ชีวิตมหาลัยของวัยรุ่นไทย นอกจากกิจกรรมการรับน้อง ร้องเพลงสันฯ ตั้งวงก๊งเหล้า ซีร็อกเลคเชอร์ โดดเรียนไปติ่ง วิ่งไปถอนรายวิชา ฯลฯ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ชีวิตนักศึกษาเกือบทั้งหมดจะต้องประสบพบเจอนั้นก็คือ
การฝึกงาน
ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม...
สำหรับเรา เราเป็นคนที่ไม่เชื่อว่าโลกของการทำงานจริงๆมันจะต้องทรหดอดทน บุกป่าฝ่าดงเหมือนเอาตัวเองไปรบกับหน่วยตาลีบันมากอะไรขนาดนั้น เพราะภาพการทำงานที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆผ่านสื่อต่างๆ คือ ภาพของเหล่าพนักงานออฟฟิซที่นั่งเปื่อยๆ หมดอาลัยตายอยากอยู่กับเก้าอี้ตัวเดิมๆทุกวัน บ้างก็นั่งจ้องนาฬิกาว่าเมื่อไหร่มันจะหมุนไปถึงเวลาเลิกงาน บ้างก็เปิดโซเชียลมีเดีย บ้างก็ดูซีรี่ย์ บ้างก็.. เห้ย! ฝ่าย IT เปิดหนังโป๊ดูอีกแล้ว!!
ภาพเหล่านี้มันหล่อหลอมเราให้เราเชื่อว่า "ชีวิตเรามันจะหนักแค่ในช่วงมหาลัย เดี๋ยวพอได้ทำงานก็สบายแล้ว"
จนเราหลงลืมไปว่า โลกแห่งความเป็นจริง มันเหลามือรอตบหน้าเราให้ตื่นอยู่
หากถามว่า มันไม่สวยงามยังไงเหรอ?
อย่างแรกเลยนะ แค่หาที่ฝึกงานก็ยากแล้วครับ
ต้องขออธิบายก่อนว่า รูปแบบการฝึกงานของคณะเราคือ จะเป็นรายวิชาบังคับให้ฝึกงานในช่วงปิดภาคเรียน โดยเราจะต้องติดต่อกับบริษัทที่จะฝึกงานเอง โดยทางมหาลัยวิทยาลัยจะออกหนังสือรับรองให้ นั่นหมายความว่า เราจะต้องไล่ติดต่อบริษัทต่างๆเองว่า มีที่นั่งเหลือให้กับนักศึกษาน้อยๆอย่างเราได้เข้าไปอาศัยทำรังซัก 2 - 3 เดือนบ้างไหม ซึ่งไอ่ขั้นตอนการไปติดต่อบริษัทต่างๆนี่แหล่ะ โลกแห่งความจริงก็ได้มอบบทเรียนแรกให้กับเรา ก็คือ
"ใครเร็ว ใครได้(โว้ย!!)"
ฤดูกาลที่จะพวกเราจะเริ่มติดต่อหาที่ฝึกงานกันก็จะเป็นช่วง 2 - 3 เดือนก่อนเวลาฝึกงาน ไม่ว่าคุณจะเคยมีผลงานอะไร เคยออกค่ายอาสา เคยชนะการประกวดมารยาทไทย เคยออกไปชุมนุมช่วยชาติ มันแทบจะไม่มีผลอะไร เพราะสิ่งที่เราจะต้องแข่งกันก็คือ เราจะต้องรีบติดต่อสอบถามแต่ละบริษัทที่เราอยากจะไปฝึกว่ายังเปิดรับเด็กฝึกงานอยู่ไหม เต็มหรือยัง ต้องส่ง Portfolio ที่ไหนอย่างไร ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะธรรมเนียมวิธีการที่แตกต่างกัน โดยเด็กๆอย่างเราจะต้องศึกษารายละเอียดให้ดี ว่าบริษัทนี้มีประกาศรับเด็กฝึกงานช่วงเวลาใดบ้าง มีเป็นรอบๆ หรือมีเป็นโครงการที่บริษัทสร้างขึ้นเพื่อรองรับงานส่วนนี้โดยเฉพาะ อย่าไปเด๋อใส่บริษัทของเขา เพราะมันอาจส่งผลต่อการประเมินของเราเลยนะ แต่เนื่องจากสาขาวิชาที่เราเรียนอยู่นั้นการแข่งขันมันสูง จะมาโทรหาในช่วง 2 - 3 เดือนก็ไม่ทันทำมาหากิน โดนกดบัตรที่นั่งไปหมดพอดี เพราะฉะนั้น เราฝึกช่วงเดือนมิถุนาใช่ไหม ก็โทรมันตั้งแต่เดือนมกราเลยละกัน...
