Note: เนื้อหาของกระทู้เป็นเนื้อหาที่มาการแปลมาจากภาษาจีน มีการสปอยล์ส่วนสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง "โค่นคมพยัคฆ์" ชื่ออังกฤษคือ "Hidden Blade" ส่วนชื่อภาษาจีนต้นฉบับคือ 《无名》
ต้นฉบับ: 《无名》的历史细节炸了: By 大灰狼罗克 on WeChat @ 北戴河桃罐头厂电影修士会
ทั้งหมดนี่เป็นเพราะสไตล์อันโดดเด่นของผู้กำกับเฉิงเอ่อร์ เท่าที่ดูมา ผู้กำกับเฉิงเอ่อร์นั้นมีเอกลักษณ์สำคัญอยู่ 3 อย่าง
1. ความสมบูรณ์แบบ เขามีมาตรฐานความงดงามเชิงสุนทรียะที่สูงมาก
2. เขาพยายามที่จะแสดงไอเดียออกมาแบบสั้นและกระชับ เขาจะไม่ใส่บทหรือพล็อตที่ฟุ่มเฟือย
3. เขาเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ดังนั้นแล้วเขาจึงจะชอบป้อนข้อมูลแน่น ๆ ให้กับคนดู
แล้วจะไปทำทั้ง 3 ข้อพร้อม ๆ กันได้ยังไง? ภาพยนตร์เรื่อง Hidden Blade นั้นทำได้แล้ว เขา (ผู้กำกับ) นั้นป้อนข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ที่พอดี แต่อัดแน่น เข้มข้นและสวยงามในเวลาเดียวกัน
พูดถึงชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ 《无名》 (แปลว่านิรนาม) ตัวละครในเรื่องนี้ไม่มีใครเลยที่มีตัวตนแบบชัด ๆ ไม่มีประวัติ หรือกระทั่งชื่อเฉพาะ พวกเขาจะถูกเรียกแทนด้วยคำว่าคุณ รัฐมนตรี เจ้าชาย และอื่น ๆ
ปกติแล้ววิธีที่ง่ายที่สุดในการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์ คือการใส่คำอธิบายข้าง ๆ ตัวละครตอนที่พวกเขาปรากฏตัวครั้งแรก ส่วนวิธีที่เฉิงเอ่อร์ใช้ก็คือการวางกรอบคร่าว ๆ ให้ตัวละครด้วยบท 1-2 ประโยคที่ดูจะไม่มีอะไร
ยกตัวอย่างเช่นสายลับใต้ดินที่นำแสดงโดยเหลียงเฉาเหว่ย ตัวตนและเบื้องหลังของเขาถูกวาดออกมาด้วยคำพูดไม่กี่คำในการสอบสวน
“ก๊กมินตั๋งที่คุณพูดถึงนั่นตายไปกว่าสิบปีแล้ว ที่คุณเห็นอยู่ตอนนี้คือร่างของซากศพที่ยังไม่เน่าสลาย … เหตุผลที่ว่าทำไมผม คุณเหอ ถึงไม่ถูกระเบิดตายที่กว่างโจวในวันนั้นก็เพราะผมนั้นดวงแข็ง”
เราจะทำให้ดู
ฉากสำคัญในตอนต้นเรื่องคือตอนที่เหลียงเฉาเหว่ยหลบอยู่เงียบ ๆ ในที่หลบภัยสำหรับการโจมตีทางอากาศ นี่คือจุดเริ่มต้นของทามไลน์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ และเป็นจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์สงครามต่อต้านญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก ฉากที่น่าสะเทือนใจและหดหู่นี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยการใช้ภาพแบบมุมกว้าง (Panorama)
พื้นหลังทางประวัติศาสตร์ของฉากนี้คือ หลังจากเหตุการณ์ "7 กรกฎา" ในปี 1937 แค่ไม่กี่เดือน (เหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามจีนญี่ปุ่น) - ตอนที่พื้นที่ส่วนใหญ่ในทางตอนเหนือและตอนกลางของจีนถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น รวมถึงทางญี่ปุ่นยังปิดชายฝั่งทั้งหมดของจีนอีกด้วย แต่เนื่องจากฮ่องกงและมาเก๊าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) และโปรตุเกส จึงอยู่นอกเหนือการปิดเมืองท่าของญี่ปุ่น ดังนั้นเส้นทางรถไฟกว่างโจว-เกาลูน (ฮ่องกง) ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1911 จึงเป็นเส้นทางติดต่อสำคัญเส้นทางหนึ่งระหว่างกว่างโจวและฮ่องกง ของสำหรับการสนับสนุนกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นถูกส่งจากฮ่องกงมายังกว่างโจวผ่านเส้นทางนี้ และจะเข้าไปยังแผ่นดินใหญ่ผ่านทางรถไฟเยว่ฮั่น (กว่างโจว-อู่ชาง) นี่จึงกลายเป็นเส้นทางสำคัญของจีนในช่วงแรกของสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
เพื่อที่จะทำลายจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้ง ณ กว่างโจว ญี่ปุ่นจึงเริ่มทิ้งระเบิดในปี 1937 ไปจนถึงจุดพีคในเดือนเมษายนปี 1938 ทหารญี่ปุ่นนั้นทิ้งระเบิดในเมืองต่าง ๆ ของกว่างโจว โดยมุ่งเน้นไปเขตตงซาน เขตเยว่ซิว และเขตลี่วานเป็นต้น เพราะเขตเหล่านี้เป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่นและเป็นย่านการค้าที่คึกคักที่สุด
อ้างอิงจากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ของกวางตุ้งและกว่างโจว นับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 1937 จนถึงปลายปี 1941 ญี่ปุ่นมีการทิ้งระเบิดที่กวางตุ้งเป็นจำนวน 19,281 ครั้ง นับเป็นระเบิดจำนวน 33,857 ลูก มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวน 18,991 คน โศกนาฏกรรมเหตุระเบิดที่กว่างโจวนั้นคิดค่าความเสียหายเป็นรองแค่เมืองฉงชิ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ไม่สามารถทำให้เรามองย้อนไปเห็นความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นได้ มีเพียงผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นเท่านั้นที่มีความทรงจำเกี่ยวกับการนองเลือดในครั้งนี้
