เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เนยถั่วเล่าหนังPeanutbutter Moon
Billy Elliot เด็กชายหัวใจบัลเล่ต์ สู่การวิ่งฝ่ากำแพงทลายทุกกรอบของสังคม
  • หลายวันก่อนเรานั่งคุยกับเพื่อนถึงประเด็นความเป็นอิสระของมนุษย์และกรอบค่านิยมความคิดที่ถูกกำหนดขึ้น เหตุผลที่จู่ๆก็พูดกันถึงหัวห้อนั้นมาจากการที่เราและเพื่อนรู้สึกอึดอัดกับคำพูดต่างๆนาๆที่ประดังเข้ามาส่วนใหญ่คือคำติจากความไม่พอใจของบุคคลนั้นๆที่มีต่อทั้งเราและเพื่อน“ต้องทำแบบนั้นสิถึงจะถูก และอย่างนั้นมันผิดนะ”พวกเรานั่งถอนหายใจและเริ่มสงสัย อะไรคือการกำหนดความถูกผิดและทำไมเราถึงเลือกที่จะเป็นในสิ่งที่เราเป็นไม่ได้ล่ะ

       เมื่อเกิดคำถามเหล่านั้นอยู่บ่อยครั้งเรากลับนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เคยดูเมื่อตอนที่กำลังเรียนมหาลัยอยู่ปี1 ภาพยนตร์ที่ตีแผ่ประเด็นกรอบของสังคมและระบบชนชั้นการต่อสู้อย่างมุ่งมั่นเพื่อไปให้ถึงฝันของเด็กชายคนหนึ่งแม้ว่าสภาพแวดล้อมรอบข้างจะคอยฉุดให้เขาต้องยอมรับต่อโชคชะตาที่กำหนดให้เขาต้องเป็นเพียงเด็กชายที่อนาคตคงได้เป็นแรงงานเท่านั้นภาพยนตร์เรื่องนั้นมีชื่อว่า Billy Elliot หรือชื่อไทยคือ บิลลี่ อีเลียต ฝ่ากำแพงฝันให้ลั่นโลก ภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ กำกับโดย Stephen Daldy ออกฉายเมื่อปี 2000 เขียนบทโดย Lee Hall ในการเขียนนี้เราขอมุ่งเน้นไปที่ประเด็นของกรอบสังคมเพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการถูกทำร้ายจิตใจ

    เรื่องราวของ Billy Elliot

    เรื่องราวของเด็กชายอายุ11ปี ชื่อบิลลี่ อีเลียต (รับบทโดยเจมี เบลล์)เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานที่มีพ่อ แจ็กกี้ อีเลียต (รับบทโดย แกรี ลูวิส)และพี่ชายอย่างโทนี่ อีเลียต (รับบทโดย เจมี่ ดราเวน) เป็นคนงานเหมืองแร่และมีคุณย่า (รับบทโดย จีน เฮย์วู้ด) ที่เริ่มจะจำอะไรไม่ค่อยได้บิลลี่ชอบการเต้นมาตั้งแต่เด็กแต่พ่อของเขากลับส่งเขาไปอยู่ชมรมต่อยมวยเพื่อหวังว่าบิลลี่จะมีความเป็นลูกผู้ชายในตัววันหนึ่งหลังจากหมดชั่วโมงต่อยมวย และได้มีชาวคณะชมรมหัดบัลเล่ต์เข้ามาฝึกซ้อมต่อด้วยลีลาที่อ่อนช้อย งดงามทำให้บิลลี่อยากที่จะลองฝึกบ้างความปรารถนาจึงสมหวังเมื่อมิสซิสวิลกินสัน (รับบทโดย จูลี่ วอลเทอร์ส)ผู้มอบโอกาสให้บิลลี่เข้ามาร่วมฝึกกับเหล่าเด็กผู้หญิงได้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการฝึกบัลเล่ต์ที่แม้เริ่มจากศูนย์แต่กลับทำให้มิสซิสวิลกินสันเล็งเห็นถึงพรสวรรค์และจิตวิญาณความเป็นนักเต้นในตัวบิลลี่เธอจึงสนับสนุนเพื่อพาบิลลี่ไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่นี้นั่นก็คือพยายามผลักดันให้เขาสามารถสอบเข้าโรงเรียนสอนบัลเล่ต์อันดับต้นของอังกฤษให้ได้ดูเหมือนว่านั่นจะเป็นตัวจุดประกายฝันให้บิลลี่พร้อมไขว้คว้าหากแต่ครอบครัวเขาโดยเฉพาะแจ็กกี้ พ่อของเขาไม่เห็นด้วยอย่างแรงแถมมองว่าบัลเล่ต์ไม่เหมาะกับผู้ชาย บิลลี่จึงจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ว่าบัลเล่ต์ เป็นการเต้นที่ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร มาจากไหน ก็สามารถที่จะเป็นได้

