เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
FEEL THE FILMSstylojerry
La La Land : รู้ก็ดีไม่รู้ก็ได้

  • "I'm letting life hit me until it gets tired. Then I'll hit back. It's a classic rope-a-dope."
    - Sebastian 


    **บทความนี้มีการสปอยล์ หากไม่อยากเสียอรรถรถในการดูไม่ควรอ่าน**



    หลังจากทำลายสถิติคว้ารางวัลกลับบ้านมากที่สุดถึง 7 รางวัลในงานลูกโลกทองคำตอนนี้ก็คงบอกได้ว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเรื่อง La La Land ผลงานกำกับใหม่ล่าสุดของ Damien Chazelle ที่เคยฝากผลงานไว้เมื่อ 2 ปีก่อนอย่าง Whiplash ที่ได้รับคำชื่นชมและรางวัลหลายเวทีรวมถึงในเวทีออสการ์ด้วย เมื่อ Whiplash ประสบความสำเร็จ Damien ก็ไม่รอช้าที่จะเข็นบทหนังในฝันของเขาที่เขาตั้งใจทำเมื่อ 6 ปีก่อนออกมา 



    ทำไมต้อง La La Land ?
    la-la land เป็นคำนาม ตามCambridge Dictionaryเขาได้ให้ความหมายกับคำนี้ว่า "to think that things that are completely impossible might happen, rather than understanding how things really are" เมื่อเห็นความหมายก็พอจะนึกออกแล้วว่าหนังจะไปในโทนแนวไหน แต่ถ้าลองมาดูเรื่องย่อของหนังก็จะพบว่าหนังเกิดขึ้นในเมืองลอสแองเจิลลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองสำหรับผู้ตามหาความฝันในการเป็นดาราฮอลลีวู้ด ชื่อย่อของลอสแองเจิลลิสคือ LA และลา-ลาก็เหมือนกับการออกเสียงจังหวะดนตรีเวลาเราฮัมเพลงเพื่อเป็นการบอกใบ้ว่านี่คือหนังมิวสิคัลนะ 


    ก่อนจะเป็น La La Land 
    อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าเดเมียนมีความคิดจะทำเรื่อง La La Land ก่อนที่เขาจะทำ Whiplash ด้วยซ้ำ เพราะความที่เดเมียนนั้นมีความสนใจทางด้านดนตรีอยู่เป็นทุนเก่าอยู่แล้ว เดเมียนมีไอเดียในการสร้าง La La Land ขึ้นมาโดยมีฐานจากไอเดียที่บอกว่า "to take the old musical but ground it in real life where things don't always exactly work out," และเป็นการsaluteให้กับนักล่าฝันใน LA ทุกคน โดยมีเรื่องราวความรักของนักแสดงสาวกับนักดนตรีแจ๊สมาเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่องราว หลังจากนั้นเดเมียนก็ได้ร่วมมือกับจัสตินในการเขียนบทออกมา เดเมียนได้ลองส่งดราฟต์ของเรื่องนี้ไปให้ทางค่ายต่างๆ ไม่มีค่ายไหนพร้อมเสี่ยงที่จะทำละครเพลงที่ใช้เพลงแจ๊สร่วมสมัยที่เขียนขึ้นมาใหม่แบบนี้ แต่แล้วก็มีค่ายหนึ่งสนใจที่จำทำแต่ทางค่ายขอให้เดเมียนให้เปลี่ยนจากแนวเพลงแจ๊สเป็นแนวร็อคแทน แน่นอนว่าเดเมียนไม่มีทางยอมอยู่แล้ว เดเมียนเลยยอมพับโปรเจกต์นี้เก็บไปจนกระทั่งเขาประสบความสำเร็จกับ Whiplash และในที่สุดก็ได้ฤกษ์ทำเรื่องนี้สักที


    เดเมียนและเซบาสเตียน
    เมื่อดู La La Land จบเราจะพบได้ว่าเซบาสเตียนและเดเมียนนั้นมีความคล้ายคลึงกันมากเหลือเกิน 
    เซบาสเตียนมีความพยายามที่จะฟื้นเพลงแจ๊สกลับมา เดเมียนมีความพยายามที่จะฟื้นหนังมิวสิคัลออกมา พวกเขาต่างดิ้นรนจนกระทั่งประสบความสำเร็จ ยอมพับความฝันไว้ 5 ปี (เหมือนระยะเวลาที่เซบาสเตียนกับมีอาเจอกันในตอนจบ) ตั้งใจทำงานอย่างอื่นจนกระทั่งในที่สุดเซบาสเตียนก็เปิดคลับได้ เดเมียนก็สามารถฉายหนังที่เขาใฝ่ฝันจะทำได้ หรือแม้แต้ตอนที่คีธ (จอห์น ลีเจนท์) บอกกับเซบาสเตียนว่า "How are you gonna be a revolutionary if you're such a traditionalist? You hold onto the past, but jazz is about the future." มันก็เหมือนกับเดเมียนที่พยามผสมความเป็นมิวสิคัลกลิ่นอายเก่าๆ กับยุคใหม่ให้ทันปัจจุบัน 


