เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Go Went GirlsBUNBOOKISH
PORTLAND, USA
  • พอร์ตแลนด์

    ชีวิตครูสาวฟาร์มเมอร์กับความฮิปสเตอร์ของพอร์ตแลนด์...

    บันทึกช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้ออกไปทำอย่างใจอยาก
    ได้หยุดมองความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตรอบๆ
    ได้อิ่มเอมกับความคิดสร้างสรรค์
    และจินตนาการของเด็กๆ
    ได้ย้ำเตือนถึงความฝันที่ถูกบรรจงสร้างให้เป็นจริง

    ชีวิตของเราในวันที่ได้ค้นพบว่า การมีอยู่ของตัวเราและการทำสิ่งที่เรารักคือความสุขที่ผลิบานได้เอง

    เมื่อปลายปี 2557 ระหว่างหาข้อมูลเพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านการศึกษาเพื่อความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Education) เราบังเอิญไปเจอเว็บไซต์หนึ่งที่ประกาศหาครูฝึกสอน (teaching intern) ที่ The Portland’s Democratic School—โรงเรียนเชิงประชาธิปไตย เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา

    ‘โรงเรียนเชิงประชาธิปไตย’ งั้นเหรอ...
  • ตรงกับความสนใจพอดี เราจึงรีบติดต่อไป แม้ไม่แน่ใจว่าเขาจะรับเราหรือเปล่า เพราะโปรไฟล์เราเองก็ดูจะแปลกประหลาดอยู่สักหน่อยสำหรับการไปสมัครเป็นครูที่นั่น เราจบอักษรศาสตร์ เคยฝึกงานสถานทูต เพิ่งลาออกจากงานประจำ ที่ใกล้เคียงกับความเป็นครูหน่อยก็คือสอนเปียโนเด็กๆ เป็นงานอดิเรก นอกนั้นก็ยังไม่เคยสอนเชิงวิชาการในโรงเรียนมาก่อน และแถม… เป็นคนไทย—ประเทศโลกที่สามที่ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยในประเทศเองยังไม่ค่อยจะตรงกันนัก แล้วแบบนี้จะเอาอะไรไปสอนเด็กที่สหรัฐอเมริกา! สิ่งเดียวที่มีคือความหลงใหลด้านการศึกษาที่เน้นการสร้างพลเมืองประชาธิปไตยอย่างท่วมท้น (คืออะไรอะ!?) แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจส่งใบสมัครไปลองดู งานนี้ถ้าได้ก็ฟลุค ไม่ได้ก็เป็นฟรีแลนซ์ต่อไปแล้วกัน

    เวลาผ่านไปเกือบสามเดือน นานจนแทบลืมไปแล้วว่าเคยสมัครงานไว้ อยู่ๆ ก็ได้รับการติดต่อกลับมาว่าจะสัมภาษณ์เราทางสไกป์ เราตื่นเต้น ดีใจ มือไม้สั่นไปหมด แต่ตอนนั้นยังไม่กล้าบอกพ่อกับแม่ เพราะรู้ว่าท่านคงไม่อยากให้ไปทำงานไกลบ้าน ตอนสัมภาษณ์เลยต้องบอกพ่อกับแม่ที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ว่าคุยกับเพื่อนฝรั่งที่โทร.มาจากเมืองนอกเฉยๆ เป็นประสบการณ์สัมภาษณ์งานที่แปลกดี

    รู้ตัวอีกทีก็อยู่ที่พอร์ตแลนด์แล้ว

    หลังจากเริ่มฝึกงานเมื่อต้นฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว แปดเดือนต่อมา เริ่มปีการศึกษาใหม่ เราก็ได้เลื่อนขั้นมาเป็นคุณครูที่โรงเรียนเชิงประชาธิปไตยแห่งเดียวของเมืองพอร์ตแลนด์ หรือที่ชาวเมืองรู้จักกันในชื่อ Village Free School แบบเต็มตัว 

    แต่ไม่ได้เป็นครูอย่างเดียว อยู่ที่นี่เราเป็นฟาร์มเมอร์ด้วย
  • OH, MY PORTLAND

    นิตยสาร The New York Times ระบุไว้ว่า “Portland is where young people go to retire.” อ่านตอนแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจ เมืองแบบไหนกันนะที่คนหนุ่มสาวจะไปใช้ชีวิตหลังเกษียณ

