เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#แอบจดจากแอ๊บแจ๊บpleech x appjpling
5. 邦題:ชื่อหนังมหัศจรรย์ เรื่องเดียวกันจริงหรือนี่?!
  • ช่วงนี้หยุดอยู่บ้านกันหลาย ๆ คนคงนั่งดูหนังอยู่ที่บ้านใช่ไหมคะ แน่นอนว่าเวลาเลือกดูหนังสักเรื่องก็คงจะเลือกจากแนวของหนัง (genre) เนื้อเรื่อง นักแสดง รางวัล หรือไม่ก็ชื่อเรื่องใช่ไหมคะ ชื่อเรื่องเรียกได้ว่าเป็นด่านแรกที่จะทำให้เราเลือกดูหรือไม่ดูเลยก็ได้


    แล้วเคยลองสังเกตกันรึเปล่าว่าเมื่อแปลออกมาเป็นภาษาไทยแล้วแตกต่างกับต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน?


    ช่ายย วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องการแปลงชื่อภาพยนตร์จากต้นฉบับเป็นภาษาญี่ปุ่นกันค่ะ


    นี่มันเรื่องอะไรกัน!!?!

    เอาล่ะ ชื่อต่อไปนี้คือชื่อของหนังเรื่องอะไร ลองทายกันดูนะคะ ช่องกลางเป็นคำแปลสำหรับคนที่อ่านญี่ปุ่นไม่ได้ ส่วนเฉลยคลุมดำด้านขวาเลยค่ะ


    アナと雪の女王      (อานากับราชินีหิมะ)   Frozen

    ゼロ・グラビテ      (Zero Gravity)     Gravity

    インサイド・ヘッド    (Inside Head)     Inside Out

    バッド・ジーニアス〜危険な天才たち〜(Bad Genius〜เหล่าอัจฉริยะอันตราย〜) ฉลาดเกมโกง

    君の名前で僕を呼んで   (เรียกผมด้วยชื่อของคุณ) Call Me By Your Name

    ワイルド・スピード    (Wild Speed)     Fast & Furious

    死霊館          (เรือนผีสิง)      The Conjuring

    グランド・イリュージョン (Grand Illusion)     Now You See Me



    เป็นไงบ้าง พอจะเดากันได้ไหมเอ่ย บางเรื่องยังมีเค้าโครงเดิม แต่บางเรื่องก็แตกต่างไปจากชื่อต้นฉบับอย่างสิ้นเชิงจนเดาไม่ออกเลยนะคะ55555 



    ชื่อที่ถูกแปลงมาเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วเขามีคำเรียกเฉพาะด้วย เรียกว่า 邦題 ほうだい โฮได ค่ะ


    邦題 (n.)
    ชื่อภาษาญี่ปุ่นของผลงานที่แปลงมาจากภาษาต่างประเทศ ผลงานอย่างเช่น ภาพยนตร์ งานเขียน เพลง เป็นต้น

    แล้ว 邦題 นี่เขามีหลักเกณฑ์อะไรในการตั้งบ้าง?


    เกณฑ์หลัก ๆ เลยก็คือให้คนญี่ปุ่นเข้าใจง่ายขึ้นว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรค่ะ ซึ่งเมื่อเข้าใจแล้วก็จะอยากดู อยากดูก็จะได้เงิน = การตลาดอย่างหนึ่งนั่นเองงง ดังนั้นเลยนิยมแปลชื่อเรื่องเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือใส่ Sub-Title (ชื่อเรื่องรอง) ด้วยค่ะ เพราะบางทีถ้าใช้ตัวคาตาคานะคงชื่อเรื่องเดิมไว้ จะทำให้ไม่เก็ท Message ของชื่อเรื่องและไม่เข้าใจว่าหนังเกี่ยวกับอะไรค่ะ


    หลังจากหาข้อมูล เราลองแบ่งประเภทคร่าว ๆ ไว้ มาดูกันดีกว่าว่ามีประเภทไหนบ้าง


    ทับศัพท์ชื่อเรื่องเดิมไว้ด้วยคาตาคานะ (+เติม Sub-Title สักหน่อย)

