ยินดีต้อนรับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน...
เป็นที่รู้ทั่วกันว่าประเทศไทยดำเนินบทบาทสำคัญในด้านการระหว่างประเทศมาอย่างช้านาน ซึ่งในภูมิทัศน์ของโลกจะเห็นถึงความแตกต่างของแต่ละประเทศ คือ ต่างความเป็นมา ต่างภาษา ต่างสิ่งแวดล้อม ยิ่งในปัจจุบันนี้ บริบทของโลกกลับหมุนเวียนมาที่เดิม คือ การสงครามและการบุกรุกดินแดน ซ้ำเติมเข้าไปอีกกับปัญหาแห่งยุคสมัย คือ ปัญหาข้ามพรมแดนต่าง ๆ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การค้ามนุษย์ และการอพยพย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข หรือบรรเทาความรุนแรงให้เร็วที่สุด ดังนั้น ประเทศไทย จะดำเนินนโยบายลู่ไปตามลมไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องสร้างบทบาทใหม่ของตัวเอง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็กลับไปยืนในฐานะประเทศที่เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ก่อนอื่น ขอพูดถึงข้อได้เปรียบและข้อจำกัดของไทยเสียก่อน จะได้รู้ศักยภาพของตัวเองว่าทำตัวเรานั้น ทำอะไรได้บ้าง ใครเป็นพวกเราบ้าง และเราควรระวังอะไรบ้าง เพื่อความรอบคอบ (ทั้งหมดนี้เป็น perception ของเราทั้งหมด โปรดอย่าได้เชื่อหรือเห็นด้วยในทันที)
ลำดับแรก ข้อได้เปรียบของไทย ส่วนตัวคิดว่ามีอยู่ 2 ประการหลัก ได้แก่ ความมั่นคงทางภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม กล่าวคือ เมื่อพูดถึงประเทศไทย ต้องนึกถึงจุดที่ตั้งของไทย ซึ่งเป็นถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างที่ใครเขาว่ากันจริง ๆ ปัจจัยหนึ่งคือ ประเทศไทยมีภูมิประเทศที่หลากหลาย โดยมีทั้งพื้นที่ราบ พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ภูเขา พื้นที่เกาะ และทางออกสู่ทะเล ทำให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติที่รุนแรง การค้ามีความคล่องตัว และเป็นพื้นที่สำคัญของการสัญจรระหว่างประเทศ อีกปัจจัยหนึ่ง ประเทศไทยยังตั้งอยู่ใกล้กับประเทศมหาอำนาจของเอเชีย อย่างจีนและอินเดีย แต่ก็มีระยะห่างทางเขตแดนพอให้ได้มีอิสระในการดำเนินนโยบาย ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยจึงไม่ได้มีประเด็นพิพาทที่ใหญ่หลวงกับประเทศอื่นใด มีเพียงแค่ประเด็นพิพาทดินแดนยิบย่อยกับประเทศเพื่อนบ้าน อันเกิดจากการขีดเส้นเขตแดนตามแบบรัฐสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้ สามารถมองได้ว่า จุดที่ตั้งของไทย เปรียบเสมือนศูนย์กลางของภูมิภาค ที่ไม่ว่ามหาอำนาจใด หรือประเทศใด ต่างจำเป็นต้องผ่าน "ประเทศไทย" ทั้งสิ้น
อีกหนึ่งข้อได้เปรียบสำคัญของไทย คือ วัฒนธรรม ซึ่งในที่นี้ หมายรวมถึง อาหาร ภาษา ประเพณี และชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างปฏิเสธไม่ได้ เราสามารถเห็นคนต่างชาติมาดูวัดไทยและโขนไทย ซึ่งแสดงความเป็นศิลปะไทยได้อย่างดี มีร้านอาหารไทยเปิดในต่างประเทศทั่วโลก จนเกิดการบัญญัติคำว่า "ผัดไทย (Pad Thai)" อยู่ใน Cambrige Dictionary (จอมพลป. คงภูมิใจน่าดู) หรือแม้กระทั่ง ความบันเทิงไทย ก็โด่งดังไปทั่วโลกไม่แพ้กัน โดยเฉพาะแถบอินโดนีเซีย อินเดีย และลาตินอเมริกา เราจะเห็นชาวต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับละครไทย และเข้ามาดูคอนเสิร์ตของศิลปินไทยอยู่เสมอมา