    ก่อนจะมา เราได้บอกเพื่อนชาวอเมริกันหลายคนว่าเราอาจจะย้ายไปทำงานที่พอร์ตแลนด์ พอได้ยินชื่อเมืองเพื่อนก็ไม่พูดอะไรมาก นอกจากบอกว่าขอให้โชคดี แล้วก็อย่าลืม “Keep Portland weird.” ด้วยล่ะ ก็เลยเริ่มเข้าใจว่าพอร์ตแลนด์นี่คงมีความเวียร์ด (แปลกประหลาด) อยู่พอตัว

    ก่อนมา เราก็พอรู้ว่าพอร์ตแลนด์เป็นเมืองที่อยู่เหนือสุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐโอเรกอน อยู่ติดชายฝั่งแปซิฟิกนอร์ธเวสต์ เป็นเมืองที่มีฝนตกบ่อย ต้นไม้หนาแน่นและเขียวชะอุ่มตลอดปี พอร์ตแลนด์มีแม่น้ำสายใหญ่สองสายคือ แม่น้ำวิลลาแมตต์ (Willamette River) ที่แบ่งเมืองพอร์ตแลนด์ออกเป็นฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และอีกสายคือแม่น้ำโคลัมเบีย (Columbia River) ที่เป็นตัวกั้นระหว่างรัฐโอเรกอน—เมืองพอร์ตแลนด์ และรัฐวอชิงตัน—เมืองซีแอตเทิล

    สำหรับเรา กลิ่นอายของแถบแปซิฟิกนอร์ธเวสต์ทำให้เรานึกถึงบรรยากาศของหนังอย่าง Twilight หรือ Fifty Shades of Grey ที่จะมีต้นสนต้นใหญ่ๆ เรียงกันเป็นทิวแถว มองไปทางไหนก็จะรู้สึกเหมือนถูกห้อมล้อมด้วยภูเขาและสีเขียวแก่ตัดกับสีขาวของท้องฟ้าและกลุ่มเมฆที่บดบังยอดภูเขาราวกับหิมะเพิ่งตกลงมาปกคลุม

    อยู่ที่นี่มาเกือบปี สำหรับเราพอร์ตแลนด์เป็นเมืองที่มีความเป็นอเมริกันน้อยมาก ถ้าถามเราว่าความเป็นอเมริกันของ
  • พอร์ตแลนด์คืออะไร ก็น่าจะคือการที่คนที่นี่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันแค่นั้น ส่วนที่เหลือเราว่า Portland is Portland คือมีลักษณะเฉพาะตัวสูง มีทั้ง ‘ความเยอะ’ และ ‘ความน้อย’ ผสมกัน ลองนึกถึงนิตยสาร Kinfolk ดูสิ พอร์ตแลนด์คือเมืองบ้านเกิดของเขา คาแรคเตอร์ของนิตยสารเล่มนี้ถือเป็นภาพแทนความเป็นพอร์ตแลนด์ได้ดีเลยทีเดียว คือดูมินิมอลลิสต์แต่ก็ดูมีความเยอะในความพยายามที่จะน้อยอยู่มาก

    นอกจากความฮิปแล้ว คนพอร์ตแลนด์ส่วนใหญ่มีไลฟ์สไตล์ที่เฮลตี้มาก เกือบครึ่งเป็นพวกกินมังสวิรัตอย่างเคร่งครัด (Vegan) ไม่ก็เป็นพวกแพ้แป้งสาลี (Gluten-free) หรือไม่ก็เป็นพวกงดนมวัว (Dairy-free) ของกินทุกอย่างเลยมีความเป็นออร์แกนิก และทุกบ้านจะตั้งใจสนับสนุนผักผลไม้ที่มาจากฟาร์มหรือสวนของคนท้องถิ่น และถ้าไม่ใช่ช่วงหน้าหนาวก็จะมีการจัด Farmer’s Market ตลาดขายของชำที่ขายสินค้าส่งตรงจากฟาร์มอันเป็นของขึ้นชื่อของเมืองพอร์ตแลนด์อยู่เป็นประจำ

