เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Lingua Diarysarayeu
CHAP 1 : แค่เริ่มต้นก็ปวดหัวจะแย่แล้ว
  • Photo by WallpaperAccess.com

    สวัสดีครับทุกคน บทความนี้หาทำเขียนขึ้นมาเพราะว่า เราไปหารีวิววิชาหรือรีวิวการเรียนภาษาศาสตร์ยากมาก ๆ เท่าที่เคยเจอมาจะเจอของหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอกนั่นเอง) ที่เวลาเสิร์ชไปว่า รีวิวภาษาศาสตร์ ก็น่าจะขึ้นมาเป็นอันดับแรก เราก็เลยคิดว่า สาขานี้คนมันเรียนน้อยเหรอหรือยังไง แต่ว่าเราสนใจมันมาก ๆ แต่ก็หาข้อมูลเชิงลึกไม่ค่อยได้สักที ดังนั้นบทความนี้เลยอยากเขียนขึ้นมาเพื่อจะให้เป็นแนวทางเผื่อจะมีคนที่สนใจในการเรียนที่เรียกได้ว่าค่อนข้างจะ "แปลก" ไปจากปกติพอสมควร แบบเรา และเป็นบันทึกความทรงจำของเราในการเรียนในวิชานี้ด้วยเหมือนกัน แม้ว่ามันจะเป็นแค่วิชาโทของเราก็ตาม

    ตัวผู้เขียนอยู่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ใช่ครับ ไม่ใช่คณะอักษรศาสตร์ที่เป็นคณะแม่ของภาควิชาภาษาศาสตร์แต่อย่างใด) ภาควิชาการปกครอง (ยิ่งไม่เกี่ยวเข้าไปใหญ่) แต่เราสนใจการเรียนวิชาภาษาศาสตร์ หรือความรู้เกี่ยวกับภาษาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสัทวิทยา (Phonology) วากยสัมพันธ์ (Syntax) หรือหน่วยคำวิทยา (Morphology) มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว แต่พอดีตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย มันเกิดความคิดว่าไม่รู้ว่าจะเรียนแล้วเอาไปทำอะไร ซึ่งน่าจะเป็นความคิดที่ถูกปลูกฝังมาเสียมากกว่า ดังนั้นก็เลยเบี่ยงทางไปทางสายรัฐศาสตร์แทน

    ต้องเกริ่นก่อนว่าคณะรัฐศาสตร์นั้นให้เราเลือกเรียนรายวิชาโท จะในคณะหรือนอกคณะก็ได้เป็นจำนวน 18 หน่วยกิต (6 ตัวหากนับง่าย ๆ) ตลอดการศึกษาระดับปริญญาตรี ตอนแรกเรากะว่าจะโทภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) เพราะว่าเราอยากสอบทูต แต่ไป ๆ มา ๆ เจอว่า IR ค่อนข้างจะเรียนหนัก ทำเปเปอร์หนัก ซึ่งเราเองเป็นคนค่อนข้างจะขี้เกียจและรักสบายพอสมควร 555+ ดังนั้นก็เลยว่าจะหาวิชาอื่นเป็นวิชาโทแทน

    ตอนแรกว่าจะไปโทจิตวิทยา แต่ก็คิดว่าก็คงเรียนไม่ไหว ไม่เข้าใจ เลยจะไปโทอาชญวิทยา ซึ่งเป็นวิชาของภาควิชาสังคมฯ ของคณะเราเอง ซึ่งเราก็สนใจอยู่เหมือนกัน จนกระทั่งมาเจอว่า อักษรจุฬา มีภาควิชาภาษาศาสตร์ นั่นแหละเลยเป็นจุดเริ่มต้นของเราที่คิดว่า จะต้องเรียนโทเป็นภาษาศาสตร์ให้ได้เลย และตอนนี้ก็เริ่มได้แล้ว ดีใจมาก ๆ ที่ได้เรียนสิ่งที่อยากเรียนจริง ถึงจะช้าไปนิดเพราะได้เริ่มตอนอยู่ปี 2 เทอม 2 แล้วก็ตาม

