สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน ในที่สุดก็เดินทางมาถึงบล็อกสุดท้ายของ ติ่งญี่ปุ่นมือใหม่ ฉบับคนสนใจภาษาและแอนิเมชัน กันแล้วนะคะ ในบล็อกนี้เราเลยอยากพูดถึงเรื่องที่เบา ๆ ผ่อนคลายสมองแต่ก็ยังมีความรู้และข้อคิดดี ๆ มาฝากผู้อ่านทุกท่านค่ะ
จากที่เราได้พูดถึงเรื่อง ホーホケキョ となりの山田くん ไปในบล็อกที่แล้วว่าเป็นแอนิเมชันที่เต็มไปด้วยประเด็นทางภาษาศาสตร์ที่น่าสนใจ ในหลาย ๆ ประเด็นเราก็ได้พูดถึงในบล็อกก่อน ๆ ไปแล้ว เช่น ภาษาเด็ก ภาษาคนแก่ ภาษาถิ่นคันไซ ฯลฯ แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ น่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ชมแอนิเมชันและผู้อ่านบล็อกนี้ ทั้งในแง่ของความรู้เรื่องภาษาญี่ปุ่นและในแง่ของการช่วยปลอบประโลมจิตใจ หรือการให้ข้อคิดดี ๆ นั่นก็คือเรื่องของสำนวนที่ปรากฏอยู่ในแอนิเมชันเรื่อง ホーホケキョ となりの山田くん ค่ะ
การใช้สำนวนหรือถ้อยคำที่กล่าวขานสืบต่อกันมานานเป็นสิ่งที่พบได้ในทุกภาษา นอกจากนี้อีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญของสำนวนคือการสะท้อนค่านิยม วิถีชีวิต และความคิดของผู้คนในสังคมนั้น ๆ ทำให้ผู้เรียนภาษาต่างประเทศสามารถรับรู้ค่านิยม ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในชาตินั้น ๆ ได้จากการศึกษาสำนวน ที่มา และความหมาย จึงเป็นเรื่องดีหากเราไม่ได้ศึกษาเพียงแค่ตัวอักษร คำศัพท์ หรือไวยากรณ์ แต่ศึกษาสำนวนของชาตินั้น ๆ ด้วย
ในภาษาญี่ปุ่นมีคำที่ไว้ใช้เรียก “สำนวน” มากมาย เช่น ことわざ สุภาษิต คำพังเพย, かんようく สำนวนโวหาร, 四字熟語 よじじゅくご ภาษิตสี่ตัวอักษร แต่ทั้งหมดนี้ล้วนมีลักษณะที่ต่างกัน แต่พระเอกหลักของเราในวันนี้คือ ภาษิตสี่ตัวอักษร หรือ 四字熟語 よじじゅくご นั่นเองค่ะ
สำหรับการศึกษา ภาษิตสี่ตัวอักษร หรือ 四字熟語 นอกจากจะเป็นกุญแจที่ทำให้ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียม ค่านิยม วิถีชีวิต และความคิดของคนญี่ปุ่นแล้ว ยังช่วยให้จำเสียงอ่านและความหมายของคันจิได้อีกด้วย เนื่องจาก 四字熟語 เกิดขึ้นจากการนำคันจิ 4 ตัวอักษรมาประสมกันเป็นคำใหม่ที่มีความหมายลึกซึ้งขึ้น กลายเป็นภาษิตนั่นเองค่ะ
ในเรื่อง ホーホケキョ となりの山田くん ก็ปรากฏ 四字熟語 เช่นกันค่ะ
https://www.ghibli.jp/works/yamada/#&gid=1&pid=3
อย่างในฉากที่คุณยายกำลังพูดและให้ข้อคิดเกี่ยวกับการแต่งงาน การสร้างครอบครัว ก็มีบทพูดของคุณยายว่า「さて、お二人は前途洋々、順風満帆で世間の大海原へと船出しはったわけです。」พร้อมกับฉากหลังที่ทาคาชิและมัทซึโกะกำลังแล่นเรืออยู่ โดย Netflix ให้คำแปลประโยคนี้ว่า “นับแต่นี้ไปพวกคุณจะพบเจอแต่ความเจริญ พวกคุณกำลังจะแล่นเรือออกไปสู่โลกที่กว้างใหญ่ท่ามกลางพายุ”
ที่จริงแล้วประโยคข้างต้นประกอบด้วย 四字熟語 2 ภาษิตด้วยกันค่ะ
ภาษิตแรกคือ 前途洋々 ぜんとようよう มีความหมายว่า อนาคตสดใส ส่วนภาษิตที่สองคือ 順風満帆 じゅんぷうまんぱん แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ราบรื่นไปทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ราบรื่นไปหมด โดย 順風 หมายถึงลมที่พัดส่งให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้น 満帆 หมายถึงผ้าใบที่ขึงรับแรงลมแบบเต็ม ๆ ทั้ง 2 ภาษิตนี้แฝงความหมายของความสำเร็จไว้ ทำให้พบการใช้เมื่อประสบความสำเร็จ (ไซโต้, 2559, หน้า 104)