    ถ้าลองดูลิสต์ชื่อหนังในช่วงหลัง ๆ อย่างปี 2018-2019 จะพบว่า ชื่อหนังประเภทนี้ค่อนข้างเยอะทีเดียวเลยค่ะ อาจเป็นเพราะจะได้คงความ Original เอาไว้ หรืออีกเหตุผลหนึ่งเราคิดว่า เป็นเพราะช่วงหลัง ๆ มีหนังที่ชื่อเรื่องเป็นชื่อของตัวเอก หรือชื่อเฉพาะที่ไม่สามารถแปลได้ จึงต้องคงชื่อเดิมเอาไว้และใส่ Sub-Title ให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรแทนค่ะ


    ตัวอย่างของชื่อหนังประเภทนี้ เช่น

     

    • アベンジャーズ/エンドゲーム → Avengers: Endgame
    • メン・イン・ブラック:インターナショナル → MIB: International
    • シェイプ・オブ・ウォーター → The Shape of Water
    • ワンス・アポン・ア・タイム・イン・ハリウッド → Once Upon a Time in Hollywood
    • ジュラシックワールド/炎の王国 → Jurassic World: อาณาจักรแห่งเปลวเพลิง (ต้นฉบับซ Fallen Kingdom)
    • パラサイト 半地下の家族 → Parasite -ครอบครัวกึ่งใต้ดิน-
    • イミテーション・ゲーム/エニグマと天才数学者の秘密 → The Imitation Game -อีนิกม่าและความลับของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ-


    เรื่อง Parasite จะเห็นว่ามีการเพิ่ม Sub-Title เข้าไปให้เห็นภาพมากขึ้นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร จะว่าไปก็คล้าย ๆ กับชื่อภาษาไทย “ชนชั้นปรสิต” 



    แปลชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ความหมายเดิม

    ชื่อเรื่องต้นฉบับอาจมีความสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว เมื่อแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นก็เข้าใจได้และได้ใจความ


    ตัวอย่างเช่น


    • 君の名前で僕を呼んで (เรียกผมด้วยชื่อของคุณ) → Call Me By Your Name
    • オリエント急行殺人事件 (คดีฆาตกรรมรถไฟด่วนโอเรียนท์) → Murder on the Orient Express
    • 美女と野獣 (โฉมงามกับอสูร) → Beauty and The Beast
    • ドラゴンタトゥーの女 (หญิงสาวรอยสักมังกร) → The Girl with the Dragon Tattoo
    • 天使と悪魔 (เทวากับซาตาน) → Angels & Demons

    เรื่อง Call Me By Your Name ได้รับคำชมจากแฟนหนังว่าสามารถแปลชื่อออกมาได้สวยงามด้วยค่ะ เพราะมีการใช้คำสรรพนาม 君の คิมิโนะ (ของเธอ) แทนคำว่า Your  และใช้ 僕 โบคุ (ผม) แทนคำว่า Me ถือว่าแปลได้เหมาะสมและดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีคำสรรพนามได้ดีเลยทีเดียว



  • แอบเปลี่ยนนิดหน่อย แต่ยังใกล้เคียงเดิม

    กรณีนี้ก็พบได้บ่อยเหมือนกันค่ะ เพราะการแปลออกมาตรง ๆ จากต้นฉบับอาจทำให้เข้าใจยาก หรือมีจุดที่เป็นปัญหา จึงได้ดัดแปลงบางส่วนเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

    พอจะเดาได้ไหมคะว่าเป็นเรื่องอะไรบ้าง


    • モンスターホテル (Monster Hotel) → Hotel Transylvania
    • ファンタスティック・ビーストと魔法使いの旅 (สัตว์มหัศจรรย์กับการเดินทางของผู้ใช้เวทย์) → Fantastic Beasts and Where to Find Them
    • ファンタスティック・ビーストと黒い魔法使いの誕生 (สัตว์มหัศจรรย์กับการกำเนิดผู้ใช้เวทย์สีดำ) → Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald
    • はじまりのうた (เพลงแห่งการเริ่มต้น) → Begin Again
    • 博士と彼女のセオリー (ทฤษฏีของศาสตราจารย์และเธอ) → The Theory of Everything


    เรื่อง Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald หากจะคงชื่อ Grindelwald เอาไว้แล้วเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นจะได้ グリンデルバルド ทั้งยาวและอ่านยาก แถมถ้าใครไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของแฮร์รี่ พอตเตอร์อาจจะไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร จึงเลือกแปลให้เป็น 黒い魔法使い (ผู้ใช้เวทย์สีดำ) แทนค่ะ


