เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ออกแบบ | ความหมายlightweight
ออกแบบ | ความหมาย


  • คำนำ

    ความหมายมีความหมายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจต่อความหมาย ความเข้าใจต่อความหมายก็ขึ้นอยู่กับการทําความเข้าใจความหมายด้วยตามลําดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับผู้ที่ทํางานด้านการสื่อสาร ที่หน้าที่หลักยึดโยงกับสิ่งที่เรียกว่าความหมายแล้วนั้น การทําความเข้าใจความหมาย การทําความเข้าใจต่อกระบวนการสร้างความหมาย รวมไปถึง “วิถีชีวิต” ของความหมาย ย่อมเป็นสิ่งสําคัญยิ่ง

    เป้าหมายของผู้เขียนต่อการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมานั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ส่วนตัวตลอดยี่สิบปีของการทํางานในสถานะของนักออกแบบ ผ่านตัวงานการศึกษาและเรียนรู้เชิงโครงสร้างนิยม (structuralism) และสัญศาสตร์ (semiotics) ของผู้เขียนเอง โดยที่ “รู้เท่าทันกับความหมาย” คือจุดประสงค์หลักมากกว่าการบอกถึงวิธีการออกแบบสิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

    การรู้เท่าทันความหมายนั้นย่อมส่งผลถึงความละเอียดรอบคอบของการออกแบบต่างๆ ของนักออกแบบ เพื่อลดช่องว่างของโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารอันเป็นจุดประสงค์ของการออกแบบลงได้

    และการที่จะรู้เท่าทันความหมายได้นั้นก็ต้องทําความเข้าใจกันก่อนว่าความหมายต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร เกี่ยวข้องกับอะไรอย่างไร ฯลฯ ซึ่งผู้เขียนพยายามที่จะแสดงให้เห็นลักษณะต่างๆ เหล่านี้ของความหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยแยกออกเป็นสิบบทย่อย และประกอบกันเป็นเนื้อหาหนึ่งเรื่อง และนั่นก็เป็นการ “ออกแบบ I ความหมาย” ของผู้เขียนเองเช่นกัน

    ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มิใช่ข้อสิ้นสุด รวมถึงมิใช่บทสรุปเดียวของการออกแบบ ผู้เขียนเพียงแต่เห็นถึงศักยภาพของการทําความเข้าใจในรูปแบบนี้ว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการออกแบบได้นั่นเอง


    ณัฐวิทย์ ทองประเสริฐ

  • สารบัญ


    I  ในขณะที่มีความหมาย (Meanwhile)
    ในขณะที่ทุกสิ่งมีความหมายในตัวของมันนั้น
    ทุกสิ่งกลับไม่ได้สร้างความหมายด้วยตัวของมันขึ้นมาเอง
    ถ้าเช่นนั้น ความหมายเกิดขึ้นได้อย่างไร

    II  สิ่งนี้คือสิ่งนั้น (This Means That)

    เรารู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งนั้น ไม่ใช่เพราะสิ่งนี้คือสิ่งนั้น
    แต่เป็นเพราะเรารู้ด้วยว่าสิ่งนี้ไม่ใช่อีกสิ่งหนึ่ง
    นอกเหนือไปจากสิ่งนั้น

    III  ตำแหน่งแห่งที่ (Composition)

    เมื่อเราเห็นก่อนแล้วคิดตาม
    ผลของมันเรียกว่า “ความคิดเห็น” (opinion)
    เมื่อเราคิดก่อนแล้วค่อยเห็น
    ผลของมันเรียกว่า “จินตนาการ” (imagination)

    IV  เวลาเปลี่ยนความหมาย (Meantime)
    แบรนด์ก็เปรียบได้กับการ “ตีตรา”
    ซึ่งนอกเหนือจากการให้ความหมายว่าสิ่งที่ถูกตีตรานั้น
    เป็นของใครและไม่ใช่ของใครแล้วนั้น
    เมื่อเวลาผ่านไป ตราที่ตีไว้นั้น
    จะค่อยๆ สร้างความหมายเสริมอื่นๆ ขึ้นมา

    V  ดูเหมือนใช้แทนกันได้ (Seem)

    ในขณะที่การสลับสับเปลี่ยยนตำแหน่ง
    ถูกนำมาใช้สร้างความหมายใหม่แล้ว
    ยังมีการสลับสับเปลี่ยนองค์ประกอบที่ใช้ทดแทนกันได้
    ในเชิงภาษาเราเรียกว่าการอุปมาอุปไมย (metaphor)

    VI  ความสัมพันธ์ที่ตัดกันไม่ขาด (Dynamic Relations)

    โครงสร้างกำหนดรูปแบบ หรือรูปแบบกำหนดโครงสร้าง
    มนุษย์สร้างกฎเกณฑ์ หรือกฎเกณฑ์สร้างมนุษย์
    ทั้งสองคำถามต่างเป็นคำถามที่ดี
    และเป็นคำถามที่ดูเหมือนจะไร้สาระในเวลาเดียวกัน

    VII  จะรู้เรื่องสัญญะไปทำไม (Why Means)

    การเรียนรู้เรื่องความหมายและระบบการสร้างความหมายนั้น
    จะช่วยฝึกให้เรามองภาพกว้างได้อย่างละเอียดขึ้น
    ในทางกลับกันก็ช่วยฝึกให้เรารู้จักมองรายละเอียดได้กว้างไกลขึ้น

    VIII  รู้จักหาคู่ (Pairing)

    การเรียนรู้สัญญะในเชิงโครงสร้าง
    เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบของการจับคู่
    ไม่ว่าจะเป็นคู่เหมือน คู่ขนาน คู่ตรงข้าม หรือคู่ต่อสู้
    เพื่อหาสัมพันธภาพทั้งในแง่เหมือนและแง่ต่าง
    อันนำมาซึ่งพื้นที่แห่งโอกาสในการสร้างสัญญะเพิ่มเติม

    IX  มีสาร ไม่รู้จักสื่อ (In the Middle, Medium Is, In the Middle)

    แม้ว่าเรามีสารที่จะสื่อออกไปครบถ้วนแล้ว หากเราไม่รู้จักสื่อ
    นั่นย่อมไม่สามารถที่จะส่งความหมายใดๆ ได้เลย

    X  ถูกเพียงครึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคืออะไร (What’s Wrong?)

    มีพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งระหว่างสิ่งสองสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน
    ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เรามักจะมองข้าม
    และการถูกมองข้ามของพื้นที่ที่ว่านี้
    มักนำมาซึ่งข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่างๆ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in