เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Drops of Jupiterchocr011
[ แปลบทสัมภาษณ์ ] After the Rain : そらる ⅹ まふまふが描く「時間」のファンタジー
  • ช่วงเวลาแห่งความแฟนตาซีที่โซรารุและมาฟุมาฟุได้ร่วมกันวาด


    *ชี้แจงก่อนอ่าน →Q= ผู้สัมภาษณ์ / そ= โซรารุ / ま= มาฟุมาฟุ
    ภาพปก & แปลจาก → http://natalie.mu/music/pp/aftertherain
     

           ขอภูมิใจนำเสนอกลุ่มศิลปินที่ทำเพลงทางอินเตอร์เน็ต และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม  “โซรารุ x มาฟุมาฟุ” โดยพวกเขาได้เริ่มทำเพลงร่วมกันภายใต้ชื่อ After the Rain ซึ่งอัลบั้มแรกของพวกเขา 「Kuro Crest Story」ได้วางแผงเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา


           พวกเขาสนใจทำเพลงตั้งแต่ยุคสมัยที่เว็บไซต์ Nico Nico Douga เริ่มเปิดคอลัมน์ใหม่ 「Utattemita」ขึ้นมา เพลงทั้งหมดในอัลบั้มนี้เกิดจากฝีมือของ “โซรารุ” ผู้ที่เป็นทั้งนักร้อง และ Sound Engineer ที่รับผิดชอบด้าน Mix และ Mastering เพลง ร่วมกับ “มาฟุมาฟุ”  นักร้องผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์รอบด้านที่เป็นทั้งผู้เขียนเนื้อร้อง, เรียบเรียบเสียงประสาน ไปจนถึงการควบคุมเสียง ซึ่งหลายเพลงในอัลบั้มนี้เขาก็เป็นคนเขียนทั้งทำนองและเนื้อร้องเอง ครั้งนี้เราจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวตั้งแต่เบื้องหลังของการทำเพลง จนถึงการก่อตั้งยูนิตของทั้งสองคนนี้ อีกทั้งยังมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการทำอัลบั้มนี้มาฝากทุกท่านด้วย

    >> สัมภาษณ์ & เขียนเรื่องโดย สุโด ฮิคารุ  

    ------------- เริ่มทำเพลงตั้งแต่สมัยเด็กๆ  

    Q:ก่อนอื่นช่วยเล่าเกี่ยวกับ Background ทางดนตรีของพวกคุณให้ฟังหน่อยครับ

    そ:สมัยเด็กได้ฟังเพลงผ่านวิทยุเทปของพ่อครับ พ่อผมจะมีพวกเทปเพลง J-pop ในสมัยนั้น เพลงของ Kiroro ก็มี ผมเริ่มซื้อ CD ครั้งแรกตอน ม.ปลาย แล้วก็จากอิทธิพลของเพื่อน ทำให้ได้ฟังเพลงที่ฮิตกันในสมัยนั้นด้วยครับ

    Q:ช่วยเล่าให้เป็นรูปธรรมกว่านี้หน่อยได้ไหมครับ

    そ:ผมได้ฟังเพลงหลายแนวเลยนะ อย่างเช่นเพลงของ Spitz 、ASIAN KUNG-FU GENERATION、BUMP OF CHICKEN、the pillows แล้วสมัยนั้นเพื่อนที่บ้าดนตรีก็ชอบพกกีต้าร์มาโรงเรียน ที่บ้านผมก็มีกีต้าร์ของพ่ออยู่พอดี เลยชวนกันตั้งวงดนตรี จะเรียกว่าเป็นประสบการณ์ทางดนตรีที่จริงจังกับมันเป็นครั้งแรกได้มั้ยนะ

    ま: ผมนี่ตรงกันข้ามเลยครับ สมัยเด็กเคยเรียนเปียโนด้วย ทุกวันเลยได้ฟังดนตรีหลายแนว ตั้งแต่คลาสสิกไปจนถึง J-pop แทนที่จะพูดว่าชอบติดตามฟังผลงานของศิลปินแบบเจาะจงคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จริงๆ แล้วผมชอบฟังที่ “ตัวเพลง” มากกว่า เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่าทำเพลงออกมาด้วยความเป็นธรรมชาติ มีดนตรีและทำนองเป็นสไตล์ของตัวเอง แล้วก็โทรศัพท์สมัยก่อนเนี่ยมันจะมีฟังก์ชั่นให้ทำเสียงเรียกเข้าอยู่ด้วย ผมเลยขอยืมโทรศัพท์ของญาติมากดสร้างเสียงเรียกเข้าจากเสียงสังเคราะห์ให้เป็นแบบฉบับของตัวเองดูครับ คิดว่าของแบบนั้นจะอยู่ได้จนถึงตอนนี้รึเปล่านะ เพราะทำแบบนั้นเลยได้ฟังเสียงสังเคราะห์ ส่งผลให้ผมไม่ต่อต้านเสียงสังเคราะห์รึเปล่านะ 

    Q:ก็เลยสนใจการทำเพลงโดยใช้ VOCALOID ขึ้นมา? 

    ま:ครับ อย่างดนตรีสดก็จะมีขอบเขตของเสียงในการบรรเลงอยู่ รู้สึกว่ามีความกว้างของเสียงในระดับหนึ่ง แต่ว่าถ้าเป็นเสียงสังเคราะห์ละก็ จะอยู่นอกเหนือทฤษฎี ไม่มีข้อจำกัด ทำให้มันเปล่งเสียงแบบที่เราชอบออกมาได้ ลักษณะเด่นนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าบทเพลง VOCALOID ใน Nico Nico Douga ก็เป็นแบบนี้เช่นกัน เหมือนเป็นเพลงที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น ต่างกับดนตรีที่สร้างขึ้นจากคนจริงๆ ซึ่งขอบเขตในการสร้างจะมีขีดจำกัด ก็เลยสนใจขึ้นมาครับ


    ------------- เพลงแบบนี้คนจริงๆ ร้องไม่ได้แน่นอน 

    Q:แล้วแรงจูงใจที่ทำให้โซรารุซังลงเพลงใน Nico Nico Douga คืออะไรเหรอครับ

    そ:สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเรียนเกี่ยวกับด้าน IT น่ะ ก็มีเพื่อนที่เชี่ยวชาญด้านอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์อยู่มาก ตัวผมเองสมัยเรียนก็ได้ใช้คอมบ่อยๆ ทำให้ได้รู้ว่ามีเว็บไซต์ที่ชื่อ Nico Nico Douga อยู่ด้วย ย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว สมัยที่ Utattemita กับ VOCALOID เริ่มฮิตกัน ที่มหาวิทยาลัยผมก็ยังทำวงดนตรีต่อ ผมชอบร้องเพลงอยู่แล้วนะ แต่ก็มีความคิดที่อยากทำ CD อยากบันทึกเสียงในสตูดิโอเหมือนกับพวกนักดนตรีมืออาชีพน่ะครับ

