เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
MY BEST FRIEND IS MESALMONBOOKS
01: LIFE IS TOO SHORT TO LEARN GERMAN
  • ภายใน—ร้านถ่ายรูป—กลางวัน

    เราไปร้านถ่ายรูปติดบัตรบ่อยกว่าตื่นไปตลาดตอนเช้า

    การถ่ายรูปหนึ่งครั้ง บ้างมีอายุการใช้งานหกเดือน บ้างก็แค่สามเดือน ส่วนใหญ่จะหมดไปกับการตะลอนสอบ มีบ้างที่ตะลอนเที่ยว

    เรานั่งต่อคิวอยู่ที่ร้านถ่ายรูปย่านสยาม คิวก่อนหน้าคือเด็กสาวที่ใส่ชุดนักเรียน ม.ปลาย เธอคงกำลังเตรียมสมัครสอบเข้ามหา’ลัย และหนุ่มในชุดนักศึกษา เขาคงกำลังเตรียมสมัครงานหลังเรียนจบ

    รูปติดบัตรมักพาเราไปที่ใดที่หนึ่งเสมอ

    “น้องจะเอารูปไปทำอะไร”

    “ขอวีซ่าเชงเก้นค่ะ” เราตอบ

    รูปติดบัตรวันนี้กำลังจะพาเราไปเยอรมนี


    ปี 2004
    ภายใน—โรงเรียน—กลางวัน

    มีคนบอกไว้ ชีวิตมันสั้นเกินกว่าจะเรียนเยอรมัน

    และเรากับเยอรมันก็ไม่เคยมีความผูกพันใดๆ ต่อกัน จนกระทั่ง…

    เราเคยมีความคิดว่าหลายอย่างในชีวิตมักได้มาด้วยความไม่ตั้งใจ และอะไรที่หวังมากๆ ก็มักจะพลาด

    จากเด็กเนิร์ดหน้าห้องสมัยประถมที่สอบเข้ามัธยมต้นไม่ติด จับฉลากก็ไม่ได้ เข้าเรียนได้เพราะโควต้าบ้านใกล้โรงเรียนสอบเลือกห้องตอน ม.ต้นได้สายวิทย์-คณิต (ไม่ต้องแปลกใจโรงเรียนมัธยมของเรามีสายให้เลือกเรียนตั้งแต่ ม.หนึ่ง) แต่พอจะเข้า ม.ปลาย ดันอยากเรียนสายศิลป์

    เรากับเยอรมันเลยเริ่มเข้าใกล้กันนิดหน่อย
  • สายศิลป์มีให้เลือกเรียนสามภาษา

    ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเยอรมัน

    ในใจคิด ญี่ปุ่นน่าจะไม่ใช่ทาง เพราะเราไม่อินอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นเลย ในขณะที่เยอรมันนี่ยิ่งรู้สึกไกลตัวสุดๆ เพราะความรู้ (จัก) เยอรมันเท่ากับศูนย์ และไม่คิดว่าตัวเองจะต้องข้องเกี่ยวอะไรกับภาษานี้ด้วย งั้นเลือกเรียนฝรั่งเศสแล้วกัน รับคนเยอะดี

    เราสอบติดศิลป์-ฝรั่งเศส แต่ก็ได้เฉียดเข้าใกล้เยอรมันบ้าง

    การเรียนภาษาฝรั่งเศส ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นผู้ดีเดินอยู่ริมถนนฌ็องเซลิเซ่ ส่วนเวลาเดินผ่านห้องเรียนภาษาเยอรมันแค่เงี่ยหูฟังก็สัมผัสได้ถึงความหินของภาษา ดูกระโชกโฮกฮาก คุยแล้วเหมือนทะเลาะกัน อาจเป็นเพราะน้ำเสียง

    ชีวิตวัยรุ่นของเราไม่โลดโผนโจนทะยาน ไม่ค่อยมีประสบการณ์แบบตัวละครในซีรีส์ ฮอร์โมนส์ฯ เรามีชีวิตแบบเป็นขั้นเป็นตอนคือ จบ ป.หก สอบเข้า ม.หนึ่ง เรียนต่อ ม.ปลาย และรอเอ็นท์เข้ามหา’ลัย

    เรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดรองจากเตรียมตัวสอบอาจเป็นแค่งานกีฬาสี