    แต่ว่าการเริ่มต้นมันก็ไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น เราเริ่มหาข้อมูลการเรียนวิชาโทภาษาศาสตร์ตอนเทอม 1 เพราะว่าวิชาตัวแรกที่เป็นตัวบังคับสำหรับนิสิตนอกคณะนั้นเปิดตอนเทอม 2 ชื่อว่าวิชา 2209161 Into Lang : ภาษาทัศนา กับ 2296200 Human Lang : ภาษามนุษย์ (Gen-ed S/U) แต่ตอนเราไปถามภาควิชามา ภาควิชาบอกว่า แนะนำให้เรียนเป็น Human Lang มากกว่าสำหรับนิสิตนอกคณะ เราก็จัดไปเลย เทอม 2 ลงทะเบียนเรียนวิชานี้ และความบันเทิงก็เกิดขึ้นกับตารางเรียนของนิสิตอย่างเราตั้งแต่ตอนนั้น นั่นก็คือวิชา Human Lang ชนกันกับวิชาบังคับคณะรัฐศาสตร์ Intro Soc Pol Theo ในวันพุธ ทำให้เราต้องวิ่งวุ่นถามอาจารย์ทั้งสองวิชา ว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะการสอบเก็บตัว (การสอบหลังจากที่เพื่อนสอบเสร็จแล้ว) ซึ่งได้ความว่าวิชา Human Lang นั้นสอบเก็บตัวไม่ได้เพราะเป็น Gen-ed และเราก็ไม่อยากไม่เรียนทั้งสองวิชานี้ จนในที่สุดอาจารย์ไชยันต์ (พ่อหนุ่มผมยาว) คนสอนวิชา Intro Soc Pol Theo ก็บอกว่าให้ไปเก็บตัววิชาของแกได้นะ ไม่เป็นไร

    แต่ทว่าหลังจากนั้นแล้วก็มีปัญหาอีก นั่นก็คือ ถ้าเราเรียน Human Lang มันจะไม่เก็บเป็นตัวโท ! เพราะมันตัดเกรด S/U นั่นเอง ทำให้เราต้องเรียนวิชาโทเพิ่มอีก 6 ตัว ก็เหมือนว่า Human Lang จะเป็นวิชาเลือกเสรีไปโดยปริยายเพราะเราเก็บ Gen-ed ครบแล้ว (ซึ่งจริง ๆ เรามีเสรีไว้ในใจอยู่ด้วย) อาจารย์ผู้สอนเลยแนะนำว่า ไปเรียน Intro Lang แทนนะ แต่ปัญหาก็คือว่ามันดันไปชนกับวิชาบังคับคณะของเราอีกตัวอย่างพอดิบพอดีในวันอังคาร เราก็เลยระหกระเหินไปลงวิชาอีกตัวหนึ่งซึ่งน่าเรียนและวางแผนจะเรียนอยู่เหมือนกัน ก็คือ 2209305 Meaning Lang : ความหมายในภาษา ซึ่งเราก็ดาหน้าไปถามอาจารย์ว่าถ้าไม่เคยเรียนเลยจะเรียนได้ไหม อาจารย์ก็น่ารักมากบอกว่าน่าจะเรียนได้ เพราะเริ่มสอนจากพื้นฐาน ไอ้เราก็สบายใจไปเปลาะหนึ่งเรียบร้อย

    ความบันเทิงเริงรมย์ในการจัดตารางของเรายังไม่จบแค่นั้น เพราะอยู่ดี ๆ อาจารย์คนสอนวิชาอังคารบ่ายของเราดั๊นประกาศไม่สอน ทำให้อาจารย์พวงทอง ซึ่งเป็นอีกท่านที่สอนวิชาเดียวกันนี้ (มี 2 เซค) เป็นคนเข้ามารับหน้าที่สอนแทน และอาจารย์พวงทองก็บอกว่า อยากสอนเป็น 2 เซค ทำให้วุ่นวายต้องหาเวลามาเป็นเซค 2 ให้กับอาจารย์ จนในที่สุดก็ได้ผลสรุปว่าเป็นอังคารเช้า และอังคารบ่าย พอได้ยินแบบนี้เราเองก็ตาวาวเลย เพราะอยากเรียนวิชา Intro Lang มาก ด้วยความที่เราชอบทำอะไรตามสเต็ปในตอนต้น เลยอยากเริ่มจากพื้นฐานดูว่าไหวไหมก่อนน่าจะดีกว่า

    พออาจารย์พวงทองบอกว่าจะมีเซคเช้าและบ่าย เราก็ลิงโลดเลย ยอมตื่นเช้าอีกวันนึงเพื่อจะได้เรียนวิชาโทที่อยากเรียน เราก็เลยตัดสินใจลงเซคเช้าไปแบบไม่ได้คิดอะไรเลย แม้อาจารย์จะบอกว่าบางครั้งจะมีควิซตอนบ่าย แบบที่บอกให้นิสิตเข้าเรียนวิชาตอนบ่ายสายเพื่อมาควิซของอาจารย์ก็ตาม (ตามจริงเราค่อนข้างจะไม่ค่อยชอบคำพูดแบบนี้เท่าไหร่) แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาเพราะว่าวิชา Intro Lang นั้นเรียนในรูปแบบที่ยืดหยุ่นกว่า ทำให้เราสามารถเลือกเวลาเรียน เวลาทำควิซของเราเองได้ในวันที่เราว่าง

