เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
โอยรันเป็นเจ้าหญิง? เกอิชาขายร่างกายใช่ไหม?mayauki
โอยรันเป็นเจ้าหญิง? เกอิชาขายร่างกายใช่ไหม?
  • หลังจากมีกระแสเดือดโซเชียลถึงสตูดิโอแห่งหนึ่งที่มีการบริการให้ลูกค้าแต่งตัวแบบโอยรันถ่ายรูป แน่นอนว่าหลายคนถึงกับตกอกตกใจว่า เอ๊ะ แบบนี้ก็ได้เหรอ?! ความเห็นส่วนตัวของเราเราเห็นว่า....ชุดมันสวยอะนะ 5555+ คือถ้าสวยแล้วอยากแต่งมันก็ ก็ ไม่ผิดอะ แต่ๆๆๆ จะดีกว่าไหมถ้าเราลองมาดูกันเลยว่า แล้วโอยรันคืออะไรล่ะ? คือเจ้าหญิงจริงไหม? มาค่ะ มาดูกัน....

    โอยรันคืออะไร?

    คำตอบ นางโลมชั้นสูง แต่!! เราไม่สามารถเรียกนางโลมทุกคนว่า โอยรันได้ค่ะ จริงๆโอยรันเป็นแค่ระดับขั้น ขั้นหนึ่งเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วคำเรียกนางโลมคือ "ยูโจะ" (遊女) หรือ "โจะโร" (女郎) แต่ส่วนใหญ่จะเรียกกันว่ายูโจะน่ะ ถ้าแปลตามตัวอักษรก็แนวๆ Play girls หรือผู้หญิงที่ให้ความเพลิดเพลิน 


    แล้วนางโลมพวกนี้มาจากไหนล่ะ?

    อันที่จริงแล้วอาชีพขายเรือนร่างมีมาเรื่อยๆ แต่ไม่ถูกจัดระเบียบให้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายอย่างชัดเจน ในสมัยเคโช (慶長 1596 - 1614) ตอนนั้นสถานบริการ’เรื่องอย่างว่า’ มีกระจายทั่วไปในเมืองเอโดะ แต่ก็มีที่ใหญ่ๆอยู่ 3 ที่ ที่รู้กันในหมู่หนุ่มๆว่าถ้าต้องการปลดปล่อยให้ไปที่นี่รับรองไม่ผิดหวัง นั่นก็คือ

    1.โคจิมาจิ ฮัทโชเมะ มีสำนักโคมเขียวอยู่กว่า 15 แห่ง

    2.คามาคุระกาชิ มีสำนักโคมเขียวตั้งอยู่ 15 แห่งเช่นกัน

    3.อุจิ-ยานางิมาจิ มีสำนักโคมเขียวตั้งอยู่ 20 แห่ง ที่นี่นั่นมีชื่อเรียกเล่นๆว่า “ยานางิมาจิ” (เมืองต้นหลิว) ชื่อนี้ได้มาจากมีต้นหลิวตั้งตระหง่านอยู่ 2 ต้นบริเวณทางเข้าย่านยานางิมาจิ

    แต่ดูเหมือนทั้ง 3 ย่านนั้น ราคาค่าตัวสาวๆอาจจะแพงสักหน่อย แถมสาวๆต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบมากมาย สาวน้อยสาวใหญ่บางส่วนจึงเลือกจะเดินเตร็ดเตร่ไปรอบเมืองเพื่อหาลูกค้าเอง คิดค่าตัวถูกๆหน่อยแต่ก็ไม่กระทบปากท้องเพราะยังไงก็ไม่ถูกหักค่านายหน้า เมื่อค่าตัวถูกหนุ่มๆก็เข้าถึงได้ง่าย จึงมีลูกค้ามากมาย เพราะแบบนั้นปัญหาโสเภณีเกลื่อนเมืองจึงแก้ไม่ได้สักที 

