เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
วิจารณ์คอนเสิร์ตออนไลน์ ⭐ Tchaikovsky - The Nutcracker, Ballet in two actsShama R.
วิจารณ์คอนเสิร์ตออนไลน์ ⭐ Tchaikovsky - The Nutcracker, Ballet in two acts
  • สวัสดีค่ะ ในบล็อกครั้งนี้เราอยากจะมาเล่าประสบการณ์ที่ได้ดูการแสดงบัลเลต์ออนไลน์ “Tchaikovsky- The Nutcracker, Ballet in two acts” ซึ่งได้ทำการแสดงในปี 2012 เดือนธันวาคม ณ Mariinsky Theatre ประเทศรัสเซียโดยวาทยากรของการแสดงนี้คือคุณ Valery Gergiev ค่ะ



    สาเหตุที่เราเลือกหยิบการแสดงนี้มาเล่าหรือวิจารณ์ เนื่องจากเราชอบเพลงของคุณ Tchaikovsky หรือนักประพันธ์สมัยโรแมนติกอย่างมาก เพลงของเขามักจะถูกนำไปใช้ในเทพนิยายหรือการ์ตูน Barbie ที่เราดูตอนเด็ก ๆ เสมอ ซึ่งเมื่อฟังแล้วจะรู้สึกคิดถึงหรือรู้สึกได้ย้อนวัย และสาเหตุที่ต้องเป็น The Nutcracker ก็เพราะ The Nutcracker นั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคืนหน้าหนาวหรือคริสต์มาสอีฟพอดี ซึ่งช่วงนี้ก็ใกล้แล้ว เลยคิดว่าน่าจะได้บรรยากาศค่ะ (ถึงจะไม่ได้อากาศเย็นเหมือนประเทศทางโน้นก็ตาม)

     

    The Nutcracker เป็นเรื่องราวของหญิงสาวตัวน้อยชื่อคลาร่าซึ่งได้จัดงานเลี้ยงคริสต์มาสที่บ้านของเธอค่ะ ในวันนั้นคุณตาได้มางานและให้ของขวัญกับเธอเป็นตุ๊กตา Nutcracker เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนได้มีหนูและราชาหนูบุกมาที่บ้านของคลาร่าทำให้เธอต้องหนี แต่ตุ๊กตา Nutcracker ก็มีชีวิตขึ้นและปราบพวกหนู เมื่อปราบหนูได้ คำสาปที่ได้สาป Nutcracker อยู่ก็หายไป จากนั้นคลาร่าก็ได้พบว่าจริง ๆ Nutcracker นั้นเป็นเจ้าชาย โดยเจ้าชายได้พาคลาร่าเข้าไปท่องในโลกของเขา แต่น่าเสียดาย เมื่อได้ท่องไปในโลกของเจ้าชายและออกมาแล้ว คลาร่าก็พบว่าทั้งหมดนั้นคือความฝัน


                ต่อจากนี้จะมาวิจารณ์เพลงแต่ละเพลงที่ใช้ในบัลเลต์นี้กันค่ะ

     

    ①Overture

    เพลงแรกเป็นเพลง Overture หรือเพลงที่จะบรรเลงก่อนเริ่มการแสดงนั่นเองค่ะ (เพลงโหมโรง) พอฟังแล้วก็นึกถึงคริสต์มาสทันทีเลย แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะว่าทำไม อาจเพราะตอนเด็ก ๆ เพลงนี้ก็ได้ถูกใช้ในฉากเปิดของ Barbie in Nutcracker ซึ่งเราก็รู้มาตลอดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในคืนคริสต์มาส หากมาลองสังเกตเรื่องเสียงกันบ้างจะรู้สึกว่าจะมีการเล่น Melody หลักซ้ำไปมา แต่ที่ซ้ำนั้นก็ไม่รู้สึกเบื่อค่ะ เนื่องจากในแต่ละครั้งที่ซ้ำจะมีการใช้เครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นมา ทำให้ได้สีสันที่แตกต่างกันไป เช่น รอบแรกนั้นใช้เพียงเครื่องสีและเครื่องเป่าบรรเลง พอซ้ำรอบที่สองก็มีเสียงคล้าย Triangle เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเราคิดว่าเสียงของ Triangle ให้ความรู้สึกของหิมะที่โปรยปราย เหมาะกับความเป็นคริสต์มาสมากเลยค่ะเพลงนี้โดยรวมแล้วเป็นเพลงที่รู้สึกลื่นหูและฟังสบายมาก มีความเป็น Consonance สูง