    คนที่นี่ยังชอบปั่นจักรยาน ชอบวิ่ง ชอบเข้าป่าปีนเขา ไปใกล้ชิดธรรมชาติ และบ้านเมืองเขาก็อำนวยให้กับทุกสิ่งที่ว่ามา ถนนสะอาดร่มรื่น มีทางจักรยานอย่างดี นอกจากนั้นคนที่นี่ยังชอบดื่มคราฟต์เบียร์เป็นชีวิตจิตใจ แถมยังรักศิลปะ ดนตรี และรอยสักอีกด้วย หากไปนั่งรับประทานอาหารในร้าน พนันได้เลยว่าลูกค้ามากกว่าครึ่งจะต้องมีรอยสักที่เห็นได้ชัดเจนบนตัว อ่อ และเขาก็จะสั่งเมนูมังสวิรัติด้วยนะ
  • ด้วยความฮิปของพอร์ตแลนด์นี่เอง ทำให้ตอนนี้มันกลายเป็นเมืองยอดนิยมของชาวอเมริกันรัฐอื่น โดยเฉพาะหนุ่มสาวต่างพากันย้ายมาเริ่มต้นใช้ชีวิตสไตล์ young adult ที่นี่ ทำให้การหาที่พักของเราเป็นเรื่องยากลำบาก นอกจากห้องว่างให้เช่าจะหายากแล้ว เราก็ยังไม่รู้ว่าย่านไหน ทำเลไหนที่จะเดินทางสะดวก ปลอดภัย และใกล้กับที่ทำงาน แต่โชคก็เข้าข้าง เมื่อคุณครูที่โรงเรียนได้ติดต่อไปยังสมาคมผู้ปกครอง (ความจริงก็คือกรุ๊ปเฟซบุ๊คของบรรดาพ่อแม่) ของเด็กนักเรียนในโรงเรียน ว่ามีบ้านไหนยินดีจะให้ครูฝึกสอนตาดำๆ ที่จะเดินทางมาจากดินแดนอันไกลโพ้นอย่างเราไปพักอยู่ด้วยในช่วงแรกๆ ที่มาถึง

    และแล้วก็มีครอบครัวหนึ่งยินดีเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ (host family) ให้เราอยู่ฟรี… เย้!

    บ้านโฮสต์มีสมาชิกสองคน คือโฮสต์มัมเป็นผู้อพยพชาวยูเครเนี่ยน-รัสเซียนที่เข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว กับเด็กสาวอายุ 14 ชาวแปซิฟิก-อเมริกันที่โฮสต์รับอุปการะเป็นลูกมาได้ประมาณสิบปีแล้ว

    บ้านโฮสต์อยู่ทางตอนเหนือของพอร์ตแลนด์ ตรงข้ามกับดาวน์ทาวน์ ห่างกันแค่แม่น้ำวิลลาแมตต์กั้น ขับรถประมาณเจ็ดนาทีก็ถึง บ้านอยู่ใกล้กับย่านฮิสทอริกมิสซิสซิปปี (Historic Mississippi) ซึ่งมีร้านรวงที่ชิคและฮิปสุดในเมือง

    ตอนที่มาถึงบ้านโฮสต์ใหม่ๆ ก็มีการทำข้อตกลงกันว่า เขาให้เราอยู่ฟรีแต่เราต้องช่วยอะไรเขาเป็นการตอบแทนบ้าง ซึ่งการตกลงนั้นทำให้เราได้รู้ว่า ถึงบ้านจะอยู่ใจกลางเมือง แต่มันก็มีสวนปริศนาซ่อนอยู่...

    เพราะหน้าที่ที่เราจะตอบแทนเขาได้คือเราต้องช่วยดูแลไก่ทั้งหมดแปดตัว ด้วยการเปิด-ปิดเล้าและเก็บไข่ทุกวัน ดูแลแมวอีกสองตัว หมาอีกหนึ่งตัว รวมทั้งดูแลไม้ดอกไม้ผลนานาชนิดในสวน และช่วยเขาเก็บน้ำผึ้งอีกปีละสามหน ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเรื่อง Hattie Big Sky ชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้สัมผัสกับอิสรภาพที่แท้จริงของชีวิต แต่ก็ต้องแลกมากับความยากลำบากบางอย่าง

