เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เดินวนในมิวเซียมbook_nomad
อิฐแดง ห้องขัง ต้นไม้ข้างลานประหาร | พิพิธภัณฑ์ซอแดมุน (โซล)
  • "เกาหลีรอบนี้ ตั้งใจไปไหนบ้าง" 
    พ่อถามพร้อมกับหมุนพวงมาลัยรถไปด้วย

    ชื่อสถานที่แรกที่ฉันบอกคือ ซอแดมุน 
    และอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเรือนจำ

    "ไปตั้งไกล ไปดูคุกเนี่ยนะ"
    แล้วพ่อก็หัวเราะ

    หอสังเกตการณ์หอเดียวที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ 

    ฉันไปเกาหลีช่วงกระแสแอนตี้ญี่ปุ่นรุนแรง การไปซอแดมุนซึ่งเน้นนำเสนอความเลวร้ายของการถูกปกครองโดยญี่ปุ่น จึงเป็นเหมือนการไปเยือนใจกลางสถานที่ที่กักขังความเกลียดชังไว้อย่างเต็มเปี่ยม ควบคู่ไปกับความภูมิใจในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

    อันที่จริง หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และออกไปจากเกาหลี เรือนจำซอแดมุนก็ใช้ขังกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยต่อ แต่ไม่รู้คิดไปเองไหมว่าการนำเสนอเรื่องราวสมัยญี่ปุ่นปกครองจะเด่นกว่าตอนเรียกร้องประชาธิปไตยมาก

    _______

    ฉันถามตัวเอง
    'ทำไมคนเราต้องจดจำความเจ็บปวด' 

    ทบทวนอยู่นาน 
    สรุปคำตอบเอาเอง

    เพราะคนมีอยากให้เราจำ

    บางที ความเจ็บปวดร่วมกัน 
    ก็เป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างชาติ

    _______

    ซอแดมุนเป็นสถานที่แนะนำจากไกด์บุ๊กและเว็บไซต์หลายแห่ง ทำใจแล้วว่าต้องคนไปเยอะแน่ ๆ แต่ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ เกินครึ่งเป็นกรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติ

    เดินต่อแถว แออัด ท่ามกลางอากาศร้อน ๆ ไม่สนุกเท่าไหร่ มีข้อดีเดียวคือ แอบฟังไกด์ของกรุ๊ปข้างหน้าเราบรรยายได้ (ใช่แล้ว เบียดขนาดที่เราเนียน ๆ ไปเป็นลูกทัวร์ได้หลายกรุ๊ปเลยทีเดียว)

    ผ่านห้องจำลองการทรมานนักโทษเป็นห้องที่หลายคนพูดถึง ไม่รู้คนอื่นคิดอย่างไรนะ แต่ฉันไม่ชอบห้องที่ใส่หุ่นให้เห็น ฉันว่ามันทำลายมนต์ขลังของจินตนาการ สำหรับฉัน แค่เห็นโซ่ตรวนก็เห็นภาพไปล้านแปด หัวใจก็เจ็บจี๊ด ๆ ไม่ต้องพึ่งหุ่นจำลองหรอก

    เดินตามทัวร์ไปได้สักพัก ฉันกับ เจ้ (คู่หูร่วมเดินทางผู้พูดภาษาเกาหลีได้) ก็ตัดสินใจเดินตามที่อยากเดิน โดยการย้อนเส้นทางที่แผนที่แนะนำ

    ห้องนี้ใช้วอลเปเปอร์ลายบัตรบันทึกข้อมูลนักโทษ

    สถานที่ขังนักโทษชาย
    ภายในห้องขัง

    ถ้าไม่ได้อยากไปดูห้องขังของคนมีชื่อเสียงคนไหนเป็นพิเศษ แนะนำให้มาดูอาคารขังนักโทษชายอาคารอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาคารเชื่อมกับฮอลล์จัดแสดงดีกว่า เพราะหน้าตาห้องขังเหมือนกันหมด แถมห้องขังในอาคารอื่นก็มีของใช้นักโทษจัดแสดงเหมือนกันด้วย

    เสียดายที่ป้ายข้อมูลที่นี่มักจะแปลอังกฤษแค่หัวข้อ ส่วนรายละเอียดก็แปลบ้างไม่แปลบ้าง บางป้ายก็ภาษาเกาหลีล้วน จะให้ เจ้ แปลทุกอย่างที่ฉันอยากรู้ก็ไม่ได้ ต้องอาศัยเสิร์ชกูเกิ้ลหาข้อมูลจากชื่อหัวข้อนั่นแหละให้พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร คนนี้สำคัญยังไง

    (แต่มีแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ร้ายนะเนี่ย)

    ยูกวานซุน (Yoo Kwan Sun) 
    นักโทษหญิงผู้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านญี่ปุ่น

    ออกจากตึกอิฐสีแดงมา ก็มาถึงพื้นที่โล่งแห่งจินตนาการ 

    พิพิธภัณฑ์ที่ดีสำหรับฉัน นอกจากจะมีเรื่องราวนำเสนอ ยังต้องมีพื้นที่พอให้คนเยี่ยมชมได้ยืนนิ่ง ๆ ใช้ความคิด ได้เสพอารมณ์ ได้สูดกลิ่นไอ