    จนกระทั่งในปี ค.ศ.1589 ฮาระ ซาบุโร่ซาเอม่อน ร้องขอต่อโชกุนฮิเดโยชิให้สามารถเปิดย่านสถานเริงรมย์แบบถูกกฎหมายเพื่อลดปัญหาโสเภณีเกลื่อนเมือง ในคำร้องนี้ยังขออนุญาตให้สร้างกำแพงล้อมพื้นที่บางส่วนของเขต นิโจ ยานางิมาจิ เกียวโต โดยจะตั้งชื่อที่แห่งนั้นว่า “ยานางิมาจิ” ตามชื่อของยานางิมาจิแหล่งโคมเขียวที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น แต่คำขอนั้นไม่เข้าตากรรมการ จึงถูกปัดตกไปอย่างง่ายดาย

    สิ่งที่ทำได้ตอนนั้นก็มีแค่การจัดระเบียบเล็กๆน้อยๆ โดยการไล่ที่ให้สถานโคมเขียวในเกียวโตไปเปิดกันแถวๆย่านโรคุโจ มิทสึมาจิแทนในปี 1602 แต่ที่ตรงนี้ก็ยังไม่ค่อยถูกใจรัฐบาลเท่าไรจึงมีคำสั่งให้ย้ายอีกครั้งในปี 1640 ให้ไปตั้งกันที่ซุซาคุโนะ และต่อมาที่นี้นั่นเองกลายเป็นแหล่งเริ่งรมณ์เลื่องชื่อนาม “ชิมาบาระ เกียวโต”

    ย้อนกลับมาที่เมืองเอโดะ หลังจากคำขอของฮาระ ซาบุโร่ซาเอม่อนที่ถูกปัดตกไป ก็มีพ่อเล้าคนหนึ่งนามว่า โชจิ จินเอม่อนตั้งใจรื้อคำขอขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเขารู้สึกว่าการที่มีโสเภณีค่าตัวถูกเกลื่อนเมืองแบบนั้นมันไม่ค่อยจะยุติธรรมกับธุรกิจของเขาสักเท่าไร

    สาวๆที่เขาใช้เวลาทุ่มเทปลุกปั้นมาอย่างดีจะแพ้นางโลมค่าตัวถูกงั้นรึ!? ยอมไม่ได้!

    หลังจากคิดอยู่นานเขาก็ยื่นคำร้องกับรัฐบาลโทคุกาว่า ซึ่งคำร้องนี้ใช้เวลาพิจารณาถึง 5 ปีกว่าจะผ่าน

    ทางรัฐบาลได้แบ่งพื้นที่ขนาด 11.8 ไร่ ณ เขตฟุคิยะมาจิ ที่เรียกว่า “โยชิวาระ” แต่งตั้งนายจินเอม่อนเป็น “เคย์เซยมาจิ นานุชิ” (ผู้กำกับการย่านสถานเริงรมณ์) เรียกที่แห่งนั้นว่า “ยูคาคุ” (遊廓) และตั้งกฎขึ้นมาดังนี้

    1.ไม่อนุญาตให้สถานเริงรมณ์ออกไปเปิดกิจการนอกสถานที่ๆได้รับอนุญาต และจะไม่ให้นางโลมไปทำงานนอกสถานที่ๆได้รับอนุญาตไว้แล้ว

    2.แขกจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในสถานเริงรมณ์ได้ไม่เกิน 24 ชม.

    3.นางโลมจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่ชุดที่ถูกเย็บปักถักร้อยด้วยด้ายเงินและทอง ต้องใส่ผ้าย้อมลายธรรมดาเท่านั้น

    4.อาคารภายในเขตนี้ห้ามสร้างให้หรูหราโออ่ามากมายนักเอาให้มันพอดีๆ และผู้อาศัยทุกคนในเขตนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติตนตามกฎหมายเหมือนผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณอื่นของเมืองทุกประการ

    5.ในกรณีที่มีแขกน่าสงสัยหรือมีพฤติกรรมแปลกๆ อนุญาตให้ทางสถานบริการทำการไต่สวนแขกผู้นั้นได้เลย ไม่ว่าเข้าจะเป็นซามูไร, พ่อค้า หรือ ชนชั้นปกครองก็ตาม เมื่อไต่สวนเรียบร้อยให้นำข้อมูลไปให้บุเกียวโช (ผู้คุมกฎ)

    นายจินเอม่อนรับทราบทุกกฎเกณฑ์ที่ทางการตั้งให้ และเขาสัญญาว่าจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และรีบทำการเข้าไปพัฒนาที่ดินที่รัฐบาลให้มา ถึงแม้ที่ดินนั้นจะเต็มไปด้วยโคลนตมและวัชพืชนายจินเอม่อนก็ไม่ถอย