    นั่นแหละ ชีวิตเราเลย
  • เรื่องตื่นเต้นเล็กๆ ยามเช้า ของสาวฟาร์มเมอร์

    มีครั้งหนึ่งที่โฮสต์ต้องไปทำธุระต่างเมือง เลยฝากบ้านไว้กับเราสามวัน ได้อยู่บ้านคนเดียวคราวนี้ จะว่าชีวิตเหมือนในหนัง Home Alone ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะมีทั้งไก่ทั้งหมาและแมวอยู่เป็นเพื่อนให้ดูแลเพียบ

    กิจวัตรตามปกติของเราคือ ตื่นแต่เช้าไปเปิดเล้าให้ไก่ออกมาเดินหาอาหาร ทุกครั้งพอเปิดเล้าก็จะมีไก่วิ่งออกมาเป็นพรวน เราก็จะนับว่าไก่ยังอยู่ดีมีสุขครบแปดตัวหรือเปล่า แต่เช้าวันนั้นเราดันตื่นสาย ตอนเดินไปถึงเล้าไก่ รู้สึกว่าไก่ร้องกันเสียงดังผิดปกติ ในใจก็เริ่มคิดว่าความซวยมาเยือนแล้ว แน่นอน เรารีบเปิดเล้าแล้วก็นับ ไก่ตัวที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด… มีแค่เจ็ดตัว!

    เอาใหม่ดิ๊ เรานับใหม่ นับยังไงก็ได้แค่เจ็ดตัว แย่แล้วสิ ไก่หายไปไหนหนึ่งตัว... เราพยายามคิดเข้าข้างตัวเองว่าอาจจะมีไก่ที่กกไข่อยู่ในเล้าแล้วไม่ยอมออกมาก็ได้

    เช้าวันต่อมา เราเลยรีบตื่นไปเปิดเล้าแต่เช้า ปลอบใจตัวเองว่าวันนี้ไก่คงอยู่กันครบแปดตัว แล้วก็นับไก่ตัวที่หนึ่ง สอง สาม…หก เจ็ด… ได้เจ็ดตัวอีกแล้ว งานเข้าแน่แล้วทีนี้ ไก่หาย!
  • ใจเราหล่นวูบ ถ้าโฮสต์กลับมาเราต้องโดนว่าแน่ๆ เพราะโฮสต์เคยเตือนไว้แล้วว่าแถวนี้มีแรคคูนเยอะ แล้วแรคคูนนี่ชอบมาคาบไก่ไปกิน เราจึงต้องเปิด-ปิดเล้าให้ตรงเวลา

    ตอนนั้นเครียดจนต้องรีบไลน์ไปเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าเราทำไก่ของบ้านเขาหาย พ่อกับแม่ก็บอกให้เข้าไปดูในเล้าก่อน ซึ่งเราไม่กล้าเข้าไปดูแต่แรกเพราะก็กลัวจะเจอซากไก่ตายอยู่ในนั้น (ป๊อด—ฮ่า) คิดหาทางอยู่นาน พอมองไปเห็นถุงหนอนทอดที่เป็นของว่างเอาไว้ให้ไก่กิน เลยคิดว่าลองเอาขนมไปล่อไก่ดูดีกว่า

    ว่าแล้วก็เอาหนอนทอดไปโปรยที่หน้าเล้า แล้วเจ้าแม่ไก่ที่แอบซ่อนตัวอยู่ในเล้าตั้งสองวันก็วิ่งพรวดพราดออกมาทันที เราโล่งใจมาก แต่ก็ไม่วายยืนบ่นแม่ไก่เป็นภาษาไทยอยู่นาน เฮ้อ!

    การใช้ชีวิตกับโฮสต์นั้นมีข้อดีและข้อเสียหลายอย่าง ข้อดีหลักๆ เลยคือเราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวมากนักในตอนที่ย้ายมาใหม่ๆ เพราะมีคนคอยให้ถามนู่นนี่ตลอดเวลา ไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ไม่ต้องลงทุนซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่หรือเครื่องครัวใหม่ทั้งหมด แต่ข้อเสียคือ เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะมาทำตัวสบายๆ เหมือนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ม.ปลายไม่ได้

    อ้อ ลืมบอกไปว่ามาฝึกงานที่นี่เราได้เงินด้วยนะ ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้การมาอยู่ฟรีนั้นดูจะไม่สมกับเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานหาเงินได้เลย