    Q:จะว่าไปแล้ว เพลงไม่ใช่สิ่งที่มือสมัครเล่นจะทำได้ด้วยตัวคนเดียวสินะครับ

    そ:ครับ แต่พอรู้จักกับเพลง VOCALOID ใน Nico Nico Douga และได้รู้ว่าสามารถทำทั้งหมดนั้นได้ด้วยตัวคนเดียว ก็คิดว่า「ทำแบบนั้นได้ด้วยล่ะ」เพียงแต่ตอนแรกผมยังไม่คุ้นเคยกับโปรแกรมเสียงสังเคราะห์ พอคิดว่าลองทำเพลงโวคัลลอยด์ดูเถอะ ลองร้องดูเถอะ ก็เริ่มสนุกกับการฟังเพลงที่เหล่ามือสมัครเล่นเขาอุตส่าห์ตั้งใจทำขึ้นมาครับ พอฟังเพลงโวคัลลอยด์ หรือแม้แต่เพลงที่เหล่าUtaiteซังร้องบ่อยๆ เข้า ก็รู้สึกว่า「เอ๊ะ? นี่มันเป็นมากกว่าเสียงดนตรีที่ฟังแบบลอยเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาเฉยๆ แล้วนะ มีเพลงเจ๋งๆ อยู่มากมายเลยไม่ใช่เหรอเนี่ย」ผมก็เลยอยากเข้าไปในวงการนั้นดูบ้างครับ

    ま:เพลงเนี่ย เวลาที่คนร้องก็จะมีขีดจำกัด อย่างเช่นร้องเสียงสูงกว่านี้ไม่ได้ ผมได้ฟังเพลงโวคัลลอยด์ที่เผยแพร่ใน Nico Nico Douga เหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาตอนได้ฟังเพลงที่ให้ความรู้สึกว่า「แบบนี้คนจริงๆ ร้องไม่ได้แน่นอน」แต่ถ้าพูดในทางตรงกันข้ามแล้ว โอกาสที่จะได้ฟังเพลงที่ "คนจริงๆ ก็ร้องแบบนี้ไม่ได้"เนี่ย มีแค่ในเว็บนี้เท่านั้นนะครับ ไม่สามารถหาฟังจาก CD ที่อยู่ในกระแสหลักได้ จะเรียกว่านี่เป็นเพลงแนวใหม่เลยก็ได้ครับ

    そ:ตอนที่ผมเริ่มลงเพลงในเว็บ เป็นช่วงที่กระแส VOCALOID กำลังมาแรงเลยครับ เพลงที่ให้โวคัลลอยด์ร้อง ก็มักจะเป็นเพลงที่คนจริงๆ ร้องตามไม่ได้ ร้องเร็วมากบ้างล่ะ ร้องเสียงสูงบ้างล่ะ ยิ่งไปกว่านั้นคนจริงๆ ก็อยากจะท้าทายความสามารถของตัวเอง ทำให้งานคุณภาพสูงๆ ได้ถือกำเนิดขึ้นมา สมัยนั้นเนี่ยไม่ฟังไม่ได้จริงๆ ครับ

    ま:ผมเองก็ลองทำเพลงแบบที่คนจริงๆ ไม่สามารถร้องได้ เกี่ยวกับเพลงที่ทั้งสร้างเองและร้องเองนั้น มากกว่าการได้ร้องเพลงหรือเขียนเนื้อร้อง ก็คือความรู้สึกที่ได้สร้างเพลงขึ้นมาหนึ่งเพลงครับ ผมประกอบทั้งเสียงดนตรีและเนื้อเพลงเข้าด้วยกันให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในหัว โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าจะง่ายหรือยาก จะร้องง่ายหรือร้องยากน่ะครับ


    ------------- ถ้าได้ออก CD ด้วยกันก็น่าสนุกดีไม่ใช่เหรอ 


    Q:ทั้ง 2 คนเริ่มลงเพลงใน Nico Nico Douga แล้ว พวกคุณได้พบกันตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ?

    ま:ได้พบกันครั้งแรกเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วครับ ตอนที่ผมเพิ่งเริ่มกิจกรรมใน Nico Nico Douga ได้ยังไม่ถึง 1 ปี มีการจัดอีเว้นท์กันที่ร้านคาราโอเกะน่ะครับ ปิดร้านทั้งชั้น มีทั้งUtaiteซังและโวคัลลอยด์Pซัง มารวมตัวกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง ผมก็ได้รู้จักกับโซรารุซังที่นั่น แต่ว่าเพราะผมเพิ่งเข้าวงการและโซรารุซังก็มีชื่อเสียงมาก่อนแล้ว ทำให้ไม่ได้ติดต่อกันเป็นพิเศษครับ

    Q:เหมือนกับว่า "คนนี้น่ะเหรอโซรารุซัง"

    ま:เป็นความรู้สึกแบบนั้นล่ะครับ แล้วก็ได้เจอกันที่อีเว้นท์อื่นบ้าง ในระหว่างที่ไปช่วยคนขายของหน้าร้าน ขายงานที่เซอเคิลโดจินของโซรารุซัง ก็ค่อยๆ สนิทสนมกัน โซรารุซังรอบรู้ในเรื่องวงการโดจินมากๆ ผมก็เป็นคนที่อยากออก CD เป็นของตัวเองอยู่แล้ว จึงได้รับการชี้แนะหลายๆอย่างจากเขาครับ

    Q:สมัยก่อนคุณทั้ง 2 คนเคยออกอัลบั้มโดจินมาแล้ว 2 แผ่น คืออัลบั้ม After Rain Quest (ปี2014) และ Prerhythm Arch (ปี2015) ในนามของ “โซรารุ X มาฟุมาฟุ” แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น มีเรื่องราวเป็นมายังไงบ้างครับ

    そ:จะเรียกว่าบังเอิญซ้ำซ้อนหรืออะไรดี ตอนนั้นได้ทำรายการ Nico Nama ร่วมกับคนอื่นๆ แล้วมีมาฟุมาฟุรวมอยู่ด้วยพอดี อีกทั้งได้วางแผนพัฒนา CD ที่ทำร่วมกัน(ที่ทั้งมาฟุมาฟุและผู้สร้างสรรค์ผลงานท่านอื่นๆ ได้ให้การสนับสนุนทำเพลงอัลบั้มในนามของโซรารุที่ชื่อว่า Yuutamari no shiori)ก็ยิ่งสนิทกันมากขึ้น ผมเองก็ชอบบทเพลงของมาฟุมาฟุอยู่แล้วด้วย ตั้งแต่นั้นมาผมก็เริ่มครุ่นคิดว่าถ้าได้ออก CD ร่วมกันก็น่าสนุกดีไม่ใช่เหรอ