ซึ่งเราคิดว่า งานนี้ ทีมพี่วางแผนมาดี เล่นเกมเป็น ทีมพี่ชนะแคมเปญในครั้งนี้แน่ๆ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ...
"ต้องขอโทษด้วยนะคะ ตอนนี้บริษัทเรารับเด็กฝึกงานเต็มจำนวนในช่วงเวลานั้นแล้วค่ะ"
...ม่าง เสียเซลฟ์อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลยค่ะ
แต่หลายบริษัทก็จะขอเวลาดู Resume และ Portfolio ของเราเพื่อประกอบการพิจารณา เพื่อจะดูว่าเราเคยทำงานแบบไหนมาบ้าง โหงวเฮ้งเราเหมาะกับที่นี่หรือไม่ ถ้าเมาแล้วจะไม่ต่อยหัวหน้างานตายใช่ไหม ฯลฯ ซึ่งอีพอร์ตนี่แหล่ะ เหมือนเป็นหน้าเป็นตาของเรา เป็นเหมือนตัวแทนที่จะไปพรีเซ้นต์ตัวเราให้คณะกรรมการฟังว่า เราเป็นใคร มีผลงานอะไร กล้าดียังถึงจะมาฝึกงานที่นี่!! (อันนี้ดูละครมากไป)
เพราะฉะนั้น จงทำพอร์ตที่ทำให้คนรู้สึกว่าอยากจะหยิบมาอ่าน และเราอยากจะนำเสนอให้ทุกคนเห็นว่าเราเป็นอย่างไร เหมือนเราได้ออกมาเล่าเรื่องของเราและทำให้เขาเชื่อว่า กู เรามีดี
ถ้าเราติดต่อบริษัทแล้วยังมีที่ว่างในตำแหน่งที่เราอยากจะฝึก เราก็จะต้องมารอลุ้นกันต่อว่า เขาจะรับเราเข้าฝึกงานหรือไม่ ซึ่งโลกแห่งความจริงก็ได้มอบบทเรียนที่สองให้กับเรา ก็คือ
"จงเตรียมตัวรับมือกับช่วงเวลาหลังวางสายไว้ให้ดี"
ทุกๆคนเคยถูกสอนมาว่าให้ปฏิบัติตัวอย่างไรเวลาไปติดต่อเรื่องฝึกงานกับบริษัทๆต่าง แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า หลังจากวางสายไปแล้ว เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะค่อยๆเกิดอาการแพนิคว่า เอ๊ะ! เขาจะรับเราเข้าทำงานมั้ย ? เราจะต้องรออีกนานเท่าไหร่ จะโทรไปถามเขาได้รึเปล่า แต่เอ๊ะ! ถ้าโทรบ่อยๆเขาจะรำคาญแล้วด่ากลับมามั้ย? แล้วถ้ารอไปเรื่อยๆแล้วเขาไม่โทรกลับมาจะทำยังไง ? เดี๋ยวที่อื่นก็เต็มนะ งั้นเราโทรไปหาที่อื่นดีกว่า... แต่เอ๊ะ! ถ้าเขาโทรกลับมาว่ารับเข้าฝึกงานทั้งคู่เลยหล่ะจะทำยังไง? ถ้าเขารับแต่เรามาปฏิเสธทีหลังแล้ว เราจะติด Blacklist มั้ย ? แล้วเราจะปฏิเสธเขายังไงดี
เอ๊ะกันอยู่นั่นแหล่ะ ไม่ฝึกแม่งละ...(...)