ลำดับต่อมา ข้อจำกัดของไทย คิดว่าน่าจะมีอยู่ 2 ประการใหญ่ ๆ คือ กฎหมาย และเสถียรภาพทางการเมือง กล่าวคือ กฎหมายของไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นกฎหมายที่มีความครอบคลุม คือมีบทบัญญัติต่อประเด็นต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบ และจัดระเบียบภายในประเทศ มากไปกว่านั้นก็ครอบคลุมประเด็นที่พึงกระทำในบริบทระหว่างประเทศด้วย แต่สิ่งที่ทำให้กฎหมายไทยเข้ามาอยู่ในส่วนของข้อจำกัด ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีอำนาจทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ สส. สว. หรือท่านผู้มีอำนาจทางพฤตินัยทั้งหลาย ที่ยังคงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสนองผลประโยชน์ของตนเอง ทำให้กฎหมายไทยมีจุดบกพร่องในเรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งการกระจายความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น และกลายเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาแสวงหาประโยชน์ในประเทศไทยอย่างเกินพอดี
ในส่วนของเสถียรภาพทางการเมือง เป็นที่รู้ทั่วกันว่าระบอบการเมืองของไทยบกพร่องเรื่องความเสถียรทางการเมืองมานับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใหม่ (ในที่นี้ขอเริ่มต้นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย) กล่าวคือ รัฐบาลของไทยสลับปรับเปลี่ยนขั้วอำนาจมาโดยตลอด บ้างก็เป็นรัฐบาลพลเรือน บ้างก็ให้ทหารเข้ามาครอบครอง บ้างก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญ บ้างก็ขอเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เรื่องที่ดูจะมีชื่อเสียงที่สุดคงเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทย ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศจุดยืนอย่างแนวแน่ว่าไทยจะอยู่ข้างฝ่ายอักษะ (มีเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นเป็นตัวแทน) ในขณะเดียวกัน ก็มีฝ่ายเสรีไทย ที่บอกว่ารัฐบาลไทยพลาดพลั้งโดนญี่ปุ่นกดดัน จะขอร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน (อันมีสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นตัวแทน) สถานการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การเมืองไทย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ารัฐบาลไทย "ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" และ "เอาแน่เอานอนไม่ได้" ประกอบกับรัฐบาลไทย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นต้นมา ก็ไม่สามารถทำผลงานได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างรัฐบาลพลเรือน มีความเสี่ยงที่จะทุจริต คอรัปชั่น และถูกรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา และรัฐบาลทหารก็ไม่เป็นที่ยอมรับในระเบียบระหว่างระเทศปัจจุบัน ความบกพร่องทางเสถียรภาพนี้เองกำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประเทศไทยอย่างช้า ๆ จนกลายเป็นประเทศที่ถูกลืมในเวทีโลก
เมื่อรู้แล้วว่าเรามีข้อเด่น - ข้อด้อยของตนเองแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องวางแผนการกำหนดท่าทีของไทยในสังคมระหว่างเทศบ้าง เพื่อที่จะได้วางตัวอย่างเหมาะสม ไม่มีใครมาว่าได้ว่าไทยนั้นนอกคอก...