    เรื่องนี้เราได้ไปดูตอนอยู่ญี่ปุ่น ชื่อตัวละครพอเขียนเป็นคาตาคานะแล้วอ่านยากจริง ๆ ค่ะ กว่าจะอ่านกุ-ริน-เด-หรุ-บา-หรุ-โดะเสร็จ เอาเข้าจริงอ่านแค่ กุ-ริน ซับก็เปลี่ยนแล้ว ;;---;; เพราะงั้นคิดว่าคนตั้งทำถูกแล้วที่เปลี่ยนคำไปเลย ฮือ55555



    เปลี่ยนชื่อเรื่องขนาดนี้ เรื่องเดียวกันจริงหรอ!?

    ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทำให้หากคงชื่อต้นฉบับไว้อาจทำให้คนญี่ปุ่นไม่เข้าใจได้ รวมถึงบางเรื่องถ้าไม่ใช่แฟนหนังอาจจะไม่เก็ท ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนชื่อให้น่าสนใจเพื่อจูงใจให้คนอยากดูค่ะ ส่วนชื่อญี่ปุ่นที่ตั้งใหม่มีทั้งมาจากเนื้อเรื่องโดยรวมหรือชื่อตัวละคร หลายเรื่องเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าเดิม แทบจะเดาไม่ถูกเลยว่าเป็นชื่อหนังเรื่องไหน5555


    ท้าทายขนาดนี้มาลองทายกันดูดีกว่าค่ะ


    • メッセージ (Message) → Arrival
    • 新感染 ファイナル・エクスプレス (การติดเชื้อพันธุ์ใหม่ Final Express) → Train to Busan
    • プーと大人になった僕 (พูห์และผมที่โตเป็นผู้ใหญ่) → Christopher Robin
    • 君に読む物語 (เรื่องราวที่อ่านให้เธอฟัง) → The Notebook
    • オール・ユー・ニード・イズ・キル (All You Need is Kill) → Edge of Tomorrow
    • 6才のボクが、大人になるまで。 (จนเมื่อผมผู้อายุ 6 ขวบโตเป็นผู้ใหญ่) → Boyhood
    • シュガー・ラッシュ (Sugar Rush) → Wreck-it-Ralph
    • 世界一キライなあなたに (ถึงคุณคนที่เกลียดที่สุดในโลก) → Me Before You
    • エスター (เอสเธอร์) → Orphan
    • リメンバー・ミー (Remember Me) → Coco
    • ロスト・バケーション (Lost Vacation) → The Shallows

    ที่น่าสนใจคือ ชื่อภาษาญี่ปุ่นของ Train to Busan ค่ะ ชื่อเรื่องอ่านว่า 新感染 ชินคันเซ็น แปลว่า การติดเชื้อพันธุ์ใหม่ ซึ่งเสียงอ่านล้อกับ 新幹線 ชินคันเซ็น ที่แปลว่า รถไฟชินคันเซ็นด้วย เป็นการตั้งชื่อที่น่าสนใจทีเดียว แต่ก็มีเสียงวิพากย์วิจารณ์จากชาวเน็ตว่ามันไม่เวิร์ค น่าจะใช้ชื่อ 釜山行き (=To Busan) ตรงตัวไปเลยดีกว่า แต่มันก็จะเพลน ๆ ไปหน่อยใช่ไหมล่ะคะ...




    หลังจากหาข้อมูลมา เราตั้งข้อสังเกตว่าการแปลงชื่อประเภทนี้จะพบบ่อยในหนังแอนิเมชั่นเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะต้องการเจาะตลาดกลุ่มเด็ก ๆ เลยตั้งชื่อให้จำง่าย เข้าใจง่าย สื่อถึงตัวละครหลักโดยตรง อย่างเวลาเราจะเรียกแอนิเมชั่นสักเรื่อง เราก็มักจะแทนด้วยชื่อตัวละครหลัก อย่างเอลซ่า นีโม่ ราพันเซล อยู่บ่อย ๆ