    Credit: interest.com

    ช่วงเวลาของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษตอนเหนือเมืองเดอร์แฮม ช่วงเวลาปี 1984–1985 ซึ่ง มีมาร์กาเรตแทตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นสืบเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงมาเรื่อยๆจากสงครามโลกครั้งที่2 และยังต้องเผชิญกลับเงินเฟ้อสูงกับวิกฤตราคาน้ำมัน คนตกงานเป็นจำนวนมากชนชั้นแรงงานอดอยาก การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของมาร์กาเรตแทตเชอร์จึงสร้างความไม่พอใจต่อคนงานเป็นจำนวนมากเพราะพวกเขาถูกตัดงบสวัสดิการรัฐแถมยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือยิ่งทำให้พวกเขาจนตรอกคนงานจำนวนมากจึงพากันนัดหยุดงานเพื่อรวมกลุ่มประท้วงเรียกร้องสิทธิแรงงานของพวกเขาอย่างที่เราได้เห็นในซีนที่พ่อของบิลลี่และพี่ชายของบิลลี่ต่างพากันไปประท้วงด้วยความโกธรเคืองแต่ก็จะมีบางคนที่ยังคงยอมเป็นแรงงานในเหมืองแร่ต่อไปเพราะพวกเขาเองจะต้องเอาตัวให้รอดจากชีวิตที่ยากจนนั้นเป็นเหตุให้กลุ่มประท้วงตราหน้าพวกเขาว่าเป็น “คนทรยศ”

    ***รีวิวหนังเรื่องนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องซึ่งอาจเป็นการสปอยต่อผู้อ่านที่ยังไม่ได้ดู***

    Credit: imdb.com

    • ตัวตน กับ ความเป็นชาย

    หนังมุ่งประเด็นกรอบของสังคมที่มากำหนดอัตลักษณ์ทางเพศโดยเฉพาะค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” หรือความเป็นปิตาธิปไตย (patriarchy)ที่ส่งผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมและการถูกกดทับจากตัวตนจริงๆข้างในผ่านตัวละครต่างๆตั้งแต่รุ่นลูกจนถึงรุ่นผู้ใหญ่

    ·      บิลลี่ด้วยอิทธิพลและสภาพแวดล้อมที่เน้นชายเป็นใหญ่ทำให้เขาเกิดความสับสนต่อตัวตนความเป็นเพศของเขาจนถึงขั้นไม่กล้ายอมรับต่อตัวเองว่าเขาชอบเต้นเพราะการถูกสั่งสอนจากสังคมและพ่อของเขาเองว่า ผู้ชายจะต้องเตะบอล ชกมวยจะต้องแข็งแกร่ง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่บิลลี่ต้องการ เพราะถึงแม้เขาจะเป็นผู้ชายแต่ความชอบของเขาคือการเต้นบัลเล่ต์ซึ่งในสายตาของพ่อบิลลี่และคนอื่นๆ บัลเล่ต์เป็นสิ่งที่เหมาะกับ “ผู้หญิง” เพียงเท่านั้นจะเห็นได้จากการที่บิลลี่แสดงความคิดเห็นต่อการเต้นบัลเล่ต์กับพ่อว่า ผมไม่เห็นว่ามันผิดตรงไหน นักเต้นบัลเล่ต์แข็งแรงเท่านักกีฬาคนอื่นๆ” ประโยคนั้นทำให้แจ็กกี้ไม่พอใจจนถึงขั้นลงไม้ลงมือใช้ความรุนแรงกับบิลลี่