    วัย 15 มีอยู่เท่านี้

    หารู้ไม่ว่า ยามโตขึ้นจะมีอะไรมากกว่านั้น
  • ปี 2007
    ภายใน—มหาวิทยาลัย—กลางวัน

    เราตัดสินใจว่าจะเรียนนิเทศศาสตร์ในช่วงก่อนสอบเข้ามหา’ลัยหนึ่งเดือน ทั้งที่ไม่รู้ว่าเรียนอะไรบ้าง แต่ตอนนั้นคิดไปเองว่าเราคงเหมาะกับอะไรที่ต้องคิดๆ เขียนๆ เลยเลือกนิเทศฯ ไปสามอันดับจากสี่อันดับ

    พอสอบติดก็คิดตั้งแต่ปีหนึ่งว่า เดี๋ยวตอนปีสามเราจะเรียนโฆษณา แต่ในช่วงท้ายๆ ของปีสอง ดันลงทะเบียนวิชาภาษาอังกฤษพลาด เพราะระบบรับลงทะเบียนมีปัญหา แล้วเราก็ไม่ได้เข้าไปเช็กว่าระบบมันรับเราเข้าไปหรือยัง รู้ตัวอีกทีก็วันสอบที่ดันไม่มีชื่อเราอยู่ในรายชื่อผู้เข้าสอบ เลยต้องลงเรียนใหม่
    และถ้าเราจะเรียนภาคโฆษณาก็ต้องเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มอีกตัว ซึ่งถ้าดึงดันจะเรียนก็จะไม่จบภายในสี่ปี เราเลยตัดใจหันมาเรียนภาพยนตร์ เพราะคิดง่ายๆ ว่าอยากเรียนจบให้ทันเพื่อน

    ตอนนั้นก็คิด ใครจะไปทำหนังแบบ Jumanji ได้วะ

    แต่ทำไปทำมาก็ดันได้มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับและนักเขียนบท

    ถึงตรงนี้เราใกล้จะถึงเยอรมันยัง



    ปี 2011
    ภายใน—โลกบัณฑิต—กลางวัน

    หลังจากเรียนจบ เพื่อนๆ ทั้งคนรู้จักและคนไม่ค่อยรู้จักก็เริ่มทยอยไปเรียนต่อต่างประเทศจนรู้สึกว่านี่ไปเมืองนอกหรือเชียงใหม่ ทำไมดูไปกันได้ง่ายๆ

    เราที่ตอนนั้นรับจ็อบเรื่อยเปื่อยก็นั่งคุยกับเพื่อนหลังเลิกงาน คิดว่าจะเอายังไงกับชีวิต ตั้งคำถามว่าเราทำอะไรกันอยู่

    อืม...ก็อัพรูปเซลฟี่บ้างเป็นบางเวลา หลายครั้งก็หลุดจากโลกของตัวเองมามองเห็นปัญหาคนอื่น พยายามเข้าใจคนรอบข้างสนใจบ้านเมืองเท่าที่รู้จัก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าพ่นเรื่องราวลงสเตตัส แอบก่นด่าวิถีสังคมหรือแม้แต่การใช้ชีวิตของคนอื่น อยากแก้ปัญหาไปหมดทุกอย่าง จนลืมไปว่า...

    ตัวเองซักผ้าไม่เป็น
  • ถ้าเราเป็นตัวละครก็คงเป็นตัวที่ดูแบนๆ (หมายถึงจิตใจไม่ใช่ร่างกาย) ไม่ได้มีประวัติโชกโชน โลดโผน น่าติดตาม คงเป็นตัวละครที่แทนค่าคนที่ไหลไปตามจังหวะและโอกาส แต่ในใจลึกๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองอยากไปไกลกว่าตรงนี้

    วันหนึ่งเรามีโอกาสได้ไปเทศกาลหนังนักศึกษาที่ฝรั่งเศส ในโลกที่ไม่ได้มีแค่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เรารู้สึกเหมือนได้ออกจากพื้นที่ปลอดภัย คล้ายว่าได้เห็นอะไรกว้างขึ้น และที่สำคัญ เมื่ออยู่ตรงนั้น เราก็ได้รู้ว่าตัวเราเล็กมาก และไม่ได้เก่งหรือดีที่สุด

    มันคงท้าทายและสนุกดีถ้าเราจะถูกห้อมล้อมด้วยอะไรที่ไม่คุ้นเคย

    ตั้งแต่นั้นมา เราเลยพยายามหาที่เรียนต่อตามนานาประเทศ ไม่ว่าสหรัฐฯ อังกฤษ สกอตแลนด์ เราสมัครหมดทุกยูฯ สอบได้ทุกมหา’ลัย

    แต่ไม่เคยตอบตกลงไปสักที่

    ทำไมน่ะเหรอ

    (มองเงินในบัญชีตัวเอง...)

