เช่นเดียวกัน ในวันแถลงข่าวปิดตัวนิตยสาร
ไรท์เตอร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมก็อยู่เป็นผู้ร่วมเหตุการณ์
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นน้ำตาของชายชื่อบินหลา
ไม่ได้เสียใจกับการปิดตัวของนิตยสารแต่อย่างใด เขาเพียงเล่าเรื่องราวที่กระทบหัวใจแล้วกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
การพบกันอีกครั้งที่ร้านหนังสือแห่งนี้จึงทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่ถามเขาตอนที่เราสองคนนั่งคุยกันบนรถริมหาดสมิหลา—การทำไรท์เตอร์ เขาต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง
“ก่อนทำไรท์เตอร์ ผมมีเงินสดในบัญชีหนึ่งแสนบาท ตอนปิดไรท์เตอร์ ผมไม่มีเงิน ถ้าพูดให้ง่ายๆ สบายๆ คือผมเสียเงินไปแสนนึงสำหรับการทำไรท์เตอร์ สี่ปี แต่เงินที่ใช้ทำไรท์เตอร์ ทั้งหมดเยอะนะ มีเงินที่พ่อให้ผมมาแสนนึง เป็นเงินที่อากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ให้มาล้านนึง ส่วนของผม มันก็หมดไปแค่แสนนึง ซึ่งผมหาใหม่ได้”
“เสียดายเงินแสนไหม”
“โคตรคุ้มเลยคุณ จะมีอะไรคุ้มกว่านี้อีก ผมโคตรจะพอใจ ผมรู้สึกว่าสี่ห้าปีในการทำไรท์เตอร์ เป็นสี่ห้าปีที่มีความหมายกับชีวิตผมมาก มีความฝันหลายอย่างที่ผมยังทำไม่ได้ แต่มันช่วยไม่ได้ที่ผมทำไม่หมด ผมมีฝีมือแค่นี้ แต่ผมก็มีความสุขที่ได้ทำ ได้แสดงให้สังคมเห็นว่า มันเกิดมาอย่างมีคุณค่า
“ผมพูดตลอดว่าหนังสือเกิดมาเพื่อจะตาย การตายเป็นเรื่องธรรมดา และวันหนึ่งหนังสือก็จะพบกับเรื่องธรรมดา เหมือนชีวิต วันหนึ่งก็ต้องตาย สิ่งสำคัญคือทำยังไงให้ชีวิตมีคุณค่า”
ผมนึกถึงคำของเขาที่ว่า ถ้าผมทำอะไรไม่ได้เลย จะมีชีวิตอยู่อีกนานไปทำไม
ใช่, เขาไม่ได้สนใจเรื่องอยู่นานแค่ไหน เขาสนใจว่าอยู่อย่างไรมากกว่า
“วันที่ไรท์เตอร์ ตายจากไป คนในสังคมจำนวนไม่น้อยอาลัยและคิดถึง ผมจึงรู้สึกว่ามันมีความหมาย
“ชีวิตที่เกิดมามีความหมายเป็นชีวิตที่น่าดีใจนะ”
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in