    พอเล่นสักพัก ม่านบนเวทีจึงเปิดขึ้นเผยให้เห็นฉากที่คล้ายหมู่บ้านยามค่ำคืน มีผู้คนเดินทางเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง เรารู้สึกทึ่งกับความละเอียดของฉากมากค่ะ เพราะนอกจากจะมีทั้งเอฟเฟกต์หิมะตกแล้ว ยังมีมิติอีกด้วย (นึกมาตลอดว่าฉากบัลเลต์นั้นจะให้ความรู้สึกแบน ๆ ) พอเปลี่ยนฉากเข้ามาในบ้านก็มีเสียง Dissonance จากการรัวไวโอลิน ทำให้เพลงมีความเคลื่อนไหว ซึ่งเราคิดว่าเหมาะกับการเปลี่ยนฉากค่ะ นอกจากฉากจะน่าประทับใจแล้ว การคัดเลือกนักแสดงก็น่าประทับใจค่ะ เนื่องจากตัวละครเด็กนั้นก็ให้เด็กเล่น ตัวละครผู้ใหญ่นั้นก็ให้ผู้ใหญ่เล่น รู้สึกสมบทบาท


    พอแขกเข้ามาในบ้านแล้ว ในตอนนี้เพลงไม่ได้ซ้ำท่อนเดิมแล้วค่ะ แต่ก็ยังคงเป็นเพลงที่ลื่นไหล นุ่ม มี Consonance จึงทำให้รู้สึกว่าเพลงวนอยู่ที่เดิมและรู้สึกง่วงอยู่ไม่น้อย


    จุดที่เราชอบและประทับใจคือ พอในฉากนาฬิกาตีสี่ทุ่ม ทั้งเพลงและนักแสดงนั้นหยุดเคลื่อนไหว มีเพียงเสียงนาฬิกาที่ร้องเตือนเวลาเป็นพัก ๆ ชอบการจัดการ (manage) ความเงียบตรงนี้มาก ๆ ค่ะ หลังจากความเงียบตรงนี้ เพลงก็กลับมาคลอต่อเบา ๆ ซึ่งเป็นฉากการจากลาของคนในงานแล้ว


    ②Act I

    Act 1 เริ่มที่ตอนคลาร่าจะเข้านอนและได้กอดตุ๊กตา Nutcracker ไว้ในอ้อมกอด จากนั้นฉากจึงตัดไปที่หน้าต้นคริสต์มาสซึ่งมีหนูวิ่งเพ่นพ่านไปมา ในระหว่างนี้มีเสียงเครื่องเป่าลมไม้และเสียงเครื่องสายที่เล่นด้วยจังหวะเร็ว ซึ่งเราคิดว่าเป็นการแสดงความอยู่ไม่สุขของหนูได้อย่างดีค่ะ


    หลังจากนั้นไม่นานราชาหนูก็ได้เข้ามาในฉาก ในตอนนั้นเพลงบรรเลงเร็วขึ้นและเสียงดังขึ้น (มีการเล่นกับ Dynamic) โดยใช้เครื่องเป่าทองเหลืองและมีการรัวกลอง ซึ่งการบรรเลงเพลงที่รวดเร็วและมีการรัวกลองนี้แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของราชาหนูได้อย่างดี



    หลังจากนั้นไม่นานกองทัพตุ๊กตาทหารของ Nutcracker ก็เข้ามายิงราชาหนู ซึ่งเสียงยิงปืนนั้นก็ไม่ได้ขัดกับเพลงที่บรรเลงอยู่เลยแม้แต่น้อย เสียงของปืนเข้ากับจังหวะเพลงเหมือนคำนวณมาแล้ว


