ช่วงหลังๆในประเทศไทยเรามีการโต้เถียงกันบ่อยครั้งเรื่องเนื้อหาในละครและสื่อบันเทิง ตั้งแต่การส่งเสริมการไม่เท่าเทียมกันในสังคม ทั้งเรื่องชนชั้น เรื่องเพศ และเรื่องต่างๆ แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นประเด็นร้อนที่สุดที่หยิบมาทุกครั้งก็มีพูดคุยกันอย่างกว้างขวางทุกครั้ง คือเรื่องวัฒนธรรมการข่มขืน (Rape Culture) ในสื่อไทย
เรื่องที่อยากจะยกมาเล่าในวันนี้จึงว่าด้วยการข่มขืนและการจัดเรตติ้งอย่างง่ายๆในแวดวงแฟนฟิคชั่นสากล
รู้จักกับ Consent
ในวัฒนธรรมสากลนั้น เมื่อเราจะกระทำการใดๆ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมบางอย่าง เรามีสิทธิที่ได้รู้ถึงผลที่จะตามมาภายหลัง ตัวอย่างง่ายๆเช่นเมื่อเราเข้าร่วมในการตอบแบบสอบถาม ทางผู้จัดทำควรจะแจ้งเราว่าข้อมูลที่ได้รับจะเอาไปใช้ยังไง หากเราไม่พอใจในวิธีการ จะได้ไม่ต้องตอบแบบสอบถามนั้น
สิ่งนี้เรียกว่า Consent หรือความยินยอมพร้อมใจ
Consent ถูกใช้ในหลายกรณี และมีข้อกำหนดกฎหมายรองรับ กรณีที่เราจะพูดถึงและเป็นกรณีที่สำคัญมาก คือ Sexual consent หรือความยินยอมพร้อมใจในการมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง
Non-con = การข่มขืน
หากมองจากมุมของ Consent การข่มขืนก็คือการมีเพศสัมพันธ์ที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมพร้อมใจ (Non-consensual sexual activity)
มุมมองนี้สำหรับเราแล้วทำให้เข้าใจอะไรๆง่ายขึ้น เราอาจจจะเคยมีคำถามว่าหากมีฝ่ายนึงมีอารมณ์ร่วม แบบนี้คือข่มขืนมั้ย หรือหากแต่งงานเป็นสามีภรรยากันทางกฎหมายแล้วมีการบังคับให้ฝ่ายหนึ่งมีเพศสัมพันธ์ด้วย แบบนี้คือข่มขืนมั้ย
คำตอบคือใช่ทั้งสองกรณี
แม้การข่มขืนจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการล่วงละเมิดทางร่างกาย แต่ก็เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างร้ายแรง หากไม่ยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย แม้ว่าจะปราศจากความรุนแรงเพียงใด ก็ยังนับว่าเป็นการข่มขืน
จะเห็นได้ว่า Consent ช่วยขีดเส้นกั้นและตอบคำถามความเข้าใจผิดกับการข่มขืนได้
Consensual Sex
เมื่อทุกฝ่ายมีความยินยอมพร้อมใจ และทราบถึงผลที่อาจจะตามมา การมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร
Consent มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกจำนวนหนึ่งที่น่าสนใจ เช่นการให้ consent ในภาวะที่มีความกดดัน หรืออยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งเร้า หรือ consent จากผู้ไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งไม่สามารถนับว่าเป็นความยินยอมพร้อมใจได้ทางกฎหมาย
หากสนใจเพิ่มเติม มีคนอธิบาย Consent ง่ายๆด้วยการเปรียบเทียบกับชาในคลิป
Tea Consent
การจัดเรตติ้งในงานเขียน
โดยทั่วไปแล้ว ไม่ได้มีกฎบังคับเกี่ยวกับการแจ้งให้ผู้อ่านทราบถึงเนื้อหาที่ล่อแหลมภายในงานเขียน แต่ก็ถือเป็นความรับผิดชอบและมารยาทที่ดีหากจะแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่าเนื้อหาอาจจะมีฉากรุนแรง คำหยาบ เนื้อหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ (Trigger warnings)
จุดนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อมีเนื้อหาเกี่ยวกับการข่มขืน (non-con) เพราะนักอ่านหลายๆคนไม่สนับสนุนและไม่อยากอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับการข่มขืน
ลองนึกภาพว่ามันคงไม่แฟร์และใจร้ายมาก หากคุณเคยโดนล่วงละเมิดทางเพศมาเมื่อหลายปีก่อน แล้วอยากจะอ่านฟิคสนุกๆสักเรื่อง แต่อ่านไปอ่านมา ดันมีฉากข่มขืนที่พาลให้นึกไปถึงความทรงจำที่เลวร้ายเหล่านั้น
ถ้าหากในแวดวงงานเขียนและสื่อต่างๆของไทยมีแบบนี้บ้างก็คงจะดีไม่น้อย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in