    ま:ผมในตอนนั้นก็ออกโดจิน CD แล้ว แต่เพราะว่าทำด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด จึงคิดว่ามีจุดที่ไม่ได้ฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอยู่มาก ถ้าได้ทำร่วมกับโซรารุซังคงสามารถเรียนรู้อะไรได้หลายๆอย่างครับ  


    ------------- เขียนเพลงให้ยากกว่านี้หน่อยสิ   

    Q:หลังจากอัลบั้มโดจิน 2 แผ่นที่กล่าวไปข้างต้น ในฐานะยูนิต “After the Rain” ที่ทำอัลบั้ม Kuro Crest Story เสร็จสมบูรณ์แล้ว อีกนัยหนึ่งของการทำเพลง มีส่วนที่แตกต่างจากผลงานเพลงที่ทำมาก่อนหน้านี้ไหมครับ 

    そ:ไม่มีนะครับ แม้จะมี concept อยู่ แต่เพราะว่าอัลบั้มโดจินที่ออกมาแล้ว 2 แผ่นนั้นให้ความรู้สึกเป็นแนว RPG กับแนวผจญภัย ครั้งนี้จึงคิดว่าทำแนวเดียวกับแบบนั้นเถอะ พูดสั้นๆ ก็คือแนวแฟนตาซีละมั้งครับ

    ま:คำว่า kuro ; クロ ใน「Kuro Crest Story」ก็คือ Clock ; クロック ที่หมายถึงนาฬิกาน่ะครับ ด้านการเขียนเนื้อร้องก็ทำให้เป็นธีมของ「เวลา」อย่างเดียว ผมเขียนเพลงที่มีทัศนคติต่อการเวียนว่ายตายเกิดไว้เยอะ จึงคิดว่าอยากจะหยิบเรื่องราวเพียงหนึ่งเดียวของชีวิตนี้มาเรียบเรียงทำเป็นอัลบั้มจังน้า ถึงจะพูดว่าเป็น concept แนวแฟนตาซี แต่ก็ตั้งใจทำเพลงโดยแฝงความต่างของความหมายตามที่พูดมาข้างต้นครับ ก็กลายเป็นว่าเขียนเนื้อเพลงแนวมืดมนไปซะเยอะ เช่น "ถึงจะยื่นมือออกไปก็เอื้อมไม่ถึง" "ถึงจะต้องการแต่ก็ไม่สมดังปรารถนา" เนื้อเพลงที่สื่อถึงความหมายแบบนั้นน่ะมีเยอะเลย เพราะอะไรกันน้า (หัวเราะ)

    Q:เพลงเปิดของอัลบั้มเพลงแรก 「Ouka ni Tsukiyo to Sode Shigure」 เป็นเพลงที่ตกแต่งด้วยท่วงทำนองสดใสครื้นเครง ฟังแล้วติดหู แต่เนื้อเพลงส่วนใหญ่เศร้าจังเลยนะครับ 

    ま:เพลงนี้เป็นเรื่องราวเหมือนกับว่าตัวเองไปหลงรักคนที่อยู่โลกอื่นน่ะครับ ถ้าให้ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายก็อย่างเช่นคนกับผี เป็นบทเพลงที่มีสมมติฐานของความคิดคำนึงที่ส่งไปไม่ถึง ผมมักจะเขียนเพลงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว อีกทั้งจากประสบการณ์จริง แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ไปหลงรักคนโลกอื่นหรอก แต่ผมเขียนจากการอุปมาของตัวเองน่ะครับ

    Q:เกี่ยวกับการเขียนเนื้อเพลง มีจุดที่ยากลำบากบ้างไหมครับ

    ま:เพลงที่ผมกับโซรารุซังทำน่ะคนละแนวเลยนะ รสนิยมก็ต่างกัน จริงๆ แล้วการให้คุณค่าต่ออะไรบางอย่างก็ไม่เหมือนกันเลยสักนิด เพราะฉะนั้นถ้าผมทำอัลบั้มเดี่ยวละก็ ในบรรดา 16 เพลงทั้งหมดที่ถูกบันทึกเสียงลงในอัลบั้ม「Kuro Crest Story」นี้ คิดว่าคงไม่ใส่บทเพลงเหล่านี้ลงไปเกินครึ่งหรอก คงจะกลายเป็นว่ามีแต่เพลงที่จังหวะรุนแรงดุเดือด หนักไปทางแนว Rock น่ะครับ แต่ว่าตามธีมของอัลบั้มนี้ เพราะโซรารุซังได้พูดไว้ว่าอยากให้เพลงมีความรู้สึกแฟนตาซี และอยากได้เพลงที่มีความแปลกใหม่ ผมก็เลยทำเพลงโดยคำนึงถึงสิ่งนั้นด้วยครับ

    そ:มาฟุมาฟุน่ะเขียนแต่เพลงยากๆ ให้ผม 

    ま:ไม่นะ โซรารุซังเคยพูดไว้ว่า "เขียนเพลงให้ยากกว่านี้หน่อยสิ" นี่นา

    そ: อืม..ก็เป็นแบบนั้นล่ะนะ ไม่ใช่ว่าจะต้องทำให้อยู่ในขอบเขตที่คนสามารถร้องได้ ผมคิดว่าการร้องเพลงที่เผยให้เห็นว่าสามารถสร้างเมโลดี้ได้อย่างอิสระนั้น ถือเป็นการทำลายขีดจำกัดของบทเพลงเลยไม่ใช่เหรอ ทิ้งสไตล์แบบคนที่เพิ่งออกมาจากดินแดนโวคัลลอยด์ไปซะ แล้วสร้างเพลงที่เป็นมากกว่าการผสมผสานความเป็น Pop แบบเดิมๆ เปิดทัศนคติออกให้กว้างๆ ผมคิดว่าการแสดงออกถึงการร้องเพลงอย่างไม่ต้องฝืนนั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับพวกเราครับ

    Q:หมายความว่าถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อยูนิตไปแล้ว แต่ก็จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงวิธีการสินะครับ

    ま:ไม่เปลี่ยนครับ

    そ:จะสร้างผลงานให้เจ๋งกว่าเดิม เพียงเท่านั้นครับ 


    ------------- เสียงสูงมากจนตอนแรกคิดว่าเป็น Harmonic 

    Q:เพลง Sekaishikku ni Shounen Shoujo และ Insomnia ที่ถูกบันทึกเสียงไว้ในอัลบั้ม Prerhythm Arch เป็นเพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นเพลง Insomnia ที่มีแค่เสียงดนตรีอย่างเดียวในตอนแรก พอมาอัลบั้มนี้ (Kuro Crest Story) กลับใส่เสียงร้องเข้าไปด้วย ทำแบบนี้มีเจตนาอะไรหรือเปล่าครับ?