    หลังจากราชาหนูเสียท่าให้ Nutcracker แสงไฟบนเวทีก็ดับลง และเมื่อแสงสว่างขึ้นอีกครั้งก็ได้มีการเปลี่ยนคนแสดง คือ คลาร่านั้นแสดงโดยผู้ใหญ่ และ Nutcracker ซึ่งเดิมทีใส่ชุดทหารก็ได้เปลี่ยนเป็นคนที่ใส่ชุดเจ้าชาย แสดงให้เห็นว่าคำสาปนั้นคลายลงแล้ว เพลงในขณะนี้ไม่มีความวุ่นวายเหมือนช่วงก่อนหน้า มีความโรแมนติก เจ้าชายและคลาร่าเต้นรำกัน


     

    The Waltz of the Snow fairy

    เป็นเพลงเล็ก ๆ ใน Act I ที่เราชอบมากค่ะ ฟังแล้วมักนึกถึง Barbie in Nutcracker ที่ดูตอนเด็ก ๆ เสมอ เราชอบที่เพลงนี้ตรงที่มีเสียงคนร้องคลอระหว่างการบรรเลงเพลง เสียงร้องดังกล่าวร้องด้วยทำนองซ้ำ ๆ ตลอดเพลงด้วยระดับเสียงเท่ากัน แต่เช่นเดียวกับตอน Overture คือ ในแต่ละครั้งที่ซ้ำ บางครั้งจะมีก่ารเพิ่มเสียงเครื่องดนตรีเข้ามาหรือมีการเร่งจังหวะให้เร็วมากขึ้น ทำให้ได้ความรู้สึกที่ต่างกันออกไปค่ะ

     

    Prelude to Act II

    ม่านปิดลง เป็นช่วงที่ความรู้สึกง่วงกลับมาอีกครั้งค่ะ เนื่องจากการบรรเลงนั้นเน้นเครื่องสี ทั้งยังเป็นการสีเบา ๆ นุ่ม ๆ


    Act II

    เมื่อม่านเปิดอีกครั้งก็ได้พบเจ้าชายกับคลาร่า เมื่อเจ้าชายและคลาร่าเต้นกันไปได้สักพักจู่ ๆ ก็มีตัวละครซึ่งคาดว่าเป็นค้างคาววิ่งเข้ามา และเจ้าชายกับคลาร่าก็พากันวิ่งออกไป เมื่อวิ่งออกมาได้ ฉากที่แต่ก่อนเป็นสีฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสีชมพูหวาน พร้อมกับเจ้าชายและคลาร่าที่พากันเต้นอย่างร่าเริง ซึ่งหลังจากนี้ก็ดูเหมือนว่าเจ้าชายจะพาคลาร่าไปดูผู้คนหลากหลายกลุ่มที่กำลังเต้นรำ ดังนี้


    Act II Spanish Dance (กลุ่มแรก)

    เป็นการเต้นคู่ของชายหญิงที่ใส่ชุดสไตล์สเปน ดนตรีที่บรรเลงนั้นเป็นดนตรีที่ให้ความรู้สึกรื่นเริง ลื่นไหล นอกจากนี้มีการนำเครื่องดนตรีสเปนเข้ามาใช้ คือ Castanets ซึ่งเข้ากับชื่อเพลงคือ Spanish Dance อย่างยิ่ง และเราคิดว่าเสียง Castanets นี่เองที่สร้างจุดเด่นให้เพลงนี้ค่ะ



    Act II Eastern Dance (กลุ่มที่ 2)

    จุดเด่นของเพลงนี้ คือ ท่าเต้นรำที่ดูเหมือนเป็นการประยุกต์สไตล์อาหรับและบัลเลต์เข้าด้วยกัน มีการใช้มือที่อ่อนช้อย และการก้าวขาที่ดูทะมัดทะแมง ด้านเพลงนั้น สำหรับเราแล้วไม่ได้รู้สึกถึงเอกลักษณ์ที่เป็นอาหรับสักเท่าไหร่ ค่อนข้างเป็นเพลงที่ช้า