“บนถนนนั้นเต็มไปด้วยผู้หญิงที่คร่ำครวญจวนเสียสติจากการสูญเสียลูกชายและสามี ทั้งแถวของรถขนโลงศพไม้สีขาว เศษซากปรักหักพัง บ้านเรือนที่ถูกเผาทำลาย เศษระเบิดและร่างไร้วิญญาณที่ถูกคลุมด้วยเสื่อกกเรียงรายเป็นแถว ทั้งคราบเลือดที่เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาล จากสีน้ำตาลเป็นสีดำ ยามลมเย็นโชยมา ก็พัดพากลิ่นดินปืนและคาวเลือดคลุ้งไปทั่วบรรยากาศ…”
แม้ว่าภาพยนตร์เรื่อง 《无名》นี้จะหยิบยกความเลวร้ายของเหตุการณ์ครั้งนี้มาแสดงให้เห็น แต่ว่าผู้กำกับเฉิงเอ่อร์นั้นไม่ได้แสดงให้เห็นภาพการนองเลือดนั่นอย่างชัดเจน เขาได้ใช้วิธีการแทรกภาพต่าง ๆ เข้ามาแทน เช่นภาพของทุกที่ที่มีแต่ซากปรักหักพัง รถเข็นที่มีแต่ร่างไร้ชีวิต รวมถึงผู้คนที่ต้องอดกลั้นอยู่ภายในที่หลบภัย และท่ามกลางสายฝนก็มีสุนัขจรจัดขาหักโผล่เข้ามาในฉาก
ทั้งฉากนี้เคร่งขรึมและเงียบสงบ ไม่ได้มีความโหดร้ายหรือนองเลือดให้เห็นแต่อย่างใดแต่กลับเต็มไปด้วยความน่าหดหู่สะเทือนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากที่มีสุนัขขาหัก ผู้กำกับใช้สุนัขตัวนี้เป็นตัวแทนถึงการที่บ้านเมืองล่มสลาย ()ซึ่งมันเป็นวิธีที่ทรงพลังมากในการถ่ายทอดโศกนาฏกรรมออกมา
สุนัขขาหักในกว่างโจวตายจากการระเบิด ในขณะเดียวกัน บนเครื่องบินรบญี่ปุ่นที่เป็นต้นเหตุของความเสียหายทั้งหมด ก็มีสุนัขที่อยู่อย่างสุขสบายและปลอดภัยตัวหนึ่ง
มันบินชมวิวทิวทัศน์อันสวยงามไปทั่วทะเลจีนใต้ราวกับนี่เป็นวันหยุดวันหนึ่ง ในขณะที่เจ้าของมันก็กำลังทิ้งระเบิดที่เป็นต้นกำเนิดฉากนรกบนดินในกว่างโจว
ฉากการทิ้งระเบิดที่กว่างโจวนี้ ผู้กำกับได้ใช้สุนัขสองตัว (จีน-ญี่ปุ่น) สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างได้อย่างน่าอัศจรรย์ นับเป็นฉากที่ยอดเยี่ยมมากเพราะมันไม่ได้มีความโหดร้ายซึ่ง ๆ หน้าของทหารญี่ปุ่น และก็ไม่มีคนจีนที่ร้องไห้คร่ำครวญเลย เพียงใช้ชะตากรรมที่แตกต่างกันของสุนัข 2 ตัวนี้ก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์และเรื่องราวเบื้องหลังออกมาได้แล้ว เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากและซีนนี้จะต้องขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในซีนคลาสสิกแน่นอน
ในเรื่อง นักบินชาวญี่ปุ่นนั้นตั้งชื่อหมาชองเขาว่ารูสเวลต์ ในที่นี้มันไม่ได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อล้อเลียนประธานาธิบดีรูสเวลต์เท่านั้น
ในประวัติศาสตร์ ชาวญี่ปุ่นจะตั้งชื่อให้สุนัขทหารด้วยชื่อที่ยิ่งใหญ่ เช่นฟูจิ ฟูซัง คิริชิมะ และดันชาคุ หรือพวกเขาจะตั้งชื่อเป็นชื่อแบบตะวันตกไปเลย เช่นจิมมี่ ร็อคกี้ ด็อดจ์ และอื่น ๆ มากมาย
ชาวญี่ปุ่นรักสุนัขมาก ๆ กระทั่งว่าพวกเขามีนิตยสารเกี่ยวกับสุนัขทหารด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างเช่นในการเจอหน้ากันในกองทัพญี่ปุ่นก็จะมีบทสนทนาประเภทนี้อยู่: วันนี้ได้นิตยสารสุนัขทหารมาจากที่บ้าน เพราะว่าไม่มีอะไรให้อ่านก็เลยลองอ่านดู แล้วฉันก็ได้อ่านเกี่ยวกับการฝึกสุนัขทหารของเขตคานากาวะ ดังนั้นฉันหวังว่าเขตคานากาวะจะสามารถผลิตสุนัขทหารเจ๋ง ๆ ออกมาได้ในปีนี้นะ
ในปีที่ 4 ของยุคเฮเซย์ หรือปี 1992 ญี่ปุ่นนั้นตั้งอนุสาวรีย์สุนัขทหารที่ศาลเจ้ายาสุคุนิ เพื่ออุทิศให้แก่สุนัขทหารและตำรวจที่ถูกฆ่าตายในสงครามระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพญี่ปุ่น ในรัฐหุ่นเชิดของญี่ปุ่นอย่างแมนจูกัว ที่ทางรถไฟแมนจูเรีย หรือสุนัขตำรวจในเมืองแมนจูกัวเอง
ศาลเจ้ายาสุคุนิ / ศาลเจ้าสันติรัฐ เป็นศาลเจ้าชินโตที่มีความสำคัญอย่างมากในด้านการทหารของประเทศญี่ปุ่น
สุนัขทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในเรื่อง 《无名》 นั้นเป็นพันธุ์ชิบะอินุ แต่ในความเป็นจริงสุนัขทการที่รับใช้ในกองทัพนาวิกโยธินญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้วเป็นพันธุ์เยอรมันแชพเพิร์ด ชาวญี่ปุ่นนั้นจัดตั้งศูนย์เพาะพันธุ์สุนัขทหารขนาดใหญ่ที่ชิงเต่า และพวกมันจะถูกเรียกว่า “หมาชิง”
นอกจากนี้ในภาพยนตร์ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการที่นายทหารอากาศของญี่ปุ่นที่ได้กินเนื้อแกะฝรั่งเศส เป็นอะไรที่ดูน่าตื่นเต้นมาก
ในกองทัพญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกคนปลายแถว พวกเขาส่วนมากนั้นเป็นลูกหลานของเกษตรกร มีสายตาสั้นและเปรียบเสมือนหมากเบี้ยไร้ค่าในกองทัพ กลับกันแล้วทหารเรือนั้นนับว่าเป็นพวกหัวกะทิ ดังนั้นทางกองทัพจะดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี ได้กินหรูอยู่สบาย กระทั่งจัดหาอาหารตะวันตกอย่างกาแฟ ไวน์แดง สเต๊ก กุ้งล็อบสเตอร์ วิสกี้และอื่น ๆ ซึ่งอาหารอันโอชะเหล่านี้ทำให้พวกกองทัพปลายแถวนั้นอิจฉา
