เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เจแปน อาริกาตดNidNok
ตู้คีบตุ๊กตาอยู่ที่ไหน ความพยายามอยู่ที่นั่น
  • การคีบตุ๊กตาเป็นกิจกรรมที่ไม่เคยคิดจะทำเลย เพราะรู้สึกว่ามันสิ้นเปลือง และด้วยฝีมือที่ไม่มี ยิ่งทำให้พานคิดว่า ยังไงเราก็คงจับไม่ได้หรอก แถมตุ๊กตาในตู้ (ที่เมืองไทย) มันก็ไม่ได้เย้ายวนใจให้เข้าไปจับขนาดนั้น ถ้าอยากได้ก็ไปซื้อเอาดีกว่า เป็นพวกใช้เงินแก้ปัญหาว่างั้นเหอะ

    แต่พอได้ไปญี่ปุ่นสามสี่ที ความคิดก็เปลี่ยนไป มันเริ่มจากวันนึงที่เราและเอกชัยเดินเล่นอยู่แถวอิเคะบุคุโระ (Ikebukuro) แล้วเอกชัยขอเลี้ยวเข้าไปในเกมเซ็นเตอร์เจ้านึง เพราะอยากไปส่องตู้เกมเทคเคน ซึ่งก่อนจะเดินไปถึงตู้เกมนั้นได้ เราจะต้องผ่านบรรดาตู้คีบตุ๊กตา UFO Catcher ที่ตั้งเรียงรายเป็นตับไก่ ข้างในตู้นั้นก็มีสิ่งของแตกต่างกันไป ตั้งแต่ตุ๊กตาน่ารัก หมอน ผ้าเช็ดตัว ฟิกเกอร์ ขวดไวน์ ยันเครื่องเกมราคาหลายพัน บ้าไปแล้ว

    จนกระทั่งเราได้สบตากับน้องหมาตัวจิ๋ว ที่นอนรวมกันกับเพื่อนๆ ของมันอยู่ในตู้นึง เป็นแก๊งตุ๊กตาหมาชิบะนี่แม่งโคตรน่ารัก หาซื้อในไทยไม่ได้แน่ๆ เราเคยพูดขึ้นมาเล่นๆ

    นิดนก: "ตัวนี้น่ารักจัง ถ้าเธอจับได้นะ ชั้นจะสรรเสริญเยินยอในความหล่อและเท่ของเธอ"
    เอกชัย: "ลองดูมั้ยล่ะ เธอออกเงินนะ" (อ้าว อีนี่บ้ายอนี่หว่า)
    นิดนก:  "เออ ก็ได้ ให้แค่สามเหรียญนะ"
    เอกชัย: (เตรียมหยอด)
    นิดนก: "ว่าแต่ เธอเคยเล่นเหรอ"
    เอกชัย: "ไม่เคยอ่ะ นี่ครั้งแรก"
    นิดนก: "..."

    ตอนนั้นเข้าใจหัวอกคนที่ปล่อยเงินกู้แล้วว่าเขาต้องแบกรับความเสี่ยงขนาดไหน แม้เงินสามร้อยเยนมันจะไม่เท่าไหร่ แต่ทำไมจะต้องมาเสียให้กับกิจกรรมที่ไม่มีวี่แววว่าจะสำเร็จด้วยวะเนี่ย เอาเงินไปทิ้งชัดๆ แต่คิดไปก็เท่านั้น เพราะเอกชัยก็ได้หยอดเหรียญลงตู้ไปแล้วเรียบร้อย ถอยไม่ได้แล้ว

    ไม่รู้ว่าด้วยความฟลุ๊กหรืออะไรก็แล้วแต่ ในความพยายามที่สาม ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย น้องหมาตัวจ้อยผูกผ้าพันคอสีน้ำเงินน่ารักน่าชัง ก็หล่นหลุนๆ ลงมาในช่องรับของ ประเดิมการเล่นตู้คีบตุ๊กตาครั้งแรกด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

    และก็เป็นเพราะว่าเริ่มต้นด้วยดีเกินไป เลยทำให้สองผัวเมียกลายเป็นพวกเสพติดการคีบตุ๊กตาไปเลย (RIP เงินในกระเป๋า)