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ไทยต้องหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ไม่ว่าจะทั้งต่อบริบทของไทย ต่อภูมิภาค ต่อโลก หรือต่อประเทศมหาอำนาจ เพราะเราจะมาดำเนินนโยบายที่เพลย์เซฟอย่างไผ่ลูลมตลอดไปก็คงไม่ดี เดี๋ยวใคร ๆ จะหาว่าเราไม่มีจุดยืน เราจึงมีความเห็นที่อยากเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ต่อการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของไทยในที่นี้ ดังนี้
1. เลือกผลประโยนชน์แห่งชาติ (National Interest) เป็นการวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่ประเทศไทย ในฐานะประเทศซึ่งเป็นเอกราช มีอธิปไตยและบูรณภาพในการปกครองตนเอง มีรัฐบาลคอยบริหารกิจการของประเทศ และมีประชาชนไทย ซึ่งการกระทำนี้มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน โดยข้อดี เมื่อดำเนินถูกทิศทางจะเป็นการสร้างสถานะ (status) และความน่าเชื่อถือ (credibility) ของประเทศได้อย่างดี หากสามารถประสานนโยบายของตนเองเข้ากับผลประโยชน์ของประเทศอื่น ๆ ได้ ในขณะที่ข้อเสียอาจทำให้ภาพลักษณ์ดูเป็นคนเห็นแก่ตัว และอาจเสื่อมเสียชื่อเสียงเมื่อผลประโยชน์แห่งชาติของเราสอดคล้องกับชาติผู้น่ารังเกียจจากประชาคมระหว่างประเทศ ดังนั้นหากจะดำเนินนโยบายตามฉากทัศน์แรกนี้ สมควรที่จะต้องไตร่ตรอง ตีความ และชั่งน้ำหนักการดำเนินการต่อมิตรประเทศให้รอบคอบอย่างยิ่ง
2. เลือกสหรัฐฯ การเลือกข้างสหรัฐฯ นั้น ไม่เป็นเพียงเราสนับสนุนนโยบายหรือสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่รวมไปถึงเราต้องยึดมั่น (adhere) ระเบียบโลกที่สหรัฐฯ สร้างเอาไว้ด้วย นั่นคือ rule-based order อาทิ ระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy) เสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) การค้าเสรี (free trade) การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน (human rights) เป็นต้น ซึ่งการเลือกตัวเลือกนี้ มีข้อได้เปรียบหลัก ๆ คือ จะเป็นการยอมรับและการสนับสนุนจากประเทศเสรีนิยม และสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ จากประชาคมโลก แต่แน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยข้อเสียบางอย่าง โดยเฉพาะการสร้างความหวาดระแวงให้แก่จีน และประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทย มีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งใกล้กับจีน และแวดล้อมไปด้วยประเทศที่นิยมสหรัฐฯ บ้าง นิยมจีนบ้าง หรือไม่เลือกข้างประเทศใดเลย ใครให้สิ่งใดก็รับมาทั้งหมด การดำเนินนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านของเราจะยากยิ่งขึ้นไปอีก จะมาอ้างหลักการเสรีนิยม หรือกฎหมายระหว่างประเทศใด ๆ ก็ไม่มีใครรับฟัง เพราะเมื่อมีมุมมองต่างกัน การรับรู้ (perception) ในแต่ละประเด็นระหว่างประเทศนั้นแตกต่างกันด้วย หรือเค้าเลือกที่จะรับรู้แตกต่างจากเรา การดำเนินนโยบายเช่นนี้ จะต้องสื่อสารในประเด็นภัยคุกคามร่วมกันอย่างระมัดระวัง และต้องทำการบ้านเรื่องภายในของประเทศเพื่อนบ้านอย่างครอบคลุมด้วย เพื่อให้การดำเนินนโยบายนั้นราบรื่น สามารถดึงประเทศต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือในประเด็นที่เราอยากจะผลักดันต่อไป