    ผ่านไปสามเดือน เราจึงตัดสินใจเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้เช่าห้องในบ้านของโฮสต์แทน แต่ก็ยังได้ใช้ชีวิตสาวฟาร์มเมอร์ใจกลางเมืองสุดฮิปและมีความสัมพันธ์อันดีกับไก่ (ทั้งแปดตัว) หมา แมว และฝูงผึ้งน้อยกลอยใจต่อไป
  • ณ โรงเรียนประชาธิปไตย—Village Free School

    จากบทบาทของฟาร์มเมอร์ที่บ้าน เปลี่ยนมาเป็นบทบาทที่โรงเรียนกันบ้าง

    ‘โรงเรียนประชาธิปไตย’ ฟังดูอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับคนไทยสักเท่าไหร่ ถ้าให้เทียบก็น่าจะคล้ายกับโรงเรียนทางเลือกของบ้านเรา คือไม่สอนตามกรอบหลักสูตรที่รัฐบาลกำหนด

    โรงเรียนประชาธิปไตยจะให้ความสำคัญกับอิสรภาพของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เน้นการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการเป็นสมาชิกของสังคมประชาธิปไตยให้กับเด็กๆ เช่น ให้มีความรับผิดชอบ รู้จักสิทธิของคนอื่นและหน้าที่ของตัวเอง รู้จักการคิดเชิงวิพากษ์ เคารพความแตกต่างหลากหลาย รักษาความยุติธรรม ใช้เหตุผลและวิจารณญาณในการพูดคุยและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม นอกจากนั้นยังใช้วิถีทางประชาธิปไตย เช่น การโหวตลงคะแนนเสียง การใช้เหตุผลถกเถียงในที่ประชุมมาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการและการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนในโรงเรียนด้วย

    สารภาพว่าก่อนมา เราก็สงสัยเหมือนกันนะว่าโรงเรียนแบบนี้นี่มีอยู่จริงด้วยเหรอ หรือว่าทุกอย่างเป็นสิ่งสมมติ โรงเรียนนี้อาจจะไม่มีตัวตน และเราก็ถูกหลอกมาอีกที! หรือว่าดูจากชื่อ Village Free School นี่มันหมายถึงโรงเรียนที่สอนเด็กๆ ในหมู่บ้านแบบฟรีๆ หรือเปล่านะ… คิดไปนั่น ตอนนั้นเราเลยหาข้อมูลหนักมาก ทั้งหาว่ามันมีพิกัดที่ตั้งอยู่จริง สืบประวัติ ถามคนนู้นคนนี้ จนมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่านอกจากโรงเรียนนี้แล้ว โรงเรียนแบบนี้มันก็มีอยู่จริงๆ ในโลก และคำว่า Free School ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรงเรียนเรียนฟรีของทุกคนนะ แต่คำว่า Free ในที่นี้หมายถึงอิสรภาพของทุกคนในโรงเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีสิทธิ์เต็มที่ในการตัดสินใจ ค้นหา และเลือกสิ่งที่ต้องการเรียนรู้
  • ครูไม่ใช่คนที่มีอำนาจสูงสุดในโรงเรียน ครูใหญ่ก็ไม่มี ที่โรงเรียนนี้ไม่มีการบังคับให้เข้าคลาส ไม่มีการเก็บคะแนน ไม่มีการสอบ ไม่มีการแบ่งแยกชั้นเรียนตามอายุ แต่มีนโยบายและกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ร่วมกัน มีการใช้เหตุผล มีการพูดคุยเพื่อตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น 

    Village Free School ของเราเป็น a private, non-profit, K-12 school เอาง่ายๆ ก็คือโรงเรียนเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.6 ตอนแรกคิดเอาเองว่าโรงเรียนต้องใหญ่มาก ก็เล่นสอนเด็กทุกระดับชั้นขนาดนี้ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นโรงเรียนเล็กๆ มีนักเรียนไม่ถึงร้อยคน และนักเรียนในโรงเรียนจะถูกแบ่งออกเป็นสามห้องตามช่วงอายุกว้างๆ และเป้าหมายในการเรียนของพวกเขา