    ま:พวกเราทั้ง 2 คนได้ปรึกษากันและตัดสินใจเรื่องนี้แล้วครับ แต่...พวกผมน่ะทำอัลบั้มทำมือมาโดยตลอด เพราะว่าเป็นคนที่อยากส่งมอบบทเพลงให้ผู้ฟังโดยตรง โดยที่ผู้ฟังสามารถมาพบเจอกันได้คล้ายเพื่อนสนิทมิตรสหาย ก็เลยไม่อยากทำลายจุดยืนตรงนั้นครับ ไม่มีความตั้งใจที่จะเลิกทำโดจินด้วย ในตอนนั้นทำ 2 เพลงนี้เสร็จพอดี ก็เลยอยากพูดว่าทำอัลบั้มนี้เสร็จสมบูรณ์แล้วนะ เพราะจนถึงตอนนี้การที่มีหลายๆ ท่านได้ให้ความกรุณาฟังเพลงของพวกเรานั้น ถือว่าเป็นการเติบโตของพวกเราด้วยครับ

    そ:เพราะว่า Insomnia เป็นเพลงที่เสร็จสมบูรณ์ในแบบ Instrumental ตั้งแต่แรก จะเรียกว่าไม่มีช่องว่างหรืออะไรดี ถ้าทำไปทั้งๆ อย่างนั้นจะทำให้เพลงไม่เข้าจังหวะกัน สุดท้ายแล้วถึงจะเปลี่ยนจังหวะ ท่วงทำนองของเพลง หรือวิธีการร้อง โดยแก้ไขกันไปค่อนข้างมาก พอครั้งหนึ่งตกลงกับตัวเองว่าจะเอาแบบนี้แหละ! แต่ในฐานะที่เป็นเพลงนี้ การใส่เสียงร้องเข้าไปอีกครั้งโดยให้เสียงร้องเข้ากับท่วงทำนอง เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก โดยเฉพาะการ Mix เพลงนี่ยากเป็นพิเศษเลยครับ ทำกี่รอบก็ไม่ดีขึ้นมาเลย...

    Q:นอกจากนี้ มีเพลงที่ร้องยากบ้างมั้ย อย่างตอนแรกพวกคุณเคยพูดไว้ว่า "เพลงยากมีเยอะ" 

    そ:เพลง Never Ending Reverse กับ I Sleep Well ครับที่ยากเป็นพิเศษ แล้วก็เพลง Machibouke no Kanata ที่ผมเพิ่งอัพลง Nico Nico Douga ก็หนักหนาสาหัสเหมือนกันครับ  

    ま:เพลง Machibouke no Kanata นี่ไม่สามารถร้องได้อย่างราบรื่นหรอกเหรอครับ ?

    Q:ครี่งหลังของเพลง มีช่วง High Tone (ร้องเสียงสูง) กับ Long Tone (ร้องเสียงลากยาว) อยู่มากเลยเนอะ 

    ま:เขาร้องเพลงแบบนั้นได้ดีเลยนะครับ

    そ:ตอนที่เห็นโน้ตเพลงครั้งแรก คิดว่าคีย์ข้างบนคือ Harmonic น่ะ ถึงกับอุทานว่า “จะร้องคีย์ไหนดีเนี่ย?” (หัวเราะ)

    ま: ผมก็บอกไปแล้วว่า “นั่นมันเป็น Melodic” (หัวเราะ)★
       
    *หมายเหตุ : เราลองค้นใน google พบคำอธิบายที่คุณ Jirawat Koatsombat ได้กล่าวไว้ว่า ขั้นคู่เสียง สามารถบันทึกได้ 2 รูปแบบ คือแบบฮาร์โมนิก และแบบเมโลดิก 
    1. แบบฮาร์โมนิก (Harmonic Interval) : โน้ตทั้ง 2 ตัวจะบันทึกซ้อนกันพอดี เวลาบรรเลงก็จะต้องเล่นโน้ตทั้ง 2 ตัวนั้นให้เกิดเสียงดังพร้อมกันด้วย  
    2. แบบเมโลดิก (Melodic Interval) : โน้ตทั้ง 2 ตัวจะบันทึกเหลื่อมกัน เวลาบรรเลงก็จะต้องเล่นโน้ตครั้งละ 1 ตัวแยกออกจากกัน ตามลำดับการบันทึก ขั้นคู่แบบเมโลดิกมีทั้งแบบขาขึ้นและขาลง 
    • อ้างอิงจาก → https://sites.google.com/site/mrjisclassroom/thvsdi-not-khan-phun-than/-intervals/--harmonic-melodic 


    ★ หมายเหตุ2 : ประโยคนี้ภาษาญี่ปุ่นคือ 「それがメロです」って(笑)ตอนแรกงงกับคำว่าメロ ที่มาฟุพูด ว่าเป็นคำย่อของอะไรกันแน่ 
    • อาจเป็นคำย่อของメロドラマ(Melodrama) ถ้านำมาใช้กับแนวเพลง คงหมายถึงเพลงที่บีบคั้นสะเทือนอารมณ์เกินจริง โน้มนำให้ผู้ฟังอินไปตามเพลง 
    • หรืออาจจะหมายถึงメロที่เป็นคำย่อของメロディックデスメタル (Melodic Death Metal ; แนวเพลงชนิดหนึ่ง) 
    • ดังนั้น ถ้าแปลตามความหมายนี้จะได้ว่า「ผมก็บอกไปแล้วว่า “นั่นมันเป็นเพลงแนวเมโลฯ” (หัวเราะ)」แต่ที่เราแปล メロ ว่า Melodic เพราะคิดว่า それ ในประโยคนี้น่าจะพูดถึง上のキー ที่โซรารุเห็นในโน้ตเพลงมากกว่า ไม่ใช่ それ ที่หมายถึงตัวเพลงน่ะค่ะ งงมั้ยคะ ;w; ถ้าเราเข้าใจผิดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคะ m(_ _)m



    そ:แต่ว่า ถ้าเป็นผมเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนที่พวกเราจะทำอัลบั้มกัน 2 คน ถ้าไม่ลดคีย์ให้ต่ำลงมากว่านั้นสัก 3 หรือ 4 คีย์ ผมไม่มีทางร้องได้แน่นอนอ่ะ เพราะฉะนั้นเลยคิดว่าพัฒนาขึ้นนิดนึงหรือเปล่านะ ผลที่ออกมาก็ร้องได้เป็นที่น่าพอใจอยู่หรอก แต่ถึงยังไงเพลงของมาฟุมาฟุน่ะ ผมก็เกือบจะร้องหลุดไลน์โน้ตเพลงไปตั้งหลายครั้ง 

