เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SIAM SPORTS NERDSคนมองหนัง ทัศนทรรศน์
“ผู้รักในความรู้” และ “นักปฏิวัติโภชนาการ” ที่ชื่อ “อาร์แซน เวนเกอร์”
  • การอำลาตำแหน่งผู้จัดการทีมอาร์เซนอลของ “อาร์แซน เวนเกอร์” ยอดโค้ชวัย 68 ปีชาวฝรั่งเศส หลังจากกุมบังเหียนทีมปืนใหญ่มายาวนานถึง 22 ปี คงถูกนำเสนอโดยสื่อไทยไปเรียบร้อยแล้ว

    เช่นเดียวกับเกียรติประวัติที่เวนเกอร์นำถ้วยรางวัลมากมายมาสู่อาร์เซนอล การปั้นนักเตะระดับโลก-อินเตอร์รายแล้วรายเล่า เรื่อยไปจนถึงความล้มเหลวในช่วงปีท้ายๆ ของเขากับสโมสรแห่งนี้

    อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นที่สื่อไทยดูจะไม่ค่อยได้นำเสนอมากนัก จึงอยากเล่าสู่กันฟังผ่านพื้นที่นี้

    นั่นคือ บทบาทผู้รักในความรู้และผู้นำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาสู่วงการฟุตบอลอังกฤษของเวนเกอร์

    “ผู้รักในความรู้”

    หลายคนคงทราบว่า แม้เขาจะไม่ใช่นักฟุตบอลชั้นยอด ทว่าเวนเกอร์ก็แบ่งเวลาในช่วงวัยหนุ่มให้แก่การแสวงหาความรู้ในสถาบันการศึกษา เขาเคยลองเรียนแพทยศาสตร์อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่สุดท้าย จะได้ใบปริญญาสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสตราส์บูร์ก

    นอกจากนี้ เวนเกอร์ยังเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ กระทั่งเคยมาลงเรียนภาษาที่เคมบริดจ์ในระหว่างฤดูร้อนหนึ่ง เป็นเวลาสามสัปดาห์ (ก่อนที่เขาจะเริ่มงานกับอาร์เซนอลนานหลายปี)

    หนึ่งในความประทับใจที่ “เจเรมี คอร์บิน” หัวหน้าพรรคแรงงานของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นแฟนบอลอาร์เซนอล มีต่อเวนเกอร์ ก็เกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องการศึกษาหาความรู้เช่นกัน

    คอร์บินเล่าว่าครั้งหนึ่ง เวนเกอร์ต้องมาพบปะพูดคุยกับเหล่าแฟนบอลรุ่นเยาว์จำนวนประมาณ 200 คน ประเด็นที่โค้ชชาวฝรั่งเศสเน้นย้ำกับเด็กๆ ก็คือ ความสำคัญของการเรียนภาษาต่างประเทศ เขาย้อนเล่าเรื่องราวเมื่อคราวที่ตนเองมาเรียนภาษาอังกฤษที่เคมบริดจ์ ก่อนชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารกับคนอื่นๆ จากประเทศอื่นๆ ได้นั้น จะนำสันติภาพมาสู่โลกใบนี้ 


    “นักปฏิวัติโภชนาการ"

    อาจกล่าวได้กว้างๆ ว่า เวนเกอร์เป็นผู้นำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลอังกฤษ

    หรือสามารถพูดให้แคบลงอีกนิดได้ว่ายอดผู้จัดการทีมชาวฝรั่งเศสเข้ามาปฏิวัติแวดวงลูกหนังของเกาะแห่งนี้ ด้วยองค์ความรู้เรื่องโภชนาการและพลศึกษา

    เรื่องแรกที่เป็นนวัตกรรมซึ่งเวนเกอร์อิมพอร์ตเข้ามายังศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เมื่อเขาเริ่มงานกับอาร์เซนอลในปี 1996 ก็คือ การกำหนดให้นักเตะลงไปยืดเส้นยืดสาย นวด-ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ก่อนฟาดแข้ง

    เมื่อผลลัพธ์ของกิจกรรมดังกล่าวสะท้อนออกมาผ่านผลการแข่งขันอันดีเยี่ยม ทีมอื่นๆ ในพรีเมียร์ลีกและลีกระดับล่าง ก็เริ่มเจริญรอยตามอาร์เซนอล

    นวัตกรรมที่สองซึ่งเวนเกอร์นำมาใช้จนพลิกโฉมหน้าของวงการฟุตบอลอังกฤษอย่างสิ้นเชิง ก็ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเหล่านักเตะ

    ก่อนการมาถึงของเวนเกอร์ นักเตะอาร์เซนอลก็เหมือนนักฟุตบอลอังกฤษทั่วไปในยุคนั้น ที่ชอบกิน “อาหารผับ” พวกเขาฟาดอิงลิช เบรกฟาสต์ ก่อนไปซ้อม ก่อนแข่ง ก็กินพวกฟิชแอนด์ชิปส์, สเต็ก, ไข่กวน-ถั่วในซอสมะเขือเทศ-ขนมปังปิ้ง

    ส่วนหลังแข่งยิ่งแล้วใหญ่ ครั้งหนึ่งพอทีมฟาดแข้งกับนิวคาสเซิลเสร็จ และต้องนั่งรถบัสกลับลอนดอน บรรดาผู้เล่นก็จัดเกมประลองกันว่าใครจะยัดอาหารค่ำลงท้องได้มากที่สุด ผู้ชนะ คือ “สตีฟ โบลด์” กองหลังตัวกลางของทีม ที่ฟาดอาหารไปถึงเก้าชนิด!

    อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนภาพความไร้วินัยในการกินของนักเตะอาร์เซนอลได้ดี เกิดขึ้นเมื่อ “โทนี่ อดัมส์” กับ “เรย์ พาร์เลอร์” ไปมีเรื่องวิวาทกับแฟนบอลสเปอร์ส ระหว่างทั้งคู่นั่งกินอาหารค่ำที่พิซซ่าฮัท หลังเกิดเรื่องและต่างฝ่ายต่างแยกย้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจตามไปสอบปากคำอดัมส์ที่บ้านพัก ปรากฏพอไปถึงบ้าน พวกเขาดันพบอดัมส์กับพาร์เลอร์กำลังนั่งโซ้ยอาหารจีนที่สั่งซื้อทางโทรศัพท์กันต่ออีกหนึ่งมื้อ!

    พอเวนเกอร์เข้ามาที่อาร์เซนอล อย่างแรกที่เขาทำคือออกคำสั่งแบนพวกขนมหวาน, ช็อกโกแลต รวมถึงน้ำอัดลมอย่างโค้ก

    จากนั้นก็กระตุ้นกึ่งบังคับให้นักบอลหันไปกินพวกปลานึ่ง ไก่ต้ม พาสต้า และผักนานาชนิด เป็นอาหารหลักแทน (เวนเกอร์เข้าไปนั่งกินอาหารเหล่านี้กับลูกทีม และเมื่อนักเตะคนไหนเกิดอาการผะอืดผะอม เขาก็พยายามประนีประนอม โดยยินยอมให้เหยาะซอสมะเขือเทศลงบนอาหารจืดๆ ได้)

    นอกจากนี้ เวลาเดินทางไปแข่งนัดเยือนที่ต่างเมือง/ต่างประเทศ เวนเกอร์ก็ออกกฎไม่ให้มีบริการรูมเซอร์วิสที่ห้องพักของนักบอล รวมทั้งสั่งให้โรงแรมโละพวกขนม-เครื่องดื่มต่างๆ ออกจากตู้เย็นให้หมด

    แถมเวนเกอร์ยังเชิญนักโภชนาการมาอบรมเรื่องการกินอาหารที่ถูกวิธีให้แก่นักฟุตบอลเป็นการเพิ่มเติม (เช่น แนะนำเรื่องการเคี้ยวช้าๆ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

    ในช่วงเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมการกินอาหาร เวนเกอร์ได้แนะนำให้นักบอลลองพึ่งพาพวกวิตามินต่างๆ อาทิ การกิน Creatine เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ (แต่พอพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการของนักเตะเริ่มอยู่ตัว เรื่องวิตามินก็กลายเป็นแค่อาหารเสริมที่จะบริโภคหรือไม่ก็ได้)

    กรณีวิตามินนี้ พวกนักเตะอาร์เซนอลในยุคแรกๆ ภายใต้การคุมทีมเวนเกอร์ ก็มีปฏิกิริยาที่หลากหลาย “เดนนิส เบิร์กแคมป์” เป็นพวกไม่เชื่อเรื่องอาหารเสริม และตัดสินใจไม่กินวิตามินอะไรเลย (แต่นักกีฬาดัทช์อย่างเบิร์กแคมป์นั้นดูแลรักษาร่างกายดีและไม่กินดื่มจนไร้วินัยแบบพวกนักบอลอังกฤษอยู่แล้ว) “เดวิด ซีแมน” ไม่กล้ากินวิตามินในตอนแรก แต่พอเห็นเพื่อนๆ ในทีมฟิตขึ้นอย่างชัดเจน ถึงยอมลอง ผิดกับ “เรย์ พาร์เลอร์” ที่ออกแนวเด็กดี ผู้จัดการทีมจัดอะไรมาให้ พี่แกก็ฟาดเรียบ ไม่คิดนู่นนี่ให้วุ่นวาย

    การปรับเปลี่ยนเรื่องโภชนาการและการใช้อาหารเสริมมาช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ร่างกาย ค่อยๆ แผ่ขยายอิทธิพลจากอาร์เซนอลไปสู่สโมสรอื่นๆ ทั่วทั้งสหราชอาณาจักร กระทั่งกลายเป็นหลักปฏิบัติร่วมที่ทุกทีมล้วนยอมรับในปี ค.ศ.นี้

    แต่เวนเกอร์ก็โชคดีมากๆ ที่ไม่ต้องมานั่งแก้ไขปัญหาเรื่องพฤติกรรม “ดื่มหนัก” ของนักเตะ เพราะก่อนเขาจะเข้ารับตำแหน่งเพียงสองสัปดาห์ กัปตันทีมอย่าง “โทนี่ อดัมส์” ก็เพิ่งประกาศยอมรับว่าตนเองมีอาการติดสุรา และพร้อมเข้ารับการบำบัดรักษาพอดี การตัดสินใจกล้าหาญเช่นนั้นส่งผลให้นักเตะคนอื่นๆ ในทีมพากันเลิกหรือลดพฤติกรรมดื่มเหล้าเบียร์ตามไปด้วย

    ผิดกับวิถีปฏิบัติก่อนหน้า ที่อดัมส์มักทำตัวเป็นหัวหน้าแก๊งคอยนัดแนะเพื่อนนักเตะคนอื่นๆ ไปดื่มสังสรรค์กันทุกคืนวันอังคาร เพราะรู้กันดีว่าวันพุธคือวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์ (ณ กลางทศวรรษ 1990)

    ที่มาข้อมูล

    https://www.theguardian.com/football/2018/apr/21/five-innovations-arsene-wenger-english-football

    หนังสือ "The Mixer: The Story of Premier League Tactics, from Route One to False Nines" ของ Michael Cox (มีวางขายที่คิโนะ พารากอน)

    ภาพประกอบ


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in