    Room A หรือห้องเด็กเล็ก จะเน้นการเล่น การรู้จักตัวเอง และการหัดดูแลตัวเองเป็นหลัก คือรับประทานอาหารเอง เมื่อหิว ไปเข้าห้องน้ำเองเมื่อจำเป็น ไม่มีคนมาคอยบังคับหรือต้องคอยขออนุญาตใคร นักเรียนต้องเรียนรู้ความรู้สึกต่างๆ ของตัวเอง และเรียนรู้ถึงการมีอยู่ของผู้อื่น การแบ่งปัน หรือแม้แต่การทะเลาะที่เกิดจากการแย่งชิง

    Room B หรือห้องเด็กกลาง คือนักเรียนจาก Room A ที่พร้อมและมีความรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องทางวิชาการ และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับโปรแกรมต่างๆ ของโรงเรียน และสิ่งที่โรงเรียนให้ความสำคัญ เช่น การแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ก็ยังต้องแบ่งเวลาที่จะหาความชอบและความต้องการของตัวเองให้เจอ
  • ส่วนห้องสุดท้ายคือ Room C หรือห้องเด็กโต ซึ่งก็คือนักเรียนจาก Room B ที่มั่นใจแล้วว่าต้องการฝึกฝนการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ ต้องการเตรียมพร้อมที่จะออกไปเผชิญโลกภายนอกอย่างมีทิศทางการใช้ชีวิตที่ชัดเจนขึ้น มีกรอบและเป้าหมายที่เป็นรูปเป็นร่างจากการค้นคว้าอย่างอิสระด้วยตัวเอง

    นักเรียน Room B และ Room C จะมีช่วงเวลาตอนเช้าที่เราเรียกกันว่าโปรเจกต์ไทม์ เด็กๆ ทุกคนจะได้โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองสนใจและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากคุณครูในโรงเรียน เช่น เมื่อปีที่แล้ว มีนักเรียนอายุ 16 ปีของ Room C คนหนึ่ง สนใจงานกราฟิกโนเวลมาก เขาจะวาดภาพและแต่งนิยายของตัวเองทุกเช้า และครึ่งปีต่อมา เขาก็ใช้เวลาทั้งวันที่โรงเรียนในการลงสีภาพจนครบทุกหน้า จนจบปีมันก็ออกมาเป็นหนังสือภาพเล่มหนาเกือบสามร้อยหน้าเลยทีเดียว

    หรืออย่างช่วงที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นกับงานฮัลโลวีนที่โรงเรียนกำลังจะจัดขึ้น ก็มีกลุ่มนักเรียนหญิงหลายคนที่อยากออกแบบ ทำคอสตูมให้กับตัวเองและตุ๊กตาสัตว์เลี้ยง (little pet shop) ของพวกเธอด้วย ก็สามารถใช้โปรเจกต์ไทม์เพื่อทำการนี้ได้เลย

    ดูเหมือนว่าที่นี่จะให้นักเรียนจัดการตัวเองไปทุกอย่าง แต่ที่จริงผู้ใหญ่หรือคุณครูแต่ละคนในโรงเรียนนี้ต่างต้องสวมหมวกหลายใบกันทั้งนั้น อย่างตัวเราเองก็ต้องเป็นตั้งแต่เพื่อนเล่นของเด็กเล็ก เป็นคนอ่านหนังสือให้พวกเขาฟัง เป็นครูสอนดนตรี สอนการละคร สอนวอยซ์เทรนนิ่ง เป็นคนให้คำแนะนำเรื่องต่างๆ ในช่วงโปรเจกต์ไทม์ของเด็ก Room B และเป็นครูที่ปรึกษาวิชา Independent Study เรื่องภาษาและวัฒนธรรมของเด็กโต
  • ที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นคนรับฟังและไกล่เกลี่ยปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เพราะที่นี่ให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมาก ในขณะที่เด็กนักเรียนที่นี่ก็เหมือนเด็กทั่วไป ชอบเล่นกัน ชอบแกล้งกัน แล้วสุดท้ายก็ต้องทะเลาะกันเป็นธรรมดา

    วิธีการแก้ปัญหาเวลาเด็กทะเลาะกันก็คือ เรียกให้มานั่งคุยกันโดยมีครูเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ ที่โรงเรียนเรียกกระบวนการนี้ว่า ‘Challenge’ สมมตินักเรียนคนหนึ่งโดนเพื่อนแกล้งไม่เลิก เด็กคนที่ถูกแกล้งก็จะบอกว่า “Stop seriously.” หมายถึงการเตือนให้หยุดจริงๆ เพราะถ้าไม่หยุดจะมีการชาลเลนจ์เกิดขึ้นแน่นอน

