เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
MUSIC _ the_love_of_my_Life_all_along.mp3swatamug
NIRVANA_the_X_Grunge_Voice_of_an_alternative_ trend.mp3
  •     เนอร์วานา_กรันจ์ทางเลือกแห่งกระแสหลัก_โดยเจนเอกซ์


    X บทความนี้นำเสนอแนวคิดของวงดนตรีกรันจ์และเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจแนวคิดเพลงของวงเนอร์วานามากขึ้น

    X ดนตรีกรันจ์มีเนื้อหาหลักมุ่งไปที่การต่อต้านความคิดอนุรักษ์นิยมของคนรุ่นพ่อแม่ที่นำไปสู่ความรู้สึกความแปลกแยกจากพ่อแม่หรือสังคม 

    X เนอร์วานาได้กลายเป็นกระบอกเสียงของเจเนเรชันเอกซ์และเป็นผู้บุกเบิกดนตรีทางเลือกเข้าสู่ดนตรีกระแสจนกลายเป็นตำนาน



                                                                        

                                     แนวคิดกรันจ์ฉบับย่อ


                วงดนตรีกรันจ์ (Grunge) หรืออีกชื่อคือซีแอทเทิล ซาวด์ (Seattle Sound)  เพราะมีจุดกำเนิดอยู่ที่เมืองซีแอทเทิล เริ่มก่อตั้งวงดนตรีแนวนี้ในสมัยปลาย 80s โดยได้รับอิทธิพลมาจากฮาร์ดคอร์พังค์และเมทัลอีกที  เป็นดนตรีที่มีเสียงริฟกีตาร์ที่ฟังดูแตกๆเพี้ยนๆ บวกกับ กลอง เบสและเสียงร้องดิบๆ ที่ประทุออกมาจากแก่นกลางความเกรี้ยวกราดและความเลือดร้อนไฟแรงของเด็กวัยรุ่นนอกกระแส และเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเพลงเมื่อเนอร์วานาเริ่มปล่อยเพลง Smells like Spirit จากอัลบั้มชุดที่ 2 ชื่อเนเวอร์ไมด์ (Nevermind) จนโด่งดังทะลุปรอทบิลบอร์ดชาร์ตโค่นราชาเพลงป๊อบไมเคิล แจ๊คสัน ในปีค.ศ. 1992 และกลายมาเป็นเพลงชาติของวัยรุ่นเจเนอเรชันเอกซ์ไปโดยปริยายจนเป็นกระแสที่ทำให้วัยรุ่นยุคนั้นเริ่มหันมาฝั่งเพลงกรันจ์กันมากขึ้น


         กรันจ์ขึ้นชื่อว่าเป็นแนวเพลงทางเลือกที่ก่อตั้งโดยวัยรุ่นเพื่อวัยรุ่นและเป็นแนวเพลงที่พ่อแม่ต้องตะโกนด่าว่าหนวกหู  โดยที่อาจจะไม่รู้ว่าแนวคิดเพลงกรันจ์นั้นมีเนื้อหาที่ต่อต้านคนรุ่นพ่อแม่ที่เข้ามาควบคุมชีวิต เป็นความกดดันที่ไม่ว่าวัยรุ่นยุคไหนก็สามารถสัมผัสความรู้สึกแบบเดียวกันได้


                                                      

                                                    กรันจ์กับการต่อต้านคนรุ่นพ่อแม่


    กรันจ์ถูกเรียกว่าเป็นตัวแทนแห่งเจเนอเรชันเพราะเป็นความเคลื่อนไหวของอิทธิพลทางดนตรีที่มีความสำคัญต่อวัยรุ่น เพราะมีเนื้อหาที่จิกกัดและเสียดสีสถาบันสังคม ต่อต้านอำนาจนิยม ต้องการความเป็นอิสระ รวมถึงตั้งคำถามถึงความเป็นอยู่ในสังคม ตัวอย่างวงดนตรีกรันจ์ที่เริ่งก่อตั้งแรกๆ อย่างเช่นเพิร์ลแจม (Pearl Jam) และ ซาวด์การ์เด้น (Soundgarden) มีเนื้อหาเพลงที่มุ่งวิจารณ์ปัญหาและขนมธรรมเนียมสังคม โดยการวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิทหารของอเมริกาในยุค 80s และแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่ทุกคนต้องสอดคล้องกลมกลืนกันโดยการปฏิบัติตามแบบแผน