      Act II Chinese Dance (กลุ่มที่ 3)

    จุดเด่นของเพลงนี้ คือ เป็นเพลงที่มีจังหวะค่อนข้างรวดเร็วและใช้เครื่องดนตรีที่มีเสียงแหลมเล็กเป็นหลัก (อาจเป็นเสียง Piccolo) ท่าเต้นนั้นมีเอกลักษณ์ เนื่องจากมีการกระโดดขึ้นลงและการย่ำเท้าเยอะ ซึ่งทุกจังหวะการย่ำเท้านั้นก็เข้าจังหวะกับเสียงเครื่องดนตรีอย่างดี เราคิดว่าเป็นเพลงที่ฟังแล้วเพลินรู้สึกสนุกไปกับการเต้นของนักแสดง แต่เพลงนั้นสั้นไปหน่อย



      Act II Russian Dance (กลุ่มที่ 4)

    เป็นอีกเพลงที่มีท่อนหลักซ้ำไปมาโดยไม่เปลี่ยนระดับเสียง แต่ดูแล้วไม่รู้สึกง่วงเลยค่ะ เพราะเพลงมีจังหวะเร็ว มีเสียงของ Tambourine และเครื่องเป่าทองเหลืองคอยเร้าอารมณ์ นอกจากนั้นท่าเต้นนั้นยังดูร่าเริงอีกด้วย


    Act II Dance of the Reed Pipes (กลุ่มที่ 5)

    เป็นเพลงที่มีท่อนหลักเล่นซ้ำไปมาเช่นกัน แต่เป็นเพลงที่ง่วงเนื่อจากใช้เครื่องเป่าลมไม้เป็นหลัก


    Act II Waltz of the flower (กลุ่มที่ 6)

    คราวนี้มีคนออกมาเต้นเป็นคู่ๆ ราวกับอยู่ในงานเต้นรำ เสียงจังหวะ Waltz (1-2-3 1-2-3) ค่อนข้างชัดเลยทีเดียวจนไม่ต้องดูชื่อเพลงเลยว่าเป็น Waltz รึเปล่า เพลงนี้เป็นเพลงที่ใช้เครื่องเป่าลมไม้เป็นหลัก ให้อารมณ์ลื่นไหล ถึงมีเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองก็ไม่เล่นเพื่อเร้าอารมณ์หรือเล่นเสียงดังเหมือนตอนเหล่าหนูออกมา เราชอบชุดของผู้หญิงในเพลงนี้มาก เพราะเหมือนกลีบดอกไม้สีชมพูและเข้ากับชื่อเพลงค่ะ นี่ก็เป็นอีกเพลงที่เล่นท่อนเดิมค่อนข้างซ้ำไปมา



    ⑤Act II Pas de deux – Intrada

    เจ้าชายและคลาร่ากลับมาที่เวที ซึ่งทั้งสองก็ได้เปลี่ยนเสื้อเป็นสีชมพูและกลับมาเต้นรำด้วยกัน Pasde deux – Intrada นี้ราวกับเป็นเพลงที่ใช้แสดงความสามารถของนักเต้นหญิง เนื่องจากมีคลาร่าเต้นเป็นหลัก เป็นเพลงที่หวานและโรแมนติกอย่างมากค่ะ

     

    ⑥Act II Pas de deux – Tarantella

    เป็นเพลงที่ลื่นไหลตามแนว Tchaikovsky ตามเคย คราวนี้ตรงกันข้ามกับเพลงที่แล้ว คือเป็นเพลงที่เน้นการเต้นของเจ้าชายเป็นหลัก รู้สึกว่าสั้นไปหน่อยเมื่อเทียบกับของคลาร่าค่ะ

     

