สวัสดีค่ะ ในบล็อกนี้เราจะขอพูดถึงเรื่อง Howl's Moving Castle อีกสักเล็กน้อยก่อนที่จะไปดูเรื่องต่อไปกันค่ะ โดยพระเอกหลักของเราในบล็อกนี้คือ มาร์เคิล เด็กชายผู้ช่วยของฮาวล์ที่สามารถใช้ผ้าคลุมเวทมนตร์ในการแปลงกายเป็นชายแก่ได้ค่ะ โดยมาร์เคิลจะแปลงกายเมื่อต้องต้อนรับแขกหรือลูกค้า รวมไปถึงตอนออกไปข้างนอก แต่ในเวลาปกติจะอยู่ในร่างเด็กค่ะ
มาร์เคิลร่างเด็ก https://www.ghibli.jp/works/howl/#&gid=1&pid=17
มาร์เคิลร่างชายแก่ https://www.ghibli.jp/works/howl/#&gid=1&pid=13
นอกจากหน้าตาและน้ำเสียงของมาร์เคิลตอนอยู่ในร่างปกติกับตอนจำแลงกายเป็นชายแก่จะแตกต่างกันแล้วนั้น การใช้ภาษาของมาร์เคิลก็แตกต่างกันตามบทบาทที่เป็นอยู่ ณ ช่วงเวลานั้นอีกด้วย ซึ่งการใช้ภาษาตามบทบาทของตัวละครเช่นนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ปกติในสื่อญี่ปุ่น เช่น แอนิเมชัน หนังสือการ์ตูน นิยาย ภาพยนตร์ และเกม โดยทั่วไปจะเรียกว่า คำบอกบทบาท หรือ 役割語 (やくわりご) ค่ะ
役割語 สร้างขึ้นเพื่อบ่งบอกอัตลักษณ์ของตัวละคร ทำให้ผู้ชมสามารถจินตนาการภาพลักษณ์ของตัวละครและเข้าถึงตัวละครได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยผู้ชมจะสามารถจินตนาการถึงอายุ เพศ อาชีพ ชนชั้น ยุคสมัย รูปลักษณ์ ถิ่นฐาน ลักษณะนิสัย เชื้อชาติ ฯลฯ ของตัวละครได้จากการใช้ 役割語 ของตัวละครนั้น ๆ โดย 役割語 ส่วนใหญ่เกิดจากการเหมารวม (stereotype) ตามความเข้าใจและการรับรู้ร่วมกันของคนญี่ปุ่น ซึ่งจะมีลักษณะที่เบี่ยงเบนออกจากภาษามาตรฐาน 標準語 ของญี่ปุ่น ส่วนมากตัวละครที่มีการใช้ 役割語 จะเป็นตัวละครที่ได้รับบทบาทรองเพราะผู้ชมจะได้เข้าใจพื้นเพของตัวละครนั้น ๆ ได้เลยโดยที่ไม่ต้องมีการเล่าถึงในเรื่อง ผิดกับตัวละครหลักที่อาจไม่ค่อยพบการใช้ 役割語 มากนัก (แต่อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปนะคะ สามารถพบเห็นเรื่องที่ตัวละครหลักใช้ 役割語 ได้เช่นกันค่ะ✿◡‿◡)
สำหรับมาร์เคิลที่เป็นทั้งเด็กและคนแก่ในตัวละครเดียวกัน แม้จะมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์และน้ำเสียงตามบทบาทที่ได้รับแล้ว ยังมีการใช้ 役割語 ที่ต่างกันออกไปด้วย ส่วนมากจะสังเกตได้จากคำสรรพนาม คำเติมเต็ม และคำช่วยท้ายประโยค โดยมาร์เคิลในร่างเด็กและในร่างชายแก่มีการใช้คำทั้ง 3 ชนิดแตกต่างกันออกไปดังในตารางด้านล่างนี้
จะสังเกตได้ว่าภาษาที่มาร์เคิลในร่างเด็กใช้ มีความใกล้เคียงกับภาษามาตรฐานมากกว่าภาษาที่ใช้ในร่างชายแก่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่า 僕 เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวละครเป็นผู้ชาย ทั้งยังปรากฏการใช้คำเลียนสภาพ การละคำช่วยในบางประโยค และการใช้รูปธรรมดาพูดกับผู้ใหญ่อย่างโซฟี ที่เป็นภาษาและลักษณะการพูดของเด็กเพื่อสื่อว่าตัวละครมีความเป็นเด็กแฝงไว้ด้วยเช่นกัน ในขณะที่มาร์เคิลในร่างชายแก่มีการใช้ 僕-≻わし ~だ-≻~じゃ และมีการใช้ ぞ ลงท้ายประโยคเพื่อเน้นสิ่งที่ตัวเองคิดไปยังผู้ฟังอีกด้วย การใช้คำสรรพนาม คำเติมเต็ม และคำช่วยท้ายประโยคเช่นนี้เป็นลักษณะภาษาของชายแก่ ซึ่งถูกหยิบยืมมาใช้เป็น 役割語 ของนักปราชญ์อยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังพบการใช้ ~ぞよ ที่ไม่มีการใช้งานจริงแต่สร้างขึ้นเป็น 役割語 โดยเฉพาะด้วย จึงอาจเรียกได้ว่าภาษาที่มาร์เคิลร่างชายแก่ใช้คือภาษาของนักปราชญ์ที่เป็น 役割語 ก็ว่าได้
ด้วยโครงสร้างของภาษาและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ทำให้เกิด 役割語 ได้ง่ายและหลากหลาย จึงพบว่านอกจากนักปราชญ์แล้ว ตัวละครอื่น ๆ ก็มี คำบอกบทบาท หรือ 役割語 ของตัวเองเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ภาษาของสาวชั้นสูง/ภาษาของคุณหนู ภาษานินจา-ซามูไร ภาษาหุ่นยนต์ ภาษาชาวจีน ภาษาสัตว์ ฯลฯ
https://www.ghibli.jp/works/howl/#&gid=1&pid=21
役割語 เหล่านี้ถูกนำไปปรับใช้กับสื่อญี่ปุ่นมากมาย อันที่จริง เรื่อง Howl's Moving Castle ก็พบการใช้ 役割語 อยู่มาก แทบจะทุกตัวละครเลยก็ว่าได้ค่ะ o(*゚▽゚*)o นอกจากมาร์เคิลที่สังเกต 役割語 ได้ไม่ยากมากเพราะมีการแปลงกายและสลับ 役割語 ระหว่าง 2 บทบาทไปมาทำให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนแล้ว ยังมีอีกตัวละครที่ 役割語 ชัดมาก ๆ อยู่ด้วยเช่นกันค่ะ ( •̀ ω •́ )🔥 แอบใบ้ว่าเป็นตัวละครที่แทนตัวเองว่า オイラ ค่ะ แต่ขออุ๊บอิ๊บไว้ ไม่เฉลยแล้วกันนะคะเพราะอยากให้ลองไปรับชมแอนิเมชันกัน 555555 ถ้าใครรู้แล้วว่าเราพูดถึงตัวละครไหน มาพูดคุยกันได้ที่คอมเมนต์ด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ(❤️ ω ❤️)
.
.
.
ที่มา :
https://www.ghibli.jp/works/howl/#&gid=1&pid=17
https://www.ghibli.jp/works/howl/#&gid=1&pid=13
http://www.hurujournal.ru.ac.th/journals/30_1656648361.pdf
http://rs.mfu.ac.th/ojs/index.php/vacana/article/download/332/243
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in