แต่ทว่าความคิดนี้ผิดถนัด เพราะเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2015 ที่ผ่านมา Julien Pontes ประธานสโมสรแห่งนี้ถูกชายวัยรุ่นสามคนรุมทำร้ายระหว่างทางกลับบ้านของเขา Julien Pontes อาจเป็นเพราะว่านอกจากเขาจะเป็นประธานสโมสรฟุตบอล Paris Gay Foot แล้วเขายังเป็นคที่ต่อสู้กับกุ่ม Homophobia ในฝรั่งเศสอีกด้วย
Julien Pontes ประธานสโมสร Paris Foot Gay ถูกชายวัยรุ่นสามคนรุมทำร้าย
จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เราได้หยิบยกมาในบทความนี้ นอกจากผลในเชิงลบแล้วเหตุการณ์เหล่านั้นได้ทำให้สังคมรอบข้างเริ่มตื่นตัวเรื่องของ homophobia ในกีฬาฟุตบอลมากขึ้นเราจะเห็นได้จากการรณรงค์ต่างๆโดยองค์การที่เป็นเหมือนองค์การหลักๆ ที่มีชื่อเสียง นั่นก็คือองค์การ Kick it Out เป็นองค์การเพื่อความเท่าเทียมในกีฬาฟุตบอลได้รับการสนับสนุนจาก FA หรือสมาคมฟุตบอลอังกฤษ และสมาคมฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศอังกฤษหรือ PFA นอกจากนี้องค์การ Kick It Out ยังทำงานในด้านการศึกษาและสู้กับการมีอคติต่อกันอย่างเช่น ต่อต้านการเหยียดสีผิว เป็นการรณรงค์แรกๆที่เกิดขึ้นขององค์การนี้ในปี 1993 เเละองค์การเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้นใน 4 ปีต่อมา โดยในระดับนานาชาติองค์การนี้ได้ร่วมมือกับสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) และสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป
หรือเคมเปญล่าสุดที่สุดสัปดาห์นี้ กลุ่มStonewall UK ได้จัดการรณรงค์ขึ้นในพรีเมียร์ลีกและทีมดิวิชั่นส์อื่นๆ ประมาณ 60 ทีม ด้วยการใส่ #Rainbowlaces หรือร่วมกันต่อต้านคนที่เหยียดเพศผ่านทางแฮชเเท็กได้ ร่วมกันให้นักเตะใช้เชือกสายรุ้ง รวมไปถึงปลอกแขนกัปตัน นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมถึงต้องมี #Rainbowlaces เพื่อแสดงถึงความตื่นตัวในวงการกีฬา ถึงแม้ว่าจะมีผลสำรวจจากแฟนบอลพบเห็นการร้องเพลงเหยียดเพศอยู่ก็ตาม
ในท้ายที่สุดแล้วนั้น การเกิดขึ้นขององค์การ Kick It Out และการรณรงค์ต่างๆอย่าง เช่น การสนับสนุนกลุ่มแฟนบอล LGBTQ หรือว่าการจัดการรณรงค์ #Rainbowlaces ก็ถือเป็นการกระตุ้นสังคมตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศและความเลวร้ายของ Homophobia ที่อาจทำลายชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งได้เพียงเเค่คำพูดหรือการไม่ให้โอกาสคนเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพในตัวของเขาหรือมีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเปิดเผยถึงเพศสถานะของตน นักเตะหลายคนไม่กล้าที่จะออกมาเปิดตัวเพราะท่าทีที่สังคมปฏิบัติต่อเขาจะเปลี่ยนไป ซึ่งเรามองว่าถ้าไม่มีคนที่ 1 คนที่ 2 3 4 ก็จะไม่ตามมา บางครั้งการต่อรองกับอำนาจเป็นสิ่งจำเป็นในมุมมองของเรา การที่คอยจี้ว่าอย่าออกมาเลย เดี๋ยวโดนบุลลี่ มันดูเหมือนกีดกันกลายๆในความคิดของเรา
แต่อย่างไรก็ดีในปัจจุบันนี้หากยึดตามคำกล่าวของ Funke Awoderu,Equality Manager ของ FA หรือสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่า ในอนาคต FA มีแผนที่จะให้การช่วยเหลือถ้าหากมีนักเตะคนไหนที่ coming out หรือเปิดตัวออกมาว่าตนเป็นเกย์แล้วเกรงว่าจะเจอกระแสต่อต้าน FA จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งใช้เวลานานถึง 20 กว่าปี หลังจากเกิดกรณีของจัสติน ฟาชานู
เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงจำเป็นที่จะต้องให้เวลากับสิ่งๆนั้น ไม่อาจใจเร็วด่วนได้ดังเช่น อาหารสำเร็จรูป การรอคอยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในอนาคตเราอาจได้เห็นในไม่ช้า เพราะกระแสเกี่ยวกับเรื่องของ LGBTQ หรือ Homosexual ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้ชายบางคนยินดีที่จะเตะฟุตบอลกับนักเตะเกย์โดยที่จะไม่เลือกปฏิบัติต่อเขากล่าวให้เข้าใจง่ายๆก็คือเขาก็เข้าบอลหนักเหมือนกับเวลาเล่นตามปกติ
นอกจากนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับการรื้อชุดความคิดเดิมๆของคนบางกลุ่มที่มีต่อกลุ่มคนรักร่วมเพศเราอาจเปลี่ยนใจคนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าเราลุกขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือหรือ ให้การสนุบสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ที่กำลังถูกพวก Homophobia คุกคาม หรือไม่แล้วก็พยายามชี้ให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ว่าการเป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยนไม่ใช่อาการผิดปกติดังที่คนอื่นๆได้ตั้งข้ออคติไว้ แล้วก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายๆ การเปิดใจยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็นจึงเป็นสิ่งควรเกิดขึ้น
สุดท้ายนี้การเป็นเกย์ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเตะฟุตบอลไม่ได้ และเราคิดเสมอว่าฟุตบอลควรเป็นกีฬาสำหรับทุกคนไม่ใช่แค่สำหรับผู้ชายจะเป็นเพศที่เตะฟุตบอลได้เก่งอยู่เพศเดียว หรือการปิดกั้นพื้นที่เอาไว้เฉพาะกลุ่ม เพราะเพศไม่ใช่ตัวกำหนดว่าคุณจะต้องมีความสุขกับอะไร ทำอะไรได้หรือไม่ได้ สุดท้ายพวกเราก็คือมนุษย์เหมือนๆกัน ที่พร้อมจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามยาก และต้องการที่จะมีความสุขเมื่อได้เป็นตัวของตัวเอง
อ้างอิง
Joe, L. (2014).‘Chelsea rent boys’ football chant accused of homophobia amid World Cup furore. http://www.pinknews.co.uk/2014/07/17/chelsea-rent-boys-football-chant-accused-of-being-homophobic-amid-world-cup-furore/ N.p., 17 Jul. 2014.
Alex, S. (2013).Brighton fans report homophobic abuse to FA. http://www.bbc.com/sport/0/football/21988433 N.p., 2 April. 2013. Web.
นพพร ทองมี.วันที่ 4 เมษายน 2015. 'แลมพ์' หนุนแข้งเกย์แสดงตัว หวังสังคมยอมรับ. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558, จาก http://www.goal.com/th/news//4256/ฟุตบอลอังกฤษ/2015/04/04/10444922/แลมพ์-หนุนแข้งเกย์แสดงตัว-หวังสังคมยอมรับ
Sameer, A. (2014).Top 10 Homosexual Footballers in Premier League http://www.tsmplug.com/top-10/homosexual-footballers-in-premier-league/ N.p., 9 Jan. 2014. Web.
TRAFFICKING IN MEN: The Anthropology of Masculinity-Matthew C. Gutmann
Tanya, W.Kick it out – Homophobia in Football http://www.gaysport.info/EGLSF_Public_Documents/EGLSF_Homophobia_in_Football_2006.pdf.
BeSoccer . (2015) Fuerte agresión homófoba hacia el presidente de la asociación París Foot Gay http://es.besoccer.com/noticia/fuerte-agresion-homofoba-hacia-el-presidente-de-la-asociacion-paris-foot-gay N.p., 27 Jul. 2015.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in