สมัยก่อนในประเทศญี่ปุ่น ชนชั้นที่จะเป็นนักรบได้มีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้น จนกระทั่งช่วงที่ญี่ปุ่นมีการปฏิรูปประเทศ จัดระเบียบชนชั้นใหม่ ชนชั้นเกษตรกรที่ถือว่าเป็นชนชั้นที่สูงที่สุดของชนชั้นใต้ปกครองจึงเข้ามามีบทบาททางการทหารมากขึ้น เป็นเหตุผลว่าทำไมกองทัพญี่ปุ่นถึงมีลูกหลานเกษตรกรจำนวนมาก
แม้ว่าวังจิงเว่ยจะไม่ได้ปรากฏตัวออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่บทบาทของเขาก็ยังคงอยู่ เขาอยู่ในบทพูด ในรูปภาพ และสุดท้ายคือข่าวการเสียชีวิตของเขาเองในประเทศญี่ปุ่น ประธานาธิบดีวังจิงเว่ยเสียชีวิตที่นาโกย่าระหว่างการรักษาบาดแผลหลังจากถูกลอบสังหาร
ชีวิตความเป็นความตายของวังจิงเว่ยนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของพล็อตเรื่องนี้ ในขณะที่วังจิงเว่ยยังมีชีวิตอยู่ เขาได้มีหน่วยงานระดับหัวกะทิอย่างหน่วยข่าวกรองหมายเลข 76 ที่จัดตั้งและดำเนินการภายใต้คำสั่งของเขา หลังจากวังจิงเว่ยถึงแก่อสัญกรรม ตัวละครในเรื่องนั้นกระจัดกระจายไปคนละส่วน ดำเนินตามทางที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน
ในเรื่อง เหลียงเฉาเหว่ยบอกกับเจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นว่าประธานาธิบดีวังนั้นเซ็นจดหมายประหารชีวิตหญิงสาวที่เป็นสายลับ และเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นคนนั้นก็พูดว่า
“ประธานาธิบดีวังนั้นเคยจับปากกาเขียนบทกวี แต่ตอนนี้เขาต้องเซ็นรับรองการประหารชีวิตเสียแล้ว เขาจะรู้สึกอย่างไรกัน”
นี่เป็นการเหน็บแนมวังจิงเว่ยที่เต็มไปด้วยตลกร้าย วังจิงเว่ยนั้นเคยถูกเรียกอย่างขบขันว่า “เป็นกวีผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นนักการเมืองสมัครเล่น” ทว่าในความเป็นจริงแล้วในช่วงของสาธารณรัฐจีน (ROC) สังคมชนชั้นสูงนั้นชื่นชมความสามารถทางด้านวรรณกรรมของวังจิงเว่ยมาก คนอย่างเฉินหยินเค่อ เฉียนจงชูและหลิวย่าจื่อต่างยกย่องความสามารถด้านวรรณกรรมของวังจิงเว่ยทั้งสิ้น
หนึ่งในบทกวีของวังจิงเว่ยถูกเรียกว่าเป็น “บทกวีที่ยอดเยี่ยมที่สุดของสาธารณรัฐจีน” เขาเขียนบทกวีตอนที่เขาอยู่ในคุก ระหว่างรอคอยคำตัดสินประหารชีวิตหลังจากที่พยายามลอบสังหารองค์ชายไจ้เฟิงแห่งราชวงศ์ชิงสมัยหนุ่ม ๆ มีเนื้อความว่า
慷慨歌燕市,从容作楚囚。
引刀成一块,不负少年头。
(อธิบายและถอดความ: 慷慨 แปลว่าใจกว้าง ฮึกเหิมก็ได้ ในที่นี้จึงน่าจะหมายถึงเขาฮัมเพลงอย่างสบายใจ / 燕市 แปลว่ากรุงปักกิ่ง หรือแคว้นเยียน (แคว้นโบราณของจีน) แต่ในที่นี้น่าจะหมายถึงกรุงปักกิ่งมากกว่า
ในวรรคที่ 2 从容 แปลว่า ไม่สะทกสะท้าน / 作 แปลว่าทำ / ส่วน 楚囚 ในที่นี้แปลว่านักโทษ รวม ๆ แล้วจึงน่าจะถอดความได้ว่าเขาลงมือทำในสิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นนักโทษ (ในที่นี้คือการลอบสังหารองค์ชายไจ้เฟิงแห่งราชวงศ์ชิง) โดยไม่สะทกสะท้าน
วรรคที่ 3 และ 4 แปลแบบภาษาชาวบ้านก็คือ รีบ ๆ ลงมีดมาเถอะครับ (ประหารชีวิต) อย่าปล่อยให้หัวคนหนุ่มต้องผิดหวัง (ที่ไม่ได้โดนตัดออกไปสักที))
ในช่วงวัยหนุ่มเขาเคยเป็นนักปฏิวัติรุ่นใหม่ไฟแรง แต่เมื่อเขาแก่ตัวลง เขาได้สูญเสียความแน่วแน่ตรงนั้นไปและกลายเป็นคนขายชาติ คนหนุ่มผู้ไม่หวั่นเกรงความตายตอนนั้นภายหลังกลายเป็นเพียงหุ่นเชิดภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น ชีวิตช่วงต้นและช่วงปลายของเขานั้นเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน ซึ่งนับว่าเป็นความตลกร้ายของโชคชะตาโดยแท้
ในภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่เหลียงเฉาเหว่ย หวังอี้ป๋อ และหวังฉวนจวิ้นทำงานให้กับหน่วยข่าวกรองหมายเลข 76 เป็นหน่วยงานที่จะได้ยินชื่อบ่อย ๆ ในเรื่องนี้
ชื่อเต็มคือกองบัญชาการใหญ่ส่วนปฏิบัติการพิเศษภายใต้คณะกรรมการกลาง มันตั้งอยู่ที่เลขที่ 76 ถนน Jessfield ในเซี่ยงไฮ้ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนทั่วไปในขณะนั้นถึงรู้จักหน่วยงานนี้ในชื่อหน่วยข่าวกรองหมายเลข 76
หน่วยข่าวกรองหมายเลข 76 นั้นเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายและสายลับที่น่ากลัว พวกเขานั้นมักจะกระทำการที่โหดร้ายและนองเลือดอยู่บ่อย ๆ ใครก็ตามที่รู้เรื่องราวในส่วนนี้ของหน้าประวัติศาสตร์ก็มักจะเรียกหน่วยข่าวกรองหมายเลข 76 นี้ว่า - รังปีศาจ
อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับเฉิงเอ่อร์นั้นไม่ได้แนะนำอะไรเกี่ยวกับหน่วยข่าวกรองหมายเลข 76 เลย ไม่มีทั้งชื่อ และไม่มีการแสดงให้เห็นวิธีการทรมานอันนองเลือดของสายลับแบบที่คุ้นเคยในหนังสายลับทั้งหลาย
