เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกการอ่านของพีพีNapat Limphotong
แบบนี้เรียกว่า Expert ได้หรือยังนะ?
  • หลายคนมักจะคิดว่า Expert หรือผู้เชี่ยวชาญเกิดจากการทำอะไรซ้ำ ๆ เป็นพันเป็นหมื่นชั่วโมง เดี๋ยวก็เก่งเป็น Expert เองแหละ แต่จริง ๆ ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะยังต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้ง 4 นี้ด้วย


    1. ผ่านการทำซ้ำ ๆ และรู้ว่าผลของการกระทำนั้นเป็นอย่างไร (Repeated Attempts with Feedback)

    ตัวอย่างเช่น นักแข่งหมากรุกเล่นในสภาพแวดล้อมเดิม (กระดานหมากรุก) แข่งขันจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน และรู้ผลแพ้ชนะจากกลยุทธ์การเล่นของตนเอง นักเทนนิสที่ฝึกซ้อมในสนามขนาดเดิมหลายร้อยชั่วโมงและรับรู้ว่าลูกเทนนิสที่ตีไปเข้าหรือออกสนาม หรือนักฟิสิกส์ที่ใช้เวลาแก้โจทย์ปัญหาหลายร้อยข้อแล้วตรวจสอบได้ว่ามันถูกหรือผิด เราจึงสามารถเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็น Expert ได้

    ต่างจากนักการเมือง นักวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ จะพบว่าโอกาสคาดคะเนเหตุการณ์ได้แม่นยำนั้นต่ำมาก (แทบจะใกล้เคียงกับการเดามั่วเลย) เพราะการเลือกตั้งหรือวิกฤตทางเศรษฐกิจนานาประการ มักไม่ได้วนกลับมาเกิดซ้ำแบบคล้ายเดิมเป๊ะ ๆ ให้พวกเขาเรียนรู้ซ้ำมากพอ แม้จะเป็น Field ที่คนกลุ่มนี้มีความรู้มากที่สุดก็ตาม (จะเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญแทบจะไม่ได้เลย)

    จะเรียกว่า Expert ไม่ได้ ถ้าหากทำซ้ำ ๆ แต่กลับไม่รู้ผลของการกระทำมากพอ


    2. อยู่ในกฎเกณฑ์ที่พอจะสามารถคาดเดาได้ (Valid Environment)

    นักพนัน แม้จะเล่นมาหลายร้อยครั้ง รู้ผลทันทีว่าได้หรือเสีย แต่ก็ไม่สามารถเรียกว่า Expert ได้เพราะแทบไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะเสียหรือได้ในครั้งต่อมา ทุกอย่างคือการสุ่ม ไม่ขึ้นกับจำนวนครั้งการเล่น หรือจำนวนครั้งที่ชนะ 

    ลักษณะคล้ายกันกับ นักลงทุน นักวิเคราะห์การตลาด หรือผู้เชี่ยวชาญในสายงานนี้ ที่แม้จะรู้ผลลัพธ์เป็นกำไรจากการลงทุน แต่ความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคในการคาดคะแนนอนาคต ส่งผลให้ทำให้เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Expert น้อยคนจริง ๆ

    ❌ จะเรียกว่า Expert ไม่ได้ ถ้าหากอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ยากต่อการคาดเดา (Low Validity Environment)


    3. ความเร็วของผลลัพธ์ (Timely Feedback)

    เปรียบเทียบความสามารถของวิสัญญีแพทย์ (แพทย์ที่ให้ยาสลบหรือยาชาแก่ผู้ป่วย) กับนักรังสีเทคนิคที่ผ่านการทำงานซ้ำ ๆ และอยู่ในแวดล้อมที่มีหลักการการเป็นไปของเหตุการณ์เหมือนกัน 

    กลับพบว่านักรังสีเทคนิคคาดเดามะเร็งปอดผ่านแผ่น x-ray ถูกเพียง 70%  เพราะพวกเขาไม่ได้รับรู้ผลลัพธ์การตัดสินใจของตนเองแบบทันทีทันใด หรือไม่ได้รับเลยด้วยซ้ำ จนมักไม่สามารถพัฒนาตนเองได้เร็วเท่าวิสัญญีแพทย์ ที่รับรู้ถึงความรู้สึกตัว/การตอบสนองของผู้ป่วยหลังจากการให้ยาชาหรือยาสลบทันทีเดี๋ยวนั้นเลย (Timely Feedback)

    อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การรับคนเข้าสมัครงาน ผู้รับเข้าสมัครคนเข้างาน (Human Resource) จะพบว่าหารูปแบบและหลักการการทำงานในอาชีพตนเองได้ค่อนข้างช้า เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ว่าคนที่เรารับเข้าสมัครงานมานั้น ทำงานได้ดีหรือแย่ กำไรบริษัทเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด

     จะเรียกว่า Expert ไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับรู้ถึงผลลัพธ์เร็วมากพอจากการตัดสินใจอะไรสักอย่าง


    4. ความท้าทายของการฝึกฝน (Uncomfortable Routines)

    เหมือนกับการขับรถ เริ่มต้นการฝึกขับรถต้องใช้จิตใจที่จดจ่อและตั้งมั่น แต่ผ่านไปสักพัก ใช้เวลาบนท้องถนนมาก ๆ ขับไปอีกร้อยอีกพันชั่วโมงก็ “ไม่ได้” การันตีว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขับรถได้เลย

    ถ้าต้องการพัฒนาฝีมือการขับรถจริง ๆ เราจำเป็นต้องออกมาจาก comfort zone ด้วยการขับขี่บนเส้นทางที่ยากขึ้น สถานที่ที่ไม่คุ้นชิน หรือสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย

    สิ่งเหล่านี้คล้ายกับการเล่นดนตรีแค่เพลง ๆ เดียวมาตลอด ก็ไม่ได้ทำให้เราเล่นดนตรีเก่งขึ้นเลย เพราะเราสบายเกินไป แม้จะทำซ้ำ ๆ ก็ได้ก่อให้เกิดเกิดการเรียนรู้ หรืออาจทำให้ความสามารถของเราลดลงตามเวลาที่เสียด้วยซ้ำ 

    แม้กระทั่งหมอที่มีประสบการณ์รักษาผู้ป่วยมา 20 ปีก็ไม่ได้แสดงว่าจะเก่งไปกว่านักศึกษาแพทย์จบใหม่ที่มีโอกาสตรวจเจอ/ลงมือรักษาโรคใหม่ ๆ ที่ยากและท้าทายกว่าเดิม

    ❌ จะเรียกว่า Expert ไม่ได้ ถ้าไม่ออกมาจากความสบาย ไม่พยายามทำอะไรใหม่ ๆ ที่ท้าทาย


    เรียนรู้อะไรจากตรงนี้บ้าง

    • ไม่ใช่ทุกคนที่ทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ จะเรียกว่าเป็น Expert ได้ถ้ายังไม่ผ่าน 4 ปัจจัยข้างต้น

    • ครูและโค้ช เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการฝึกซ้อมอย่างเป็นประจำ และการพัฒนาด้าน ๆ หนึ่ง เพราะเขาสามารถมองเห็นจุดอ่อน (Weaknesses) ของเรา และมอบโจทย์ (Challenge) ที่ท้าทายมาฝึกฝนมากขึ้นเรื่อย ๆ

    • จะเป็น Expert ด้าน ๆ หนึ่ง เราต้องฝึกฝนเป็นหลายพันชั่วโมงในจุดที่ท้าทาย ลองทำในสิ่งที่ยังไม่สามารถทำมันได้ดี และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และความจำระยะยาว ทั้ง 4 ปัจจัยข้างต้นนี้ ท้ายที่สุดจะหล่อหลอมให้เรามีโอกาสเป็นผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ ๆ หนึ่งได้


    ทุกอย่างในบทความนี้มาจากคลิปยูทูบ The 4 things it takes to be an expert จากช่อง Vertiasium


    ลิงก์: https://www.youtube.com/watch?v=5eW6Eagr9XA

    เขียนโดย: นายณภัทร ลิมโพธิ์ทอง

    จากผู้เขียน: หากมีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยและยินดีเป็นอย่างมากหากผู้อ่านทุกท่านจะแสดงความคิดเห็น แสดงแนวคิดในแบบของท่าน เพราะผู้เขียนเชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระภายใต้หลักการและเหตุผล จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีได้

    ติดต่อผู้เขียน: [email protected]

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in