    ตัวอย่างชื่อหนังแอนิเมชั่นในภาษาญี่ปุ่น


    • アーロと少年 (อัลโลกับเด็กชาย) → The Good Dinosaur

    • カールじいさんの空飛ぶ家 (บ้านลอยฟ้าของคุณปู่คาร์ล) → Up

    • ヒックとドラゴン (ฮิคและมังกร) → How to Train Your Dragon

    • ベイマックス (Baymax) → Big Hero 6



    เมื่อดูโดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่า ชื่อหนังภาษาญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการเข้าใจเนื้อเรื่องเป็นหลัก หากชื่อเรื่องต้นฉบับมีความคลุมเครือ อ่านแล้วเข้าใจยากก็จะเปลี่ยนใหม่ หากเป็นชื่อเฉพาะก็จะคงไว้และเพิ่ม Sub-Title แทน


    ดูชื่อเรื่องภาษาญี่ปุ่นแล้ว เราลองเอาบางเรื่องที่กล่าวไปมาเทียบกับชื่อภาษาไทยดูบ้างดีกว่า


       Original         邦題        ภาษาไทย


    Inside Out

    インサイド・ヘッド

    มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง

    Fast & Furious

    ワイルド・スピード

    เร็ว...แรงทะลุนรก

    Now You See Me

    グランド・イリュージョン

    อาชญากลปล้นโลก

    Avengers: Endgame

    アベンジャーズ/エンドゲーム

    อเวนเจอร์ส: เผด็จศึก

    MIB: International

    メン・イン・ブラック:インターナショナル

    เอ็มไอบี หน่วยจารชนสากลพิทักษ์โลก

    The Imitation Game

    イミテーション・ゲーム/エニグマと天才数学者の秘密

    ถอดรหัสลับอัจฉริยะพลิกโลก

    The Girl with the Dragon Tattoo

    ドラゴンタトゥーの女

    พยัคฆ์สาวรอยสักมังกร

    Begin Again

    はじまりのうた

    เพราะรัก คือเพลงรัก

    Train to Busan

    新感染 ファイナル・エクスプレス

    ด่วนนรก ซอมบี้คลั่ง

    The Notebook

    君に読む物語

    รักเธอหมดใจ ขีดไว้ให้โลกจารึก

    Up

    カールじいさんの空飛ぶ家

    ปู่ซ่าบ้าพลัง

    How to Train Your Dragon

    ヒックとドラゴン

    อภินิหารไวกิ้งพิชิตมังกร

    Coco

    リメンバー・ミー

    โคโค่ วันอลวน วิญญาณอลเวง

    ให้ความรู้สึกที่ต่างกันไปเลยใช่ไหมคะ55555


    ชื่อเรื่องภาษาไทย นอกจากจะให้เข้าใจเนื้อเรื่องแล้ว ยังมีการแต่งเติมคำให้มีสีสัน พออ่านแล้วนึกภาพออกว่าเป็นหนังแนวไหน อย่างแอคชั่นก็จะมีการใช้คำ ‘พยัคฆ์’ ‘คลั่ง’ ‘นรก’ ให้รู้สึกถึงความดุเดือด Adrenaline rush สุด ๆ นอกจากนี้ยังมีสัมผัสคล้องจองภายในชื่อ แสดงเทคนิคการเล่นคำแบบไทย ๆ ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็ว่าได้



    ชื่อหนังแต่ละเรื่องเมื่อแปลงไปเป็นภาษาต่าง ๆ ก็จะเห็นศิลปะในการใช้คำและการจับประเด็นสำคัญที่แตกต่างกันออกไป แม้จะเป็นหนังเรื่องเดียวกันก็ตาม เป็นอีกจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่เราชอบสังเกตแล้วตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า ถ้าเป็นเราจะตั้งชื่อว่าอะไรดี ใครอ่าน entry นี้แล้วสนใจสามารถไปหาชื่อหนังเรื่องอื่น ๆ ดูเพิ่มเติมได้นะคะ ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลย


    ทิ้งท้ายด้วยชื่อหนังไทยที่แปลงเป็นภาษาญี่ปุ่นให้ลองเดาดูค่ะ


    すれ違いのダイアリーズ    (ไดอารี่ที่สวนทาง)    คิดถึงวิทยา

    夏休み ハートはドキドキ!   (ปิดเทอมหน้าร้อน หัวใจเต้นตึกตัก!) ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น

    心霊写真           (รูปถ่ายติดวิญญาณ)    ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ

    愛しのゴースト        (คุณผีที่รัก)       พี่มากพระโขนง

    早春譜            (โน้ตเพลงต้นฤดูใบไม้ผลิ)  Season Change

    アンニョン!君の名は     (อันยอง! ชื่อเธอก็คือ)   กวน มึน โฮ

    ミウの歌           (เพลงของมิว)      รักแห่งสยาม


    つづく

    pleech.


