“ชีวิตของความเป็นผู้ใหญ่ทำไมต้องมีแต่ความรับผิดชอบ และความคาดหวังมากมายขนาดนี้!”
เสียงโอดครวญอัน ‘เงียบสงัด’ ของเหล่านิสิตนักศึกษาก้องกังวานออกไปทุกหนทุกแห่งแต่กลับไม่มีใครได้ยิน เสียงโอดครวญนี้อาจเป็นเสียงที่ดังที่สุด แต่กลับเป็นเสียงที่เงียบที่สุดในเวลาเดียวกัน
เป็นเสียงที่เปรียบเสมือนพลังงานดำมืดที่ไม่มีใครต้องการกล่าวออกมาอย่างโจ่งแจ้ง เปรียบได้กับชื่อของ ‘ลอร์ด โวลเดอมอร์’เพราะถ้าหากใครเปล่งประโยคที่ไม่น่าประสงค์นี้ออกไปแล้วอาจจะถูกสังคม และผู้คนรอบข้างมองอย่างน่าสงสัย คิ้วขมวด หน้าเข้ม พร้อมกับคิดในใจว่าพวกเราเป็นเด็กไม่โตงอแง ไม่มีวุฒิภาวะ และไร้สาระ ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงไม่เปล่งประโยคต้องห้ามนั้นออกมาและเก็บความกดดันและความอึดอัดไว้ในใจ
ต้นเหตุของความอึดอัดทั้งหมดนี้เกิดมาจากการที่พวกเรากำลังเผชิญกับสิ่งที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตคือ ช่วงเปลี่ยนผ่านจากตัวตนที่เคยถูกเรียกว่า ‘เด็ก’มาเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ซึ่งเป็นช่วงที่ถูกเล่าปากต่อปากว่า เป็นการก้าวผ่านจากโลกแห่งความเสมือนจริงมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงจากเดิมที่เพียงแต่ขอรับเงินเดือนจากพ่อแม่ พวกเราจะต้องเริ่มหางานทำและเลี้ยงตัวเองให้ได้ ในที่สุดพวกเราก็ได้สัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริงอันแสนโดดเดี่ยวและมืดมิดที่แม้จะมองไปทางใดก็พบแต่การแข่งขัน และการแก่งแย่งชิงดีกันการไต่เต้าให้ถึงจุดสูงสุดของอาชีพและความสำเร็จทางด้านการเงินกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งเดียวในชีวิตของพวกเรา ในขณะเดียวกันพวกเราก็ต้องแบกรับความคาดหวังของสังคมที่หวังให้พวกเรายื้อแย่งกับผู้อื่นให้ได้และรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของตนเอง สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนก้อนหินหลายพันก้อนบนบ่าที่จะต้องแบกเอาไว้ตลอดชีวิตของความเป็นผู้ใหญ่
“ก็ใช่น่ะสิโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็แบบนี้แหละ จะบ่นทำไม?”
คำถามนี้ที่ผุดขึ้นในใจของใครหลายคนทำราวกับว่าชีวิตที่แสนมืดมิดและเต็มไปด้วยความกดดันทั้งหมดเป็นเรื่องธรรมชาติไม่ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นแต่อย่างใดเป็นชีวิต ‘ผู้ใหญ่’ ที่แม้จะลำบากเพียงใดก็ต้องอดกลั้นให้ได้เพราะนี่เป็นความจริง และความจริงเป็นสิ่งที่แน่นอนความล้มเหลวในชีวิตถูกผลักให้กลายเป็นความรับผิดชอบของปัจเจกชนคนธรรมดาทั้งหลาย โดยไม่ตั้งคำถามกับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นในใจของคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คน
หากลองนึกไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งแล้วส่วนหนึ่งของที่มาของปัญหาอันหนักอึ้งเหล่านี้คือโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความคิดเรื่องการแข่งขัน และการแก่งแย่งชิงดีเป็นสำคัญ ทำให้คติพจน์ในการใช้ชีวิตอยู่ในวงวนของ‘งานคือเงินเงินคืองาน และเงินคือความสุข’ เรื่องราวการใช้ ‘ชีวิตผู้ใหญ่’เช่นนี้ดำเนินมาเนิ่นนานราวกับว่าจะไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากนี้แล้วในขณะเดียวกันพวกเราที่กำลังเผชิญกับช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตก็ต้องก้มหน้ายอมรับหลักความคิดนี้และพยายามเดินต่อไปในอุโมงค์ที่ไร้แสงปลายทาง เปรียบเสมือนว่าเราวิ่งย่ำอยู่กับที่แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างหนึ่งคือเมื่อเวลาผ่านไป เราจะต้องวิ่งย่ำอยู่ที่เดิมเร็วขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจังหวะวิ่งเดิม ๆที่เป็นเครื่องหมายการันตีว่าเราจะมีงาน เงินและความสุขไม่สามารถใช้ได้กับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงในปัจจุบันได้อีกต่อไปแล้วการแข่งขันมีความเข้มข้นสูงขึ้น ในขณะที่มีผู้คนที่ถูกตีตราว่าเป็น ‘ผู้แพ้’กองอยู่ข้างหลังเพิ่มมากขึ้นด้วย กระนั้นก็ตามสังคมก็ยังคาดหวังให้เราดำเนินแบบแผนเรื่องราว ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ นี้ต่อไป หากกระทำตามความคาดหวังไม่ได้ก็จะถูกสังคมดูถูกเหยียดหยาม และทำให้พวกเรารู้สึกไร้ค่ากับตัวเอง
แม้แต่ความต้องการที่จะระบายความกดดันเหล่านี้ออกไปด้วยประโยคเรียบง่ายดังเช่น“ชีวิตของความเป็นผู้ใหญ่ ทำไมต้องมีแต่ความรับผิดชอบ และความคาดหวังมากมายขนาดนี้!” ก็ยังถูกสังคมมองด้วยความดูถูกดูแคลนความคาดหวังของสังคมต่อตัวพวกเราดังที่ได้กล่าวไป ได้กลายเป็นโซ่ตรวนอย่างเป็นระบบคอยยึดเหนี่ยวเราไว้ให้วิ่งอยู่ในอุโมงค์ที่ไร้แสงปลายทาง
ด้วยเหตุผลประการฉะนี้พวกเราเหล่านิสิตนักศึกษาที่กำลังจะก้าวสู่โลกที่เรียกว่า ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ ก็ได้แต่รอ ‘ชีวิตความเป็นผู้ใหญ่’ ด้วยความห่อเหี่ยว กดดัน และความกังวลใจ
...ความรู้สึกเหล่านี้ก้องกังวานอยู่ในใจของพวกเราดังที่สุดแต่กลับไม่มีใครกล้าที่จะเอ่ยมันออกมาตรง ๆ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in