                                                                    Nirvana

    แนวคิดกรันจ์เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมของยุครุ่นพ่อแม่เพราะว่าอุดมการณ์ทางการเมืองและภาพลักษณ์ของวงที่ดูเป็นวัยขบถที่สนับสนุนความหลากหลาย ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ สนับสนุนสิทธิและบทบาทของผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคม ตั้งคำถามกับปัญหาโครงสร้างสังคมในเรื่องความเท่าเทียมและต่อต้านอำนาจนิยม เรียกได้ว่าเป็นแนวเพลงเพื่อชีวิตในแบบฉบับกรันจ์ที่ไม่ชอบให้ใครมากำหนดชีวิต รักความอิสระอย่างเช่นวัยรุ่นทั่วไป แต่มากไปกว่านั้น  ในยุคเจเนอเรชันเอกซ์ที่ถูกนิยามว่าเป็น 'ยรุ่นที่ไม่แยแส เบื่อหน่ายโลก และไม่สนใจที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม' แต่กรันจ์แสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นแบบกรันจ์เป็นวัยรุ่นที่มองเห็นปัญหาสังคมไม่ได้เป็นวัยรุ่นที่ไม่แยแสสังคมอย่างที่คนให้คำนิยามตัวพวกเขาไว้


                                                                                         Riot Grrrl

    เพลง Hands All Over ของวงซาวด์การ์เด้นวิจารณ์การกระทำของทหารและเสียดสีอาชีพโสเภณีที่มีเพียงเพื่อช่วยสภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและปรนเปรอเหล่าความต้องการทางเพศของทหาร รวมไปถึงความบกพร่องในการทำหน้าที่ของรัฐในยุคสมัยสงครามที่รัฐบาลรณรงค์บริจาคเงินเพื่อทำสงครามมากกว่าจะใช้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกงาน ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวคิดผลพวงที่มาจากยุคความก้าวหน้าของคนสมัยก่อนซึ่งก็คือคนรุ่นพ่อแม่(Baby Boomers) ที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาทางสังคมและต่อต้านการใช้อำนาจนิยมของคนรุ่นพ่อแม่ดังกล่าว


    "Hands all over the coastal waters                                                                                                       The crew men thank her                                                                                                                       Then lay down their oily blanket                                                                                                         Hands all over the inland forest                                                                                                           In a striking motion trees fall down like dying soldiers                                                                     Yeah like dying soldiers"




    คนรุ่นพ่อแม่(ของคนเจนเอกซ์)เกิดในยุคสงครามที่ได้รับผลกระทบและมีความกลัววิตกกังวลต่อการเกิดสงครามจนลสมมาถึงยุคเจนเอกซ์ พ่อแม่ต้องวิตกกับโรคเอดส์ที่กำลังระบาดในขณะนั้น เกิดกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมการใช้เฮโรอีนเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กวัยรุ่นที่เสพยาติดเชื้อเอชไอวี ถึงขั้นห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะตั้งแต่ช่วงยุคปลาย70s ถึง 80s พ่อแม่จึงต้องควบคุมลูกไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางซึ่งอาจจะมากจนเกินไปจนทำให้ลูกเกิดการต่อต้านและเป็นขบถต่อคนรุ่นพ่อแม่ผู้ใช้อำนาจกับตนเอง และการกระทำของพ่อแม่ที่เข้ามาบงการชีวิตของลูกยุคเจนเอกซ์ทำให้เด็กเกิดความแปลกแยกจากครอบครัว และความรู้สึกแปลกแยกนี้เป็นหนึ่งในคำนิยามหลักที่แสดงอัตลักษณ์ของคนเจเนอเรชั่นเอกซ์ ซึ่งเป็นสิ่งพบในหลายเพลงวงเนอร์วานา เช่นเพลง Paper cuts ที่มีเนื้อหาเปรียบเปรยชีวิตที่ถูกคุมขังโดยแม่ของตนเอง  เราจะเห็นภาพ แม่ที่ทารุณลูกของตัวเอง มีหน้าที่เพียงนำอาหารสอดประตูเมื่อลูกหิว  ลูกที่อยู่ในห้องที่ปิดผนึกด้วยกระดาษกับกระจกสีดำ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการถูกคุมขังและสื่อถึงความรู้สึกที่เศร้าหมองมืดมนเหมือนกระจกสีดำ เป็นเพลงที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ห่างเหินระหว่างแม่และลูก รวมทั้งการเลี้ยงดูที่ทำร้ายเด็กทั้งความรู้สึกและร่างกาย