    (ตุ๊กตาตัวแรกที่จับได้บนแผ่นดินญี่ปุ่น)

    หลังจากวันนั้นเราเหิมใจกันมาก เห็นร้านเป็นไม่ได้ ต้องแวะเข้าไปส่องดูซักหน่อยว่ามีตุ๊กตาตัวไหนน่าโดน แล้วก็จัดการหยอดเหรียญคีบ อีเมียทำหน้าที่เลือกตุ๊กตาที่ถูกใจ แลกเหรียญ และชี้นิ้วสั่ง ส่วนผัวก็ไม่ต้องคิดเยอะ หมุนคันโยก บังคับปุ่มไป ทำยังไงก็ได้ ให้ตุ๊กตามันหล่นลงช่องเป็นพอ ทำแบบนี้กันถี่ยิบ พบความผิดหวังมานักต่อนัก เอาจริงๆ มันมีตุ๊กตาที่เราอยากได้ แต่ต้องถอดใจอยู่หน้าตู้ไม่รู้กี่สิบตัว แต่ถ้าไม่ถอดใจก็ไม่ไหว ได้มีงานอดข้าวเย็นแน่ๆ ถ้ายังฝืนจับ แต่พอจับได้มาซักตัวนึง ก็เหมือนเป็นเติมเชื้อพลังความเหิมใจ ให้ลองจับตัวอื่นๆ ต่อไป แม่งเป็นวงเวียนชีวิตบัดซบมากๆ (แต่ชอบนะ)

    อย่างครั้งล่าสุดที่ไปมา คราวนี้มีการเตรียมตัวก่อนไป ด้วยการนั่งดูคลิปทีวีแชมเปีี้ยนตอนตู้คีบ และเข้าไปอ่านพวกรีวิวของบรรดาเทพแห่งการจับ มีการลองไปซ้อมตามตู้คีบในห้างด้วย แต่ตู้ที่เมืองไทยนี่จับยากมากเลย ยังไม่เคยจับได้ซักที แบบขาหนีบมันไม่มีแรงเลยอ่ะ แทบไม่ต้องลุ้น ซึ่งพอเราเห็นแบบนั้น เราก็ตัดใจเร็วเลยไง สองเหรียญพอละ แม่งกูจับไม่ได้หรอก เหมือนมันจะหลอกกินเงินเรามากกว่า ซึ่งต่างจากตู้ที่ญี่ปุ่น คือขาจับมันมีแรง มันหนีบติด แต่มันจะทริคเราในจุดอื่นแทน เช่นจังหวะกระแทก มุมที่วางตุ๊กตา ฯลฯ เหมือนเป็นด่านให้เราสนุกไปกับมัน ไม่ยากจนเราตัดใจ แต่ก็ไม่ง่ายจนร้านเขาขาดทุน ซึ่งไอ้จุดของความ "เกือบละ อีกนิดเดียว ลองดูอีกทีดีกว่า" นี่แหละ ที่ทำให้ธุรกิจมันอยู่ได้ และคนเล่นก็สนุกไปด้วย

    พอไปถึงญี่ปุ่นจริงๆ คราวนี้เริ่มไม่ได้จับสะเปะสะปะละ แต่เป็นการจับเพื่อการเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ที่ดูมาจากในคลิป (กับเรื่องอื่นมึงจริงจังขนาดนี้มั้ย 555) เช่นการกด การดีด หรือว่าการเกี่ยวตามช่อง ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่พอคิดว่าเป็นการทำเพื่อการศึกษา ก็จะไม่รู้สึกผิดกับเงินที่เสียไปเท่าไหร่ (เหรอวะ)

    และด้วยความขี้อวด พอจับได้ เราก็เห่อถ่ายรูปอัพขึ้นเฟซบุ๊ก พอจับได้อีกก็ถ่ายอีก ได้อีกก็ถ่ายอีก เพื่อนก็เลยชอบบอกว่าทำไมมึงจับได้บ่อยจังวะ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ง่ายดาย แต่เอาจริงๆ ที่เราจับไม่ได้มันเยอะกว่าอีก แต่ไม่มีใครเห็น เพราะว่าเราไม่ได้อัพรูปตอนที่จับไม่ได้ไง