    หรือถ้าเตือนแล้ว แต่เด็กคนที่แกล้งเพื่อนยังไม่ยอมเลิก คนที่ถูกแกล้งก็จะพูดว่า “I challenge you.” หมายถึงต้องการให้ครูในโรงเรียนมาช่วยจัดการ ส่วนคนที่แกล้งเพื่อน หรือถูกชาลเลนจ์ ก็มีหน้าที่ต้องไปหาผู้ตัดสิน ซึ่งในที่นี้ก็คือครูในโรงเรียนอีกคนมาช่วยรับฟังสถานการณ์และไกล่เกลี่ยปัญหาของทั้งสองฝ่าย

    การชาลเลนจ์จะเกิดขึ้นที่มุมเงียบๆ สักมุมในโรงเรียน แล้วครูก็จะให้ทั้งสองฝ่ายเล่าสถานการณ์ในมุมของตัวเอง บางครั้งจะมีการเบิกพยานหรือเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์ให้มาร่วมชาลเลนจ์ด้วย สำหรับเราการเป็นผู้ตัดสินให้กับเด็กๆ เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะบางครั้งหลายสถานการณ์มันไม่ได้มีคนที่เป็นฝ่ายถูกหรือผิดเสมอไป หลายครั้งการทะเลาะกันก็มาจากการไม่เข้าใจกันเล็กๆ น้อยๆ และบางทีมันก็จบง่ายๆ แค่เด็กทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการรับฟังกันและกันเท่านั้นเอง
  • อีกเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้แม่นเลยคือ ตอนเรามาใหม่ๆ ในบ่ายวันหนึ่ง เราได้ยินเสียงเด็กคนหนึ่งตะโกนว่า “All-school meeting in the project zone!” พอทุกคนได้ยินก็วางมือจากสิ่งที่พวกเขาทำ แล้วมุ่งหน้าไปยังโปรเจกต์โซนของโรงเรียน จากนั้นเพื่อนครูก็เดินมาเรียกเราให้ไปประชุมกับทุกคนด้วยกัน ตอนนั้นเรางงมากว่าเกิดอะไรขึ้น ที่นี่มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘การประชุมกับทุกคน’ ในโรงเรียนด้วยเหรอ

    เพื่อนครูเลยอธิบายให้ฟังว่าวิถีประชาธิปไตยอย่างหนึ่งที่โรงเรียนปลูกฝังให้กับเด็กทุกคนคือ การมีส่วนร่วม การแสดงความเห็น และการลงคะแนนเสียงใน all-school meeting ซึ่งทุกคนในโรงเรียนก็สามารถเรียกประชุมในลักษณะนี้ได้ และถ้ามีการเรียก all-school meeting ขึ้น ทุกคนก็จะต้องมารวมตัวกันเพื่อรับรู้ข่าวสาร ข้อเสนอแนะ หรือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในโรงเรียนหรือกับคนในโรงเรียน

    all-school meeting เป็นพื้นที่ที่ใช้สำหรับการตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน หลังจากทุกคนมารวมตัวกันแล้ว ก็จะมีครูหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการประชุมให้ ใครอยากพูดหรือต้องการแสดงความเห็นจะต้องยกมือ โดยมีครูผู้ช่วยคอยเป็นคนจดรายละเอียดไว้บนกระดาน

    สำหรับ all-school meeting ครั้งแรกที่เราเจอนั้น โซอี้—เด็กนักเรียนอายุ 11 ขวบจากห้องบี เป็นคนเรียกประชุมเรื่องการเอากระต่ายมาเป็นสัตว์เลี้ยงอีกตัวหนึ่งของโรงเรียน (โรงเรียนมีสัตว์เลี้ยงอยู่แล้วหนึ่งตัวเป็นเต่ามาเลเซียชื่อทูดี้) แต่ยังไม่ทันที่โซอี้จะได้พูดถึงเหตุผลว่าทำไมโรงเรียนจึงควรมีสัตว์เลี้ยงเพิ่มอีก เด็กๆ ก็พากันยกมือเตรียมเสนอความเห็นของตัวเองกันยกใหญ่
  • บ้านของโซอี้เพาะพันธุ์กระต่ายขาย และเธอเองก็มีกระต่ายที่เธอรักมากและอยากเอามาโรงเรียนด้วย เด็กๆ ในโรงเรียนส่วนใหญ่ตื่นเต้นและอยากให้โรงเรียนมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เป็นเจ้ากระต่ายน้อย แต่แล้วเด็กอายุเจ็ดขวบคนหนึ่งก็ยกมือขึ้นแล้วพูดว่า “แล้วใครจะดูแลกระต่ายในวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วถ้ากระต่ายไม่ได้ทรหดอดทนเหมือนทูดี้จะทำยังไง แล้วถ้ามีเพื่อนของเราที่แพ้ขนกระต่าย หรือแม้กระทั่งเพื่อนของเราที่ไม่รู้ตัวว่าแพ้ขนกระต่ายล่ะ...”