    (มองเงินในบัญชีแม่...)

    โอเค กลับไปทำงานต่อ

    กลับไปตั้งสเตตัสต่อ
  • อาจไม่มีใบไม้ปลิวช่วยบิลด์เรื่องอนาคต อาจไม่มีการฟูมฟายว่าทำไมเราถึงไม่ได้ไปเรียนแบบคนอื่น เราเข้าใจว่าชีวิตไม่ได้มีแค่ ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’

    เงินสิ เงิน

    ถ้าไม่มี ก็ไม่ได้ไป

    เมื่อเมืองนอกไม่ใช่เชียงใหม่ และความฝันมีค่าใช้จ่ายที่รับผิดชอบเองไม่ไหว เราเลยหยุดมันไว้ตรงนั้น บอกตัวเองว่าคงยังไม่ถึงเวลา จนประโยคเท่ๆ อย่าง “ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่” ตามมาหลอกหลอนอีกครั้ง

    จากที่เหมือนจะยอมแล้ว เรากลับรู้สึกว่า พอเหอะ เลิกวน เลิกถาม เลิกคิด ก็ถ้ามัวแต่คิดคงไม่ได้ทำอะไรสักที อะไรที่หวังมากๆ มักจะพลาดเหรอ เออ งั้นก็ไม่หวังมาก แต่มุ่งไปทางยากๆ แทนแล้วกัน

    เราลองไล่หาตัวเลือกใหม่อย่าง ‘ทุนต่างประเทศ’

    เพราะอาจารย์ที่สนิทกันเล่าเรื่องรุ่นพี่ที่ได้ทุนและกำลังเรียนอยู่ที่เยอรมนีให้ฟัง คืนนั้นเราเลยคุยกับรุ่นพี่และตัดสินใจว่าจะชิงทุน โดยไม่คำนึงเลยว่าความรู้เกี่ยวกับเยอรมันเข้าขั้นติดลบ

    ช่วงนั้นชีวิตของเราต้องทำหลายอย่าง ทั้งตื่นไปประชุมกับลูกค้า ออกกองถ่าย กลับมาบ้านรื้อเอกสารการเรียนตั้งแต่ ม.ปลาย ยันมหา’ลัย นั่งทำพอร์ตโฟลิโอ

    เราทำแบบนี้อยู่สองเดือน ตั้งใจว่าจะสมัครเป็นครั้งสุดท้าย

    (แต่ถ้าไม่ได้ก็จะสมัครอีก)

    (แล้วมันครั้งสุดท้ายตรงไหน)
  • ปี 2014
    ภายใน—ห้องนอน—กลางคืน

    เราเช็กอีเมลตามปกติ แต่ที่ผิดปกติคืออีเมลฉบับหนึ่งที่ถูกส่งเข้ามา

    ชื่อผู้ส่งเป็นภาษาเยอรมัน

    เราตาโต มือเกือบสั่น ค่อยๆ กดคลิก แล้วไล่อ่านเนื้อความทีละคำ

    Dear,
    Ms. Aksornsawang,
    I… am… glad...
    GLAD… GLAD… GLAD…


    glad แปลว่า ยินดีหรือดีใจ
    glad แปลว่า ยินดีหรือดีใจ
    คำนี้มันดังก้องและวนไปวนมาอยู่ในหัว

    ...to inform you that the selection committee has recommended your application for a study scholarship for artists.