    "When I'm feeling tired

    She pushed food through the door

    And I crawl towards the crack of light

    Sometimes I can't find my way

    Newspapers spread around

    Soaking all that they can

    A cleaning is due again

    A good hosing down                                                                                                                 

    The lady whom I feel maternal love for

    Cannot look me in the eyes

    But I see hers and they are blue

    And they cock and twist and masturbate                                                                                            

    I said so                                                                                                                                                  

    Nirvana, nirvana, nirvana, nirvana                                                                                          

    Black windows of pain

    I scratched with my nails

    I see others just like me

    Why do they not try to escape?"



                                              กรันจ์กับความแปลกแยกจากสังคม


        กรันจ์เป็นแนวเพลงที่ฉีกแนวออกมาไม่เหมือนใครในยุคสมัยนั้นและกลายเป็นแนวเพลงที่วัยรุ่นนิยมฟังเนื่องจากมีเนื้อหาที่แตกต่างจากแนวเพลงอื่นๆที่เป็นกระแส เช่นร็อคและพังค์ แต่กรันจ์ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายวิจารณ์เรื่องการเมืองชัดเจน รวมทั้งมีเรื่องเซ็กส์ ยาเสพติดและไลฟ์สไตล์ที่สุดขั้วเหมือนวงดนตรีพังค์ เนื้อหาเพลงกรันจ์ส่วนใหญ่เป็นความคิดและประสบการณ์ในแง่ลบที่พบเจอในการใช้ชีวิต อย่างเช่นความรัก ที่มักนำเสนอถึงความรักที่ผิดหวัง น่าเบื่อหน่าย และ ความสัมพันธ์ที่พังไม่เป็นท่า รวมไปถึงปัญหาสังคมเช่น การฆ่าตัวตายของวัยรุ่น การใช้ยาเสพติด ปัญหาความกลมกลืนของสังคม (conformity) ปัญหาการข่มขืน ซึ่งเป็นแนวคิดบุกเบิกที่ทำให้แนวเพลงกรันจ์เป็นไปในลักษณะการสร้างความรู้สึกแปลกแยกจากสังคมและเกิดความซึมเศร้าจากปัญหาที่พบเจอ ซึ่งความรู้สึกแปลกแยก หรือ Alienation อธิบายให้เข้าใจง่ายๆได้คือเป็นความรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว ไม่มีใครเข้าใจ ตามคำอธิบายของราชบัณฑิตยสถาน (2549) กล่าวว่า Alienation เป็นการเปลี่ยนจากการรู้สึกผูกพันไปเป็นการรู้สึกไม่เป็นมิตรเป็นปรปักษ์หรือไม่ยินดียินร้ายต่อผู้อื่น ต่อกลุ่ม ต่อสังคม หรือแม้แต่ต่อตนเอง ในทางเดียวกันความแปลกแยกของแนวคิดแบบกรันจ์คือการสะท้อนความรู้แปลกแยกทั้งจากครอบครัว สังคมหรือแม้แต่ตนเองที่ยังไม่เข้าใจว่าความรู้สึกนั้นคืออะไร ซึ่งเป็นความรู้สึกของช่วงวัยที่วัยรุ่นคงจะรู้สึกแบบเดียวกันและสัมผัสได้เวลาฟังเพลงกรันจ์


