เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Nightmare before 29BUNBOOKISH
คำนำ

  • เราเจอกับพัดชาครั้งแรก เมื่อสามสี่ปีก่อนแถวเอกมัย—เปล่า ไม่ใช่ตามสถานที่ยามค่ำคืน แต่เป็นที่สำนักพิมพ์ที่เพื่อนๆ พี่ๆ  ของเราทำงานอยู่ด้วยกันทั้งคู่ และถ้าไม่นับช่วงเวลาที่รู้จักรายการ Academy Fantasia มาก่อน อาจเรียกได้ว่า เราเริ่มรู้จัก พัดชา เอเอฟ คนนี้ก็ตอนนั้น

    หลังจากนั้น ถ้าไม่นับกิจกรรมพบปะนัดกินข้าวในหมู่เพื่อนฝูง เราก็จะได้เจอพัดชาตามงานหนังสืออยู่เป็นประจำ บางวันเธอก็รวบผมตึง สะพายเป้ ใส่รองเท้าผ้าใบ ใส่ยีนส์ขาด บางวันเธอก็มาในมาดสาวร็อค เขียนขอบตาเข้มขึงขัง บางวันเธอก็เป็นสาวเนิร์ด อยู่ในแว่นสายตาอันโต หอบหิ้วถุงหนังสือพะรุงพะรัง

    นอกจากเป็นนักร้อง เราจึงมองพัดชาเป็นนักอ่านหนังสือตัวยงคนนึงเหมือนกัน

    และนอกจากชอบอ่าน พัดชายังชอบเขียน—เขียนในความหมายของการใช้สมุด กระดาษ และปากกา โดยพร้อมเพรียง (เธอน่าจะเป็นไม่กี่คนในรุ่นราวคราวนี้ ที่ส่งดราฟต์งานเขียนของตัวเองเป็นภาพถ่าย คือถ่ายจากลายมือเขียนในสมุดมาให้ดูเป็นตัวอย่างกันเลย)

    เมื่อคุยกันถึงหนังสือเล่มนี้ ความหนักใจของเราจึงไม่ใช่เรื่องฝีมือการเขียน แต่ด้วยความที่เราเห็นพัดชาปรากฏตัวอยู่ตามงานนู่นนี่แทบตลอดเวลา เดินทางต่างจังหวัดเป็นว่าเล่น ข้อแรก เรากลัวพัดชาไม่มีเวลา, และข้อสอง เราไม่เคยทำหนังสือที่มีดารานักร้องเป็นคนเขียน ยอมรับว่าเรา (อันหมายรวมถึงพัดชาด้วย) กังวลว่าจะทำอย่างไรให้คนไม่คิดว่าพัดชาจะลุกมาเขียนหนังสือเบื้องหลังชีวิตนักร้อง แทบทุกการคุยกันเราพยายามเตือนกันว่า “อย่าเล่าเรื่องดารามาก”

    แต่เมื่อเดินทางมาถึงช่วงท้ายของการทำต้นฉบับ เรื่องกลัวไม่มีเวลา ไม่ใช่ปัญหาเลย พัดชามีวินัยในการทำงาน ส่งงานตรงเวลาจนเราเองยังตกใจ ส่วนความกังวลข้อสอง เรากลับพบว่า หาก ‘ฝันร้าย’ ของหญิงสาวก่อนวัย 29 คนนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแบบนักร้อง-ดาราของเธอแล้ว จะเป็นอย่างไรไปอีกได้ ในเมื่อเธอใช้ชีวิตตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นหมดไปกับการทำงาน แทนที่จะได้สนุกสนานอยู่กับเพื่อนฝูงและชีวิตมหาวิทยาลัย เมื่ออ่านอย่างผิวเผิน อาจจะเล่าเรื่องดาราไปบ้าง แต่เมื่ออ่านจบ เรากลับคิดตามได้ว่าในช่วงวัยเดียวกันนี้ เราเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เคยเจอ เคยเห็น เคยเป็นมาแล้วบ้าง น่าแปลกที่โดยเนื้อหาสาระแล้ว ฝันร้ายของคนเราอาจไม่ต่างกันเท่าไหร่

