สงกรานต์ปีนี้ร้อนเหลือเกิน เป็นอีกปีหนึ่งที่ผมไม่ได้ออกไปเล่นน้ำ อาจจะเป็นเพราะอายุที่มากขึ้นเกินวัยที่จะเล่นน้ำมาหลายปีแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะมารับราชการต่างถิ่น ทำให้ไม่นึกสนุก
ช่วงสองสามวันมานี้ผมได้แต่นอนแกล่วอยู่กับบ้านพัก อากาศร้อนทำให้ไม่อยากไปไหน งานบ้านก็ไม่อยากทำเพราะอากาศร้อนเหลือเกิน บางวันอุณหภูมิขึ้นไปถึง 45 องศา
จะกลับบ้านก็กลัวรถเยอะ หันซ้ายหันขวาหาที่พึ่งไม่ได้ก็ไปพาลเอากับชั้นหนังสือ
หยิบหนังสือเก่าที่ซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งในขณะนั้นยังเรียนอยู่ชั้นระดับปริญญาตรี ด้วยความที่ไม่มีเวลาเพราะต้องกรำศึกอยู่กับตำรับตำรา บ้างก็ปล้ำอยู่กับขวดเหล้า ทำให้อ่านหนังสือเล่มนั้นไม่จบ รู้สึกว่าจะอ่านได้เพียงครึ่งเล่ม
และบัดนี้ ปี 2559 เวลาก็ทำให้ผมลืมเรื่องราวในเล่มนั้นไปเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องต่างๆ
ดังนั้นในช่วงสงกรานต์จึงได้มีเวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ และตั้งใจว่าจะอ่านให้จบ ภายในช่วงหยุดยาวนี้
หนังสือเล่มที่ว่านั้นคือ คนขี่เสือ หรือ he who rides a tiger เขียนโดย ภวานี ภัฏฏาจารย์ นักเขียนชาวอินเดีย แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนชาวสยาม
หนังสือเล่มนี้ เคยถูกแปลมาครั้งหนึ่ง โดย ทวีป วรดิลก ซึ่งเป็นเพื่อนรักของจิตร ภูมิศักดิ์
หนังสือเล่มเดียว แต่แปลโดยผู้แปล 2 คน ก็หาใช่ว่า จะเป็นการแข่งขันในเรื่องสำนวนแปลกันแต่อย่างใดไม่ แต่สำนวนแปลของทวีป เกิดแต่ความรักความอาวรเพื่อนสนิทที่มิรู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร และด้วยไม่ทราบว่า จิตร ภูมิศักดิ์ แปลจบไปแล้วหรือยัง หรือต้นฉบับจะอยู่ที่ไหน ดังนั้น สำนวนแปลของทวีปวรดิลก จึงเกิดขึ้นจากความรักเพื่อนโดยแท้ เพราะเขาเห็นว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ชอบเรื่องนี้มาก จึงต้องการที่จะ สืบต่อเจตนารมณ์ของจิตร
แต่เป็นโชคดีของนักอ่านวรรณกรรมชาวไทย จิตรภูมิศักดิ์ แปลเรื่องนี้จนเสร็จ แต่พลัดหลงอยู่ที่ใด ไม่มีใครทราบ
จนกระทั่งปี 2501 พี่สาวของจิตร ภูมิศักดิ์ คือ ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ได้ไปพบเข้าในสภาพ กระดาษเก่า เหลืองกรอบ ใกล้ขาด
ด้วยความรักและคิดถึงน้องชาย ต้องการที่จะให้คนขี่เสือ สำนวนแปลของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ออกสู่บรรณาพิภพ เธอจึงได้คัดลอกด้วยลายมือลงสมุด ขนาด 8 หน้ายก เป็นจำนวน 14 เล่ม
คนขี่เสือ ฉบับสำนวนแปลของ จิตร ภูมิศักดิ์ จึงได้ปรากฏสู่สายตาของผมและของเพื่อนนักอ่าน จนกระทั่งทุกวันนี้
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ กาโล ชายวรรณะกามาร์ หรือกรรมกรผู้ใช้แรงงานในอินเดีย กับบุตรสาวอันเป็นที่รัก ชื่อจันทรเลขา ผู้มีผิวพรรณผ่องใสดังดวงจันทร์ กาโลรักลูกสาวมาก ซึ่งกระทำทุกอย่าง เท่าที่พ่อคนหนึ่งจะทำได้ เพื่อให้ลูกสาวไม่ต้องอดอยาก และตกระกำลำบาก อย่างเช่นตนได้เคยผ่านมาแล้วในชีวิต