ซึ่งถามว่าปัญหาเหล่านี้มีทางแก้ไหม มันก็ไม่ได้มีวิธีแก้แบบชัดเจน
เพราะด้วยปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่รูปแบบการดำเนินงานในบริษัทต่างๆ บริษัทนี้อาจจะเร็ว อาจจะช้า เราคาดเดาอะไรไม่ได้มาก ไหนจะการแข่งขันกันของนักศึกษาอย่างเราๆอีก ซึ่งสิ่งเรานี้เหมือนเป็นบทเรียนนึงที่อาจจะไม่มีสอนในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นประสบการณ์ที่เราทั้งหลายต้องมาเผชิญด้วยตัวเอง เป็นการเขามาเรียนรู้ว่า กลไลที่ขับเคลื่อนอยู่ในโลกการทำงานเนี่ย มันซับซ้อนยุ่งยากกว่าที่เราคิดเยอะนะ เราจะต้องเตรียมใจไว้ให้ดี อย่าเพิ่งไปท้อ อย่าเพิ่งไปตื่นตระหนกจนเกินไป ชีวิตสามปีที่ผ่านมา เราเจอความฉิบหายมากที่สุดก็แค่การเข้าเว็บลงทะเบียนเรียนไม่ได้ (แม่งล่มอยู่นั่นแหล่ะ ล่มจนเอาเครื่องเซิฟเวอร์ไปกันฝนเหอะ อีห่าน เอาเงินไปสร้างห้างหมด) แต่นี่ระดับมันใหญ่กว่าเยอะ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เราจะต้องเผชิญในตลาดแรงงานหลังจากเราเรียนจบ ซ้อมตัวเองเอาไว้ มึงต้องสู้! นี่แหล่ะ โลกแห่งความเป็นจริง!!
ถ้าผลงานเราเตะตา หรือแต้มบุญที่สะสมมาออกดอกออกผลพอดี มีบริษัทติดต่อกลับมาว่ารับเราเข้าฝึกงานแล้ว อันดับแรก ก็...
ดีใจก่อน
แล้วถัดมาก็ให้ดำเนินการสอบถามข้อมูลกันให้เรียบร้อย ว่าต้องการเอกสารอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร แต่ถ้าบางบริษัทต้องการสอบสัมภาษณ์ก็ต้องเตรียมตัวให้ดี ศึกษาเกี่ยวกับข้อมูล ผลงานของบริษัท แสดงให้เขาเห็นเราสนใจบริษัทคุณจริงๆนะ เพราะคุณคือคนสำคัญของเรา ถ้าไม่ได้ก็ไปอีกบริษัทนึงแล้วก็พูดแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ (อ่าว...) หลังจากนั้นก็รอเวลานอนตีพุง ดูข้อมูลผลงานบริษัทเอาไว้บ้าง หรือจะโหลดซีรี่ย์เตรียมเอาไว้ แต่ไม่แนะนำ (เพราะจะเปลือง Harddisk ให้ดูออนไลน์ที่บริษัทดีกว่า...)
แล้วทำตัวเองให้ดูสดใส เตรียมพร้อมรับประสบการณ์ใหม่ๆที่ในรั้วมหาวิทยาลัยไม่มีสอน และคุยกับทางบ้านให้ดีว่าทำงานแล้วอาจจะต้องกลับดึกหรือไม่ อย่างไร อย่าให้ถึงขั้นให้พ่อแม่บุกมาถึงบริษัทเลยนะครับ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวจะเดือดร้อนกันทุกฝ่าย
ฟังๆดูเหมือนจะไม่ได้ยากอะไรนะ
แต่สำหรับเรา การก้าวขาออกมาเดินครั้งแรก
มันยากเสมอ
เราเข้าใจ
เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังจะฝึกงานนะครับ
You'll never walk alone.
ปล.สุดท้ายก็ยังไม่ได้เข้าเรื่องของตัวเองเลย...
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in