    (อ้อ จริงๆ มีอยู่รูปนึง แม่ง กดยังไงก็กดไม่ลง)

    เราว่าคนที่เซียนกว่านี้เขาจะสามารถบรรยายเทคนิคการจับตุ๊กตาออกมาได้เป็นฉากๆ เลยแหละ แต่เราและเอกชัยไม่ได้เซียนอะไรเลย เปอร์เซ็นต์การจับไม่ได้สูงกว่าที่จับได้แน่ๆ เลยไม่บังอาจจะเขียนเทคนิคสอนใคร ที่ทำได้คงเป็นการให้กำลังใจ ว่าถ้าไม่เคยจับที่เมืองไทยได้เลย จงลองไปจับที่ญี่ปุ่นดูเว้ย มันง่ายกว่า ตู้มันไม่โกงเรามาก เลเวลเริ่มต้นสำหรับมือใหม่ ขอให้ไปลองตู้ที่เป็นขาสามง่ามอันใหญ่สุด จับด้วยคันโยกรอบทิศทาง และไม่จำกัดเวลา (หรือบางตู้อาจจะให้เวลาประมาณ 30-50 วินาที ซึ่งเหลือเฟืออยู่แล้ว) แบบนี้โอกาสจับได้จะเยอะสุด แต่ข้อเสียของมันคือ จะต้องจับตุ๊กตาตัวใหญ่ มันจะเกะกะเราตอนต้องขนกลับประเทศน่ะ แต่ถ้ากระเป๋าใหญ่ น้ำหนักเหลือเฟือ ลองเล่นตู้แบบนี้ เราว่า 3-5 เหรียญ ก็น่าจะจับได้แล้วนะ (ขนาดเราง่อยๆ ไม่เก่งเลย ยังเคยจับได้ด้วยตู้แบบนี้แหละ)

    อีกอย่างนึงที่เราเข้าใจมากขึ้นหลังจากเป็นผู้เสพติดการจับตุ๊กตาที่ญี่ปุ่นคือ มันไม่ใช่การวัดดวงเพื่อจะได้อะไรมาง่ายๆ แบบก่อนหน้านี้เราจะคิดว่า เราต้องจับมันให้ได้ภายในเหรียญเดียวเพื่อความ "คุ้ม" เหมือนกับ เสียเงินไม่กี่สิบบาท ก็ได้ตุ๊กตาราคาหลักร้อย ซึ่งจริงๆ ถ้าได้แบบนั้นมันก็ดีแหละนะ แต่เรามองมันใหม่ ว่ามันคือเกมอย่างหนึ่ง ที่ต้องวางแผนเพื่อเอาชนะ ตู้มันก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้เราจับได้ด้วยเหรียญเดียวอยู่แล้ว (แต่ถ้าฟลุ๊กๆ หน่อยบางทีก็ได้ในครั้งเดียว) ดังนั้น อย่าไปคิดว่าเราอ่อน หรืออย่าเพิ่งไปหมดสนุกกับมัน ต้องพยายามมากขึ้นอีกหน่อย คิดกับมันมากขึ้นอีกนิด แต่ก็ต้องลิมิตเป้าเอาไว้ด้วยนะ ว่าสำหรับตู้นี้ พี่ให้ 5 เหรียญแล้วจะพอ ไม่งั้นได้ขายไตใช้หนี้อยู่ญี่ปุ่นนั่นแหละ

    ยกตัวอย่างอันนึง รอบที่ไปฟุกุโอกะครั้งล่าสุดนี่แหละ เป็นช่วงที่หนังชินจังกำลังจะเข้าฉาย เลยมีตุ๊กตาเจ้าขาวมาให้คีบเป็นการโปรโมท ตอนเห็นครั้งแรกนี่ตื่นเต้นอยากได้มาก เพราะมันน่ารัก และยังไม่เคยเห็นที่ไหน ปรี่เข้าไปจับเลย แต่ความยากมันอยู่ที่มันเป็นตู้แบบที่เอกชัยไม่ถนัด คือเป็นแบบสองขา แถมยังต้องผ่านรางสองเส้นที่ดักอยู่ด้านล่างอีก ยากซ้ำซ้อน แต่ด้วยความอยากได้ของเมีย เอกชัยเลยพยายามคีบให้ ซึ่งหลังจากหมดไปราวๆ 6 เหรียญ เราก็ต้องตัดใจออกจากร้าน

