เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
MAI-RU-MAI-CHIEmairumaichie
"The Last Lecture" เลกเชอร์ครั้งสุดท้ายกับศาสตราจารย์แรนดี
  • หมายเหตุ : นี่เป็นการบันทึกแบบไม่รู้ไม่ชี้ โปรดอย่าเรียกรีวิวเลย ไม่แน่ใจว่ามันคืออะไรเหมือนกัน


    ชื่อเรื่อง : เดอะลาสต์เลกเชอร์  (The Last Lecture)
    เขียนโดย : แรนดี เพาช์ และ เจฟฟรีย์ ซาสโลว์ - แปล : วนิษา เรซ
    สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ HOW TO





    หนังสือเล่มนี้เคยอ่านเมื่อราวห้าหรือหกปีก่อน มีโอกาสได้อ่านเพราะพี่ยืมมาจากห้องสมุด ตอนนั้นยังเรายังเป็นเด็กที่อ่านหนังสือแบบไม่ค่อยคิดอะไรนัก ชอบอ่านนิยายกับฟิคชั่นบนอินเทอร์เน็ตมากกว่า คงไม่ต้องพูดถึงหนังสือประเภทที่มีสาระ เราไม่อ่านเลยด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่าหนังสือเล่มนี้กลับตราตรึงในใจมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนได้มาครอบครองและอ่านอีกครั้งเป็นรอบที่สอง และคาดว่าจะมีรอบที่สาม...สี่...ห้า... ต่อไปในอนาคต


    เดอะลาสต์เลกเชอร์ เป็นปาฐกถาครั้งสุดท้ายของ ศ.แรนดี เพาช์ ที่บอกว่าครั้งสุดท้ายนี้ไม่ใช่เพราะว่าเขากำลังจะเกษียณไปใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข แต่เป็นเพราะเขากำลังจะตายด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่ยังอายุไม่ถึงห้าสิบด้วยซ้ำ ไหนจะลูก ๆ ทั้งสามคนก็ยังโตไม่ถึงสิบขวบ เป็นเรื่องราวที่ฟังเผิน ๆ เหมือนจะเต็มไปด้วยอารมณ์หดหู่เศร้าสร้อย แต่เมื่ออ่านแล้วกลับมีความหวังและเบิกบานที่จะละเลียดทุกวินาทีที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างมีสติ พร้อมตระหนักรู้ถึงคุณค่าของเวลาและการใช้ชีวิต 


    เลกเชอร์ของ ศ.แรนดี ได้กลายเป็นเลกเชอร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนนับล้าน และหนึ่งในนั้นก็คือเรา




    แม้เวลาจะผ่านไปแล้วนับสิบปีจากการจัดปาฐกถาในครั้งนั้น แต่ทว่าข้อคิดดี ๆ ในเลกเชอร์นั้นยังคงทันสมัยและสามารถนำมาใช้ได้เสมอ เพราะสิ่งที่แรนดีได้พูดเอาไว้เป็นความจริงของชีวิต รวมไปถึงคุณค่าบางสิ่งบางอย่างที่หลายครั้งเราก็หลงลืมไปด้วย


    ตัวอย่างเช่น


    • หาส่วนที่ดีที่สุดในตัวทุกคน : เมื่อเราโมโหใครสักคนอาจเป็นไปได้ว่าเรายังเฝ้ามองเขาไม่พอ บางครั้งก็ต้องใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวด แต่เมื่อเราเฝ้ามองนานพอแล้ว เราจะพบว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีส่วนที่ดี แค่เฝ้ารอ... แล้วเราจะเห็น


    • อย่าหมกหมุ่นกับสิ่งที่คนอื่นคิด : วันเวลาของคนจำนวนมากถูกใช้ไปกับการกังวล เราควรเอาเวลานั้นมาทำงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเฉพาะกับคนบางคน(เช่น ศ.แรนดี)ที่เมื่อเขาไม่ได้พูดอะไร นั่นแสดงว่าเขาไม่ได้คิดอะไรจริง ๆ

    • เมื่อเราทำอะไรพลาดและไม่มีใครเตือนเรา แปลว่าเขาหมดหวังในตัวเราแล้ว : บางครั้งในบางสถานการณ์เราไม่อยากได้คำติ แต่แท้จริงแล้วคนที่ติเรายังห่วงเรา และอยากให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น