    แถมเขาเห็นว่าชื่อสถานที่นี้ไม่ค่อยเป็นมงคลเท่าไร (แต่เดิมตัว ‘โยชิ’ ของโยชิวาระแปลว่าสนามรบ) เขาทำการตั้งชื่อที่ตรงนี้ว่า “โยชิวาระ” (吉原) ที่แปลว่า ทุ่งแห่งความโชคดี ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1618 ถึงแม้ว่าย่านนี้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% แต่สถานเริ่งรมย์บางแห่งที่เสร็จก่อนก็เริ่มดำเนินธุรกิจแล้ว (โยชิวาระจริงๆแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 1624)

    ในยูคาคุนี้รวบรวมเหล่าสาวบริการและพ่อเล้าแม่เล้าที่เคยดำเนินกิจการผิดกฎหมายให้เข้ามาขึ้นทะเบียนตีตรา อีกทั้งยังสร้างกฎระเบียบในยูคาคุ ดำเนินการจัดลำดับขั้นของสาวๆ “ยูโจะ” ให้ง่ายต่อการเรียกใช้ 

    ยูคาคุหรือย่านนางโลมแบบถูกกฎหมายนอกจากที่โยชิวาระแล้ว ยังมีที่อื่นกระจายไปอีก 2ที่ดังนี้

    -ชิมาบาระ เกียวโต (ก่อตั้งใน 1640)

    -ชินมาจิ โอซาก้า (ก่อตั้งใน 1624 – 1644 )


    โอยรันคือนางโลมชั้นสูงแล้วชั้นอื่นล่ะ?

    การแบ่งลำดับขั้นของนางโลมนั้นมีมาตั้งแต่สมัยที่ยูคาคุยังไม่สร้างขึ้น ตอนที่หอนางโลมทั้งหลายตั้งอยู่ในย่านยานางิมาจิ ในตอนนั้นนางโลมมีเพียง 2 ลำดับคือ ทะยู และ ฮาชิโจะโร ถามว่าแบ่งไปทำไม? คำตอบคือ ราคาค่าตัวไม่เท่ากัน รูปแบบการรับแขกจะไม่เหมือนกันด้วยค่ะ

    อย่างทะยู เป็นตำแหน่งที่ผู้ได้รับตำแหน่งนี้ต้องมีความงามราวหญิงงามล่มเมือง ฉลาดรอบรู้แตกฉานทั้งในด้านศิลปะและกวี สามารถต่อกลอนกับบัณฑิตชายอย่างฉะฉาน การร้องรำและดนตรีก็เป็นที่หนึ่ง ว่ากันว่าในตอนนั้นหากใครได้พบทะยูมักจะพร่ำเพ้อถึงความงามว่างามราวพระโพธิสัตว์เลยทีเดียว นอกจากนี้ทะยูยังเป็นผู้นำแฟชั่นของสาวๆในสมัยก่อนอีกด้วย อาทิเช่นทะยูนามคัทสึยามะที่คิดสร้างสรรค์ผมทรงคัทสึยามะขึ้นมาใหม่ ว่ากันว่าหลังจากนั้นสาวๆทั้งเอโดะก็ทำผมตามทะยูคนนี้กันทั่วบ้านทั่วเมือง

    ส่วนฮาชิโจะโรนั้นมาจากการที่เวลาที่หอนางโลมจะขายสาวๆ สาวใดที่เป็นนางโลมระดับสูงจะได้นั่งตรงกลาง แต่นางโลมที่ระดับต่ำลงมาจะได้นั่งริมๆหรือท้ายแถว คำว่า “ฮาชิโจะโร” (端女郎) อาจแปลว่า “ผู้หญิงปลายแถว” ก็ได้เช่นกัน

    มาถึงยุคโยชิวาระเปิดทำการก็มี 3 ระดับเกิดขึ้นมาใหม่คือ โคชิโจะโร, ทสึโบเนะโจะโร, คิริมิเสะโจะโร

     เมื่อโยชิวาระย้ายมาเปิดทำการที่ชินโยชิวาระ (เพราะโยชิวาระเดิมไฟไหม้) ในช่วงปี 1688 - 1703 ฮาชิโจะโระ และทสึโบเนะโจโระก็หายไป แต่ถูกแทนที่ด้วย ซังฉะโจะโรและอุเมฉะโจะโร