และองค์ประกอบฉากภายในหน่วยข่าวกรองหมายเลข 76 นี้ก็มักจะมีคนญี่ปุ่นอยู่ด้านหลังเสมอ
เป็นภาพที่อธิบายได้โดยง่ายเลยว่ามีชาวญี่ปุ่นนั้นจับตามองหน่วยข่าวกรองหมายเลข 76 ข้างหลังเสมอ ที่ถูกเรียกว่าเป็นหน่วยงานแถวหน้าของรัฐบาลวัง แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงหมาป่ารับใช้ภายใต้ญี่ปุ่นก็เท่านั้น ทุกอย่างนั้นสามารถถูกตั้งข้อสงสัยและถูกทำลายได้ทุกเมื่อ เป็นสถานการณ์ชวนตึงเครียดไม่น้อย
ในเรื่อง 《无名》เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่นำแสดงโดยฮิโรยูกิ โมรินั้นได้มีการบอกเล่าประเด็นสำคัญออกมา นั่นก็คือการที่เขาอยู่ฝ่ายอิชิวาระ ไม่ใช่ฝ่ายโทโจ นี่คือข้อความที่สำคัญ: ในกองทัพญี่ปุ่นนั้นมีกลยุทธ์การทำสงครามกับจีนที่แตกต่างกันมาก
ฝ่ายอิชิวาระในที่นี้หมายถึงอิชิวาระ คันจิ เขาเป็นที่รู้จักในกองทัพรุกรานจีนของญี่ปุ่น เขาเคยเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ในกองทัพคันโต เขาเป็นผู้วางแผนกรณีมุกเดน (918) ยึดครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐหุ่นเชิดอย่างแมนจูกัว
กองทัพคันโต: หรือกองทัพกวานตง (ถอดเสียงตามภาษาจีนกลาง) เป็นกองกำลังของกองทัพบกแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เข้าบุกยึดพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศจีน ประจำการอยู่ในช่วงปี 1919 ถึง 1945
กรณีมุกเดน: เกิดขึ้นที่เมืองมุกเดน หรือปัจจุบันคือเสิ่นหยาง เป็นเหตุการณ์ที่รางรถไฟในพื้นที่ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองนั้นระเบิดขึ้น และทางจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ใช้เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างในการรุกรานแมนจูเรีย ในจีนจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 918 หรือ 18 กันยายน ส่วนในญี่ปุ่นจะเรียกว่ากรณีแมนจูเรีย
กลยุทธ์ของเขาก็คือ แมนจูเรียนั้นเป็นเหมือนเส้นชีวิตของญี่ปุ่น ดังนั้นจะต้องยึดครองให้ได้ แต่ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการขยายสงครามกับจีน โดยที่เขาเชื่อว่านี่จะเป็นการนำมาสู่จุดสิ้นสุดของจักรวรรดิญี่ปุ่น
ในทางตรงข้ามกับอิชิวาระก็คือฝั่งของโทโจ โทโจในที่นี้คือโทโจ ฮิเดกิ เขาเป็นผู้นำในสงครามการรุกรานจีนของญี่ปุ่น มุมมองของทั้งคู่ (โทโจและอิชิวาระ) นั้นไม่สอดคล้องกัน อิชิวาระนั้นพูดอยู่หลายครั้งว่าโทโจและอุเมสุ โยชิจิโระนั้นเป็นศัตรูของญี่ปุ่น และเป็นศัตรูของโลกด้วย พวกเขาทั้งหมดสมควรถูกยิงตาย
ประโยคที่ฮิโรยูกิ โมริว่าเขาอยู่ฝั่งอิชิวาระไม่ใช่โทโจนั้นบอกถึงข้อมูลสำคัญของตัวละครได้ 2 ข้อ ข้อแรกคือเขานั้นเป็นสมาชิกกองทัพคันโต และถูกย้ายมาที่เซี่ยงไฮ้จากแมนจูเรีย ข้อสองคือเขานั้นมักจะคิดถึงแมนจูเรียในช่วงปี 1931 โดยการอ้างอิงถึงหัวหน้าเก่าของเขาอย่างอิชิวาระ คันจิ และในความคิดเห็นของเขาช่วงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกองทัพก็คือช่วงที่อยู่ที่แมนจูเรียในปี 1931
นอกจากนี้ตอนที่ตัวละครของฮิโรยูกิ โมรินั้นแสดงออกว่าตนเองยู่ฝั่งอิชิวาระ แท้จริงแล้วเขานั้นพยายามแสดงออกต่อตัวละครของเหลียงเฉาเหว่ย ต้าเผิง หรือผู้คนที่อยู่ข้างรัฐบาลของวังจิงเว่ยที่เป็นหุ่นเชิดของญี่ปุ่นว่าเขานั้นเป็น "นายทหารญี่ปุ่นที่แสนอ่อนโยน" ที่ไม่ได้สนับสนุนการยึดครองจีนอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือเขานั้นไม่ใช่ "ทหารญี่ปุ่นผู้ชั่วร้าย" แต่เป็นคนที่เหมาะจะร่วมงานด้วย ช่างเป็นคนที่ร้ายกาจและฉลาดเป็นกรด
แค่บทสนทนาเดียวก็ดึงเอารายละเอียดปลีกย่อยและภูมิหลังตัวละครออกมาได้อย่างลุ่มลึก เป็นอะไรที่สุดยอดจริง ๆ
ปี 1941 ตอนที่เหลียงเฉาเหว่ยได้ยินมันเขาไม่ได้อะไรกับมันนัก
อย่างไรก็ตาม คำสองสามคำนั้นได้ทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนระเบิดที่จะตามมาอีกในเรื่องราวนี้
ในปี 1944 ตอนที่ทุกคนกำลังกินอาหารญี่ปุ่นด้วยกัน จู่ ๆ เหลียงเฉาเหว่ยก็ได้พูดประโยคนั้นขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เขาพูดว่า "ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งอิชิวาระ หรือฝั่งโทโจ ยังไงเสียคุณก็เป็นอาชญากรสงครามอยู่วันยังค่ำ" ด้วยการแสดงออกอันแสนยอดเยี่ยม เหลียงเฉาเหว่ยนั้นได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงทัศนคติทางการเมืองของเขา และความโกรธแค้นต่อประเทศผู้รุกรานผ่านคำสองสามคำนี้ ราวกับว่าเป็นฟ้าผ่าลงกลางวงทีเดียว
รัฐมนตรีถังที่นำแสดงโดยต้าเผิง ดูผิวเผินแล้วไม่ได้โดดเด่นอะไรทว่าเขากลับเป็นใจความสำคัญใหญ่ ๆ ของเรื่องนี้