3. เลือกจีน เป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับประเทศจีนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการทหาร การค้าการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และที่สำคัญ คือการน้อมรับระเบียบโลกใหม่ในอัตลักษณ์แบบจีน อย่างเช่น การไม่แทรกปซงกิจการภายในของประเทศอื่น (non-intervention) การรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual interest) การเปิดเสรีการค้า และการเชื่อมั่นในพหุภาคีนิยมแบบจีน (Multilateralism with Chinese Characteristics) ซึ่งการดำเนินนโยบายโดยเน้นจีนเป็นหลักเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่ามีข้อดีในด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมของไทย การท่องเที่ยวและบริการ ในทางกลับกัน ผลกระทบใหญ่คือ การสร้างความหวาดระแวงให้กับมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ และไทยเองจะเสียความเชื่อใจจากพันธมิตรเก่าไปด้วย ในการดำเนินนโยบายตามฉากทัศน์นี้ ไทยจะต้องวิเคราะห์และตัดสินใจอย่างรอบคอบในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีน เพราะโดยส่วนมาก จีนมีลักษณะการดำเนินนโยบายแบบ Zero-sum game คือ ฝ่ายหนึ่งได้ ก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งเสีย หากไทยเดินเกมโดยขาดการไตร่ตรองที่ดีจะทำให้เกิดการสูญเสียครั้งสำคัญแน่นอน
4. เลือกข้างโดยตั้งอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเรื่องปกติที่ประเทศต่างๆ มักหาความชอบธรรมโดยอ้างอิงกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินนโยบายของตัวเองต่อประเทศอื่นๆ เพราะกฎหมายนะหว่างประเทศนั้นมีความชอบธรรม (legitimacy) ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องหลักปฏิบัติระหว่างรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน และหลักปฏิบัติเมื่อมีข้อพิพาท การเลือกอ้างกฎหมายระหว่างประเทศเปรียบเสมือนการหาทางออกให้ตัวเองได้ดีอีกทางหนึ่ง ทั้งยังตอบสนองต่อระเบียบโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับ Rule-based order อีกด้วย แต่ในทางกลับกัน กฎหมายระหว่างประเทศได้เลือกข้างไว้ให้แล้ว นั่นคือ เป็นระเบียบโลกที่ตะวันตกสร้างขึ้น อ้างอิงตามธรรมเนียมนิยมของตะวันตก ซึ่งทำให้ไทยต้องปรับตัวทั้งในการปฏิบัติระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในประเทศพอสมควร เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง และเป็น "ตะวันตกนิยม" มากขึ้น อีกหนึ่งอย่างที่เพิ่งนึกขึ้นมาได้นั้น คือ กฎหมายระหว่างประเทศ มีลักษณะพิเศษ คือไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิดตายตัว แม้ว่าจะมี "ศาลโลก" เพื่อพิจารณาข้อพิพาทระหว่างประเทศก็จริงอยู่ แต่คำพิพากษาของศาลโลกนั้น เป็นเพียงลมปากแค่ชั่วขณะเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ ที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องร้องจีนในการครอบครองกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ผ่านเส้นประ 9 เส้น ในปี 2016 และศาลมีคำตัดสินให้การกำหนดเขตแดนของจีนไม่มีสิทธิ์ในพื้นที่ตามที่อ้าง อย่างไรก็ตาม คำขี้ขาดของศาลโลกนั้นแม้ตามบทกฎหมายจะมีผลผูกพันให้ประเทศสมาชิกกระทำตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับไม่มีกลไกบังคับให้คำตัดสินนั้นมีผลทางกฎหมายทั้งสิ้น นี่จึงเป็นข้อเสียเปรียบสำคัญที่ผู้เล่นในระบบกฎหมายระหว่างประเทศจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายความว่าเราได้ไปขัดผลประโยชน์ของประเทศใดประเทศหนึ่งไปแล้วแน่นอน