    ま:ร้องออกมาได้ดีมากๆ เลยครับ ผมคิดว่าดีจริงๆ น้า ที่ได้ทำเพลง Machibouke no Kanata ร่วมกัน 2 คน


    ------------- ผมขอทำ Instrumental ให้ได้ไหมครับ

    (* Instrumental = เพลงที่มีแต่เสียงดนตรี ไม่มีเสียงร้อง) 

    Q:เปรียบเทียบกับผลงานที่ผ่านมา อัลบั้ม 2 แผ่นก่อนหน้านี้ได้จัดเรียงเพลงที่อยู่ในลำดับ เพลงแรก เพลงตรงกลาง และเพลงก่อนสุดท้ายให้เป็นเพลง Instrumental แต่ว่าอัลบั้มนี้เพลงแรกเป็นเพลงที่มีเสียงร้องอยู่ด้วย ในขณะที่เพลงตรงกลางและเพลงก่อนสุดท้าย ยังคงเป็นเพลง Instrumental อยู่ การจัดเรียงเพลงแบบนี้ยึดติดกับอะไรหรือเปล่าครับ?

    ま:เป็นความเอาแต่ใจของผมเองครับ เคยปรึกษากันหลายครั้งว่า “ผมขอทำเพลง Instrumental ให้ได้ไหม” ถึงโซรารุซังจะบอกว่าไม่มีก็ไม่เห็นจะเป็นไร แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากจะใส่มันลงไปในอัลบั้มด้วยครับ 

    そ:ทำไมถึงได้พูดจาเหยียดหยามตัวเองแบบนั้นล่ะ (หัวเราะ)

    ま:สมมุติว่าจากเพลงในอัลบั้มทั้งหมดที่มี 16 เพลง ตัดไปเป็นเพลง Instrumental ซะ 2 เพลง ถ้าฟังตั้งแต่เพลงที่ 1 ไปจนถึงเพลงที่ 14 ซึ่งมีแต่เพลงจังหวะหนักหน่วงที่ใช้พลังงานในการเล่นเยอะละก็ จะรู้สึกเหนื่อยเอาได้ เพราะผมคิดว่าการฟังไปแบบเพลงต่อเพลงต่างก็เข้มข้น และมุมมองที่มีต่อเพลงของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันด้วยน่ะครับ 

    Q:อย่างนี้นี่เอง

    ま:แต่ในทางตรงกันข้าม การลดทอนเป็นบทบาทของเพลงแบบ Instrumental ระหว่างที่ฟังนั้นก็ร้อยเรียงเรื่องราวไปด้วย ถึงจะไม่มีเสียงร้อง มีแต่เมโลดี้และเสียงเครื่องดนตรี ก็ทำให้เกิดมุมมองที่มีต่อเพลงนั้น และปรากฏเป็นภาพที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมา หรือจะพูดยังไงดี ถ้าไม่มีเสียงคนร้องคงจะดีกว่า ผมคิดว่ามันทำให้สื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นออกมาได้ง่ายดี อย่างเช่น เพลงสุดท้ายในอัลบั้มอย่าง I Sleep Well มีธีมเพลงเกี่ยวกับ “การนอนหลับ” แต่ว่าได้นำอิมเมจที่เป็นแนวทางใหม่มาใช้ โดยใส่เพลง Aster* ที่เป็นInstrumental ฉบับเปียโนลงไปในอัลบั้ม ซึ่ง Aster ก็คือดอกแอสเตอร์ ภาษาดอกไม้ของดอกแอสเตอร์ก็คือ “จะไม่ลืมเธอ” ทีนี้เนื้อเพลง I Sleep Well เริ่มจากจุดที่ได้สูญเสียคนสำคัญไปแล้วน่ะครับ สรุปก็คือ “เพื่อที่จะได้ไม่ลืมเธอ ไม่ว่ากี่ครั้งก็จะไปพบเธอในความฝัน” *หมายเหตุ : ในอัลบั้มนี้ เพลง Aster (เพลงลำดับที่15) ถูกจัดเรียงให้อยู่ก่อนหน้าเพลง I Sleep Well (เพลงลำดับที่16)  

    Q:มีการร้อยเรียงเป็นเรื่องราวอย่างนี้นี่เอง แล้วเพลง Spica ที่เป็นอีกหนึ่ง Instrumental ก็ได้แทรกอยู่ในลำดับเพลงตรงกลางของอัลบั้ม รู้สึกเหมือนมีการแยกบันทึกเสียงเป็นหน้า A กับหน้า B เลยครับ 

    ま: หลายๆ เพลงในอัลบั้ม รวมทั้งเพลง Spica ที่ได้ปล่อยออกมานั้นขาด Phrase ของเพลง และ มีทำนองดนตรีที่ไม่เสถียร* แต่ว่ามันก็ทำให้ไม่รู้สึกถึงคีย์หลักที่สำคัญในเสียงดนตรี หรือแม้แต่พวกเทคนิคบันไดโน้ตเสียง 12 ตัวอะไรแบบนี้น่ะครับ อย่างเช่นถ้าเป็นหนังก็อยากใส่เสียงที่เหมือนจะไล่บันไดโน้ตเสียงในตอนที่เหมือนมีอะไรไม่ชัดเจนจะโผล่ออกมาน่ะครับ


    *หมายเหตุ : คุณ puntaiji ได้กล่าวถึงลักษณะเสถียร และไม่เสถียรของเพลงไว้ ดังนี้ค่ะ 
    1. Stable หรือ เสถียร เป็นลักษณะของส่วนประกอบของเพลงที่ฟังแล้ว"จบ" ฟังแล้ว"ฟิน" ฟังแล้วรู้สึก"สมบูรณ์" ไม่ต้องมีอะไรต่อ ลักษณะเสถียรนี้เหมาะกับเนื้อหาเพลงที่เป็น"ข้อมูล" "ความจริง" หรือเนื้อหาที่สื่อถึงอารมณ์น้อย หรือท่อนที่ฟังแล้วจบสมบูรณ์ เช่น ท่อนจบของเพลงที่ให้ความรู้สึกจบ เป็นต้น 
    2. Unstable หรือ ไม่เสถียร เป็นลักษณะของส่วนประกอบที่ฟังแล้ว "ไม่จบ" "ไม่สมบูรณ์" "ต้องมีต่อ"..."ให้ความรู้สึกเคลื่อนที่ไปข้างหน้า" "ค้างคา" ลักษณะไม่เสถียรนี้ เหมาะกับเนื้อหาที่สื่อถึง "อารมณ์"เยอะ มีการ "พัฒนา" ของเนื้อหา มีการ "เคลื่อนที่ไปข้างหน้า" ต้องมีท่อนต่อ เช่น ท่อนส่งหรือ bridge ที่ไม่เสถียรฟังแล้วต้องมีต่อ ต้องส่งไปท่อน Chorus เป็นต้น 
    • ซึ่งความเสถียร และไม่เสถียรนั้น ก็ไม่ใช่ว่าต้องแบ่งสองอย่างชัดเจน แต่มีระดับมากน้อยได้ เช่น "ไม่เสถียรมาก" "ไม่เสถียรน้อย" และในหนึ่งเพลงสามารถใส่ "เสถียร" และ "ไม่เสถียร" ผสมกันได้ เพื่อสร้าง ไดนามิก ความเปลี่ยนแปลงในเพลงนั่นเอง 
    • อ้างอิงจาก → http://puntaiji.blogspot.com/2014/04/song-writing-6.html  