    สิ่งที่เป็นตัวตนตอนตื่นต่างหาก ที่ทำให้เราไม่เหมือนกัน

    อาจจะดูเชย เมื่อนึกถึงคำปลอบโยนยามตกใจตื่นเพราะ
    ฝันร้ายที่ว่า ‘ฝันร้าย จะกลายเป็นดี’ แต่เรา (อันหมายถึงสำนักพิมพ์บัน) อยากให้หนังสือเล่มนี้มีความหมายแบบนั้น




  • สวัสดีค่ะ, พัดชาค่ะ

    ตอนแรกก็กะว่าจะพยายามเขียนคำนำออกมาให้มีลีลาลูกล่อลูกชนน่าสนใจ ให้สมกับที่มันจะต้องทำหน้าที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กับท่านผู้อ่านรู้จัก แต่ขอสารภาพตรงนี้ว่า กว่าจะเขียนต้นฉบับหน้าสุดท้ายส่งถึง บ.ก. ได้ก็แทบจะไม่เหลือพลังชีวิตแล้วล่ะค่ะ (โฮกกก...)

    จึงขออนุญาตเว่ากันซื่อๆ

    คือหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นมาจาก ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะได้ใช้เลขสองนำอายุแล้ว! ยี่-สิบ-เก้า แล้วค่า!!! ที่ต้องใส่เครื่องหมายตกใจก็เพราะว่ามันน่าตกใจ เผลอแป๊บเดียวเดี๋ยวก็ไม่ได้เป็นวัยรุ่นแล้วนะตัวเธอ! (ขอถอนหายใจให้สังขารตนเองสักหนึ่งเฮือก เฮ้อ!)

    สำหรับพัด...อายุที่เยอะขึ้นมันไม่ได้หมายความถึงแค่ว่าร่างกายเราจะไม่สดใสวัยสะรุ่นเท่าแต่ก่อน แต่มันเป็นสัญญาณถึงการเริ่มต้นความเป็นผู้ใหญ่ด้วย

    พอนาฬิกามันเริ่มเคาท์ดาวน์ติ๊กๆๆ ใส่รัวๆ แบบนี้ก็ชักจะอยู่ไม่สุข เพราะกลัวว่าจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ดีพอ (มันเอา Nightmare มาระบายใส่ตั้งแต่คำนำเลย...) ก็คงถึงเวลาสักทีที่จะต้องกลับมานั่งทบทวนเรื่องราวในชีวิตตัวเอง บวกกับอยากจะลองเขียนอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันกับเค้าดูจริงๆ สักที จึงเป็นที่มาของ Nightmare Before 29

    ตอนที่เล่าให้คนโน้นคนนี้ฟังว่ากำลังเขียนหนังสือ มีคนถามพัดว่าทำไมมันต้องเป็น ‘ฝันร้าย’ เอ๊า! ถ้ามานั่งเล่าเรื่องราวงดงามดั่งเทพนิยายใครจะสนล่ะค้า ต้องหายนะสิ มันถึงจะน่าสนใจ!

    ฮ่าๆๆๆ บ้า~! ไม่ใช่หรอกค่ะ

    เอ่อ...ใช่ครึ่งหนึ่งก็ด้ะ...

    อีกครึ่งหนึ่งคือ งานส่วนใหญ่ที่ผ่านมาของพัดชาในฐานะ ‘นักล่าฝัน’ มันมักจะเผยให้เห็นแต่ด้านที่ดี เอ๊ย! ฝันที่ดี พอมาถึงคราวนี้ก็เลยอยากจะเล่าด้านมืด เอ๊ย! ฝันร้ายของตัวเองให้ฟังกันบ้าง

    เพราะชีวิตจริง มันไม่ได้มีแต่ฝันดี

    หลับๆ ตื่นๆ ทุกวันทุกวี่ก็ต้องเจอฝันร้ายกันบ้าง

    แม้ว่าบางครั้งเราจะเลี่ยงฝันร้ายไปไม่พ้น

    แต่เราน่าจะดิ้นรนจนผ่านมันไปได้

    เราจะผ่านฝันร้ายนี้ไปด้วยกันค่ะ



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in