เขานั้นเป็นคนจำพวกว่าไหลตามผู้มีชัย ใครชนะก็เดินตามคนนั้น เขาเป็นตัวอย่างของคำว่าคนตรงกลางโดยแท้จริง ตอนที่ทหารญี่ปุ่นมีอำนาจ เขาก็ทำงานเป็นมือเป็นเท้าให้ พอพวกญี่ปุ่นเสื่อมอำนาจลง เขาก็ฉวยโอกาสอู้งานบ้าง หรือเอาจุดนั้นมาสร้างผลประโยชน์ให้ตนเองบ้าง เช่นเริ่มติดต่อกับเจ้านายเก่าของเขาที่ฉงชิ่ง หรือจู่ ๆ ก็เปลี่ยนฝั่งไปเลย เขากระทั่งว่าเป็นตัวแทนของฝั่งฉงชิ่งในการเจรจาสันติภาพด้วยซ้ำ
ในประวัติศาสตร์ก็มีคนแบบเขา (รัฐมนตรีถัง) อยู่ไม่น้อย แต่คนที่คล้ายกันมาก ๆ ก็คงต้องเป็นโจวโฝไห่ โจวโฝไห่นั้นมีชื่อเล่นว่า "บ่าวสามนาย" เขาเคยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน แต่ภายหลังเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ท่าจะไม่ค่อยดีเขาก็เปลี่ยนข้างมาเข้าฝั่งก๊กมินตั๋ง และกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในที่สุด
ชายคนนี้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ในปี 1942 เมื่อเห็นว่าญี่ปุ่นท่าไม่ดีเขาก็ติดต่อกับทางเมืองหลวง (ฉงชิ่ง) และเปลี่ยนข้างอีกครั้ง รวมถึงยอมรับที่จะปฏิบัติภารกิจที่ถูกมอบหมายมาอย่างลับ ๆ เช่นกัน
อาจกล่าวได้ว่าต้าเผิงนั้นเข้าใจความนึกคิดของตัวละครนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะถ้ามองดูแล้วตัวละครนี้ดูเหมือนจะอ่อนแอไม่เอาอ่าว แต่จริง ๆ แล้วเขานั้นลึกล้ำกว่าใคร
ดังนั้นในฉากสำคัญของเรื่อง หลังจากที่เหลียงเฉาเหว่ยเปิดเผยตัวตนของเขาออกมา ต้าเผิงนั้นก็ไม่ได้ลงมือทำร้ายอะไรเหลียงเฉาเหว่ยในมื้อนั้น กลับกันเขาปล่อยอีกคนไปด้วยซ้ำ เพราะว่าในฐานะสายลับสองหน้า ต้าเผิงมองว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำให้มือของตนเปื้อนเลือดในตอนที่ญี่ปุ่นกำลังจะจบสิ้นลงในไม้ช้า เขาจะทำร้ายคนอื่นไปเพื่ออะไร? การกระทำที่ซับซ้อนนี้เป็นการคิดมาอย่างดีแล้วของตัวละครแสดงให้เห็นว่าต้าเผิงและผู้กำกับนั้นมีความเข้าใจบุคคลในประวัติศาสตร์ มันยอดเยี่ยมมาก
และเมื่อดูดี ๆ แล้ว จะเห็นว่าตัวละครต้าเผิงและโจวโฝไห่นั้นมีความคล้ายคลึงกันเพียงใด
ตัวละครรัฐมนตรีถังของต้าเผิงนั้น นำไปสู่พล็อตซึ่งเป็นกุญแจของ 《无名》นั่นก็คือการเจรจาสันติภาพลับระหว่างเมืองหลวง (ฉงชิ่ง) และญี่ปุ่นในช่วงปลายของสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
มีเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่าในช่วงปลายปี 1944 รัฐบาลของเจียงไคเช็คนั้นติดต่อกับ "ฝ่ายสันติภาพ" ของญี่ปุ่นเนื่องจากข้อสรุปของสงครามต่อต้านญี่ปุ่นนั้นออกมาแล้ว รัฐบาลฉงชิ่งนั้นพยายามจะดีลกับญี่ปุ่นลับหลังเหล่าพันธมิตร เพื่อที่พวกเขาจะนำจุดนี้มาเป็นข้อได้เปรียบในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์หลังสิ้นสุดสงคราม พูดกันแบบง่าย ๆ ก็คือฉงชิ่งต้องการของเจ๋ง ๆ ในราคาที่ย่อมเยานั่นล่ะ
ปลายปี 1944 จอห์น บาร์ตัน เดวี่ส์ จูเนียร์ เลขานุการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีนได้เขียนรายงานขนาดยาวออกมา ระบุว่าเจียงไคเช็คนั้นอาจกำลังเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ
《无名》ได้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ที่ถูกซ่อนอยู่นี้ออกมา ในการเจรจาสันติภาพ รัฐมนตรีถังโดยต้าเผิงนั้นหยิบยกเงื่อนไขการเจรจานั้นมาพูดอย่างชัดเจน ว่าประเด็นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (แมนจูเรีย) นั้นยังสามารถ "พักไว้ก่อน" ได้
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรื่องนี้ถือเป็นการทรยศครั้งยิ่งใหญ่ในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ถ้าเกิดปัญหาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นสามารถพักไว้ก่อนได้ แล้วสงครามต่อต้านที่ดำเนินมานานหลายปีนั้นจะทำไปเพื่ออะไร? ในเรื่องนั้นต้าเผิงก็รู้ดีว่าคำแนะนำของตนนั้นจะไม่ถูกยอมรับ ก็เลยทำได้แค่เล่นกับคำว่า "พักไว้ก่อน" ประโยคนี้ของเขานั้นล้ำเลิศมาก สมควรได้รับเสียงปรบมือเป็นอย่างยิ่ง
ดำเนินมาถึงส่วนสำคัญในเรื่องแล้ว สายลับจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่ซ่อนตัวอยู่ก็เริ่มทำการปั่นป่วนการเจรจาสันติภาพ ทำยังไงกัน? ก็ด้วยการลอบสังหารเจ้าชายแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นไงล่ะ เพราะสิ่งนี้แหละทำให้ภาพยนตร์เข้าสู่ช่วงไคลแม็กซ์เสียที
พูดได้เลยว่าปมนี้เป็นส่วนที่โดดเด่นที่สุดของภาพยนตร์เรื่อง 《无名》 และเป็นจุดที่เหมือนจุดแตกหักของเรื่องด้วย
ภาพลักษณ์ของเจ้าชายนั้นเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดที่ควรค่าแก่การชื่นชมมาก
คนดูบางคนอาจจะสงสัยว่าญี่ปุ่นยังมีเจ้าชายอยู่ได้ยังไง? หรือบางคนอาจถามว่าชนชั้นสูงของญี่ปุ่นนั้นสามารถเข้าร่วมสงครามและถูกสังหารได้ด้วยเหรอ?
ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้มันได้เกิดขึ้นจริง ๆ 《无名》 นั้นแสดงรายละเอียดส่วนนี้ของประวัติศาสตร์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมาก
หลังจากการปฏิรูปเมจิ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดระเบียบชนชั้นขึ้นมาใหม่ และได้ประกาศบทบัญัติ จัดตั้งคาโซกุ (ชนชั้นขุนนาง) ขึ้นสำหรับพวกชนชั้นสูง เจ้าชาย เจ้าหญิง และเหล่ารัฐมนตรีที่มีผลงานโดดเด่นในการปฏิรูปเมจิ เมื่อมีสถานะแบบนี้ คาโซกุจึงได้ถือว่าเป็นชนชั้นขุนนางสำหรับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่
ระบบคาโซกุนั้นถูกใช้ในปี 1869 (ยุคเมจิปีที่ 2) จนถึงปี 1947 (ยุคโชวะปีที่ 22) เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
กว่า 78 ปีที่เหล่าคาโซกุนั้นเปรียบเหมือนฉากกำบังของราชวงศ์ในจักรวรรดิญี่ปุ่น ไม่นานมานี้ก็มีหนังสือเกี่ยวกับคาโซกุของญี่ปุ่นถูกตีพิมพ์ออกมา ชื่อเรื่องคือ "คาโซกุ: จินตภาพและความเป็นจริงของขุนนางญี่ปุ่นในยุคสมัยใหม่" เป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การลอง
แต่ขุนนางญี่ปุ่นนั้นยังจำเป็นต้องรับใช้กองทัพ ดังนั้นการปรากฏตัวของเหล่าชนชั้นนำในสงครามต่อต้านจึงเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้จริง
คำถามทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สำคัญที่สุดก็คือ: เจ้าชายคนนั้นเป็นใคร? ผู้กำกับนั้นเลือกที่จะไม่ใช้ชื่อเฉพาะในการบอกเรา แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลมากมายได้ถูกบอกเล่าแบบอ้อม ๆ ให้เราได้ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์เหล่านี้ขึ้นมาดูอีกครั้ง
ในญี่ปุ่นมีครอบครัวชนชั้นสูงในขั้นเจ้าชาย (ดยุค) ประมาณ 20 ครอบครัว
ในบรรดาพวกเขาเหล่านั้น
9 ใน 20 นั้นเป็นชนชั้นสูงดั้งเดิมจากยุคโชกุน จากตระกูลโคโนเอะ ตระกูลทากาสึกาสะ ตระกูลอิชิโจ ตระกูลนิโจ ตระกูลคุโจ (เป็น 5 ตระกูลที่เป็นสาแหรกจากตระกูลฟูจิวาระ ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำและผู้มีอิทธิพลเก่าแก่ของญี่ปุ่น และยังมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหลาย ๆ แง่มุม) ตระกูลไซอนจิ ตระกูลโทกุไดจิ ตระกูลซันโจ และตระกูลอิวาคุระ
อีก 6 ตระกูลนั้นเป็นชนชั้นสูงจากการที่เคยเป็นข้าราชบริพาร (ข้าราชการ) เก่า ได้แก่ตระกูลโทคุกาวะ สายของโทคุกาวะ มิโตะ ตระกูลโทคุกาวะสายของโทคุกาวะ อิเอยาสึ ตระกูลโทคุกาวะ สายของโทคุกาวะ โยชิโนบุ ตระกูลโมริ ของโมริ โมโตโนริแห่งเขตโชชู ตระกูลชิมาสึ ของชิมาสึ ทาดาโยชิแห่งเขตซัตสึมะ และตระกูลชิมาสึของชิมาสึ ฮิซามิตสึ แห่งเขตซัตสึมะ
5 ตระกูลที่เหลือนั้นเป็นนักการเมืองผู้มีคุณูปการในการรับใช้กลุ่มต่อต้านรัฐโชกุนและการปฏิรูปเมจิ พวกเขาได้รับการเลื่อนชนชั้นให้กลายเป็นเจ้าชาย พวกเขานั้นมาจากซัตสึมะและโชชู อันได้แก่ยามากาตะ อาริโมโตะ, คัตสึระ ทาโร่, โอยามะ อิวะโอะ และมัตสึกาตะ มาซาโยชิ
แล้วเจ้าชายในเรื่องน่าจะมาจากตระกูลไหนกันล่ะ ฉันคิดว่าน่าจะเป็นตระกูลโคโนเอะ
ข้อแรก เจ้าชายให้นายทหารญี่ปุ่นเดาว่าเขาดูเหมือนใครโดยทำมือของเขาต่างหนวด และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของโคโนเอะ ฟูมิมาโระก็คือหนวดจุ๋มจิ๋มแบบเดียวกันกับฮิตเลอร์ ในสมัยก่อนทรงหนวดนี้เป็นอะไรที่คุ้นเคยดีในหมู่ชาวญี่ปุ่น
ในความเป็นจริงโคโนเอะ ฟูมิมาโระนั้นได้ส่งโคโนเอะ ฟุมิทากะ ลูกชายคนโตของตนเองเข้าร่วมกับสงครามรุกรานจีนตอนปี 1940 เขาเข้าร่วมในกองปืนใหญ่ที่ตั้งมั่นอยู่ที่เขตอาเฉิง แมนจูเรีย (ปัจจุบันเป็นเขตหนึ่งของเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง) และต่อมาก็ได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยโท
ตระกูลโคโนเอะนั้นเป็นคาโซกุ 1 ใน 5 ตระกูลชนชั้นสูงดั้งเดิม ไม่ใช่ชนชั้นนำธรรมดา นอกจากนี้โคโนเอะ ฟูมิมาโระเองก็เป็นกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในอาชญากรสงครามคนสำคัญด้วย เมื่อลูกชายของคนระดับนี้ถูกฆาตกรรม การเจรจาสันติภาพไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่นอน
การสังหารบุตรของเจ้าชายนั้นเป็นการยั่วยุให้ญี่ปุ่นโกรธ และญี่ปุ่นก็ปฏิเสธการเจรจาสันติภาพเพราะเหตุผลนี้เอง ในภาพยนตร์เราจึงจะเห็นว่าญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มาเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพครั้งที่ 2 แต่อย่างใด
นี่มันมีรายละเอียดต่าง ๆ อยู่เต็มไปหมด
องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งใน 《无名》ที่ไม่เคยปรากฏออกมาตรง ๆ แต่ก็มีบทบาทตลอดนั่นก็คือ "แมนจูเรีย"
ตัวละครวาตานาเบะที่นำแสดงโดยฮิโรยูกิ โมรินั้นพูดถึงแมนจูเรียในปี 1931 อยู่สองครั้ง มันเป็นความสำเร็จทางการทหารของเขาในฐานะของผู้รุกรานต่างถิ่นที่เขานั้นคิดถึงเป็นอย่างมาก
