หลังจากฝึกงานเต็มตัวมาหนึ่งอาทิตย์ ใจก็หวังว่าจะได้นอนอืดบนเตียงสักสองวัน แต่มันก็เป็นไปไม่ได้เพราะเราจองทัวร์ของมหา'ลัยไว้วันเสาร์ ก็เลยต้องฮึดตื่นเช้าเพื่อไปขึ้นรถทัวร์ ซึ่งแน่นอนว่ารอคนมาสายเพียงแค่ 5 นาที ถึงจะมีสองคนที่ยังมาไม่ถึงก็ตาม
โดยเราจะเดินทางไป Northern Uppland หรืออุปแลนด์เหนือ ดินแดนทางตอนเหนือของอุปซอล่าเมืองที่เราเรียนอยู่ เราจะแวะเที่ยวสามที่ ได้แก่ โรงถลุงเหล็ก Österbybruk, Lövstabruk คฤหาสน์ของเจ้าของโรงถลุงเหล็ก, และหมู่บ้าน Öregrund ชายฝั่งทะเลบอลติก เราแวะดูเหมืองก่อนเป็นอันดับแรก หลุมแรกลึก 120 เมตร แต่ถูกถมขึ้นมาจนเหลือ 90 เมตร อีกหลุมถ้าจำไม่ผิดน่าจะ 140 เมตร ส่วนในรูปด้านล่างคือหลุมแรกค่ะ
ไกด์เล่าว่าสมัยก่อนคนงานเหมืองต้องเซ็นสัญญากับนายจ้างนาน 6 ปี และกว่าจะได้ค่าจ้างก็ต้องรอจนครบ 6 ปี ได้ก้อนใหญ่เอาไปตั้งตัวได้ ซื้อฟาร์ม ซื้อบ้านได้ ระหว่างที่ทำงานก็มีสวัสดิการให้ กินฟรีอยู่ฟรี แต่กว่าจะได้ใช้เงินก้อนก็ต้องเอาชีวิตให้รอดจากการปีนป่ายในหลุมไปให้ได้ เพราะการขนแร่เหล็กขึ้นมานั้นไม่ใช่ง่าย ต้องห้อยตัวติดกับถังขนแร่เหล็กขึ้นลง ไม่มีเก้าอี้หรือที่นั่งให้ แล้วที่นี่ไม่ใช้การระเบิดหลุมนะ แต่ใช้การเผาไฟ เนื่องจากการระเบิดจะทำให้หินแตกถึงแก่น แต่การเผาไฟจะไม่ทำลายหินที่ยังไม่แตก มันจะเป็นหน้าผาแข็งแกร่งต่อไป แต่วิธีหลังใช้เวลานานกว่า และทำให้เหล็กมีราคาสูงขึ้นด้วย
จากเหมืองเรานั่งรถต่อมาอีก 10 นาทีก็ถึงหมู่บ้านคนงานและโรงถลุงเหล็ก Österbybruk (Bruk ภาษาสวีดิชแปลว่าเหล็ก) โดยตึกสีไข่ไก่ในภาพด้านบนคือบ้านพักของคนงาน ถนนเส้นนี้มีบ้านพักคนงานติดกันเป็นสิบบ้าน โดยสุดถนนด้านหนึ่งจะเป็นโรงพยาบาล ส่วนอีกด้านจะเป็นโรงเรียน ด้านที่ใกล้โรงเหล็กกับบ้านพักของเจ้าของจะเป็นบ้านของหัวหน้าคนงาน ไล่ไปจนถึงบ้านของคนงานระดับต่ำที่สุด เรียงตามลำดับความสำคัญ สองรูปด้านล่างเป็นด้านในบ้านพัก
ภาพถัดมาเรียกว่า Sunday room ซึ่งเป็นห้องที่เก็บไว้สำหรับใช้เฉลิมฉลองในวันพิเศษเท่านั้น ถึงกับมีคำกล่าวว่าในช่วงชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งจะได้ใช้ห้องนี้เพียงสองวัน นั้นคือวันแต่งงานกับวันตาย ส่วนในวันธรรมดานั้นทุกคนจะใช้ชีวิตอยู่ในภาพที่สอง ซึ่งเป็นห้องครัวที่เป็นห้องนั่งเล่นและห้องนอนในตัว จะนอนเมื่อไหร่ก็เปิดด้านล่างของโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ และดึงเตียงพับออกมา เห็นห้องเล็กอย่างนั้นจุคนได้สองครัวเรือนเชียวแหละ