5. เลือกความเป็นตัวกลาง (Mediator) ในที่นี้ เป็นสิ่งที่ไทยกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือ การวางตัวเองเป็นสะพานเชื่อมไทยเชื่อมโลก (bridge builder) ที่ดึงดูดประเทศต่าง ๆ เข้ามาหาไทยมากขึ้นผ่านการโปรโมจุดขายของเรา เช่น ที่ตั้งของประเทศ ประวัติศาสตร์ทางการทูตที่ดีงาม ความเป็นมิตรกับทุกฝ่าย และที่สำคัญคือการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (non-interference) สิ่งนี้จะสร้างข้อได้เปรียบให้ไทยหลายอย่าง และอย่างมากที่สุด คือการได้ภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการได้ความเป็น "พี่ใหญ่" ของภูมิภาคกลับคืนมา อย่างที่เคยทำในสมัยสงครามเย็น ที่เป็นตัวกลางเจรจาความขัดแย้งของเขมร 3 ฝ่าย รวมถึงความขัดแย้งระหว่างเวียดนาม-กัมพูชา ในขณะที่ข้อเสียจากการเลือกฉากทัศน์นี้ ส่งผลให้ไทยต้องลงทุนอย่างมหาศาลกับการให้คุณค่าภาพลักษณ์ของตัวเอง ทั้งการจ่ายงบประมาณ บุคคลากร และเวลา เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้ทั่วโลกเห็น "ภาพ" ที่ประเทศไทยอยากเสนอ การเลือกที่จะเป็นตัวกลางนั้น ไม่สามารถทำเป็นโครงการระยะสั้นได้ แต่เปรียบเสมือน Mega project ของประเทศที่ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และมองไปทิศทางเดียวกันในระยะยาว ซึ่งดูเหมือนว่าไทยจะทำได้บ้างในบางกรณี อย่างเช่นในปัจจุบัน จีนและสหรัฐฯ เลือกประเทศไทยเป็นที่ประชุมหารือระหว่างกัน (ตัวเรานั้นไม่รู้ว่าเขามาพูดเรื่องอะไรกัน แต่เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าไทยเรานั้น ยังอยู่บนจอเรดาห์ของโลก) ในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อด้อยของไทยแล้ว พบว่าไทยมีศักยภาพมากพอที่จะทำอย่างนั้นได้อย่างดียิ่ง แต่ต้องพึงระลึกไว้หนึ่งอย่างคือไทยวางตัวเองได้"น่าเชื่อถือหรือน่าไว้วางใจ" ให้กับนานาประเทศขนาดนั้นหรือไม่
จาก 5 ทางเลือกที่ได้กล่าวไว้ เส้นทางที่ดูเป็นไปได้มากที่สุด น่าจะเป็นการเลือกผลประโยชน์แห่งชาติของไทยที่เน้นความยืดหยุ่น (National interest with flexibility) กล่าวคือ เมื่อปัญหา/ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นห่างไกลจากการสูญเสียของประโยชน์ของไทย อาจจะแสดงปฏิกิริยาที่คลุมเครือมากหน่อย วางตัวเองให้อยู่ตรงกลาง หรืออาจเลือกเส้นทางโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบโลกก็ได้ ตัวอย่างเช่น กรณีความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หรืออิสราเอล-ฮามาส เป็นการสร้างผลกระทบต่อไทยทางอ้อม เช่น ราคาน้ำมัน เชื้อเพลิง และธัญพืชสูงขึ้น และผลกระทบต่อความปลอดภัยของแรงงานไทยในพื้นที่ความขัดแย้ง เป็นต้น และดูเหมือนสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อไทยมากที่สุดในกรณีเหล่านี้ คือ ท่าทีของไทยที่อาจสร้างความขุ่นข้องหมองใจในสายตาประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ไทยจึงควรเลือกที่จะดำเนินนโยบายเป็นกลาง (neutrality) โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ หากประเทศหนึ่งกระทำการอันเป็นอาชญากรสงคราม ที่สร้างผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ ก็ทำการประนาม "การกระทำ" นั้น มิใช่ประนามประเทศหรือตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยหากเป็นไปได้ก็ควร "สื่อสาร" ต่อสาธารณชนด้วยความเป็นเหตุเป็นผลที่เข้าใจง่าย (conciseness) และในอีกทางหนึ่งก็มิควรดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตามกระแสของมหาอำนาจโลกแต่อย่างใด เพราะอาจกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยที่เชื่อมโยงกับทุกเขตเศรษฐกิจนั่นเอง