    แต่ก็ยังพยายามอย่างไม่ลดละนะ ทีนี้เข้าแม่งทุกร้าน ทุกสาขาที่ผ่าน เพราะว่าตู้แต่ละร้าน ด่านและความยากมันจะไม่เหมือนกัน แต่เท่าที่สังเกต คืออีเจ้าขาวนี่จับยากหมด ไม่รู้ทำไม ลองมาหมดทุกร้าน ยังไงก็ไม่ได้ซักที เข้าใจว่าหมดเงินไปเกือบพันบาทแล้วมั้ง กับความพยายามมาสองสามวัน

    จนสุดท้ายก็ไปเจอเจ้าขาวที่ร้านนึง (ถ้าจำไม่ผิดคือ Round 1 เทนจิน) อยู่ในตู้ที่ต้องใช้เทคนิคแบบกด ที่จับเป็นสองขาแบบที่เราไม่ถนัดเหมือนเดิม แต่ดูท่าทางแล้วพอมีหวัง ง่ายสุดในบรรดาตู้ที่จับมาทั้งหมด ก็เลยหยอดแบบเหมา 5 เหรียญ เล่นได้ 6 ครั้ง แล้วก็จับได้จริงๆ ยังนึกเสียดายกับเอกชัยอยู่เลยว่า ถ้ามาจับที่นี่ตั้งแต่แรก อาจจะไม่ต้องหมดเงินทองไปเยอะแยะก็ได้


    เขียนมาจนถึงตรงนี้ก็ยังไม่เห็นจะมีตรงไหนเป็นเทคนิคการจับ 555 เพราะอย่างที่บอกว่าไม่ได้เซียนถึงขั้นที่จะมอบความรู้เป็นวิทยาทานแก่ใครได้ แค่อยากชักชวนให้มองเกมนี้ในมุมใหม่ อย่าไปงกเหรียญมาก คิดซะว่าเป็นการใช้เงินเพื่อคลายเครียดไปวันๆ (แต่ถ้ามีแต่เสีย อาจจะเครียดหนักกว่าเดิม) เท่าที่พอจะแนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะลองของ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ก็คงมีดังนี้

    จับที่ไหน
    หลักๆ ก็ไปจับตามเกมเซ็นเตอร์ ที่มักจะหาเจอได้ง่ายตามแหล่งท่องเที่ยวฮิตๆ ในห้าง หรือไม่ก็ในตัวเมือง ร้านที่เข้ากันบ่อยๆ ก็เช่น Taito Station, Round 1, Sega พวกตุ๊กตาถ้าร้านยี่ห้อเดียวกัน ก็จะไม่ต่างกันมากนัก แต่อาจจะต่างตรงที่จับ เช่น Taito สาขานึงมีตุ๊กตาเจ้าขาว ในที่คีบแบบสองขา แต่ถ้าไปอีกสาขา อาจจะเจอเจ้าขาว ในที่คีบแบบสองขาเหมือนกัน แต่มีอุปสรรคเพิ่มเป็นรางสองเส้น ที่ทำให้เจ้าขาวร่วงได้ยากขึ้น อะไรแบบนั้น
    อันนี้แบบร้านใหญ่ มีหลายสาขา
    อันนี้ร้านเล็ก โลคัล ท้องถิ่น

    นอกจากเกมเซ็นเตอร์ดังๆ ก็จะมีพวกร้านโลคัล อันนี้เคยเข้าที่โอซากา ตรงแถว Dotonbori ตุ๊กตาหรือของในตู้ก็น่ารักไม่แพ้ของร้านใหญ่นะ บางอันหาไม่ได้ในร้านใหญ่ด้วย เคยจับกระเป๋า Gudetama จากร้านแบบนี้ได้ทีนึง แต่บางตู้เราว่าเขาวางกับดักไว้นะ แบบไม่รู้มองผิดไปรึเปล่า แต่เห็นเหมือนมีเข็มหมุดยึดตุ๊กตาเอาไว้กับพื้น เพื่อให้เรากดมันไม่ลง (ตู้นั้นต้องใช้วิธีการกด) พอเห็นแบบนั้นเลยไม่กล้าหยอดเงินลอง เพราะคิดว่ายังไงก็ไม่ได้แน่ๆ แต่จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้โกงเราก็ได้นะ เราอาจจะตาฝาดไปเอง