    ตอนนั้นทั้งห้องโปรเจกต์โซนก็เงียบสงัด เราเองเจอแบบนี้ก็อึ้งไปเลยสิคะ เด็กๆ ที่ตื่นเต้นในทีแรกก็เริ่มใช้เวลาครุ่นคิดอีกครั้ง เริ่มคิดถึงคนอื่นในโรงเรียนมากขึ้น รวมทั้งคิดถึงเจ้ากระต่ายตัวนั้นให้มากขึ้นด้วย แล้วเด็กนักเรียนอีกคนก็ยกมือแล้วพูดว่า “กระต่ายตัวนั้นอาจจะอายุสั้นลงก็ได้ ถ้าต้องมาอยู่ที่โรงเรียนกับเด็กๆ อีกเกือบร้อยคน”

    ภาพที่เด็กๆ ใช้เหตุผลถกเถียงกันอย่างเป็นระเบียบ ตั้งใจฟังกันและกัน และรู้จักที่จะคิดตามสิ่งที่คนอื่นเสนอออกมา ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าเด็กเหล่านี้จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักรับฟัง และนึกถึงเพื่อนร่วมโลกของพวกเขามากขนาดไหน...

    เรายืนยิ้มอยู่คนเดียวที่มุมห้อง เหตุการณ์ในวันนั้นจบลงตรงที่นักเรียนคนหนึ่งเสนอว่าควรตั้งคณะกรรมการนักเรียนเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อทำงานเรื่องกระต่ายโดยเฉพาะ เริ่มตั้งแต่หาข้อมูลเรื่องการเลี้ยงและดูแลกระต่าย สอบถามว่าในโรงเรียนมีคนแพ้ขนกระต่ายไหมแล้วนำมาพูดคุยในที่ประชุมครั้งหน้าเพื่อทำการโหวตอีกครั้ง

    และผลจากการทำงานของคณะกรรมการนักเรียนเฉพาะกิจก็ทำให้รู้ว่าในโรงเรียนมีคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองแพ้ขนกระต่ายถึงสองคน ในที่สุดหัวข้อนี้เลยตกไป เจ้าเต่าน้อยทูดี้ก็เลยยังไม่มีเพื่อนใหม่มาท้าวิ่งแข่งด้วยเสียที
  • Finally

    การได้มาใช้ชีวิตที่พอร์ตแลนด์มันช่างเป็นจุดเติบโตที่มีความหมายที่สุดในชีวิตเรา บ้านเมืองนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเรารักการใช้ชีวิตของตัวเอง รักการมีอยู่ของสิ่งรอบๆ ตัว ได้รู้ว่าตัวเองทำได้ทั้งการเป็นชาวเมืองเดินเที่ยวในดาวน์ทาวน์ จิบเบียร์ และแอบมองรอยสักสวยๆ (ของคนอื่น) หรือเป็นฟาร์มเมอร์ดูแลสวน เลี้ยงแมว เลี้ยงไก่ ไปจนถึงการเป็นครูในโรงเรียนประชาธิปไตยที่น่ารักเหลือเกิน

    ถึงตอนนี้เราก็ไม่รู้ว่าพอร์ตแลนด์เป็นเมืองที่ “Young people go to retire.” หรือเปล่า แต่สำหรับเราแล้ว คิดว่าคงไม่มีช่วงไหนในชีวิตที่เหมาะกับการมาใช้ชีวิตที่นี่มากเท่าตอนนี้อีกแล้ว—Portland, keep it weird. (and wild!)


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in