บทบาทของกาโลตอนนี้ ทำให้ผมคิดถึงบ้านขึ้นมาถนัดใจ เพราะอดนึกถึงความรักของพ่อแม่ไม่ได้
ทว่าสถานการณ์ดลให้ชีวิตของสองพ่อลูก ต้องผจญกับภัยสงคราม ข้าวปลาอาหารขาดแคลน สิ่งของเครื่องใช้ราคาแพง ผู้คนในวรรณะกามาร์และจัณฑาลอดอยากและล้มตายเป็นจำนวนมาก ซ้ำกามาร์ทั้งหลายยังต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นวรรณะพราหมณ์ซึ่งกักตุนอาหารและของจำเป็น
กาโลจำเป็นต้องทิ้งลูกสาวไว้ที่บ้านเกิด โดยตนเองเดินทางไปเผชิญโชคในเมืองหลวงกัลกัตตา ด้วยวาดภาพเมืองหลวงไว้ว่า เป็นเมืองศิวิไล ที่สามารถหากินได้ง่าย และจะไม่ต้องลำบากอีกต่อไป
ชีวิตไม่ได้ง่ายเช่นนั้น กาโลแอบเกาะรถไฟด้วยความลำบากและหิวโหย ความหิวสร้างอาชญากร กาโลได้ขโมยกล้วยหอมของพราหมณ์คนหนึ่ง ซึ่งโดยสารมาบนรถไฟ ทำให้เขาถูกจับ
ความหิวย่อมเป็นความผิดสำหรับวรรณะกามาร์อย่างเขา เขาถูกพิพากษาให้จำคุก 3 เดือน และต้องทำงานหนักตลอดเวลาที่ถูกริบอิสรภาพ
ในระหว่างนั้นเขาได้พบกับเพื่อนผู้ที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาในเวลาต่อมา บีเท็น (B10) คือรหัสเรียกผู้ต้องขังอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นนักโทษการเมือง
บีเท็น เป็นคนวรรณะพราหมณ์ผู้สละวรรณะ เพื่อต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมกันเคียงคู่กับประชาชน
เขาสอนให้กาโล ใช้กลในการหากินอย่างพราหมณ์ และแสดงตัวเป็นพราหมณ์
กลนี้ทำให้กาโลท้องอิ่มหลังออกจากคุก
กาโลได้ขึ้นขี่เสือในฐานะอธิการของมหาวิหาร ซึ่งเขาได้สร้างขึ้นมาด้วยกลลวง เขาหลอกวรรณพราหมณ์เสียจนแนบเนียน แนบเนียนจนแม้กระทั่งจิตใจของเขาเองก็ยังถูกหลอกไปด้วย เขาลืมไปเสียแล้วว่าตัวเขาเองนั้นเป็นเพียงกามาร์ ห้วงลึกแห่งจิตใจเขา ถลำลึกไปในวรรณะพราหมณ์เสียแล้ว และเขาคือผู้ยิ่งใหญ่
กาโลขี่เสือตัวนี้ได้ดีเยี่ยม แต่เขาหาที่ลงไม่ได้ เขาได้แต่ขี่เสือควบไปในความเชื่องมงายของมนุษย์ เขาได้สร้างความปวดร้าวให้กับมนุษย์ที่ได้เข้ามาในมหาวิหารแห่งความหลอกลวงของเขา
แม้กระทั่งลูกสาวอันเป็นที่รัก!!!
ในบั้นปลายของชีวิตกาโลรู้สึกได้ว่า ชัยชนะของเขาไม่ได้อยู่ที่การที่เขาสามารถขี่เสือได้อย่างคะนอง และได้เอาประโยชน์จากมันอีกต่อไป
แต่การที่จะลงจากเสือ โดยไม่ให้ถูกเสือตัวนั้นกินเสีย เป็นเรื่องยาก
ดังนั้น เขาจึงฆ่าเสือตัวนั้นเสียขณะอยู่บนหลังมัน
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ด้วยความประทับใจ
ประทับใจในเรื่องราว ประทับใจในสำนวนเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์
เราทุกคนล้วนขี่เสือ อยู่ที่ว่าเสือตัวนั้นคืออะไร เราจะอยู่กับมันอย่างไรไม่ให้เกิดอันตราย และเราจะลงจากหลังของมันโดยปลอดภัยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ที่ขี่เสือตัวนั้นเอง
สงกรานต์ปีนี้ของผม ผ่านไปอย่างมีค่า
ลองหาอ่านดูนะครับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in