ONE OK ROCK วงร็อคสัญชาติญี่ปุ่น ที่ได้รับการกล่าวถึงว่า ทุก ๆ การแสดงสดของวงนี้นั้นเรียกได้ว่าไม่เหมือนกับฟังจากแผ่นซีดีหรือหูฟังของเราเลย เพราะมักจะทำดนตรีให้มีความน่าสนใจ แปลกใหม่ และแตกต่างจากเวอร์ชั่น official audio ที่ฟังทั่วไป อีกทั้งที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขานั้นสามารถแสดงโชว์ออกมาได้อย่างสนุกสุดเหวี่ยงจนเผลอที่จะต้องโยกศีรษะตาม ทำให้คนที่เคยเข้าไปสัมผัสบรรยากาศคอนเสิร์ตของ ONE OK ROCK ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพลงต้นฉบับมันส์แค่ไหน ในคอนเสิร์ตสนุกกว่าหลายเท่าและต้องไปดูการแสดงสดให้ได้สักครั้งในชีวิต โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงคอนเสิร์ตที่มีชื่อว่า ONE OK ROCK Orchestra Japan Tour 2018 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่ SAITAMA SUPER ARENA ในวันที่ 20-21 ตุลาคม 2018 และ OSAKA JO-HALL วันที่ 30-31 ตุลาคม 2018 รวม 4 รอบการแสดง ทั้งหมด 19 เพลง ได้แก่
- Change
- Ending Story??
- Ketsuraku Automaion
- Cry Out
- Decision
- Answer is near
- Yokubou ni michita seinendan
- Kagerou
- Yes I Am
- One Way Ticket
- Pierce
- (Instrument song)
- Stand Out Fit In
- I Was King
- The Beginning
- Mighty Long Fall
- Fight the Night
- We Are
- Kanzen Kankaku Dreamer
แต่ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ได้เลือกมาแค่ 1 บทเพลงจากทั้งหมด เนื่องจากการแสดงนี้สามารถดูย้อนหลังได้เต็มรูปแบบจาก DVD บันทึกการแสดงสดที่จำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์เท่านั้น และบทเพลงที่หยิบยกมานั้นเป็นเพลงเวอร์ชั่นจากคอนเสิร์ต ที่สามารถรับชมได้ใน youtube เรียกได้ว่าเป็น ‘น้ำจิ้ม’ เพื่อให้ผู้คนสนใจที่จะตามไปหาซื้อบันทึกการแสดงสดมาดูนั่นเอง
ซึ่งเพลงที่จะหยิบยกมาวิเคราะห์คือ เพลง I Was King ซึ่งในคอนเสิร์ตนี้ก็ถือว่าเป็นเวอร์ชั่นพิเศษ ที่เป็น Orchestra version ได้มีการทำให้เกิด contrast ทั้งในเรื่องระดับเสียงและผสมผสานเครื่องดนตรีที่หลากหลายประเภทได้ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
[ I Was King – Written : Colin Brittain, JOHN FELDMANN, Simon Wilcox, Taka
Produce : Colin Brittain, JOHN FELDMANN ]
โดยปกติวงร็อคที่เรารู้จักกันโดยทั่วไป ก็มักจะประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลัก ๆ ได้แก่ กลอง กีตาร์ไฟฟ้า และเบส โดยจุดเด่นนั้นอยู่ที่กีตาร์ไฟฟ้า ซึ่งวง ONE OK ROCK นี้ก็มีเครื่องดนตรีตามที่กล่าวมาครบถ้วน โดยสมาชิกแต่ละคนมีตำแหน่งดังนี้ ทากาฮิโระ โมริตะ (Morita Takahiro) นักร้องนำ, โทรุ ยามาชิตะ (Yamashita Toru) กีตาร์, เรียวตะ โคฮามะ (Kohama Ryota) เบส, โทโมยะ คังกิ (Kanki Tomoya) กลอง และในคอนเสิร์ตนี้ได้มีการดัดแปลงดนตรีใหม่ โดยผสมผสานบทเพลงร็อคที่มีเอกลักษณ์ของตนเองเข้ากับวงออเคสตราขนาดเล็ก (Small Ochestra) ทำให้บทเพลงเวอร์ชั่นนี้มี Tone color ที่หลากหลายผสมกัน โดยวงออเคสตรามีผู้เล่นทั้งหมด 55 คน ประกอบด้วย
1st Violin : 14 คน
2nd Violin : 12 คน
Viola : 10 คน
Violoncello : 8 คน
Contra Bass : 1 คน