    หนังเพลงก่อน La La Land
    เดเมียนเคยทำหนังเพลงก่อน La La Land มาก่อนชื่อว่า Guy and Madeline on a Park Bench ในปี 2009 เป็นหนังอินดี้ทุนต่ำเรื่องแรกที่เดเมียนทำก่อนจะประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้ 




    ก่อนเอ็มม่าคือเอ็มม่า
    อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าก่อนหน้าจะแคสต์เอ็มม่า สโตนมารับบทมีอา เอ็มม่า วัตสันนั้นเป็นตัวเลือกของมีอามาก่อน ซึ่งเอ็มม่าปฏิเสธไปเพราะติดแสดง Beauty and the Beast แต่อันที่จริงหากลองเปลี่ยนเป็นเอ็มม่า วัตสันเล่น เราก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าพลังของเอ็มม่า วัตสันจะสู้พลังของเอ็มม่า สโตนในการเป็นผู้หญิงที่พยายามตามหาความฝันต่อสู้กับการถูกปฏิเสธมานักต่อนักแบบเอ็มม่า สโตนไหวมั้ย และบทของเซบาสเตียนที่ก่อนนั้นจะตกเป็นของไมลส์ เทลเลอร์ซึ่งไม่น่าจะมีเสน่ห์สู้ไรอัน กอสลิ่งได้ 
    (สรุปก็คือแคสท์นี้แหละโอเคมากๆ แล้ว รู้สึกว่าเคมีของไรอันกับเอ็มม่าเข้ากันมากๆ รับส่งอะไรกันได้ดี)


    ฉากท้องฟ้าจำลอง
    ไรอัน กอสลิ่งบอกในสัมภาษณ์หนึ่งว่า ฉากในท้องฟ้าจำลองนั้นคือความรู้สึกเวลาเราตกหลุมรักใครสักคน และเพลงประกอบก็มีกลิ่นอายเหมือนกับการ์ตูนดิสนี่ย์สมัยก่อนด้วย มันเป็นฉากที่สวยงามมากๆ ยิ่งไปดูในจอ imax ด้วยแล้วรู้สึกว่ามันตระการตามากๆ โดยสถานที่ที่ใช้คือ Griffith Observatory ที่ใช้ถ่ายหนังเรื่อง Rebel without a cause มาแล้ว รวมถึง Gangster Squad ที่ไรอัน กอสลิ่งและเอ็มม่า สโตนเคยแสดงด้วยกันมาแล้วในบทของเจอร์รี่ และเกรซ

    แต่ในฉากที่เต้นรำกันในท้องฟ้าจำลองนั้นทาง Griffith Park Observatory ไม่อนุญาติให้กองถ่ายเข้ามาถ่ายภายในท้องฟ้าจำลองได้ ดังนั้นทีมงานเลยต้องเซ็ทฉากใหม่หมด ส่วนตัวโปรเจ็คเตอร์อันใหญ่ตรงกลางท้องฟ้าจำลองนั้นพวกเขาก็ต้องเช่ามาจาก the Planetatium and Projector Science Museum ใน Big Bear Lake,California อีกที 

    ความบังเอิญ
    มีฉากหนึ่งที่พี่สาวของเซบาสเตียนเรียนเซบาสเตียนว่า อาลี ซึ่งหมายถึงมูฮัมหมัด อาลีที่เสียชีวิตในเดือนมิถุนายนปี 2016 (La La Land ถ่ายช่วงซัมเมอร์ปี 2015 เป็นเวลา 8 สัปดาห์) และฉากที่มีอาตะโกนเรียกเซบาสเตียนว่า George Michael ซึ่งเสียชีวิตหลังจากหนังฉายเมื่อวันคริสต์มาสต์ที่ผ่านมา  


    ฉาก Audition ของ Mia
    ในฉากนั้นเอ็มม่าจะมีบทพูดก่อนจะร้องเพลง The fools who dream ซึ่งในการถ่ายทำนั้น เอ็มม่าไม่ได้ลิปซิ้งค์แต่เดเมียนให้ John Hurwitz เล่นเปียโนสดให้เพื่อให้เอ็มม่าสามารถคอนโทรลซีนนั้นได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นซีนที่ทำให้ใครหลายๆ คนเสียน้ำตาไม่ใช่น้อย


     

    Montage ในตอนจบ
    Montage ในตอนจบนอกจากจะเป็นการรวมสิ่งที่สามารถจะเกิดขึ้นกับมีอาและเซบาสเตียนได้แล้ว มันยังเป็นการเสียดสีหนังฮอลลีวู้ดที่มักจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งอย่างมีความสุขอีกด้วย โดยใน La La Land นั้นมีการอ้างอิงหนังคลาสสิคหลายๆ เรื่อง (ซึ่งถ้าว่างจะเขียนอีกที) รวมถึงในmontageตอนนั้นด้วยที่มีการอ้างอิงถึง Funny Face และ The Red Balloon ด้วย 