     

    ·      แจ็กกี้เองก็ตกเป็นเหยื่อของอิทธิพลชายเป็นใหญ่ที่มุ่งสอนให้เขาใช้ความรุนแรงเพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผู้ชายเป็น เขาต้องอยู่ในบทบาทผู้นำคือหัวหน้าครอบครัวที่ต้องแบกภาระต่างๆทำให้เขาเกิดความกดดันและความเครียดไม่ว่าจะเป็นอาชีพแรงงานเหมืองแร่ที่เริ่มไม่มีความแน่นอนจนเขาต้องลุกออกมาประท้วงต่อสู้ หรือจะเป็นการสูญเสียภรรยาที่ทำให้เขาต้องจมทุกข์และในฐานะลูกผู้ชาย เขาไม่สามารถที่จะเปิดเผยน้ำตาความโศกเศร้านั้นออกมาได้มากนักเพราะถือว่าเป็นความอ่อนแออย่างที่ลูกผู้ชายไม่ควรจะมี

    ·      ไมเคิลเพื่อนสนิทของบิลลี่ได้เปิดเผยตัวตนต่อบิลลี่ว่าเขาไม่ใช่ผู้ชายเริ่มต้นจากการแอบมาใส่เสื้อผ้าของพี่สาวเพราะอยากลองและเมื่อบิลลี่ถามสจ๊วตว่า “ไม่กลัวคนอื่นจะมาเล่นงานเอาหรอ” สจ๊วตจึงพูดตามความจริงไปว่าพ่อของเขาเองก็แอบใส่เสื้อผ้าผู้หญิงทุกวันเวลาที่พ่อเขาคิดว่าไม่มีใครอยู่ในบ้าน

    นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมของความผิดหวังและความกลัวกับการที่จะต้องใช้ชีวิตเพียงเพราะกรอบค่านิยมของสังคมหรือโดยเฉพาะ “ชายเป็นใหญ่” ที่เข้ามากดทับแม้แต่ผู้ชายเองก็ไม่สามารถที่จะแสดงอารมณ์ต่างๆที่นอกจากความโกธรเกรี้ยวอย่างลูกผู้ชายได้อย่างเปิดเผยน่าเศร้าที่สิ่งเหล่านี้เมื่อย้อนดูกลับยิ่งเห็นเป็นภาพสะท้อนจิตใจของผู้คนที่เข้ามากำหนดบรรทัดฐานว่าสังคมที่ดีและถูกต้องนั้น“ต้อง” เป็นอย่างไร และเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งผู้ที่ต้องใช้ชีวิตให้รอดในสังคมนั้นๆกลับต้องดิ้นรนไปกับการปกปิดตัวตนที่แท้จริงและบังหน้าด้วยอีกตัวตนเพราะนี่คือสิ่งที่สังคมบีบบังคับโดยลืมนึกถึงคุณค่าของมนุษย์สิ่งเหล่านี้หรือคือความถูกต้องของสังคม?

    Credit: imdb.com

    • ชนชั้น กับ ทางเลือก

    เราขอยึดตามตามแนวคิดทางปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยม(Existentialism) ของฌอง ปอง ซาร์ตร์ที่ให้ความสำคัญต่อเสรีภาพ เขาได้พูดถึงสภาวะการมีอยู่ของมนุษย์ว่า มนุษย์นั้นเกิดมาพร้อมกับอิสรเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อทางเลือกและการกระทำของตนเสรีภาพเป็นชีวิตจิตใจของมนุษย์ หมายความว่าตัวเรานั้นมีอิสระต่อทุกสิ่งไม่มีสิ่งใดจะมาควบคุมกำหนดเราได้นอกจากตัวเราเองดังนั้นเราใช้ชีวิตในทุกๆวันขึ้นอยู่กับปัจเจกความต้องการและทางเลือกของเราทั้งนั้น