Harp : 1 คน
Trumpet : 2 คน
Horn : 3 คน
Trombone : 4 คน
[Orchestra Produce : Udai Shika
Orchestra Arrangement : Udai Shika, Pete Nappi, Colin Brittain, Winn Krozack]
สำหรับบทเพลง I was King นักร้องนำของวงมีส่วนร่วมในการเขียนด้วย จากการตีความบทเพลงของผู้เขียน บทเพลงนี้มีความหมายเกี่ยวกับ การที่เคยมีทุก ๆ อย่าง ทั้งความสุขและสิ่งอื่น เปรียบได้กับราชันย์ที่มีอำนาจ แต่วันหนึ่งเมื่อสูญเสียไปเราก็มักจะจมปลักกับความผิดพลาด ทั้งที่อยากจะลืมเรื่องเหล่านั้น อีกทั้งอยากที่จะได้รับมันอีกครั้ง ในอีกมุมมองหนึ่งอาจหมายความว่า การใฝ่ฝันอยากที่มีความสุข เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาอันแรงกล้า แต่ยังไม่ได้ลงมือทำสิ่งใด ซึ่งบทเพลงก็ได้ช่วยย้ำเตือนไม่ให้เรายึดติดอยู่กับอดีตหรือฝันล้ม ๆ แล้ง ๆ ชวนให้ลุกขึ้นมาใช้ชีวิต พร้อมตั้งคำถามว่าเมื่อใดจะก้าวเดินต่อไปดังเนื้อเพลงท่อนที่กล่าวว่า when am I gonna move on และ when am I gonna kill this feeling นอกจากนี้ยังมีท่อนที่มีความหมายว่า หากล้มลงให้สู้ต่อไป หากพ่ายแพ้ให้แพ้อย่างมีศักดิ์ศรี และเมื่อขับร้องด้วยเสียงของนักร้องนำที่มีความสูงในคีย์ของผู้ชาย หรือที่เรียกว่า Tenor ยิ่งทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกเร้าใจ ตื่นเต้น ถ้าหากเปรียบเทียบเพลง I Was King กับสีสัน เพลงนี้ก็คงจะคล้ายกับสีแดง ผสมสีส้มและสีเหลืองเล็กน้อย แบบไล่ระดับสี ซึ่งสีแดงกับสีส้มแสดงให้เห็นถึงความเร้าใจ ตื่นเต้น ปลุกใจ และสีเหลืองแสดงถึงการพบแสงสว่างหรือยืนหยัดขึ้นได้จากความผิดพลาด
โดยในส่วนของดนตรีนั้น Introduction เริ่มต้นด้วยเสียงกลองที่ตีในรูปแบบเดิมซ้ำไปมาหลายรอบอย่างหนักแน่น ด้วยรูปแบบ quadruple meter ที่มี 4 Beats โดยใน Beat ที่ 2 และ 4 จะดังชัดเป็น strong beat ใช้เวลานานเกือบนาที โดยในช่วงแรกนั้นจะเป็นเสียงกลองล้วน ไม่มีเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ รวมไปถึงเสียงร้อง จากนั้นนักร้องนำจะเริ่มพูดประโยคซ้ำ ๆ ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นขึ้นมาในช่วงผ่านไปครึ่งนาที คลอด้วยเสียงเครื่องสายจากวงออเคสตรา โดยจะเล่นวนซ้ำรูปแบบเดิมเหมือนกลอง ส่วนกลองยังคงตีต่อไปในรูปแบบเดิม ทำให้ผู้ฟังเหมือนกับได้รับการปลุกใจ ให้ความรู้สึกตื่นเต้น พร้อมที่จะหยัดยืนขึ้น จากนั้นจึงเร่งจังหวะให้คนดูรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นด้วยการเร่งจังหวะเครื่องสายให้เร็วและถี่ขึ้นก่อนจะเข้าท่อน verse แรก หลังจากนั้นจะเน้นเสียงเครื่องสายให้ได้ยินชัดเจนมากขึ้น ตาม beat ของกลอง และมีเสียงจากเครื่องทองเหลืองคลอไปด้วยจนจบท่อน verse และเสียงเครื่องทองเหลืองจะเบาลงในท่อน pre hook แต่เครื่องสายยังคงล้อไปกับเครื่องดนตรีหลัก โดยในท่อนนี้การร้องจะเร็วขึ้นให้ความรู้สึกกำลังเตรียมตัวที่จะออกวิ่งไปข้างหน้า เครื่องดนตรีที่เริ่มชัดในท่อนนี้คือ กีตาร์ไฟฟ้า ในช่วงก่อนเข้าท่อน hook เครื่องดนตรีทุกชิ้นจะเงียบ แต่จะมีเสียงฉาบจากกลองตีส่งขึ้นมาให้เข้าสู่ท่อน hook ในท่อนนี้จะได้ยินเสียงเครื่องทองเหลืองที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิมเพื่อแสดงถึงอำนาจและคอยซัพพอร์ตให้ดนตรีมีพลัง โดยที่เครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ ก็ไม่ได้ลดบทบาทลง เหมือนกับเป็นการปะทะกันระหว่างเสียงดนตรีจากวงออเคสตรากับเสียงดนตรีจากวงร็อค เมื่อจบท่อน hook เสียงดนตรีจะเบาลงจนเกือบเงียบ แล้วกลองจึงตีส่งขึ้นมาเพื่อเข้าสู่ท่อน verse อีกครั้ง และเครื่องสายจะกลับมาเด่นชัดอีกครั้งในท่อนนี้ การบรรเลงดำเนินไปเช่นเดียวกับ verse และ hook แรก