    ราคาค่าหยอด
    ท่าที่สังเกตคือ ถ้าเป็นร้านในย่าน Akihabara ในโตเกียว จะแพงกว่าที่อื่นหมด คือเริ่มต้นที่ตาละ 200 เยนแทบทุกตู้ ทุกร้าน แต่ถ้าเป็นย่านอื่น เช่น Ueno, Ikebukuro และเมืองอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ 100 เยน

    ส่วนใหญ่เราจะชอบหยอดแบบที่แถมตา เช่น ครั้งละ 100 เยน แต่ถ้าหยอดเหรียญ 500 ก็ได้เล่นไปเลย 6 ตา หรือไม่ก็ 500 เยน เล่นได้ 3 ตา สำหรับตู้ที่เล่นตาละ 200 เยน เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางคีบได้ในรอบเดียวแน่ๆ ยอมเหมาจ่ายไปเลยดีกว่า

    เคยมีครั้งนึง เราไปยืนสังเกตการณ์หนุ่มญี่ปุ่นเล่นคีบตุ๊กตาจะให้แฟน น้องหยอดแบบเหมาจ่าย 500 เยนเล่นได้ 3 ครั้งไป แต่ไอ้หนุ่มนี่จับได้ตั้งแต่ตาที่สอง พอได้แล้วก็ดีใจจัด เดินออกไปเลย ทิ้งอีกหนึ่งตาคาตู้เอาไว้อย่างนั้น อีนิดนกและเอกชัยเห็นแล้วก็เสียดายแทน เลยเข้าไปสวมรอย (เลวมาก) คืออยากลองดูว่าไอ้ตัวนี้ต้องจับยังไง เลยเรียกพนักงานมาตั้งตุ๊กตาให้ แล้วก็ใช้ตาที่เหลือของน้องผู้ชายคนนั้นลองคีบเป็นการศึกษา ซึ่งผลที่ออกมาก็คือไม่ได้ จบการทดลองไปแบบเงียบๆ

    จับยังไง
    ไอ้วิธีการว่าจับยังไงให้ได้นี่ไม่รู้จะบอกยังไง แต่ถ้าสำหรับมือใหม่ ก็อย่างที่บอกไว้ข้างบนเลย ว่าให้ลองจับตู้สามง่ามอันใหญ่ จับตุ๊กตาตัวใหญ่ อันนี้โอกาสได้สูงจริงๆ แต่ระหว่างจับก็ต้องสังเกตวิธีการของตู้มันด้วยนะ ว่ามันมีแรงกระแทกรึเปล่า ถ้ามี เราก็ต้องเล็งเป้าเราเผื่อการกระแทกด้วย เพราะการกระแทกมันไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ แค่ต้องใช้ไอ้การกระแทกนั้นให้เป็นประโยชน์เท่านั้นเอง

    แต่ถ้าเป็นสามง่าม กับตุ๊กตาที่กลมดิ๊ก ไม่มีแขนขาให้ยึดเกี่ยวเลย อันนี้ก็อาจจะยากหน่อยมั้ง ไม่เคยจับแฮะ

    (ขาสามง่ามอันใหญ่แบบนี้ และต้องเป็นแบบคันโยกด้วยนะ จะง่ายที่สุด)


    เขียนยาวมากจนเริ่มสงสัยว่ามึงเขียนอะไรของมึง งั้นก็ตัดจบเลยละกัน ลากันไปด้วยผลงานทั้งหมดจากการไปจับตุ๊กตาที่ญี่ปุ่นมาสามทริป ตอนนี้เริ่มเก็บเงินเพื่อไปหยอดสำหรับทริปหน้าแล้ว ตู้ตุ๊กตาอยู่ที่ไหน จะมีเราไปพยายามอยู่ที่นั่น

    แล้วพบกัน!


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in