    Q:เป็นเทคนิคของเพลงในสมัยปัจจุบันสินะครับ 

    ま:อย่างที่ได้พูดไปแล้ว ผมลองจินตนาการถึงความรู้สึกจากสิ่งที่ได้ยินครับ อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเพลง Spica ที่ติดมาอยู่ในอัลบั้มนี้อย่างไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจริงๆ แล้วผมเคยมีความตั้งใจว่าจะตัดทิ้งไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่เพราะว่าเพลงต่อมาก็คือ Sekaishikku ni Shounen Shoujo เป็นเพลงที่ในตอนแรกเริ่มจากคาแรกเตอร์ RPG กำลังแสดง Live ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาทีหลัง ก็เลยเหมือนได้รับการรีเซ็ตจากก่อนหน้านี้ครับ 


    ------------- ภาพนูนออกมาจากกล่องอัลบั้มด้วยล่ะ! 

    Q:ตอนนี้ ทางทีมงานได้เตรียมอัลบั้ม「Kuro Crest Story」ที่ทำเสร็จสดๆร้อนๆมาด้วย ทั้งแผ่น Limited ชุดA กับชุดB และแผ่นธรรมดา Artwork ของอัลบั้มก็ประณีตสวยงามจังเลยนะครับ 

    そ:เกี่ยวกับ Artwork นั้น มี“นาฬิกา”เป็นแรงจูงใจครับ ชุด A จะเป็นนาฬิการสวยๆ แบบเงางามวิบวับ แต่นาฬิกาของชุด B จะเก่าๆ หน่อย พอตัดสินใจกันได้แล้วว่าจะเอาแรงจูงใจแบบนั้น ก็ไปเจรจากับ M.Bซัง ผู้ที่กรุณาวาดปกอัลบั้มให้ครับ M.Bซังก็ได้เตรียมตั้งแต่ขั้นตอนของภาพร่างแบบคร่าวๆ ดีไซน์ข้างนอกกล่อง เตรียมมาให้ตั้งหลายแบบเลยครับ จากนั้นผมก็ปรึกษากับมาฟุมาฟุไปพลางๆ รู้สึกว่าได้พูดคุยกันถึงรายละเอียดอย่างค่อยเป็นค่อยไปครับ

    ま:(เปิด package ของ CD) สุดยอด! ผมไม่เคยใช้กล่องอัลบั้มเป็นพลาสติกที่แข็งแรงทนทานขนาดนี้มาก่อนเลยอ่ะ 

    そ:(ระหว่างที่จับกล่องอัลบั้มพลาสติก) จริงๆ ด้วย! ภาพนูนออกมาจากกล่องอัลบั้มด้วยล่ะ! ま:ให้สัมผัสที่ดีต่อมือจังเลยเนอะ

    Q:ตั้งแต่สมัยที่ทำโดจิน มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ก็คือคุณภาพของกล่องพลาสติกสินะ (หัวเราะ)

    そ:ใช้กล่องแบบนี้ดีจริงๆนะครับ กระดาษ Booklet ก็ต้องราคาแพงแน่ๆ เลย 

    ま:ของแบบนี้ผมไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวแน่ๆ ครับ ทั้งอิลัสทั้งดีไซน์สุดยอดมากๆ เป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือจากหลายท่านแท้ๆ เลยครับ


    ------------- ถึงจะเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าทำได้ก็คงดี

    Q:ตัวผมเองก็รู้สึกว่าการทำ CD ขึ้นมานั้นแตกต่างจากการดูเฉยๆ เหมือนกันครับ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทาง Ongaku Natalie (ชื่อคอลัมน์หนึ่งของเว็บไซต์นี้) ได้รายงานข่าวการแสดง Live ของพวกคุณ แล้วได้รับผลตอบรับที่ดีมาก หลังจากทัวร์นั้นจบแล้ว มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง

    • *หมายเหตุ : อ้างอิงจากข่าวหัวข้อ「そらる&まふまふ、ソロありコスプレありのツアー大盛況」ในเว็บไซต์นี้ → http://natalie.mu/music/news/171653 

    そ:ได้รับการตอบรับดีมากครับ จนถึงตอนนี้ได้แสดง Live บ้าง ได้ร้องเดี่ยวบ้างคละเคล้ากันไป เคยเข้าร่วมแสดง Live Event ต่างๆ มากมาย แต่ว่าก่อนแสดง Live กับหลังจากที่แสดงจบแล้ว ก็ไม่ได้มีความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่พอได้มาแสดง Live Tour กับมาฟุมาฟุ 2 คนแล้ว ได้เห็นผลตอบรับของแฟนคลับด้วยตาตัวเอง อย่างเช่นยอดจำนวนการเข้าชมวิดีโอที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นประสบการณ์พิเศษที่แตกต่างออกไป เพราะเล่นดนตรีมาหลายปีแล้วก็เพิ่งเคยพบเจอแบบนี้ ทำให้แปลกใจมากเลยครับ แน่นอนว่าการแสดง Live Tour กัน 2 คนก็เป็นครั้งแรกด้วย ผมมองเห็นจุดผิดพลาดที่ต้องแก้ไขเยอะมาก แต่ว่าถึงอย่างนั้นก็ได้รู้ซึ้งถึงการที่หลายๆ ท่านได้ให้การต้อนรับผมด้วยความยินดีครับ

    ま:ผมน่ะ ถ้าให้พูดตามจริงแล้ว ไม่ใช่คนประเภทที่อยากปรากฏตัวต่อหน้าผู้คนสักเท่าไหร่... ตอนแรกที่โซรารุซังมาพูดคุยเรื่อง Live Tour ด้วย ผมพูดออกไปว่า “เรื่องนั้นน่ะขอเถอะครับ ถ้าเป็นเรื่องอื่นละก็ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรผมทำได้หมดเลย แค่ Live เท่านั้นแหละที่ไม่อยากทำ” ไม่ใช่ว่าจะให้ผมออกไปร้องเพลงต่อหน้าทุกคนหรอก แค่คิดว่าอยากสร้างผลงานให้ถึงที่สุดเท่านั้นเอง ในความเป็นจริงพอตัดสินใจว่าจะทำแบบนั้นแล้ว ก็ซ้อมหนักมากจนไข้ขึ้นประมาณ 39 องศา จนพูดออกมาว่า “ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวไม่ไหวไม่ไหว!”