                                                                     เคิร์ท โคเบน


         เมื่อพูดถึงในภาพรวมแล้ว ความเป็นวัยรุ่นที่ต้องการความอิสระและอยากจะใช้ชีวิตตนเองในแบบที่ต้องการ เกิดความรู้สึกแปลกแยกจากครอบครัวและสังคมที่เข้ามากำหนดความคิดและบทบาทชีวิตเพียงเพื่ออยากให้คนมีความสอดคล้องกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกันตามแบบฉบับความคิดอนุรักษ์นิยมที่อยากให้ทุกคนรักใคร่กลมเกลียว แต่ในความสอดคล้องที่ว่านั้นเป็นความคิดแบบเดียวที่่กลับไม่ยอมรับความหลากหลายหรือคนที่แตกต่าง ซึ่งเป็นความคิดในอุดมคติของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ล้มเหลว และเนื้อเพลง Territorial Pissings ของเนอร์วานาได้หยิบยกข้อความในเพลง Get Together  ของวง The Youngbloods มาเป็นอินโทรเพลง  ซึ่งเป็นเพลงฮิตของชาวฮิปปี้ในยุคปลาย 60s 


          คริส โนเวลเซลิกมือกลองของวงเนอร์วานา กล่าวว่า คนรุ่นพ่อแม่คงจะได้ยินความคิดที่เขาเคยพูดในเพลงนี้และก็คงจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับความคิดของพวกเขากัน


    “Maybe some baby boomers will hear that and wonder what happened to those ideals,”


       เพลง Territorial Pissings นำเสนอให้เห็นถึงความคิดของคนรุ่นก่อนที่เขามีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นเหมือนกันแต่ท้ายที่สุดแล้วก็ล้มเหลว 


    "Come on, people now
    Smile on your brother
    Everybody get together

    Try to love one another right now"       




            ความแปลกแยกที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะความแตกต่างทางความคิดของคนในสังคมที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัย เป็นความแตกต่างระหว่างความคิดของคนรุ่นพ่อแม่และลูก หรือแม้แต่ความแตกต่างที่เป็นปัจเจก เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเกิดความรู้สึกแปลกแยกนี้ได้และวงดนตรีกรันจ์ อย่างเช่นเนอร์วานานั้นสามารถถ่ายทอดแนวคิดความรู้สึกที่ว่านี้ออกมากระทบถึงความรู้สึกในจิตใจของผู้ฟังได้กินใจผู้ฟังวัยรุ่นเป็นอย่างดี

                                                                



                                                                เนอร์วานาครองเมือง



              เนอร์วานา (Nirvana) ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1987 ประกอบด้วยสมาชิกหลัก 3 คน คือเคิร์ท โคเบนนักร้องนำ มือกีตาร์และนักแต่งเพลงของวง คริส โนเวลเซลิก มือเบส และ เดฟโกร์ล มือกลอง เป็นวงดนตรีกรันจ์ที่เป็นแนวอินดี้หรือเพลงทางเลือก เริ่มมีชื่อเสียงในยุค 90s และเป็นวงที่ทำให้ดนตรีทางเลือกเข้ามาอยู่ในตลาดเพลงกระแสหลัก หลังจากเพลง Smells Like Teen spirit ถูกออนแอร์ในช่อง MTV  ซึ่งเป็นช่องทีวีที่ใครๆก็ทราบว่านำเสนอเพลงกระแสหลักที่ฮิตติดชาร์ต และเพลงของเนอร์วานาก็เป็นตัวแทนที่เผยแพร่อุดมการณ์แนวคิดที่เสียดสี ตีแผ่สังคมในด้านมืด พร้อมทั้งรูปแบบดนตรีที่ไม่ซับซ้อนและเมโลดี้ติดหู จึงทำให้เพลงนี้โด่งดังไปทั่วโลก



           เพลง Smells like Spirit ตัวแทนความไม่แยแสของคนรุ่นเอกซ์?

                                          เคิร์ท โคเบน คริส โนเวลเซลิก และ เดฟ โกร์ล (ซ้ายไปขวา)

         