ในตอนที่ต้าเผิงนั้นเจรจาสันติภาพ ญี่ปุ่นนั้นไม่เคยยอมแพ้เลยกับแมนจูเรีย ดังนั้นต้าเผิงจึงทำได้แค่เพียง "พักไว้ก่อน" เท่านั้น
แมนจูเรียนั้นเปรียบดั่งหัวใจสุดท้ายของญี่ปุ่น และยังเป็นสมบัติชิ้นแรกที่พวกเขาคว้ามาได้ในสงครามรุกรานจีน
การต่อสู้เพื่อแมนจูเรียจึงเป็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้
ในช่วงสุดท้ายของ 《无名》ภารกิจหลักของเลขาเย่ที่นำแสดงโดยหวังอี้ป๋อก็คือการได้มาซึ่งแผนที่ยุทธศาสตร์ของกองทัพคันโตในแมนจูเรีย
นี่ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่น่าสนใจมาก
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นนั้นกำลังจะแพ้สงครามอย่างแน่นอน กองทัพญี่ปุ่นส่วนหนึ่งนั้นวางแผนไว้ว่าจะล่าถอยไปยังแมนจูเรียเพื่อที่จะนำพาสถานการณ์ให้กลับไปเป็นดั่งปี 1931 ในตอนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนนั้นถูกยึดครองเอาไว้ ในเรื่องวาตานาเบะนั้นวางแผนจะทำสิ่งนี้เช่นกัน และเขาพยายามอย่างมากที่จะกลับไปมีตำแหน่งในกองทัพคันโต
ชาวญี่ปุ่นนั้นเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถล่าถอยไปยังแมนจูเรียและอยู่ที่นั่นได้อย่างปลอดภัย เพราะกองทัพคันโตนั้นตั้งมั่นอยู่ที่นั่นมากว่าทศวรรษ และได้สร้างป้อมปราการทางการทหารเอาไว้เป็นจำนวนมาก จนเรียกได้ว่าเป็นแนวมาฌีโนแห่งตะวันออก มันเป็นป้อมปราการที่ไม่สามารถข้ามผ่านได้ ซึ่งพวกเขาสามารถถอยร่นกลับไปและอยู่อย่างปลอดภัยได้
แนวมาฌีโน: เป็นป้อมปราการคอนกรีตติดอาวุธในฝรั่งเศส ถูกสร้างขึ้นในปี 1930 โดยฝรั่งเศสเพื่อป้องกันการรุกรานของเยอรมนี
ดังนั้นเขาจึงแสดงแผนที่แสดงจุดยุทธศาสตร์ของกองทัพคันโตให้กับเลขาเย่ดูอย่างมั่นใจ เป็นการบอกว่าเขานั้นเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเขาที่จะกลับไปที่นั่นแค่ไหน
การสูญเสียข้อมูลนี้เองเป็นเหมือนการตัดเส้นเลือดสุดท้ายของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นเหมือนระเบิดลูกสุดท้าย และเป็นการแก้แค้นที่ดีที่สุดสำหรับกองทัพญี่ปุ่น
ดังนั้นในตอนสุดท้าย เลขาเย่จึงพูดออกมาว่า "ต้องขอบคุณแผนที่ของคุณ" ก่อนที่เขาจะลงมือฆ่าวาตานาเบะ
สิ่งนี้มันเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันของกองทัพคันโตนั้นมีอยู่ชัดเจน ในตอนท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียตนั้นทรงพลังมาก และทำการทลายป้อมปราการแห่งแมนจูเรียได้สำเร็จ ส่งผลให้นายทหารญี่ปุ่นจำนวนมากไม่มีโอกาสหนีกลับไปยังมาตุภูมิได้ พวกเขานั้นถูกจับและถูกส่งไปยังค่ายคนงานในไซบีเรีย
ทำไมเลขาเย่ถึงได้รับความไว้วางใจจากชาวญี่ปุ่น? นอกจากความสำเร็จของเขาในการกำจัดเหลียงเฉาเหว่ยแล้ว ก็ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีก
เลขาเย่ที่นำแสดงโดยหวังอี้ป๋อนั้นพูดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว และเขายังบอกอีกว่าเขานั้นไม่ได้มีค่าอะไรมากพอที่จะให้เข้าร่วมพวกด้วย นี่ดูเป็นอะไรที่เป็นบทละครมาก แต่จริง ๆ แล้วตัวละครนี้มีพื้นฐานมาจากบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของเขานั้นน่าทึ่งยิ่งกว่าภาพยนตร์เสียอีก
ต้นแบบของเลขาเย่นั้นน่าจะมาจากวังจิ่งหยวน เลขาของประธานาธิบดีวังจิงเว่ย เขานั้นเป็นลูกครึ่งจีนญี่ปุ่น เขาเติบโตที่ญี่ปุ่นและหลังจากนั้นก็มาตั้งรกรากที่เซี่ยงไฮ้พร้อมกับมารดา เขานั้นได้รับอิทธิพลมาจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นอย่างทัตสึโอะ นิชิซาโตะและคนอื่น ๆ จนในปี 1936 เขาก็ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ในปี 1938 เขาได้รับคำสั่งให้แฝงตัวเข้าไปในสำนักเลขาธิการของรัฐบาลหุ่นเชิดในเซี่ยงไฮ้ เพราะเขานั้นเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นและเชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่น รวมถึงเป็นคนจริงจังและมีความรับผิดชอบ ดังนั้นเขาจึงได้กลายเป็นเลขาในคณะผู้ติดตาม และยังคอยเป็นล่ามให้กับวังจิงเว่ยในที่สุด ในช่วงปี 1940 ถึง 1942 วังจิ่งหยวนและวังจิงเว่ยได้เข้าร่วมเจรจากับทางญี่ปุ่น เขาจึงได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับรัฐบาลหุ่นเชิดของวังจิงเว่ย เขาส่งข้อมูลพวกนั้นไปยังนครเหยียนอันและได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากโจวเอินไหล
เมืองเหยียนอัน: มณฑลส่านซี ในอดีตเป็นฐานที่มั่น สำนักงานใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน
โจวเอินไหล: นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน
เมื่อผู้ชมลองนำชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มาประกอบกัน พวกเขาก็จะตื่นตะลึงกับความจริงที่ว่าพวกเขานั้นขุดลึกลงไปในอดีตขนาดไหน เผลอ ๆ ไปไกลกว่าที่ภาพยนตร์ถ่ายทอดออกมาเสียด้วยซ้ำ นั่นเป็นอะไรที่เจ๋งมาก