    เราได้ทุนไปเรียนต่อเยอรมนีในวันที่พูดภาษาเยอรมันไม่ได้เลย

    เรารู้จักเยอรมนีแค่ว่าเป็นประเทศฉากหลังของสงครามโลก มีกำแพงเบอร์ลิน มีของกินประจำชาติคือไส้กรอกและเบียร์ แล้วก็เพื่อนชาวเยอรมันของแม่ที่มีชื่อไทยว่า สุรชัย

    ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราอาจจะไม่รู้จักสุรชัยพอๆ กับไม่รู้จักตัวเอง


    เราบอกเรื่องทุนกับแม่ น้า และน้อง ทุกคนดีใจ เรารีบโทร.หาเพื่อน ทุกคนล้วนดีใจ

    เราเองก็ดีใจสมกับที่รอคอยมานาน

    เรากดโทรศัพท์เพื่อโทร.หาใครคนหนึ่ง

    เขาเองก็ดีใจ

    “จะไม่ได้เจอกันตั้งสองปีแน่ะ”

    “สองปีครึ่ง” เขาแก้

    “เฮ้ย สองปีครึ่งเอง แป๊บเดียว” เราไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนพูด

    “อื้อ”
  • ภายใน—ร้านถ่ายรูป—กลางวัน

    “น้องๆ”

    เราเพิ่งรู้สึกตัว

    “ชอบรูปไหนมากกว่ากัน”

    เราชี้รูปหนึ่ง ทั้งที่รูปอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันมาก

    เราเดินลงไปรอรับรูปข้างล่าง แล้วก็ได้ยินคนถัดจากเราพูดว่า “ถ่ายรูปขอวีซ่า”


    ภาพของคนที่วาดฝันชีวิตไกลบ้านอย่างเรา ทุกอย่างช่างลึกลับ น่าค้นหา มีโรงเรียน มีร้านกาแฟ มีพิพิธภัณฑ์ มีภาพผู้คนพูดภาษาอังกฤษ แลกเปลี่ยนโต้เถียงเรื่องสังคมกันอย่างเมามัน ปาร์ตี้สุดเหวี่ยงยันเช้า กอดคอเมากับเพื่อนสาวผมบลอนด์ เพื่อนหนุ่มผมน้ำตาล (ขอบคุณภาพอ้างอิงในหัวจากไทม์ไลน์ของเพื่อนและพินเทอเรสต์)

    คำว่า ‘ใช้ชีวิต’ ดูเป็นกริยาที่คนทั่วไปอยากใช้
    แต่เราก็ตั้งคำถาม อยู่ที่นี่เราก็ได้ใช้ชีวิตแล้วนี่ หรือการไปไกลบ้านจะทำให้ได้ใช้ชีวิตอีกแบบ

    เราหวังว่าจะเป็นอย่างหลัง
  • เราตั้งความหวังโดยลืมไปว่าสี่ย่อหน้าข้างบนเป็นแค่ภาพที่เราคิด และมันก็ไม่ได้ถูกไปทั้งหมด อย่างน้อยการจะโต้เถียงหรือจะปาร์ตี้ได้ เราต้องพูดภาษาเยอรมันให้ได้ก่อน แถมทุนที่เราได้ก็เป็นแบบให้ค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นเวลาสองปี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษา ส่วนการสมัครเรียนมหา’ลัยและการใช้ชีวิต เราต้องจัดการเอง ถ้าสอบเข้ามหา’ลัยไม่ได้ก็ต้องกลับบ้าน ก่อนจะนึกภาพไปไกล เราต้องหามหา’ลัยและสอบภาษาเยอรมันขั้นพื้นฐานให้ผ่านด้วย

    และจริงๆ ถ้าอยากได้ภาพเหล่านั้น ไปซอยอารีย์เอาก็ได้

    เหตุผลที่คนไปเมืองนอกคงไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่เราว่ารายละเอียดข้างใน สุดท้ายก็คงเห็นไม่เหมือนกัน ตราบใดที่รู้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ทั้งในแง่แค่อยากหายใจ ใช้ชีวิต อยากเรียนให้จบ หรือคบแฟนฝรั่ง ถ้ารู้ตัวก็คงไม่หลงทางเกินไปนัก


    มีคนบอกไว้ ชีวิตมันสั้นเกินกว่าจะเรียนเยอรมัน

    ...สั้นสิ เวลาหนึ่งเดือนกับภาษาเยอรมันขั้นพื้นฐานที่ต้องสอบให้ผ่าน

    แต่เราว่า ชีวิตไม่ได้สั้นแค่เพราะเรียนภาษาเยอรมันหรอก

    ชีวิตน่าจะสั้น ถ้าไม่ได้ไปเยอรมนีมากกว่า

    เราหยิบรูปออกมาดู

    ก่อนจะขอบคุณคนในรูปนั้น



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in