หลายคนสงสัยว่าทำไมผมถึงอยากเลี้ยงแมวเพิ่ม มีโคขุน (จากโครงการแมวตัวแรก) ไว้เป็นคู่ชู้ชื่นอยู่แล้วก็ยังไม่พอใจ ยังคงมีกิเลส มีความโลภในแมวเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งคนที่สงสัยคนแรกๆ คือแม่ผมเองครับ แม่บอกว่า มีตัวเดียวนี่ยังรู้สึกวุ่นวายไม่พออีกเหรอ...
การเลี้ยงแมวคล้ายการเล่นกาชาปอง (ตู้หยอดตุ๊กตา) เหมือนกันนะครับ คือเราหยอดเหรียญเข้าไปเพื่อจะได้ของเล่น แต่เราไม่สามารถบังคับหรือเลือกตัวที่เราต้องการได้เลย เราอาจจะได้ตัวที่มันน่ารักมาก นิสัยดีมาก ไม่ทำลายข้าวของ (เหมือนโคขุน) หรืออาจจะได้ตัวที่มันร้ายกาจ โหดเหี้ยม อำมหิต ฆ่าหนู ฆ่าจิ้งจก เอามาแปะฝาผนัง และทำลายบ้านจนพังพินท์ก็ได้ คือผมโชคดีมากแล้วที่แมวตัวแรกของเราเป็นแมวเป็นมิตร ไม่ทำลายบ้าน แล้วผมจะเสี่ยงดวงอีกครั้งเพื่ออะไร
อันนี้เป็นเหตุผลที่โคตรจะมโนขึ้นมาเองเลยครับ เหมือนพยายามไปบุคลาธิษฐานให้แมวว่า เฮ้ย…แกคงโลนลี่สินะ มองเห็นใบไม้ปลิวแล้วน้ำตาร่วงเพราะไม่มีเพื่อน ไม่มีคนเล่นด้วย อยากมีมิตรสหายที่สามารถเคียงคู่กันได้ไปตลอดชีวิตใช่มั้ยล่ะ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่รู้หรอกว่าแมวเหงามั้ย รู้แต่ว่าเวลาเราไม่อยู่บ้าน ไปทำงานข้างนอกตอนกลางวัน หรือแม้แต่ไปเที่ยวหลายวัน แมวมันก็ต้องอยู่ตัวเดียว อย่างโคขุนก็ได้แต่มองฟ้ามองฝน มองกระจกออกไปเห็นเหล่าแมวนอกบ้านกำลังมีปฏิสัมพันธ์ฉันมิตรต่อกัน พอคิดแบบนี้ก็อดสงสารมันขึ้นมาไม่ได้ เลยอยากให้มีสัตว์เลี้ยงอีกสักตัวมาเป็นเพื่อนมัน เวลาเราไปที่อื่นจะได้ไม่เหงา
(แต่ก็อย่างที่บอกว่าทั้งหมดนี้เป็นการมโนล้วนๆ จริงๆ โคขุนอาจจะอยากอยู่ตัวเดียวมากๆ ก็ได้ ตอนที่เราไม่อยู่บ้าน มันอาจจะแอบนั่งโซฟาดูดบุหรี่แล้วบอกว่า เฮ่อ ไปได้ซะที แล้วหยิบแผ่นหนังโป๊แมวมาเปิดเป็นรอบที่แปดสิบก็ได้ นี่ก็เป็นปริศนามายันที่ไม่มีใครรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร)
เป็นเหตุผลของฝั่งคนเลี้ยงแล้ว คือไม่ได้เห็นจงเห็นใจแมวอะไรหรอก แต่อยากเลี้ยงเพราะอยากได้แมวน่ารักๆ เพิ่ม อยากรู้ว่ามันจะต่างจากแมวที่ตัวเองมีอยู่ไหม เป็นการสะสมแมวหลากหลายแบบราวกับจะสะสมไปเพื่อแลกของรางวัลเป็นเก้าอี้พับเซเว่นอีเลฟเว่น
ที่จริงผมอาจจะมีเหตุผลข้อนี้เป็นเหตุผลหลัก เพราะเวลาเราเห็นแมวอยู่ตัวเดียวโดดเดี่ยว ผมมักรู้สึกว่ามันมีอินเทอร์แรคชั่นได้แค่กับ หนึ่ง—เรา สอง—สิ่งไม่มีชีวิต เช่น ตู้ ตั่ง เตียง และสาม—สัตว์ตัวเล็กๆ เช่น จิ้งจกหรือแมลงสาบ (อี๋) มีอินเทอร์แรคชั่นกับสัตว์อื่นๆ ได้น้อยเต็มที จะไปปฏิสัมพันธ์กับแมวข้างบ้านก็ยากเพราะมีกระจกบานประตูขวางกั้นอยู่