นอกจากนี้ตอนที่ตัดเข้ามาเป็นฉากพิธีแต่งงานของทั้ง 2 คน คุณยายก็ยังได้ให้ข้อคิดอีกว่า 「この凪の時節には自分勝手に遊んどって、知らんうちにはぐれてしまうかもわからんのですよ。」 แปลเป็นภาษาไทยคือ “ถ้าเอาแต่ทำตามใจตัวเองล่ะก็ คุณอาจจะต้องเสียอีกฝ่ายไป”
https://www.ghibli.jp/works/yamada/#&gid=1&pid=16
ภาษิตที่อยู่ในบทพูดนี้คือคำว่า 自分勝手 じぶんかって มีความหมายว่า เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตนเอง ซึ่งก็เป็นไปตามคำแปลที่ Netflix ให้ไว้ค่ะ
ภาษาญี่ปุ่นมี 四字熟語 ที่ใช้บ่อยและน่าสนใจอยู่อีกมากมายค่ะ เช่น 一生懸命 いっしょけんめい แปลว่า ทุ่มเททำสิ่งหนึ่งให้เต็มที่ สุดความสามารถ (ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นน่าจะเจอและใช้ภาษิตนี้บ่อยจนติดปาก จนลืมไปว่านี่คือ 四字熟語 ดี ๆ นี่เอง > <) หรืออย่าง 一石二鳥 いっせきにちょう ที่ตรงกับสุภาษิตไทยว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ค่ะ (ภาษิตนี้ก็น่าจะเคยได้ยินกันมาบ่อยเช่นกันค่ะ เพราะมักจะถูกยกตัวอย่างเสมอเวลาใครพูดถึง 四字熟語 ขึ้นมา)
นอกจากนี้ยังมี 四字熟語 ที่อาจจะไม่ได้ใช้บ่อยหรือถูกพูดถึงบ่อยเท่า 2 ตัวอย่างข้างบน แต่ก็มีความน่าจะสนใจไม่แพ้กันอย่าง 異口同音 いくどうおん แปลว่า พูดเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งสร้างขึ้นมาจากคันจิ 異 = แตกต่าง 口 = ปาก 同 = เหมือน 音 = เสียง พอนำคันจิมารวมกันทีละ 2 ตัวก็จะกลายเป็น ปากของหลาย ๆ คน (異口) + พูดเหมือน ๆ กัน (同音) เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า คนหลายคนมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน (ไซโต้, 2559, หน้า 18)
ทั้งนี้ 四字熟語 มีอยู่อีกมากเกินกว่าจะพูดถึงได้ครบถ้วนทุกภาษิตในบล็อกนี้ หากผู้อ่านท่านไหนสนใจศึกษา 四字熟語 เพิ่มเติม ขอแนะนำหนังสือ เลียนแบบเด็กญี่ปุ่น 四字熟語 ภาษิตสี่ตัวอักษร ของคุณ ทากาชิ ไซโต้ แปลโดย รศ.ทัศนีย์ เมธาพิสิฐ ที่รวบรวม 四字熟語 ที่ควรรู้และพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมคำอธิบาย วิธีการใช้งาน และคำแปลที่ถูกเรียบเรียงและถ่ายทอดออกมาอย่างงดงาม สละสลวย และเข้าใจง่าย ค่ะ
สุดท้ายนี้ เราขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามบล็อก ติ่งญี่ปุ่นมือใหม่ ฉบับคนสนใจภาษาและแอนิเมชัน มาจนถึงตอนสุดท้าย รวมถึงผู้อ่านท่านอื่น ๆ ที่อาจผ่านมาเจอบล็อกของเรานะคะ ไว้เจอกันใหม่เมื่อมีโอกาสนะคะ (o゜▽゜)o☆
.
.
.
ที่มา :
https://ejournals.swu.ac.th/index.php/hm/article/view/701/710
https://www.facebook.com/100032073983518/posts/1090153188101173/
https://www.ghibli.jp/works/yamada/#&gid=1&pid=3
https://www.ghibli.jp/works/yamada/#&gid=1&pid=16
ไซโต้, ทากาชิ. (2559). เลียนแบบเด็กญี่ปุ่น 四字熟語 ภาษิตสี่ตัวอักษร (ทัศนีย์ เมธาพิสิฐ, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in