     และหลังจากปี ค.ศ.1800 ลำดับขั้นของสาวๆที่ยังมีอยู่ในโยชิวาระก็เหลือเพียง โยบิดาชิ(หรือโอยรันนั่นเอง), จูซัง, ทสึเคะมาวาฉิ, ซาชิกิโมจิ, เฮยะโมจิ และคิริมิเสะโจะโร 

    ส่วนทะยู หรือตำแหน่งที่สูงที่สุดนั้นหายไปจากโยชิวาระนานแล้วเนื่องจากไม่มีสาวๆคนไหนมีความสามารถถึงจนสามารถเรียกว่าทะยูได้ ระดับสูงสุดชึงเป็นโยบิดาชิหรือโอยรันแทน แต่ในชิมาบาระ เกียวโตนั้นยังคงมีทะยูอยู่


    โอยรันกับเกอิชาต่างกันยังไง

    คำตอบ เว้าซื่อๆคือยูโจะ(ต่อไปนี้ขอเรียกนางโลมว่ายูโจะนะคะ) "ขาย" แต่เกอิชา "ไม่ขาย" แต่เอาจริงๆคือที่มาของเกอิชาก็เกิดขึ้นมาเพราะยูโจะนั่นแหละค่ะ เลยไม่แปลกที่แยกกันไม่ค่อยออก

    เกอิชา (芸者), เกโกะ (芸子-สำเนียงเกียวโต) หรือ เกกิ (芸妓-สำเนียงนีงาตะ) คือ ศิลปินที่คอยให้ความบันเทิงแก่ลูกค้าด้วยศิลปะญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ศิลปะที่ว่าก็มีการขับร้อง, เล่นดนตรี, ร่ายรำ, เล่นเกมส์ หรือแม้กระทั่งนั่งคุยเฉยๆ การ “นั่งคุยเฉยๆ” ในที่นี้ก็มีตั้งแต่เรื่องจิปาถะลมฟ้าอากาศ เรื่อยไปจนถึง สังคม ศิลปะ เศรษฐกิจ การเมือง เรียกได้ว่าผู้เป็นเกอิชาต้องมีความรอบรู้ในศาสตร์หลายแขนง เพราะชายหนุ่มที่มาใช้บริการหาความบันเทิงจากเธอนั้นมีหลายระดับตั้งแต่ชนชั้นพ่อค้าไปจนถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวตัดสินว่าจะได้รับความนิยมหรือไม่ขึ้นอยู่กับความฉลาดหลักแหลมของพวกเธอทั้งสิ้น

    ในขณะที่ ยูโจะ (遊女) ก็ถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่แตกฉานในศิลปะและในความบันเทิงเช่นกัน แต่พวกเธอแตกต่างไปจากเกอิชาเพราะพวกเธอขายศิลปะแห่งเรือนร่างด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ต้องใช้สมองหรอกนะ สมรภูมิที่ยูโจะต้องเผชิญนอกจากต้องรู้ลึกปฏิบัติได้จริงในศิลปะญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมและศิลปะแห่งการใช้เรือนร่างแล้ว เธอยังต้องศึกษาเรื่องราวเศรษฐกิจ การเมือง วรรณกรรมด้วยเช่นกัน ตัวชี้วัดว่าจะได้เลื่อนขั้นขึ้นไปสู่ความสุขสบายได้รับแขกชนชั้นสูงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความฉลาดหลักแหลมเหล่านี้ด้วย แน่นอน หากเธอไม่แตกฉานในศาสตร์ใดเลย ใช้เพียงเรือนร่าง เธอก็จะได้รับแขกแต่ชนชั้นล่างเท่านั้น

    และยูโจะหายไปจากญี่ปุ่นนานมากแล้วเขาเพราะถือเป็นอาชีพผิดกฎหมาย

    ความแตกต่างคร่าวๆ

    1.ทรงผม - ยูโจะทรงผมจะแฟนซีกว่ามาก ในขณะที่เกอิชา/ไมโกะ(เกอิชาฝึกหัด) ผมจะมินิมอลตะมุตะมิน่ารักตามรูปด้านล่างเลยค่ะ