    Q:แต่ว่า ก็ทำเพลงยากๆ ได้ด้วยตัวเองนี่นา 

    ま:นั่นสิครับ แต่ว่าพอถึงเวลาที่ต้องทำและได้ลองทำดูแล้ว ท้องฟ้าอันว่างเปล่าที่ตัวเองไม่ได้จินตนาการไว้เลย ก็เปิดกว้างขึ้น ผมคิดว่าประสบการณ์ใหม่นั้นจะกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อกิจกรรมในอนาคตอย่างแน่นอน อีกทั้งยังได้รับแรงกระตุ้นด้วย เพราะฉะนั้นจากผลลัพธ์ที่ได้ คิดว่าดีจริงๆ น้าที่ได้ทำมัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังกลัวอยู่ดีครับ

    そ:ผมเองก็มักจะต่อสู้กับความคิดที่กลัวการแสดง Live ไปพร้อมๆ กับการท้าทายมันไปด้วย

    Q:เป็นอย่างนั้นเองหรอกเหรอครับ

    そ:เป็นสิ่งที่กลัวมากๆ เลยครับ แต่ว่าหลังจากที่ทำเสร็จแล้ว ก็ไม่มีความคิดที่ว่า “ถ้าไม่ทำคงจะดีกว่า” เลยนะ คิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อตัวผมเองรึเปล่านะ

    Q:“เป็นสิ่งจำเป็นต่อตัวเอง”นี่ หมายความว่ายังไงครับ? 

    そ:ก่อนอื่น สิ่งหนึ่งคืออยากจะแสดง Live ได้ตามที่คิดไว้ ถึงจะเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าทำได้ก็คงดี , ไม่ตื่นเต้นหรือประหม่า จะได้ไม่ต้องคิดว่า “ไม่อยากแสดง Live เลย” และค่อยๆ ออกมาร้องเพลงต่อหน้าผู้คนอย่างเท่ๆ คงจะดีกว่าครับ

    ま:อืม นั่นสิน้า

    そ:แต่ว่า สิ่งนั้นน่ะถ้าไม่ลงมือทำก็ไม่มีทางทำได้หรอก ถึงแม้จะลงมือทำไปแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ก็จริง ในทางตรงกันข้าม จะเอาแต่หนี ไม่ลงมือทำก็ได้นะ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดหรอก แต่บางทีถ้าพวกเราลงมือทำคงจะดีกว่า การแสดงครั้งต่อไปที่ Ryogoku Kokugikan (ชื่อฮอลล์จัดคอนเสิร์ตที่โตเกียว) คงจะประหม่าแล้วก็คิดว่ากลัวจังเลยนะ แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากจะก้าวผ่านมันไปให้ได้ครับ



    (END)   

    ปล. จบแล้วค่ะ ขอขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ หากมีจุดใดที่เราแปลผิดพลาด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ และอย่าได้เกรงใจที่จะชี้แนะหากพบจุดที่แปลผิดนะคะ เพื่อที่เราจะได้นำข้อชี้แนะไปปรับปรุงการแปลครั้งต่อไป ขอขอบคุณผู้ให้คำปรึกษาในการแปลทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ^w^)/ 

    ปล.2 เนื่องจากเราไม่มีความรู้ทางทฤษฎีดนตรีอยู่เลย จึงทำได้เพียงหาข้อมูลและพยายามทำความเข้าใจด้วยตนเองเท่านั้น หากมีจุดไหนในบทสัมภาษณ์ที่เข้าใจผิดไป สามารถท้วงติงได้เลยนะคะ 

    m(_ _)m 

    ----------------------------------------------------------------------

    < แก้ไขที่ตัวเองแปล > 31/08/2559 -- 22:34
    (1)  สวัสดีค่ะ หลังจากที่แปลไปเมื่อวาน สิ่งที่ยังสงสัยว่าตัวเองแปลถูกหรือไม่ก็คือช่วงนี้ค่ะ 
    ที่ในบทสัมภาษณ์พูดเกริ่นหัวข้อไว้ว่า キーが高すぎて、最初はハモリかと思った 
    × ตอนแรกเราแปลว่า --->  เสียงสูงมากจนตอนแรกคิดว่าเป็น Harmonic 
    ○ จริงๆ ที่ถูกต้องคือ --->★ "คีย์สูงมากจนตอนแรกคิดว่าเป็นการร้องประสานเสียงรึเปล่าน่ะ"★ 

    (2)  ประโยคต่อไปในตอนเดียวกัน そらる:最初に譜面を見たとき、上のキーはハモリだと思ってたので、「どこ歌えばいいの?」って(笑)。
    × ตอนแรกเราแปลว่า --->  โซรารุ : ตอนที่เห็นโน้ตเพลงครั้งแรก คิดว่าคีย์ข้างบนคือ Harmonic น่ะ ถึงกับอุทานว่า “จะร้องคีย์ไหนดีเนี่ย?” (หัวเราะ) 
    ○ จริงๆ ที่ถูกต้องคือ --->★  โซรารุ : ตอนที่เห็นโน้ตเพลงครั้งแรก เพราะคิดว่าคีย์ข้างบนคือ
    ร้องประสานเสียงน่ะ ถึงกับอุทานว่า “จะร้องตรงไหนดีเนี่ย?” (หัวเราะ) ★

    (3)  ประโยคต่อไปที่มาฟุพูดตอบโซรารุ まふまふ:「それがメロです」って(笑)。
    × ตอนแรกเราแปลว่า ---> มาฟุมาฟุ : ผมก็บอกไปแล้วว่า “นั่นมันเป็น Melodic” (หัวเราะ) 
    ○ จริงๆ ที่ถูกต้องคือ --->★ มาฟุมาฟุ : ผมก็บอกไปแล้วว่า “นั่นมันเป็นเมโลดี้” (หัวเราะ)★

    // ขออภัยที่แปลผิดนะคะ เดี๋ยวไว้จะอธิบายเพิ่มเติมส่วนที่เราไปสอบถามแฟนคลับอีกท่านหนึ่งมา จนเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า メロ ในประโยคที่มาฟุพูดค่ะ >w< 

    -----------------------------------------------------------------------------

    < อธิบายเพิ่มเติม >
    ทีนี้พอเราสงสัยมากๆ ว่าความหมายของ メロ ในประโยคที่มาฟุพูด เราต้องแปลผิดแน่ๆ 
    ลองหาใน google อ่านดูแล้วก็ยังไม่เข้าใจ จึงตัดสินใจไปถามแฟนคลับท่านหนึ่งที่ชื่อว่า briaซัง
    (เห็นเขาแปลสเตตัสอุไตเตะซังลงทวิตตัวเองจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ ก็เลยมั่นใจว่าเขาต้องรู้)  