พอออกจากบ้านพักเราก็เข้ามาดูโรงถลุงเหล็กกันค่ะ ในยุคศตวรรษที่ 16 อุตสาหกรรมเหล็กเคยเป็นของรัฐมาก่อน ก่อนที่ในยุคศตวรรษที่ 17 ชาวดัทช์จากอัมสเตอร์ดัมนามว่า Louis De Geer จะมาเป็นผู้จัดการโรงงานและกลายเป็นเจ้าของในภายหลัง คนงานมีฝีมือถูกขนย้ายมาจากดินแดน Wallonia ในเบลเยี่ยมส่วนที่พูดภาษาฝรั่งเศสและทำให้ดินแดนแถบนี้กลายเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ของยุโรปเป็นเวลานานจนถึงตอนต้นของศตววรษที่ 20 คนงานจะเอาแร่เหล็ก (iron ore) มาจากเหมืองแล้วหลอมในเตา Blast furnace ให้กลายเป็นเหล็กดิบ (pig iron) ก่อนที่จะมาผ่านกระบวนการเอาคาร์บอนออกจากเหล็กเพื่อให้เหล็กมีความยืดหยุ่นและออกมาเป็นเหล็กกล้า คนงานจะถลุงเหล็กกันตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์จนถึงเที่ยงวันเสาร์ และพักผ่อนกินนอนอยู่ในโรงถลุงเหล็ก หรืออย่างดีก็เข้าไปอยู่นั่งเล่นนอนเล่นในห้องพักที่เรียกว่า labby เท่านั้นเอง
หลังจากนั่งกินข้าวที่แพคมาเองในสวนหลังโรงถลุงเหล็กกับเพื่อนเสร็จ เราก็นั่งรถไปอีกชั่วโมงนึงเพื่อชมคฤหาสน์ของ Louis De Geer ที่อยู่กันมาจนรุ่นลูกรุ่นหลานกัน โดยแมนชั่นนี้ตั้งอยู่ในเขตของโรงถลุงเหล็ก Lövstabruk หรือเขียนแบบโบราณว่า Leufsta ซึ่งถือว่าเป็นเขตที่โด่งดังและมีเรื่องเล่าเยอะมากในหมู่นักประวัติศาสตร์สวีเดนสมัยศตวรรษที่ 17-18 แมนชั่นนี้ถูกรัสเซียเผาตอนปี 1719 ก่อนจะถูกสร้างใหม่โดย Charles De Geer
จุดขายของแมนชั่นนี้คือการตกแต่งภายในสไตล์ Gustavian เรียกตามกษัตริย์กุสตาฟที่ 3 ของสวีเดนที่ไปฝรั่งเศสกับอิตาลีมาแล้วติดใจการตกแต่ง royal residence ของที่นั่นเลยเอามาปรับใช้กับสวีเดน โดยยังคงการติดขอบทองและเชนเดอร์เลียสีทองไว้ ส่วนสิ่งที่เราชอบคือการใช้ผนังไม้สีขาว ครีม เทาอ่อน และที่ขาดไม่ได้คือฟ้าอ่อน แล้วเพนท์ให้เป็นลายหินอ่อนแทนที่จะใช้หินอ่อนจริงๆ ให้ความรู้สึกอบอุ่นน่าอยู่แบบไม่ทิ้งลายความหรูหราแบบ Decorative French เสียดายเขาไม่ให้ถ่ายรูปด้านใน ยังไงก็เสิร์ชหากันดูได้เนอะ
แล้วเราก็ปิดท้ายทริปวันนี้ด้วยการนั่งรถต่อจาก Lövstabruk มาทางเหนืออีก 40 นาที เพื่อเดินเล่นเลียบชายฝั่งทะเลบอลติกที่หมู่บ้าน Öregrund ที่ในบางวันจะมีสิงโตทะเล นกทะเล และหงส์สีขาวเดินเล่นให้เห็นอยู่บนโขดหิน ส่วนวันนี้มีแต่พวกเราเองที่ถ่ายรูปกันไม่หยุดหย่อนอยู่บนนั้น
ถึงจะไม่มีน้องหงส์ว่ายมาอวดโฉม แต่ลมเย็นและอากาศชุ่มปอดก็ทำให้เราผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าได้ไม่น้อยเลยล่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in