เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Reservoirs of My Reminiscencespymooping
#ตามล่าหาความจริง กับ The Act of Killing (2012)
  • เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่แสนโหดร้ายไปเพื่ออะไร? จบกันแล้วก็คลาดแคล้วกันไปไม่ดีกว่าหรือ?

    ภาพยนตร์เรื่องThe Act of Killing เป็นภาพยนตร์เชิงสารคดีของผู้กำกับชาวเดนมาร์ก Joshua Oppenheimer ที่ติดตามชีวิตปัจจุบันของแก๊งค์อันธพาลและหน่วยกำลังกึ่งทหารที่รัฐบาลเคยจัดตั้งเป็นกองกำลังหลักในการปกครองประเทศในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คอมมิวนิสต์ที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 1965-66  โดยผู้กำกับได้กำหนดภารกิจให้แก๊งค์อันธพาลสร้างภาพยนต์เพื่อจำลองภาพการฆ่าที่พวกเขาเคยทำในอดีตด้วยวิธีใดก็ได้ การดำเนินเรื่องจึงเป็นไปตามภาพความจริงตัดสลับกับการแสดง/เบื้องหลังของการถ่ายทำผสมกันไป ทำให้ภาพออกมาเป็นสารคดีกึ่งภาพยนตร์แนวเหนือจริง (surreal) ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นเอกลักษณ์และจุดแข็งที่ช่วยขับแก่นสารของเรื่องออกมา

    เมื่อได้เห็นกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้บริสุทธ์นับล้านกินอิ่มนอนหลับอยู่สบายแถมยังได้มีหน้ามีตาในสังคมมันชวนให้เราตั้งคำถามว่า พวกเขาไม่ละอายแก่ใจกันบ้างหรือ ?” ซึ่งประเด็นสำคัญที่มีการเน้นย้ำตลอดทั้งตัวเรื่องคือกลวิธีการจำกัดความ การฆ่าในมุมมองของแต่ละคนที่ช่วยหักเหพวกเขาออกจากความรู้สึกผิดบาป เพราะนอกเหนือจากกรรมวิธีการฆ่าที่ได้มีการอธิบายอย่างถี่ถ้วนแล้วสิ่งสำคัญที่เรื่องนี้ต้องการกลั่นกรองออกมาจากฆาตกรอมหิตเหล่านี้คือเหตุผลและความรู้สึกอย่างลึกซึ้งต่อการการกระทำของพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ภาพชีวิตธรรมดาสามัญของมนุษย์ที่ถูกโจษขานว่าเป็นอันธพาลโหดเหี้ยมจะถูกตีแผ่ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาก็มีหัวใจ ความรู้สึก มีคนสำคัญที่พวกเขาทะนุถนอมไม่ต่างอะไรกับผู้คนที่พวกเขาได้ฆ่าอย่างเลือดเย็น โดยประเด็นนี้นำมาสู่ลูกเล่นสำคัญของเรื่องอีกอย่างหนึ่งนั่นคือมุมมองที่จำกัดอยู่เพียงกลุ่มฆาตกร มันเป็นการผสมผสานของภาพอันน่าสะอิดสะเอียนแห่งความทะนงตน ความเห็นแก่ตัว ลัทธิชาตินิยมและ ปิตาธิปไตยที่มีรากฐานมาจากการขาด สัมผัสความรู้สึก ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ภายใต้กรอบแห่งมุมมองอันตื้นเขินของฆาตกรนี้เองจะช่วยแสดงให้เราเห็นถึงการขาดความหยั่งรู้ในความโหดเหี้ยมทารุณที่แท้จริงของการฆ่า บทสรุปจะเผยให้เราได้เห็นว่าแท้จริงแล้วการสังหารมวลมนุษย์นับล้านนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งใดกันแน่ ท้ายที่สุดภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้กระทำก็แสดงได้เพียงภาพอันงดงามของโลกแห่งความใฝ่ฝันแต่ความรู้สึกในจิตวิญญาณเบื้องลึกของเหยื่อนั้นมืดมิดเกินจะหยั่งถึง—เพราะคนตายพูดอะไรไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาเข้าใจและถ่ายทอดออกมาสุดท้ายแล้วก็เป็นได้เพียงแค่ภาพแสดงของการฆ่า (the act of killing) เท่านั้น


    ในส่วนแก่นสารของเรื่องถือว่าถ่ายทอดออกมาได้สมบูรณ์ทีเดียวด้วยวิธีการใช้บทบาทสมมุติผสมผสานกับเบื้องหลังที่ช่วยเน้นย้ำจิตใต้สำนึกของตัวละครหลักอย่างสม่ำเสมอ จุดไคลแม็กซ์คลี่ปมของเรื่องได้ค่อนข้างสมบูรณ์และกินใจทีเดียว แต่ด้วยความยาวของเรื่องเกือบๆสามชั่วโมงผู้ชมจึงอาจจะหลงลืมรายละเอียดไปพอสมควรจึงอาจทำให้เรื่องขาดความเข้มข้นและความกระชับไปเล็กน้อย อย่างไรก็ตามภาพที่รวบรวมมานั้นล้วนมีนัยสำคัญต่อเรื่องทั้งสิ้นและวิธีการดำเนินเรื่องที่เลือกมาก็ถือว่ากล้าหาญมากทีเดียว สิ่งที่น่าสนใจคือตัวเรื่องไม่เน้นการแสดงหรือการจำลองภาพสยดสยองของเหตุการณ์ฆาตกรรม แต่การเล่าจากปากของฆาตกรในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงและความอยุติธรรมอันสามานย์ของโลกความจริงกลับให้ความรู้สึกที่น่าหดหู่และสยดสยองได้อย่างลึกซึ้งยิ่งกว่า

    สารคดีที่แสดงภาพความเป็นจริงอันโหดร้ายต่อเหยื่อนี้จะทำให้ผู้ชมฉุกคิดว่าสิ่งที่เรากำลังลบเลือนคือเหตุการณ์การฆ่าล้างกลุ่มที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นบริบทของอดีต—หรือจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ที่ถูกย่ำยีของเพื่อนร่วมโลกผู้บริสุทธิ์นับล้านคนที่ไม่เคยได้รับความยุติธรรมกันแน่

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
spymooping (@spymooping)
ถ้าชื่นชอบฝากกดแชร์ด้วยน้าา ใครมีข้อแนะนำอะไรคอมเมนท์ไว้ได้เลยจ้า ??