    • ศาสตร์แห่งจดหมายขอบคุณ : การเขียนจดหมายขอบคุณด้วยลายมือสามารถบ่งบอกอะไรถึงตัวผู้เขียนได้ และอาจสร้างความประทับใจ(ให้กับผู้รับหรือผู้ที่มีโอกาสได้อ่าน)จนอาจจะได้พบโอกาสบางโอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

    • คิดใหม่ทำใหม่เรื่องโทรศัพท์ : เวลาเรานั่งคุยโทรศัพท์อย่าเอาขาดพาดไว้ที่โต๊ะ เพราะจะทำให้คุยโทรศัพท์นานจนเสียเวลา หรือ ถ้าไม่อยากคุยโทรศัพท์ ก็แกล้งวางตอนที่กำลังพูดกลางประโยค อีกฝ่ายจะได้เข้าใจว่าสัญญาณไม่ดี รวมถึง ถ้าอยากคุยโทรศัพท์กับใครเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ให้โทรไปตอนอีกห้านาทีเที่ยง เพราะอีกฝ่ายจะไม่มีวันสนใจเราไปมากกว่าอาหารกลางวัน


    นี่เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่อย่างจากเนื้อหาเท่านั้น

    ศ.แรนดียังพูดเกี่ยวกับความฝันที่ยิ่งใหญ่ (เช่น ความฝันในวัยเด็กที่เคยอยากทำงานกับดิสนีย์แลนด์ จนต้องขออธิบการบดีพักร้อนระหว่างการทำงานสอนที่มหาวิทยาลัย) การใช้ชีวิตที่มีความสุขและขับเคลื่อนด้วยจินตนาการ รวมไปถึงเรื่องสนุก ๆ ที่อ่านแล้วจนต้องหลุดเสียงหัวเราะออกมา อย่างเช่น เทพนิยายไม่ได้จบดีไปทุกเรื่อง ที่เป็นการเล่าเรื่องราวตอนฮันนีมูนของศ.แรนดีและภรรยาว่าต้องเสี่ยงตายแค่ไหน

    ความรู้สึกระหว่างการอ่านนับว่าเป็นความปั่นป่วนทางอารมณ์ในจิตใจมากพอสมควร ช่วงหนึ่งอาจจะยิ้มและหัวเราะกับเรื่องราวตลก ๆ ช่วงหนึ่งอาจจะอบอุ่นซาบซึ้งในหัวใจ หรืออีกช่วงหนึ่งอาจจะต้องเจ็บปวดและโศกเศร้าจนต้องหลั่งน้ำตา พร้อมกับความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ในหัวว่า "ถ้าเป็นเราล่ะ... เราจะทำได้แบบเขาไหม"



    เหตุผลทั้งหมดในการปาฐกถาของ ศ.แรนดี มีไว้เพื่อลูก ๆ ที่อายุไม่ถึงสิบขวบซึ่งยังเด็กมาก และเพื่อที่ลูก ๆ ของเขาจะได้รู้ว่าพ่อนั้นรักพวกเขามากแค่ไหน ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากเขาต้องจัดการทุกอย่างให้ดีที่สุดท่ามกลางร่างกายที่อ่อนแอลงทุกวันด้วยโรคมะเร็งร้าย

    ศ.แรนดี คือ สิงโตบาดเจ็บ ที่ยังอยากคำราม

    เพราะเขาไม่ใช่นักดนตรี จึงไม่สามารถประพันธ์บทเพลงเพื่อให้ลูก ๆ ได้จดจำตัวเองได้ ไม่ใช่จิตกรจึงไม่อาจสร้างสรรค์ภาพวาดที่ถ่ายทอดความทรงจำความรู้สึกที่มีออกไป แต่เขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะปาฐกถาฝากไว้

    เขาบอกกับภรรยาว่า 

    "ผมบอกคุณได้เลยว่า เมื่อลูกของเราโตขึ้นเขาจะต้องผ่านช่วงชีวิตที่เจ็บปวด ซึ่งเขาจำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่า พ่อของฉันคือใคร พ่อของฉันเป็นคนแบบไหน และการปาฐกถาครั้งนี้อาจช่วยตอบคำถามเหล่านั้นให้ลูก ๆ ได้"

    นั่นจึงกลายเป็นที่มาของเลกเชอร์คร้ั้งสุดท้าย

    .

    .

    "The Last Lecture"





    END.
    #mairumaichie



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in