    ช่องกั้นออกกำลังกาย ห้องกักกันนักโทษโรคเรื้อน และลานประหาร คือที่ที่ฉันประทับใจเป็นพิเศษ ฉันนึกภาพนักโทษเดินทางจากห้องขังแคบ ๆ ไปที่สนาม ในที่โล่งกว้างนั่นมีแค่บริเวณเล็ก ๆ ในช่องกั้นเท่านั้นที่เขาสามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้อิสระ


    ทว่าจะบอกว่าอิสระก็พูดได้ไม่เต็มปาก เมื่อช่องกั้นออกกำลังกายมีพื้นยกสูงอยู่ด้านหน้า เวทีที่ผู้คุมสามารถมองเห็นทุกอย่าง

    อิสรภาพปลอม กับ เวลาชั่วครู่ อาจจะทรมานมากกว่าการนั่งคุดคู้ในห้องขังเป็นปี ๆ ก็ได้ ในเมื่อมองเห็นกำแพงอยู่ไม่ไกล ทั้งยังมีนกบินเล่นอย่างเสรีเย้ยหยันแค่เพียงเงยคอมอง

    ในมโนภาพฉัน มีนักโทษยืน พิง ขยับแขนขาอยู่เต็มช่องกั้นออกกำลังกาย

    พอขึ้นไปยืนบนเวทีจะเห็นพื้นที่ภายในช่องกั้น
    มุมจาก Leper's Building เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ บนเนิน ใช้ขังนักโทษโรคเรื้อน
    ห้องกักกันนักโทษโรคเรื้อนเป็นบ้านขนาดเล็กอยู่แยกจากตัวเรือนจำอื่น ๆ และยังเป็นมุมที่มองเห็นความใหญ่โตของเรือนจำได้ชัดที่สุด ลืมบอกไปว่ากรุ๊ปทัวร์จะเดินชมเฉพาะแค่ในอาคาร ไม่พามาเดินที่ข้างนอก อย่างมากก็แค่ชี้ให้ดูไกล ๆ ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีคนเดินที่สนามเท่าไหร่

    .

    อาจมีคนคิดว่า นี่อิฐมันสีแดงตรงไหน ดูยังไงก็สีน้ำตาลชัด ๆ เพราะวันนั้นเป็นปลายฤดูร้อนที่ฟ้าเปิด แดดแรง หญ้าสีเขียวสด ตอนที่เงยหน้า สีอิฐตัดกับสีฟ้าจัดของท้องฟ้า

     สีฟ้าข้างบน สีเขียวข้างล่าง อิฐเลยดูเป็นสีแดงโดยไร้สาเหตุแบบนั้นแหละ

    .

    มองจากมุมนี้ ซอแดมุนสวยมาก สวยจนไม่น่าเชื่อว่าที่นี่เป็นจุดดำมืดในประวัติศาสตร์เกาหลี
    สังเกตว่า นอกพิพิธภัณฑ์จะรายล้อมด้วยตึกสมัยใหม่ ... ก็ดู contrast ดีนะ

    ด้านขวาของภาพคือ สถานที่ประหารชีวิต

    ห่างออกไปนิดจะเป็นลานประหาร พูดว่าลาน แต่จริง ๆ เป็นอาคารไม้เล็ก ๆ ที่มีม้านั่งให้ดูการแขวนคอ มีม่านเหมือนเวทีแสดงละคร เดินต่อไปจะเจออุโมงค์ คิดไปว่าว่าน่าจะเป็นอุโมงค์ย้ายศพนักโทษ ลองส่งเสียงไป มีเสียงฉันสะท้อนก้องในอุโมงค์กลับมา 

    หดหู่ วังเวง และเงียบเชียบ

    .

    ฉันสนใจต้นไม้สองต้นที่ลานประหารเป็นพิเศษ ต้นหนึ่งปลูกด้านนอก ต้นหนึ่งปลูกในรั้วลานประหาร ป้ายบอกว่าทั้งสองต้นปลูกตอนสร้างลานประหาร และตอนที่ไป ต้นด้านนอกสูงสะดุดตา ผิดกับต้นด้านในรั้วซึ่งเหลือแต่ก้าน

    อาจเป็นเพราะฤดูกาล หรืออะไรก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ ภาพที่เห็นทำให้คิดว่า ต้นไม้ทั้งสองต้นคงเป็นพยานให้กับความตายมาหลายชีวิต



    ซอแดมุนยังมีอะไรน่าสนใจอีกเยอะ อย่างซากฐานก่อสร้างและอิฐแดงเก่า ๆ ที่กอง ๆ อยู่ใกล้ ๆ ที่ขายของที่ระลึก เสียดายที่มีอุปสรรถด้านภาษา ทำให้ฉันได้แต่คาดเดาไปว่าอะไรเป็นอะไร บางอย่างที่เดาไม่ออกเลยก็คงกลายเป็นปริศนาไปตลอดกาลในความรับรู้ของฉัน 

     อันที่จริง นี่อาจเป็นเสน่ห์ของการไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศก็ได้นะ

    .

    กลับถึงไทย เสิร์ชเจอภาพซอแดมุนฤดูหนาว อิฐสีแดงตัดกับหิมะ สวยไปอีกแบบ
    ฉันได้ข้ออ้างกลับไปซอแดมุนอีกครั้งแล้ว

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in