เมื่อจบ hook ครั้งที่สองและจะเข้าสู่ท่อน bridge จะมีการลากเสียงเครื่องดนตรีจากวงออเคสตรา ที่ได้ยินชัดเจนที่สุดจะเป็นเสียงของ Trumpet และ Trombone เพื่อประสานเสียงให้กับเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ (หรือเรียกว่า Drone) นั่นคือกลอง จากนั้นจะเหลือเพียงเสียงกลอง ที่ตีซ้ำไปมาเหมือนกับในท่อน Introduction ก่อน verse ครั้งแรก เสียงเดี่ยว ๆ ของกลองชุด ล้อไปกับเสียงขับร้องของมือกีตาร์ มือกลอง และมือเบส ให้ความรู้สึกเหมือนปลุกใจตัวเองท่ามกลางผู้คนที่มีความรู้สึกแบบเดียวกัน เมื่อจบประโยคนั้นเสียงเบสจะดังเด่นชัดขึ้นมา ตามด้วยเสียงกลองที่เปลี่ยนจังหวะให้เร็วขึ้น และในช่วงนี้เครื่องดนตรีทุกชิ้นจากวงออเคสตราก็บรรเลงขึ้นมาเสริมกันอย่างหนักแน่น และค่อย ๆ เงียบลงเหลือเพียงเสียงของกีตาร์ไฟฟ้าในช่วงก่อนเข้าสู่ท่อน hook สุดท้าย เป็นช่วงที่กล่าวได้ว่าอาจไม่มีใครในคอนเสิร์ตนั้นรู้สึกยอมแพ้และสิ้นหวังอีกต่อไป เพราะเสียงเครื่องดนตรีที่ต่างเงียบ เหลือเพียงเสียงแตกซ่า ของกีตาร์ ทำให้ได้ยินเสียงของผู้ชมในคอนเสิร์ตและคุณทากะ นักร้องนำ เปล่งเสียง ตะโกนพร้อมกันว่า When am I gonna start living. When am I gonna move on. When am I gonna kill this feeling. When am I gonna stop this dreaming. ตามด้วยท่อน hook สุดท้าย ที่ทุกเครื่องดนตรีกลับมาให้เสียง แสดงให้เห็นการประชันกันระหว่างวงดนตรีทั้งสองรูปแบบอีกครั้ง แล้วจบด้วยเสียงสุดท้ายจากเครื่องสายของวงออเคสตราไปอย่างอลังการพร้อมกับไฟบนเวทีที่ดับลง ทิ้งความมืดไว้กับความเงียบงัน
โดยส่วนตัวเรารู้สึกชอบการผสมผสานดนตรีในแบบของ ONE OK ROCK กับวงออเคสตราเป็นอย่างมาก เพราะทุกเครื่องดนตรีที่เรามองว่าแตกต่างสามารถนำมารวมกันได้อย่างลงตัว อีกทั้งเสียง high note ของทากะก็บาดลึกเข้าไปในความรู้สึกได้เป็นอย่างดี ในมุมของ Tone color อาจอธิบายได้ด้วยคำว่า mellow ที่วง ONE OK ROCK สามารถทำออกมาได้อย่างดีทีเดียว
ในสถานการณ์ที่ยากลำบากด้วยโรคระบาดเช่นนี้ สำหรับใครที่รู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจ หรือรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียว อยากให้ลองเปิดใจฟังเพลงของ ONE OK ROCK ไปพร้อมกับความหมายในบทเพลงดูสักครั้ง มีอีกหลากหลายบทเพลงจากหนุ่ม ๆ แดนปลาดิบวงนี้ ที่มีความหมายดี ๆ และตรงกับชีวิตใครหลาย ๆ คน อาจจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น เหมือนถูกโอบกอดจากคนที่เข้าใจความรู้สึกของเรา ทำให้รู้สึกว่ายังมีความหวัง และคิดว่า 'โลกก็ไม่ได้ใจร้ายเสมอไปนี่นา' เหมือนกับมี ONE OK ROCK มานั่งให้กำลังใจข้าง ๆ และไม่โดดเดี่ยวเหมือนอย่างเคยนะคะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in