นอกจากปล่อยให้แมวชมนกชมไม้ไปวันๆ ผมก็อยากเห็นมันทำอย่างอื่น อยากเห็นแมวในโหมดสนุกสนาน ในโหมดเกรี้ยวกราด ในโหมดแข่งขัน ในโหมดไล่ล่าดูบ้าง
ตอนนั้นคิดแค่ว่าน่าจะสนุกดี
ซึ่งมันเป็นความคิดที่ (ค่อนข้างผิด) ก็เหมือนการทำอาหารแหละครับ การทำอาหารให้คนหนึ่งคนกิน กับทำให้คนสิบคนกิน มันไม่ใช่แค่เพิ่มวัตถุดิบและเครื่องปรุงทุกอย่างลงไปสิบแล้วจะจบ เราต้องคิดด้วยว่ามันจะทำปฏิกิริยาอะไรยังไง น้ำจะระเหยหมดมั้ย ต้องคิดถึงโลกความเป็นจริงด้วยเพราะโลกนี้มันไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ มันไม่มีอะไรตรงเผงขนาดนั้น
แต่ผมก็ไม่หวั่น กลับรู้สึกเพียบพร้อม อยากเลี้ยงแมวตัวที่สองเพิ่มขึ้น และตัดสินใจเข้าร่วมโครงการแมวงอกในที่สุด!
ในจักรวาลแห่งแมวเนี่ย นอกจากคำว่า ‘ทาสแมว’ (อันเอาไว้นิยามเจ้าของแมวที่ทำตัวรับใช้แมวคล้ายกับตัวเองเป็นทาส) คำที่ผมได้ยินบ่อยๆ ก็มีแค่คำว่า ‘แมวงอก’ นี่แหละ
อธิบายก่อนว่าแมวงอกคือการที่เรามีแมวหนึ่งตัวแล้วยังอยากเลี้ยงแมวตัวต่อไปอีก (หรือมีแมวหลายตัวแล้วก็ยังอยากได้อีก)
ตอนได้ยินคำนี้ครั้งแรกก็รู้สึกตลกดี ภาพในหัวเห็นเป็นแมวหน่อไม้ที่มีวิธีขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ งอกออกมาเป็นตัวที่สองที่สามที่สี่ต่อไปไม่รู้จบ
ผมพยายามหาต้นตอของคำว่าแมวงอกมาจากไหน ใครเริ่มใช้ เสิร์ชกูเกิลดูกลายเป็นว่า ไม่มีแมวงอก... แนะนำให้หาคำว่าแมวงอนแทน... แมวงอนอะไรวะ ไม่งอน! จะเอาแมวงอก! แมวงอกกก
ไม่ว่าจะพยายามบังคับขืนใจกูเกิ้ลให้หาคำว่าแมวงอกแทนแมวงอนยังไง ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าใครเป็นผู้เริ่มใช้คำนี้อยู่ดี มีแต่คำยืนยันว่ามันมีคนเป็นโรคแมวงอกเยอะจริงๆ พอเลี้ยงแล้วก็อดรนทนไม่ได้ที่จะเลี้ยงตัวต่อไปและตัวต่อๆ ไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางคนงอกออกมาเก้าตัวสิบตัวก็มี นี่ถ้าเป็นพืชผลก็กินอิ่มท้องกันไปทั้งหมู่บ้านไปแล้ว
วิธีการงอกแมวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็ไปซื้อตัวใหม่ บางคนก็เก็บมาเลี้ยง บางคนก็ขอเพื่อน ฯลฯ แต่ก็มีวิธียอดฮิตที่คนงอกแมวนิยมใช้ (ผมก็ด้วย) ก็คือการเอาแมวตัวที่เป็นญาติหรือลูกของแมวตัวเดิมมาเลี้ยงด้วยกัน