             ถ้าจะกล่าวว่าคนเจเนอเชันเอกซ์เป็นอย่างไรก็คงต้องอธิบายกันยืดยาวถึงในเรื่องของประวัติศาสตร์และสังคม ซึ่งมีนักวิชาการหลายคนให้คำนิยามกันไปต่างๆนาๆ แต่สามารถอธิบายได้คร่าวๆตามที่ Brabazon (2005) ได้อธิบายไว้ว่า ภาพจำของคนเจเนอเรชันเอกซ์ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ มีความเบื่อหน่ายโลก ไม่กระตือรือร้น และเป็นผู้ช่ำชองการใช้สื่อที่ตกงาน และอีกคำนิยามที่มักใช้อธิบายคนเจเนอเรชันเอ็กซ์คือ slackers หรือ คนขี้เกียจ ซึ่งหมายความถึงการไม่แยแสต่อโลกหรือเหตุการณ์บ้านเมือง เป็นวัยที่นิยมความรุนแรง ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะเกิดในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีอัตราคนว่างงานและหย่าร้างสูงขึ้น  จะเห็นได้ว่าคนเจนเอกซ์ที่พูดถึงนี้เป็นเพียงภาพเหมารวมพื้นฐานของคนผิวขาว ชนชั้นกลาง คนชาติอื่นอาจจะไม่อินด้วยมากนัก และคำนิยามที่มักเป็นไปในทางแง่ลบทำให้คนเจนเอกซ์หลายคนไม่สบอารมณ์และยังสงสัยกับตัวเองว่า ฉันเป็นแบบนั้นจริงๆใช่ไหมสังคม


            เมื่อเพลง Smells like Teen Spirit ได้รับความนิยมจนกลายเป็นตัวแทนฉบับสมบูรณ์ของวัยรุ่นเจเนอเรชันเอกซ์ เมื่อฟังและนึกตามก็จะเห็นภาพของวัยรุ่นที่พกปืน มีความเบื่อหน่ายและมั่นใจในตนเอง มารวมตัวกันในสถานที่มืดๆแห่งหนึ่งที่พวกเขารู้สึกว่าได้ปลดปล่อยและเป็นตัวของตัวเอง ในขณะเดียวกันเราจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่แปลกแยกจากสังคม จากการที่อยู่ในที่มืดกับกลุ่มเพื่อนที่รู้สึกว่าเป็นที่ๆปลอดภัยของตนเอง มีน้ำเสียงประชดประชันจากท่อน"ฉันทำอะไรไม่ได้เรื่องสักนิดขนาดที่คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำดีที่สุดแล้วนะ รู้สึกเหมือนเป็นพรสวรรค์เลยอะ" ('I'm worse at what I do best and for this gift I feel blessed') 

           ส่วนในเอ็มวี ผู้กำกับเลือกนำเสนอความเป็นวัยรุ่นผู้ต้องความบันเทิงใจ นั่งดูคอนเสิร์ตของวงและส่งเสียงเชียร์ชอบใจ ในขณะที่เคิร์ท นักร้องนำของวงมีสีหน้าที่ดูไม่พอใจ และบ่งบอกว่าคงจะรู้สึกหัวเสียไม่ใช่น้อยกับการร้องเพลงแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้บรรยากาศดูเกรี้ยวกราดตามสไตล์กรันจ์มากขึ้นไปอีก ในความเป็นจริงมีปัญหาการถ่ายทำเอ็มวีเพราะเคิร์ทไม่ได้ต้องการให้เอ็มวีออกมาเป็นแบบนี้จึงทำให้เขามีอารมณ์ดุเดือดในขณะที่ถ่ายทำมากขึ้นไปอีก






    "เราอยู่นี่แล้ว มาเอนเตอร์เทนเราหน่อยสิ"  


    "Here we are now entertain us"



                                                                       Nirvana



            สุดท้ายแล้วเพลง Smells like Teen Spirit ก็ได้กลายเป็นภาพจำของวัยรุ่นที่วงเนอร์วานาถ่ายทอดความเป็นเจเนอเรชันเอกซ์ออกมาได้ตามแบบฉบับของภาพเหมารวม ซึ่งเคิร์ทได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเพียงแค่รู้สึกระอาเต็มทนที่ต้องทนเห็นความไม่แยแสต่อโลกของเขาและวัยรุ่นเจนเขา และเพลงนี้ก็เป็นการเสียดสีความคิดที่คนมองวัยรุ่นเจนเอกซ์อีกทีหนึ่ง นี่คงจะตอบคำถามได้ว่าทำไมเพลง Smells like Teen Spirit จึงเป็นตัวแทนวัยรุ่นเจเนอเรเชันเอกซ์ และไม่แปลกใจที่กลายมาเป็นเพลงชาติแห่งยุคสมัย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีดนตรีและการนำเสนอมุมมองที่คนเข้าถึงได้ บวกกับการถ่ายทอดที่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกความเป็นวัยรุ่นเจเนอเรชันเอกซ์หรือไม่ว่าวัยรุ่นยุคไหนก็สามารถสัมผัสได้และทำให้เพลงนี้ประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย

         



     

             จากความดังชั่วข้ามคืน วงเนอร์วานากลายเป็นผู้บุกเบิกกระแสทำให้แนวคิดเพลงกรันจ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสมัยนั้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีวงดนตรีกรันจ์ที่ก่อตั้งมานานแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากอย่างเช่น Soundgarden, Alice in Chain และ Mudhoney และความดังที่เป็นจุดสร้างความสนใจอาจจะดูขัดแย้งกับภาพลักษณ์เพลงกระแสใต้ดินที่ต่อต้านเพลงดังกระแสหลักในขณะนั้น แต่ก็นับว่าเป็นวิวัฒนาการทางดนตรีที่ทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจวงการเพลงกระแสทางเลือกได้มากขึ้น 



    การที่เนอร์วานาประสบผลสำเร็จนั้นทำให้มีสื่อต่างๆสนใจมากขึ้น เริ่มมีการเผยแพร่คำนิยามวงเนอร์วานาหรือเคิร์ทโคเบน นักร้องนำตามสื่อต่างๆ ว่าเป็นตัวแทนแห่งเจเนอเรชันเอกซ์ ไม่เพียงแต่ดนตรีที่เรียบง่าย แต่ยังมีเนื้อหาเพลงที่สัมผัสถึงก้นลึกของความเป็นวัยรุ่นที่รู้สึกเต็มทนกับผู้ใหญ่และความรู้สึกแปลกแยกจากสังคมที่มีหลายคน ณ ที่ใดที่หนึ่งก็คงรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนน้อยของสังคมและเลือกฟังเพลงกระแสทางเลือกจนทำให้กรันจ์เติบโตเป็นดนตรีกระแสหลักได้ในระยะเวลาอันสั้น ดนตรีกรันจ์จึงเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการทางดนตรีที่สำคัญแห่งยุค 90s และในท้ายที่สุดมีผู้กล่าวไว้ว่ากรันจ์ได้ตายไปแล้ว หลงเหลือเพียงผลงานที่สร้างความเป็นตำนานหลังจากที่เคิร์ท โคเบน นักร้องนำที่เปรียบเสมือนตัวแทนของกรันจ์เสียชีวิตลง




    สุดท้าย สิ่งที่เรานำเสนอแนวคิดกรันจ์อาจจะทำให้หลายคนความเข้าใจความเป็นวงดนตรีกรันจ์ได้มากขึ้นและอาจจะช่วยในการทำความเข้าใจเพลงของวงเนอร์วานาหรือวงกรันจ์อื่นๆได้มากขึ้นเช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นสาระที่ได้จากการฟังเพลงที่แสดงถึงพลังของเสียงร้องและดนตรีที่เริ่มจากอดีตและส่งต่อมายังวัยรุ่นยุคปัจจุบัน รวมถึงความเป็น universal language ของดนตรี ที่กรันจ์ทำให้ดนตรีกระแสทางเลือกเข้ามาสู่ความเป็นกระแสหลักได้ เพราะเราต่างคนต่างสัมผัสได้ถึงภาษาของดนตรีอย่างเช่นกรันจ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนปัญหาสังคมและความรู้สึกแปลกแยกที่ว่าร่วมกันและนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ดนตรีไม่มีขอบเขต ไม่มีพรมแดนในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่ส่งต่อถึงกันได้ทั่วทุกมุมโลก





    XX









    References:
    Lechuga, A. (2009). A Grunge Philosophy, Or: How I Came to Speak a Sub-Cultural Vocabulary Negating Social Binaries. Retrieved March 20, 2019.

    Soulsby, N. (2102). Dark Slivers: Seeing Nirvana in the Shards of Incesticide. Retrieved March 20, 2019.

    Strong, C. (2011). Grunge: Music and Memory. Retrieved March 20, 2019.

    Websites:
    www.genius.com/836354
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in