ในทางตรงกันข้าม เมื่อประเด็นนั้นสร้างผลกระทบกับไทย ก็ควรจะดำเนินการแก้ไขผ่านนโยบายเชิงรุก เพื่อบรรเทาผลกระทบและสร้างมาตรการป้องกันการเกิดปัญหานั้นขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหายาเสพติด และอาชญากรรมทางออนไลน์ข้ามพรมแดน ที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทยและประชาชนส่วนรวม ซึ่งเมื่อถามว่าจะดำเนินนโยบายเชิงรุกอย่างไร ตามความเห็นของเรา ไทยต้องมีการแสดงท่าทีที่ชัดเจน ในลักษณะของการใช้อำนาจที่มีเพื่อความเชื่อของตนเอง (assertiveness) มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ โดยใช้การสื่อสารอย่างมีวาทศิลป์เป็นเครื่องมือ ซึ่งสามารถอ้างผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อไทย หรือกฎหมายระหว่างประเทศได้เช่นกัน และที่สำคัญที่สุด ไทยต้อง "หาพวก" โดยไม่ลืมใช้เครื่องมือที่มีอยู่ นั่นคือ อาเซียน หรือกลุ่มความร่วมมืออื่น ๆ เพราะจากหลายเวทีที่ผ่านมา ไทยมักกล่าวถ้อยแถลงที่ยึดมั่น ณ ที่ประชุมของระบบพหุภาคีนิยม (multilateralism) ทั้งหลาย เพื่อการสนองผลประโยชน์ของไทยดังนั้น เพื่อไม่ให้ถ้อยแถลงในเวทีต่าง ๆ เป็นเพียงแค่ลมปาก ลำดับแรก ไทยต้องใช้อาเซียนเป็นตัวกลางในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอง แต่ก่อนที่จะใช้กระบอกเสียงอย่างอาเซียนได้นั้น จะต้องโน้มน้าวเหล่าสมาชิกอาเซียนให้เห็นมองเห็นปัญหาร่วมกัน (แม้แท้จริงแล้วจะเป็นแค่ปัญหาใหญ่ของไทยเพียงอย่างเดียว) และร่วมมือกันบรรเทาและป้องกันภัยคุกคามรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างภูมิภาคที่เข้มแข็ง ดั่งคำกล่าวที่ว่า "รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย"
กล่าวโดยสรุป บนเวทีระหว่างประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลาย ประเทศไทยซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกควรไตร่ตรองและทบทวนนโยบายการต่างประเทศของตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยคำนึงถึงข้อได้เปรียบและเสียเปรียบตามแต่บริบทนั้น ๆ มาจัดเรียงเป็นทางเลือกต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การจะมีบทบาทสำคัญบนเวทีโลกได้นั้น สมควรจะต้องมีจุดยืนที่แน่นอน เด่นชัด และเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ด้วยเหตุนี้ ผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายควรจัดทำนโยบายที่มีความยืดหยุ่น โดยยึดถือในประโยชน์แห่งชาติของตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งทำให้ท่าทีของไทยในแต่ละประเด็นที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไป นั่นคือ ในประเด็นกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติเพียงเล็กน้อย ไทยสามารถแสดงท่าทีคลุมเครือหรือเลือกแสดงบทบาทโดยอ้างอิงระเบียบระหว่างประเทศได้ ในทางตรงกันข้าม หากประเด็นนั้นกระทบต่อผลประโยชน์ของไทยโดยตรง ก็สมควรที่จะมีท่าทีชัดเจน แน่วแน่ และที่สำคัญคือควรสร้างเวทีในรูปแบบพหุภาคีนิยม เพื่อยกระดับอำนาจต่อรองของประเทศให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น
สุดท้ายนี้ เราไม่มีทางรู้ได้ว่านโยบายแบบใดกันแน่ที่จะสามารถนำไทยไปสู่การมีบทบาทสำคัญของโลก จึงได้แต่คำนวนความน่าจะเป็นบวกกับทฤษฎีต่างๆ ที่เคยร่ำเรียนมาจัดทำเป็นกรอบกว้าง ๆ เพียงเท่านั้น ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าระบบการปกครองของประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้ไทยได้อย่างดีในเวทีโลก หากประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองให้มีระบบระเบียบมากขึ้น การเล่นเป็นตัวละครเอกบนเวทีโลกของไทยอาจจะง่ายขึ้นไปด้วยก็ได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in