แค่เรานั้นเชื่อมต่อข้อมูลเบื้องหลังและการอ้างอิงเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เราก็จะได้เห็นภาพประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและยอดเยี่ยมนี่ เมื่อเราทำแบบนั้นเราก็จะมองเห็นมากขึ้นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวอะไร ความสนใจของเราที่มีต่อภาพยนตร์ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเราก็ยังจะได้เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างอย่างประณีตเพียงใดจากเนื้อหาที่ถูกใส่เข้ามา ด้วยความน่าสนใจเหล่านั้นทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ควรค่าแก่การรับชมอย่างยิ่ง
ในท้ายสุดเรามาพูดถึงเฉิงเอ่อร์กันบ้างดีกว่า เขานั้นเป็นคนที่มีบุคลิกเงียบขรึมและเข้าสังคมไม่เก่ง ดังนั้นแล้วเขาจะชอบอ่านหนังสือมาก และเขานั้นหมกมุ่นกับการนำประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่ เขานั้นกล่าวว่า 《无名》นั้นเป็นเหมือนภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์มากกว่าภาพยนตร์สายลับระทึกขวัญ
แล้วมันต่างกันยังไงล่ะ? ภาพยนตร์สายลับระทึกขวัญนั้นมักจะเน้นบรรยากาศน่าสงสัยหรือความเร้าใจ ส่วนภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์นั้นมักจะเน้นการป้อนข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากกว่า จากคำกล่าวของเฉิงเอ่อร์ เขานั้นคุ้นเคยกับหลาย ๆ เรื่องราวในประวัติศาสตร์ยุคสาธารณรัฐจีน (ROC) เขามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนั้นมากเสียจนเขาสามารถบอกเล่ามันออกมาได้ราวกับมันอยู่ในหัวของเขาเลยล่ะ
การอัดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีความเข้มข้นระดับนี้ลงไปในภาพยนตร์ที่มีเวลาจำกัดนั้นเป็นอะไรที่พิเศษมาก จนเรียกได้ว่าเรากำลังยัดข้อมูลลงไปในนั้นเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันก็ได้มีการร้อยเรียงช่วงเวลา ใช้ช่องว่างต่าง ๆ ถักทอเรื่องราวในช่วงปี 1938, 1941, 1944, 1945 และ 1946 เข้าด้วยกันเป็นเส้นเรื่องซับซ้อน ข้อมูลสำคัญมากมายถูกซ่อนอยู่ในบทสนทนาธรรมดา ๆ และของประกอบฉากต่าง ๆ ทำให้ทั้งหมดนี่เปรียบเหมือนเขาวงกต 3 มิติ ราวกับว่าผู้ชมนั้นถูกเชื้อเชิญให้เข้ามาเฉลิมฉลองให้กับความอัจฉริยะอันแสนงดงามของผู้กำกับก็ว่าได้
เทคนิคนี้เป็นอะไรที่ท้าทายมาก แต่อย่างไรก็ตามตามที่ผู้กำกับเฉิงเอ่อร์เคยกล่าวเอาไว้ เรานั้นควรจะเคารพคนดูและไม่ทำอะไรที่เป็นการดูถูกพวกเขา
และผลงานนี้ก็เป็นการแสดงความเคารพต่อประวัติศาสตร์ของผู้กำกับเช่นกัน
คำว่า "ประวัติศาสตร์" นั้นดูหนักเกินไป ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่มองว่ามันเป็นเหมือนภูเขาสูงที่ตั้งตระหง่าน และไม่กล้าเข้าใกล้
แต่ประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้หมายถึงเพียงตำราเรียนเล่มหนา และไม่ใช่ตัวเลขหรือข้อมูลอันแสนน่าเบื่อ แต่ประวัติศาสตร์คือเลือดเนื้อ คือคลื่นอารมณ์ความรู้สึก คือการต่อสู้ของหนุ่มสาวและคนชราที่มีพื้นหลังและประสบการณ์ที่หลากหลายแตกต่าง
สิ่งที่เฉิงเอ่อร์ต้องการจะทำคือการเรียกคืนสัมผัสเหล่านั้นให้ผู้ชม ถ้าเขาทำได้เขาจะทำแม้กระทั่งให้ผู้ชมนั้นได้กลิ่น รู้สึกถึงลมหายใจที่ขาดห้วงและความมึนงงจากการที่อะดรีนาลีนหลั่งมากเกินไปเพราะความตึงเครียดด้วยซ้ำ
เพราะเหตุนี้เขาจึงยินดีที่จะลองใช้เทคนิคและการแสดง การตัดต่อ รวมถึงนักแสดงใหม่ ๆ เพื่อจุดประสงค์ในการบอกเล่าให้ผู้ชมรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ณ ที่แห่งนี้ มีคนที่ต้องสูญเสียมากมายเพียงไร และพวกเขานั้นบางคนนั้นทั้งเยาว์วัยและกล้าหาญเกินใคร
เช่นเดียวกับฉากจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ มันคือฮ่องกงในปี 1946 เฉิงเอ่อร์นั้นนำภาพผลงานของเหอฟาน ช่างภาพระดับปรมาจารย์มาทำให้มีชีวิตอีกครั้ง โดยแทบจะเป็นการนำภาพอันสวยงามนั้นมาวางลงในภาพยนตร์เสียด้วยซ้ำ
ว่ากันว่าฉากนี้นั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ ทั้งแสงเงาและบรรยากาศ กระทั่งลมหายใจของผู้คนที่เดินไปมานั้นได้รับการควบคุมอย่างดี ฉากนี้นั้นเรียบง่ายมาก มันเป็นช่วงบ่ายที่มีแดดออก ผู้คนเดินไปมาในทางเดินใต้ดินอย่างเงียบสงบ
บางทีเป้าหมายของความพยายามทั้งหมดของเหล่านิรนามนั้นอาจจะเรียบง่ายพอกัน เพื่อให้ทุกคนบนแผ่นดินนี้มียามบ่ายอันสงบสุขนิรันดร์
การสร้างภาพยนตร์เช่นนี้จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก ขอเชิญพวกเราทุกคนปรบมือให้กับความกล้าเหล่านี้ของผู้กำกับเฉิงเอ่อร์กันสักครั้ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in