    ?




    ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก

     https://yokoyamayuki.com/toeicbusinesse/businessmealtopic/4703/

    https://filmaga.filmarks.com/articles/701/

    https://matome.naver.jp/odai/2137575422172108101

    https://eiga.com/news/20181231/1/

    https://enpedia.rxy.jp/wiki/秀逸な邦題の一覧

    https://allabout.co.jp/gm/gc/469776/

    https://aoaf.hatenablog.com/entry/houdai

    https://togetter.com/li/980674

    https://fliphtml5.com/nvnww/rqtb/basic

    https://www.sbbit.jp/article/cont1/35768

    https://eiga-watch.com/parasite/

    https://www.fashion-press.net/news/20455/3

    https://www.fashion-press.net/news/27701

    https://togetter.com/li/1299392

    https://filmaga.filmarks.com/articles/2534/

    https://www.sbbit.jp/article/cont1/35767

    http://www.osaka-kyoiku.ac.jp/~kokugo/nonami/2017soturon/matumura.pdf

    https://mgronline.com/live/detail/9480000053611

    http://www.hu.ac.th/conference/proceedings/data/บทความ%20-%20บรรยาย/G1%20กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์%20(Hu)/9-078Hu-NO%20(รุสนี%20มะแซ).pdf






เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
fern_shida (@fern_shida)
งุ้ยยยย น่าสนใจมากๆเลยค่ะะ ชอบความเปรียบเทียบการแปลชื่อหนังทั้งของญี่ปุ่นและของไทยเลย ไม่เคยได้สังเกตมาก่อนเลยว่าการแปลชื่อหนังเป็นภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยมีเทคนิกการเลือกใช้คำยังไงกันบ้าง พอได้มาอ่านแล้วรู้สึกว้าวมากๆเลยค่ะ ชอบมากๆ อ่านแล้วอยากกลับไปลองสังเกตชื่อหนังที่เราเคยดูมาแล้วเลยว่าในภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยแปลว่ายังไงบ้าง
mynonglittledog (@mynonglittledog)
น่าสนใจมากเลยค่ะะ เราชอบที่ญี่ปุ่นดูจะจับจุดเด่นของแต่ละเรื่องมาตั้งแบบนี้ บางเรื่องที่มีตัวละครเด่น ก็เอาชื่อมาตั้ง บางเรื่องเน้นที่เนื้อเรื่องก็เอาเนื้อเรื่องมาตั้ง โดยเฉพาะเรื่อง Coco คือเรื่องนี้สำหรับเราเพลง Remember me เป็นกุญแจหลักของเรื่อง เรียกได้ว่าเป็นตัวดำเนินเรื่องอีกอย่างเลย แล้วก็เรื่อง Arrival ด้วย ชื่อเรื่องญี่ปุ่นตรงกับกุญแจสำคัญของเรื่องเป๊ะ เลยคิดว่าญี่ปุ่นมีการตั้งชื่อที่ดูชาญฉลาดมากเลยค่ะ
Pat Saori (@fb2815664221854)
ปังมากค่ะ ตรงสุดท้ายที่เดาชื่อหนังไทยคือคิดไม่ออกเลยจริงๆค่ะ 555555

อันนี้เคยรู้สึกว่าพวกซีรีส์หรือแนวรักๆแปลชื่อไทยละบางทีรู้สึกจั๊กจี้55555 อย่าง กังนัมบิ้วตี้ รักนี้ไม่มีปลอม (My ID is gangnam beauty) งี้ พอเป็นพวกแบบสู้ๆรบๆหรืออะไรแนวจริงจังดูยิ่งใหญ่มาก อย่าง มหันตภัยไข้หวัดมฤตยู (The flu)
Kanokwan Katagiri (@fb3408029972557)
โหว มีข้อมูลหนังเยอะมาก สามภาษา (แสดงว่าเป็นคนชอบดูหนังไม่น้อย)​ กลยุทธ์การแปลสัมพันธ์ทั้งเรื่องการแปลให้ดึงดูด และการเก็บวัฒนธรรมของภาษาต้นทางด้วย ยากมากแต่น่าสนใจ นำมาวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวได้เลยนะเนี่ย น่าสนใจมากค่ะ