    นี่คือข้อความที่เราส่งไปถามเขาค่ะ ↓
    --------------------------------------------
    briaさんこんにちは!(^o^) 
    突然ですが、昨日After the Rainの音楽ナタリーの面接を読んだあと分からないところがあります。まふまふさんが言った文です→「それがメロです」って(笑) 。「メロ」の意味が気になります。私メロはmelodic だと思いますが、ネットで調べると「メロ」の意味がたくさんある。例えば、「メロドラマ」とか「メロディックデスメタル」とか...もしbriaさんはこの「メロ」の意味を分かったら、説明して下さると助かります。お願いたします。 

    - K (タイ人のATRファン) - 
    /日本語下手過ぎてすみません(ToT) 

    --------------------------------------------
    แปลไทยคำถามของเรา : 

    briaซัง สวัสดียามบ่ายค่ะ!(^o^)
    อาจจะกะทันหันไปสักหน่อย แต่เมื่อวานฉันได้อ่านสัมภาษณ์ของ After the Rain ใน Ongaku Natalie แล้วมีจุดที่ไม่เข้าใจอยู่ค่ะ สงสัยในความหมายของ「メロ」จากประโยคที่มาฟุมาฟุได้พูดไว้ว่า 「それがメロです」って(笑) 。ฉันคิดว่าメロ คือ melodic แต่ลองค้นในเน็ตดูแล้วพบความหมายของメロมากมาย อย่างเช่น Melodrama หรือ Melodic Death Metal ถ้าหากว่า briaซังรู้ความหมายของメロละก็ ถ้าช่วยอธิบายให้ฟังจะช่วยได้มากเลยค่ะ ขอความกรุณาด้วยนะคะ 

    -K แฟนคลับATRคนไทย-
    ภาษาญี่ปุ่นกากเกิน ต้องขอโทษด้วยนะคะ(ToT)


    --------------------------------------------
    briaซังผู้ใจดีได้ตอบกลับมาว่า ↓ 
    わざわざリプライ来てありがとうございました! 読んでみったら、こっちの「メロ」は Melodyかもしれないです。 srrさんは「どこが歌えばいいの?」って言ってたから、
    mfくんのリプライは「それが(A Melody/B Melody)」の可能性はある (続く) 

    こっちの「メロ」は melodramaならsrrさん前の話しましたのは「どこ」じゃないって、「何の感じ」です。 だから、インタビューの「メロ」は Melodyと思う。 説明は雑感ならすいませんです!>でも日本語はすごく上手ってびっくりしましたよ!
    --------------------------------------------
    แปลไทยที่ briaซังตอบกลับมา :
    ขอบคุณที่ถามเข้ามานะคะ ลองอ่านดูแล้ว ความหมายของメロนี้อาจจะเป็น Melody ค่ะ
    เพราะโซรารุซังได้พูดไว้ว่า 「どこが歌えばいいの?;จะร้องตรงไหนดีเนี่ย」ประโยคตอบกลับ
    ของมาฟุคุงจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น「それが (A Melody/ B Melody) ; นั่นคือเมโลดี้A /เมโลดี้B」
    (มีต่อ)
    ถ้าメロนี้หมายถึง melodrama แล้วละก็ ประโยคที่โซรารุซังพูดก่อนหน้านี้จะไม่ใช่「どこ ; (ร้อง)
    ตรงไหน」 แต่เป็น「何の感じ ; (ร้องด้วย)ความรู้สึกแบบไหน」ค่ะ เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าメロ ใน
    บทสัมภาษณ์ก็คือ Melody นั่นเอง ถ้าอธิบายเข้าใจยากก็ต้องขอโทษด้วยนะคะ แต่ว่าเก่งภาษาญี่ปุ่นมากจนตกใจเลยนะคะเนี่ย! 

    --------------------------------------------
    ปล. อธิบายจบแล้วค่ะ โดนชมด้วย แต่เขาคงชมตามมารยาท 555  

    เม้าต่ออีกนิด คือจริงๆ ก่อนหน้านี้รุ่นน้องคนที่สนิทก็เคยบอกว่า "เมโล" ย่อมาจากเมโลดี้รึเปล่าพี่ แต่เราไม่เชื่อเอง เลยลองไปหาความหมายเต็มๆ ของคำว่าเมโล เจอเยอะมากค่ะ เจอแม้กระทั้งชื่อคาร์แรกเตอร์เมโลใน Death Note 555 ก็เลยหลงคิดไปว่าความหมายจริงต้องยาวกว่าคำว่าเมโลดี้แน่ๆ TwT 

    พออ่านที่ Briaซังอธิบายจึงได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า สิ่งที่โซรารุซังเห็นในโน้ตเพลงน่ะ จะต้องมีทั้งเมโลดี้A กับเมโลดี้B อยู่ในนั้น โซรารุซังเห็นปุ๊บเลยคิดว่ามาฟุต้องให้ร้องเสียงประสานแน่เลย ก็เลยตกใจว่าตัวเองจะร้องตรงไหนดี คีย์ถึงจะเข้ากับตัวเอง จะร้องตรงA หรือB ดีนะ  --- แต่มาฟุก็ปฏิเสธว่า ไม่ใช่นะ ผมก็บอกไปแล้วว่านั่นมันเป็นเมโลดี้  ก็คือมีแค่(A)ท่อนเมโลดี้ กับ(B)ท่อนที่โซรารุซังต้องร้องต่างหาก ไม่ใช่ว่าจะให้ร้องประสานเสียงกับผม

    พอลองจินตนาการเหตุการณ์ที่เขาพูดก็น่ารักดีนะคะ โซรารุซังก็เคยมีช่วงเวลากังวลว่าจะร้องขึ้นเสียงสูงไม่ได้เหมือนกันนะเนี่ย555 (แซว)   ที่เราเข้าใจจากที่ briaซังได้อธิบายไว้ก็มีประมาณนี้ค่ะ >w<  
    /จบ


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Thanita Laoaroon (@fb2116928278636)
ขอบคุณที่แปลให้อ่านนะคะ ทางนี้ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ทั้งยังดำน้ำอังกฤษมากๆ เวลาจะติดตามบทสัมภาษน์หรืออีเว้นทืต่างของ Utaite ทั้งหลายแล้วรู้สึกทางมืดและแคบมาก เพราะกำแพงภาษาหรือเปล่านะที่มาบังเอาไว้?(หัวเราะ)
Thanita Laoaroon (@fb2116928278636)
@fb2116928278636 *อีเว้นท์ต่างๆ
Chompoonut Uppatham (@fb1936673096656)
แปลเก่งมากเลยค่ะ//พึ่งอ่านจบตะกี้