    ⑦Act II Dance of the Sugarplum Fairy

    คราวนี้คลาร่ากลับมาเต้นเป็นหลักค่ะ เป็นเพลงที่มีท่อนซ้ำไปมาตามเคย แต่ฟังแล้วมีความสุข ไม่ง่วง ซึ่งอาจเป็นเพราะความรู้สึก Nostalgia หรือคิดถึงบาร์บีตามเคย (เพลงนี้ก็ถูกใช้ใน Barbie in Nutcracker ค่ะ) เพลงนี้เป็นเพลงที่เสียง Celesta เด่น (เครื่องดนตรีรูปร่างคล้ายเปียโน) ซึ่งฟังด้วยหูตอนแรกแล้วนึกว่าเป็นเครื่องเคาะเสียอีก นักแสดงใช้เท้าในการเต้นค่อนข้างเยอะ ซึ่งเท้านั้นก็ย่ำไปตามจังหวะของ Celesta ดูแล้วเพลินดีค่ะ

     

    ⑧Act II Pas de deux – Coda

    เป็นเพลงที่เจ้าชายและคลาร่ากลับมาเต้นด้วยกัน เสียงเพลงนั้นครื้นไปด้วยเสียงเครื่องสี เครื่องเป่าทองเหลือง มีจังหวะเร็วทั้งเพลงซึ่งถือว่าหาได้ยากในบัลเลต์ The Nutcracker นี้ รู้สึกได้รับความสนุกสนานจากจังหวะเพลง และการเต้นของเจ้าชายและคลาร่าค่ะ


    ⑨Final Waltz and Apotheosis

    เป็นเพลงที่ตัวละครในแต่ละฉากผลัดกันออกมาเต้น โดยก็ยังคงแสดงลักษณะพิเศษของการเต้นในชุดของตัวเองผ่านท่าเต้นที่เป็นเอกลักษณ์ ตอนท้ายของเพลงเร้าด้วยการเล่นเครื่องสายและเครื่องเป่าทองเหลืองด้วยจังหวะที่เร็ว ใช้กลอง ประกอบกับเจ้าชายยกตัวคลาร่าขึ้นเมื่อเพลงจบพดี ซึ่งเราคิดว่าเป็นการปิดฉากในส่วนของความฝันที่สวยงามอย่างมาก


    หลังจากนั้นฉากบนเวทีก็เปลี่ยนมาให้เห็นคลาร่าในร่างเด็กที่นอนอยู่บนเตียงในห้องตอนกลางคืน เพลงเปลี่ยนมาเป็นเสียงเครื่องเป่าลมไม้นิ่ม ๆ ซึ่งเราคิดว่าเข้ากับรรยากาศที่เงียบสงบยามกลางคืนอย่างดีจากนั้นไม่นานคลาร่าก็ตื่นขึ้นพร้อมกอดตุ๊กตา Nutcracker ออกมาจากเตียงก่อนชูตุ๊กตาขึ้น จังหวะที่ชูตุ๊กตาขึ้นมีเสียงรัวกลองขึ้นอีกครั้งและมีเสียงฉาบ ซึ่งฟังดูยิ่งใหญ่ มี Impact เหมาะสมกับกับเป็นฉากปิดของเรื่องค่ะ



    จบแล้วนะคะสำหรับการวิจารณ์คอนเสิร์ตนี้ (เน้นหนักไปทางเพลง) เป็นยังไงกันบ้าง ทำให้อยากลองดูบัลเลต์กันขึ้นมาบ้างมั้ยนะคะ ส่วนตัวเราคิดว่าเนื่องจากเพลงนั้นออกจะไปทางนิ่ม ๆ เนิบ ๆ เหมือนอยู่ในเทพนิยายซะส่วนใหญ่เลยมีรู้สึกง่วงไปบ้าง แต่รู้สึกดีใจที่ได้ฟังเพลงที่ได้ฟังตอนเด็กอีกครั้งค่ะ เราคิดว่าคงจะดีมาก ๆ เลยถ้ามีโอกาสดูบัลเลต์ The Nutcracker ในโรงละครช่วงคริสต์มาสจริง ๆ เพราะคงได้บรรยากาศน่าดู ถ้าเป็นไปได้อยากให้ที่ไทยมีจัดแบบนี้บ้างจังค่ะ


    ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะคะ สวัสดีค่า

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in