    จนในท้ายที่สุดแล้วเราก็สามารถลงทะเบียนเรียนวิชาแรกของวิชาโทภาษาศาสตร์ของเราได้อย่างทุลักทุเลพอสมควร เพราะเปลี่ยนวิชาไป 3 รอบ ลงทะเบียนเพิ่ม-ลด ไป 4 ครั้ง จนในที่สุดก็ได้ตารางเรียนตามที่เราหวังและรายวิชาทั้งที่บังคับและเราเลือกเองได้ในที่สุด


    Photo by WallpaperAccess.com

    หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราดันทุรังอยากเรียนภาษาศาสตร์มากขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่มันดูเป็นวิชาที่ไม่ค่อยจะสามารถเอาไปต่อยอดอะไรได้สำหรับมุมมองของคนนอก (ตอนตัดสินใจบอกกับที่บ้านเขาก็ดูไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน) บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเรียนอะไร บางคนคิดแค่ว่ามันน่าจะเป็นการเรียนภาษาหลาย ๆ ภาษา ต้องพูดให้ได้เยอะ ๆ ภาษา แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการศึกษาว่าภาษาคืออะไร การเกิดภาษาเกิดมายังไง ศึกษาภาษาด้วยวิทยาศาสตร์ การสำรวจตรวจสอบและวิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งอย่างที่เราได้บอกในตอนต้นว่าเราสนใจเรื่องสัทวิทยา หน่วยคำ วากยสัมพันธ์ หรือสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษาทั้งที่มีและไม่มีในภาษาไทย เราสงสัยว่าทำไมภาษาไทยมีวรรณยุกต์ ทำไมภาษาไทยถึงคล้ายกับภาษาจ้วง ทำไมภาษาไทยจึงไม่มีการก (Cases) มาลา (Moods) วาจก (Voices) มากมาย หรือไม่มีการผันเข้าวิภัตติปัจจัย เราสงสัยว่าทำไมภาษาอื่นถึงมี และเขามีกันยังไง เราสงสัยว่าทำไมภาษาบางภาษามีเพศ มีพจน์ แต่ทำไมภาษาไทยถึงไม่มี มันเลยยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าการเรียนภาษาศาสตร์นี่แหละ จะทำให้เราตอบคำถามพวกนี้ได้ และเราอยากจะตอบคำถามพวกนี้มากกว่าการตอบว่าประชาธิปไตยที่ดีคืออะไรในวิชาเอกของเรามากกว่าเสียอีก พูดให้ถูกคือถ้าย้ายคณะได้ เราก็ย้ายมาเรียนไปแล้ว แต่เพราะเราไม่อยากซิ่ว และคิดว่าปริญญาโทก็ยังมีโอกาสเรียนอยู่ เลยอยากเก็บความรู้เบื้องต้นไปก่อนพลาง ๆ

    สรุปว่าเราก็มีแพชชั่นในการเรียนวิชาภาษาศาสตร์มากจริง ๆ จนกระทั่งที่ว่าเคยคิดว่าจะไม่เรียนวิชาบังคับคณะแล้วมาเรียนภาษาศาสตร์แทนด้วยซ้ำ แต่ก็ชั่งใจว่าอยากจบวิชาคณะไปพร้อมเพื่อนมากกว่า ก็เลยถูไถไปพอเท่าที่ทำได้ ได้ลองเรียนคาบแรก ได้ลองดู Syllabus ก็รู้สึกว่านี่แหละทางของเรา เรามีความสุขกับการฟังอาจารย์พูดเรื่องนี้ สอนเรื่องนี้ ไม่รู้สึกเบื่อเหมือนเรียนวิชาคณะบางตัวเลยแม้แต่นิดเดียว

    สำหรับการเริ่มต้นของเราก็จบเพิ่งเท่านี้ เพราะเพิ่งจะเริ่มเทอม 2 มาไม่นานก็ปวดหัวขนาดนี้แล้ว ไม่รู้ว่าเรียนไปเรื่อย ๆ จะเป็นยังไง วิชาคณะ วิชาภาค วิชาเลือก วิชาโท จะตีกันวุ่นวายไหม ไว้เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังกันอีกหลังจากนี้อีกครับ

    แล้วก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่อยากเรียนอะไรแต่ต้องเลือกไปเรียนอย่างอื่นทุกคน เราเชื่อว่าถ้าคุณพยายาม วันหนึ่งคุณจะได้เรียนในสิ่งที่คุณอยากรู้แน่นอน ท้ายนี้ขอฝากคลิปเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับภาษาศาสตร์ไว้ให้ลองไปศึกษากัน เผื่อว่าใครจะสนใจแบบเรานะครับ ^^


    ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน หวังว่าจะได้พบกันใหม่ในไม่ช้านี้ครับ
    Vr'énifelint : sarayêu



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in