ข้อดีของการเอาแมวที่มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับตัวเดิมมาเลี้ยงด้วยกันก็คือ ความสบายใจ (ของผู้เลี้ยง) เราในฐานะมนุษย์จะมีความเชื่อมั่นบางอย่างว่าสัตว์ในวงศ์ตระกูลเดียวกัน น่าจะมีกลิ่นคล้ายๆ กัน น่าจะทำให้มันเข้ากันได้ ไม่น่าจะก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สามระหว่างกันอย่างแน่นอน
ซึ่งบางครั้งความเชื่อแบบนี้ก็ผิดนะครับ
ข้อควรรู้: การแยกแมวใหม่ออกจากแม่ เราสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อลูกแมวมีอายุสองเดือนเป็นต้นไปแล้ว คือให้มันเริ่มแข็งแรง กินนมแม่สร้างภูมิคุ้มกันและรอให้มันตัวใหญ่สักหน่อย แล้วค่อยพรากลูกจากแม่ไปเวลาคิดเรื่องเลี้ยงแมวตัวที่สอง เราต้องคำนึงถึงเรื่องเพศมันด้วยนะครับ เพราะถ้าเป็นแมวต่างเพศ โอกาสที่มันจะซัมบาล่ากันก็มีสูง แมวมันคงไม่มีความคิดว่า เฮ้ย ซั่มกับตัวนี้ไม่ได้นะเพราะมันเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นพ่อ เป็นแม่ มันฮีตมันก็ทำเลย ดังนั้นถ้าเอาแมวต่างเพศมาเลี้ยงด้วยกันและไม่อยากให้มีลูกก็ควรพาสักตัวไปทำหมันก่อน (ซึ่งแมวที่ซวยและถูกนำไปทำหมันก็มักจะเป็นแมวตัวเก่า)
แต่ถ้าจะเลี้ยงแมวเพศเดียวกันก็อาจจะเจอปัญหาอื่นๆ เช่น กัดกัน หรือฉี่ทับกลิ่นเพื่อประกาศความเป็นเจ้าของอาณาเขตว่าตรงนี้คือดินแดนของข้านะ วะฮ่าฮ่าฮ่า เป็นต้น
หลังจากที่ชูใจ เมียสาวยั่วสวาทของโคขุนคลอดลูกออกมา ผมก็มีโอกาสไปเยี่ยมลูกทั้งสี่และคุณแม่มือใหม่โดยมีความตั้งใจว่าอยากได้แมวสักตัวมาเป็นเพื่อนโคขุน และเมื่อดูตัวเป็นๆ ของทั้งสี่ ก็เกิดต้องชะตากับน้องสาม แมวที่ดูอวบอ้วนเป็นพิเศษ
ไอ้แบงค์ (เจ้าของชูใจ—บ.ก. บห.สนพ. แซลมอน) เล่าว่าน้องสาม (ตอนนั้นยังไม่มีชื่อนะครับ) เป็นแมวที่โคตรตะกละ คือปกติเวลาแมวเด็กนอนดูดนมกัน มันจะนอนเรียงกันเป็นแถว ไล่ดูดไปทีละเต้า แมวตัวเมียมีนมประมาณหกถึงเจ็ดเต้า มีลูกแมวแปดตัวก็ยังสามารถแบ่งกันได้สบายมาก ขอแค่นอนให้ถูกท่าเท่านั้น
ในหนึ่งการท้อง แมวจะคลอดลูกได้ตั้งแต่หนึ่งถึงแปดตัว ชูใจมีลูกสี่ตัว นมเจ็ดเต้าก็น่าจะพอใช่มั้ยครับ แต่ปรากฏว่าอีแมวน้องสาม มันไปไล่ตบหัวพี่น้องตัวอื่นๆ เพื่อครองนมทั้งเจ็ดไว้แต่เพียงผู้เดียว ทำให้แมวตัวอื่น ผอมเพรียวกันเป็นแถบ เวลาชูใจจะให้นมลูกแมวตัวอื่นจึงต้องคอยหลบไปเรียก น้องหนึ่ง น้องสอง น้องสี่ ด้วยเสียงกระซิบกระซาบ เพื่อที่ลูกแมวตัวอื่นจะได้กินนมอย่างเต็มที่
ด้วยเหตุนี้น้องสามเลยมีสภาพที่อวบอ้วนพะรุงพะรังเป็นพิเศษ เวลาเดินพุงก็จะลากพื้นเหมือนมีลูกบอลอยู่ในกระเพาะ น่ารักดี ตลกมาก แถมยังรู้สึกว่าตัวนี้แหละคือตัวที่ใช่สำหรับเรา ผมจึงสั่งจองน้องสามไว้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in