    ความเป็นปัจเจกของบิลลี่คือการไม่ยอมตกเป็นทาสของสังคมเขาเลือกจะเป็นผู้ที่กำหนดชะตาชีวิตของเขาเองบิลลี่แสดงสิ่งนั้นออกมาในซีนที่พ่อของเขาเข้ามาเห็นบิลลี่กับสจ๊วตกำลังเต้นบัลเล่ต์ด้วยกันบิลลี่จึงโชว์ทักษะความสามารถอันเปี่ยมล้นไปด้วยจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นต่อทางเลือกของตนผ่านการเต้นบัลเล่ต์ซึ่งกลายเป็นซีนที่ทรงพลังมากๆถึงขณะที่ทำให้พ่อของเขาน้ำตาคลอยอมแพ้ต่อการขัดขวางความสามารถของบิลลี่ในที่สุด

    แต่ถึงจะฝ่าด้านพ่อไปได้ การออดิชั่นเพื่อสอบเข้าก็ถือเป็นการต้องทดสอบทั้งความสามารถและชนชั้นอีกด้วยเพราะ“บัลเล่ต์”ตั้งแต่อดีตถือเป็นศิลปะการแสดงของชนชั้นกลางไปถึงชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ความใฝ่ฝันของบิลลี่จึงถือเป็นความขัดแย้งอีกอย่างหนึ่งทางสังคมเพราะเขาเองมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงานซีนที่แจ็กกี้และบิลลี่เดินเข้ามาที่โรงเรียนสวนทางกับนักเรียนบัลเล่ต์ที่แต่งกายด้วยชุดฝึกซ้อมอันเงียบหรูและยิ่งในห้องสัมภาษณ์ที่มีแต่กรรมการแต่งกายเป็นระเบียบบอกถึงความเป็นผู้ดีกล้องตัดสลับกับแจ็กกี้ที่มีสายตาของความตื่นตนกอยู่ลึกๆและเมื่อเขาถูกถามว่าได้ติดตามนักบัลเล่ต์คนไหนหรือไม่ แจ็กกี้กลับไม่รู้ว่าจะตอบอะไรเพราะเขาไม่รู้เลยจริงๆเกี่ยวกับบัลเล่ต์นั่นแสดงให้เห็นว่าศิลปะอย่างบัลเล่ต์ไม่เคยมาถึงชนชั้นอื่นเลยนอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้น

    Credit: http://musicaltheatremusings.co.uk

    ในทางกลับกันตัวละครบิลลี่กลับท้าทายต่อระบบชนชั้นด้วยความใฝ่ฝันอันบริสุทธิ์ต่อการทลายกรอบความคิดอันล้าหลังที่มีต่อบัลเล่ต์เพื่อสร้างชุดความคิดใหม่ว่าบัลเล่ต์เป็นศิลปะการแสดงที่มีคุณค่าต่อทุกคนและทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ ในซีนที่บิลลี่เข้ามาห้องออดิชั่นต่อหน้าเหล่ากรรมการของโรงเรียนเขากลับไม่ได้โชว์ลีลาบัลเล่ต์ดั้งเดิมอย่างที่ได้เรียนกับมิสซิสวิลกินสันแต่กลับโชว์บัลเล่ต์แบบร่วมสมัยที่มีการผสมผสานการเต้นแบบอื่นเข้าไปด้วยแม้ความจริงแล้วที่บิลลี่เต้นออกมาแบบนั้นเป็นเพราะความตื่นกลัวและความกดดันก็ตามเสริมด้วยการตอบคำถามปิดท้ายของกรรมการว่า “รู้สึกยังไงตอนเต้น” บิลลี่ตอบกลับไปด้วยสิ่งที่คิดอย่างจริงใจบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่งว่า

    รู้สึกดีเหมือนมันขัดๆแต่พอได้เต้นไปสักพักผมลืมทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนหายตัวไปรู้สึกเหมือนร่างกายเปลี่ยนไป เหมือนมีไฟลุกอยู่ในตัว ผมอยู่ที่นั่นบินได้เหมือนนก เหมือนกระแสไฟฟ้า”

    คำตอบที่ทำให้กรรมการพึงพอใจในคราวเดียวกันและเป็นคำตอบที่ยิ่งยันยืนว่าบัลเล่ต์คือศิลปะที่ไม่มีการแบ่งแยกและคนทุกคนสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณความงดงามของบัลเล่ต์ได้