    Mia and Sebastian's Song
    หากตั้งใจฟังดีๆ เราจะพบว่าเราค่อนข้างจะติดหูกับเพลงของทั้งคู่ มันแทบจะแฝงเข้าไปในทุกฉากที่พวกเขาสองคนอยู่ด้วยกันเลย และในฉากสุดท้ายที่เซบาสเตียนเล่นเพลงนี้อีกครั้งมันทำให้ใครหลายๆ คนบ่อน้ำตาแตกกันเลยทีเดียว โดยเราต้องขอบคุณ Justi Hurwitz ที่ดูและเรื่องดนตรี ทำให้มันพยุงหนังทั้งเรื่องไว้อย่างสวยงามจนเราไม่ได้สนใจเลยว่าหนังมันจะยาวแค่ไหน 



    บทสรุปในตอนจบ 
    สำหรับเรา เราคิดว่าตอนจบแบบนั้นเป็นตอนจบที่ดี เพราะเรื่องนี้มันเริ่มจากความฝัน อย่างที่เราเห็นใน montage ที่ทั้งเซบาสเตียนและมีอาได้อยู่ด้วยกันแต่เซบาสเตียนไม่ได้มีคลับแบบที่ตัวเองฝันได้ กลายเป็นในตอนจบเขาก็ไปฟังคนอื่นเล่น มีแต่มีอาที่สามารถทำความฝันสำเร็จอยู่คนเดียว แต่ตัดมาที่ความเป็นจริง ทั้งสองทำความฝันของตัวเองสำเร็จและทำได้ดีเสียด้วย ทั้งมีอาที่แต่งงานมีครอบครัวและบ้านหรูหรากลายเป็นนักแสดงที่ทุกคนชื่นชอบ รวมถึงเซบาสเตียนที่ซื้อรถใหม่ดูดีกว่าเดิมและบ้านหลังใหม่และมีคลับเป็นของตัวเอง ทั้งคู่ประสบความสำเร็จตามที่ฝันแล้ว และในซีนสุดท้ายที่พวกเขาจ้องตากันและยิ้มให้ มันเหมือนจะย้ำเตือนว่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดพวกเขายังจำกันได้อยู่เสมอ พวกเขาจะรักกันอยู่เสมอแบบที่ทั้งคู่บอกกันในตอนนั้น เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว อาจจะเศร้าหน่อยตรงที่มีอายังคงมีอิทธิพลกับเซบาสเตียนเสมอ เซบาสเตียนยอมตั้งชื่อร้านและเอาโลโก้ที่มีอาออกแบบให้มาใช้กับร้านของตัวเองทั้งๆ ที่ตัวของเซบาสเตียนนั้นอยากจะตั้งชื่อร้านว่า Chicken On A Stick มาตลอด แต่ที่แน่ๆ ทั้งคู่ต่างเปลี่ยนชีวิตของกันและกัน หากเซบาสเตียนไม่เจอมีอาเขาก็คงจะไม่พยายามทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จขนาดนี้ และหากมีอาไม่เจอเซบาสเตีียน มีอาก็คงจะไม่ยอมกลับไปแคสท์บทนั้นแน่ๆ มันทำให้เรานึกถึงประโยคที่พวกเขาพูดกันขณะที่เซบาสเตียนเดินไปส่งมีอาที่รถ


    Mia: It's pretty strange that we keep running into each other.

    Sebastian: Maybe it means something.

    Mia: I doubt it.

    Sebastian: Yeah, I didn't think so.


    พวกเขาไม่รู้เลยว่าพวกเขาจะต่างคนต่างมาเปลี่ยนชีวิตและเป็นแรงผลักดันให้ต่างคนต่างประสบความสำเร็จกันได้จนทุกวันนี้

    จะขอยกคำบรรยายซีนตอนจบจากดราฟต์ปี 2013 มาประกอบอรรถรถ 
    สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาได้ใช้เวลาที่มีด้วยกันอย่างคุ้มค่าและนั่นมันก็มากพอแล้ว 

    La La Land คือหนังที่ผสมผสานกันระหว่างความฝันกับความเป็นจริง มีโปรดักชั่นที่สวยงาม ไม่แปลกใจทำไมถึงมีคนชมเยอะแยะนัก และเรื่องราวความรักที่เราจะไม่มีวันลืมของมีอาและเซบาสเตียน มันคือการคืนชีพกลับมาของหนังมิวสิคัล และมีการเคารพหนังมิวสิคัลเก่าๆ อีกหลายๆ เรื่อง ดูจบแล้วเชื่อว่าหลายๆ คนอยากจะไปทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จกันทุกคนแน่นอน อย่างเช่นเพลงที่มีอาร้องไปออดิชั่น Here's to the ones who dream. Foolish, as they may seem. Here's to the hearts that ache. Here's to the mess we make.

    "People love what other people are passionate about."
    - Mia



    เราจะรักมีอาและเซบาสเตียนเสมอ.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in