    Credit: imdb.com

    • อุดมการณ์ กับความรัก

    สิ่งสำคัญที่พ่อของบิลลี่และพี่ชายของบิลลี่ทำคือการออกไปร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วยการหยุดงานในเหมืองแง่นับว่าเป็นอุดมการณ์ที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมแพ้แถมยังเลือกใช้ความรุนแรงต่อคนที่ละเลิกการประท้วงเพื่อกลับไปก้มหน้าก้มตาขุดเมืองแง่แลกเงินต่อไปหรือที่เรียกว่า “ผู้ทรยศ” ต่อกลุ่มที่ประท้วงด้วยกันนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหนังก็สร้างให้เราได้เห็นถึงความอ่อนแอของสิ่งที่ทำให้ความแข็งแกร่งในอุดมการณ์สั่นคลอนได้นั่นคือ ความรักชนะทุกสิ่ง เมื่อแจ็กกี้ได้เห็นถึงศักยภาพที่เต็มล้นผ่านการเต้นบัลเล่ต์ของบิลลี่เขาก็ยอมละทิ้งอุดมการณ์ของตัวเองลงทันที ยอมหันกลับไปเป็นแรงงานดั่งเดิมยอมเป็นคนทรยศต่ออุดมการณ์เป็นทาสต่อระบบทุนนิยมเพื่อความหวังที่จะส่งลูกของเขาให้ได้เรียนและมีอนาคตก้าวไกลกว่าอนาคตแรงงานเหมือนผู้คนที่นี่อย่างที่แจ๊กกี้บอกกับโทนี่ลูกชายคนโตของเขาว่าเขาทำเพื่อบิลลี่เพราะบิลลี่อาจจะเป็นอัจฉริยะก็ได้ เขาเป็นแค่เด็ก 11 ขวบ เราต้องให้โอกาสเขา

    อุดมการณ์เป็นสิ่งสำคัญแต่มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าหากอุดมการณ์นั้นแปลว่าเขาจะต้องพรากอนาคตของคนที่เขารักไปด้วยบิลลี่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้และเพราะว่าแจ๊กกี้รักบิลลี่มากรวมถึงไม่ต้องการให้ลูกของเขาต้องมาเผชิญกับสิ่งที่เขาและโทนี่เป็นอยู่ในเมื่อบิลลี่มีทางเลือกที่ดีกว่าการเสียสละเพื่อเปิดโอกาสอันนำไปสู่เส้นทางชีวิตที่ดีแก่ลูกทำให้เขาเลือกยอมตกอยู่ในวงจรแรงงานที่ต้องถูกกดขี่นี้ต่อไปอย่างไม่มีเงื่อนไขและยังคงหวังว่าสักวันมันจะต้องดีขึ้น

    Credit: cinema.com

    ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราตกตะกอนได้จากการดูหนังเรื่องนี้เราไม่อาจจะบอกได้ว่าสภาพสังคมไม่มีผลต่อความฝัน เพราะหากย้อนมองตัวภาพยนตร์บิลลี่ได้รับแรงสนับสนุนที่ดีจากครูวิลกินสันทำให้เขาประสบความสำเร็จในเส้นทางของเขาเขาคือผู้โชคดีที่แม้ไม่มีต้นทุนสูงแต่เขากลับได้รับโอกาสที่ดีจากคนรอบข้างแต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยการฝึกซ้อมอย่างเหน็ดเหนื่อยหนักหน่วง และการต่อสู้ด้วยคราบน้ำตาที่ทำให้บิลลี่เกือบจะล้มเลิกอยู่หลายครั้ง และถ้าหากเทียบกับนักฝึกหัดบัลเล่ต์ด้วยกันเขายังต้องฝึกซ้อมอีกเยอะเพราะถือว่ายังขาดทักษะอีกมากดังนั้นความสำเร็จของบิลลี่ที่ได้มาคือจิตวิญญาณของความรักที่มีต่อการเต้นบัลเล่ต์นั่นเองตัวละครของบิลลี่จึงอาจจะบอกเราได้ว่า การอดทนและพยายามต่อไปในสิ่งที่เรารักเป็นในสิ่งที่เราเป็นนั่นแหละถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in