    ทรงผมของยูโจะ

    ทรงผมของไมโกะ

    2.โอบิ (ผ้าผูกเอว) - ยูโจะจะผูกโอบิที่ด้านหน้าเพื่อง่ายต่อการถอดเข้าถอดออกเวลารับแขกค่ะ ส่วนเกอิชาจะผูกไว้ด้านหลัง และกิโมโนของเกอิชาจะไม่อลังการเท่า

    การผูกโอบิของยูโจะ

    การผูกโอบิและการแต่งตัวของเกอิชา 
    (ขวาสุดคือมินะไรค่ะสาวน้อยบีกินเนอร์ ตรงกลางคือไมโกะเกอิชาฝึกหัด ซ้ายสุดคือเจ๊ใหญ่เกอิชาเต็มตัว)

    3.เท้า - ยูโจะจะไม่ใส่ถุงเท้าเพื่อความเร้าอารมณ์ ในขณะที่เกอิชาจะใส่ถุงเท้า

    4.เกี๊ยะ - นางโลมขั้นสูงจะใส่เกี๊ยะที่สูงมากที่เรียกว่า "มิทสึอาชิ" เวลาเดินจะเดินเป็นเลขแปดญี่ปุ่น 八 << เดินแบบนี้ การเดินเป็นเลขแปดญี่ปุ่นนี่นอกจากเพื่อง่ายต่อการทรงตัวแล้ว ยังมีนัยยะมาจากสุภาษิตที่ว่า 八方美人 (happou - bijin) แปลเป็นไทยแบบโต้งๆแปลว่า คนสวยใน 8 ทิศทาง!!!! แต่จริงๆมันแปลว่า
    1.คนงามที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็หาที่ติไม่ได้
    2.คนกลอกกลิ้ง เข้ากันกับคนนั้นคนนี้ได้หมด (คำพูดเชิงวิจารณ์ )


    เกอิชามาจากไหน

    ตอบ มาจากการมีนางโลมชั้นสูงนี่แหละ เมื่อเป็นนางโลมชั้นสูงที่มีความป็อปมากการใช้บริการนางก็จะไม่ง่ายอีกต่อไป บางครั้งแค่เงินถึงคงยังไม่พออาจต้องใช้น้ำอดน้ำทนรอกว่าค่อนคืนถึงจะได้พบ แล้วช่วงเวลาหลายชั่วโมงที่ต้องนั่งรอพวกลูกค้าจะทำอะไรแก้เบื่อล่ะ!!

    แน่นอนว่ายูคาคุเมืองสวรรค์จะไม่ปล่อยให้ลูกค้านั่งตบยุงรอเบื่อๆแน่นอน พวกเขาจัดจะหา “เกอิชา” (芸者 ความหมายตรงๆคือศิลปิน) หรือข้ารับใช้ “ชาย” ในหอนางโลมมาคอยให้ความบันเทิงลูกค้าแก้เบื่อก่อนที่จะพบโอยรัน 

    ความบันเทิงในที่นี้ไม่ได้แปลว่าให้เกอิชาชายมาพลีร่างให้ลูกค้าแก้ขัดก่อนหรอกนะ แต่พวกเขาจะเข้ามาเล่นดนตรีร้องรำทำเพลงเสิร์ฟเหล้าชวนแขกเล่นเกมฆ่าเวลา แน่นอนว่าในระยะแรกเกอิชาล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายเนื่องจากในยูคาคุมีกฎชัดเจนว่าห้ามผู้หญิงธรรมดาๆเข้าไปข้างใน คนพวกนี้จะเรียกตัวเองว่า “เกอิชา” ที่มาจากคำว่า “ศิลปิน” 

    แล้วเกอิชาผู้หญิงล่ะ? มาจากไหน?

    ผู้บุกเบิกเส้นทางของเกอิชาผู้หญิงนั้นเริ่มมาจาก ในศตวรรษที่ 16 มีอาชีพหนึ่งที่เรียกว่า “โอโดริโกะ” (踊り子) หรือ “นางรำสาว” พวกเธอจะถูกฝึกฟ้อนรำแบบญี่ปุ่นอย่างเข้มงวดและถูกปฏิบัติด้วยราวกับสิ่งบริสุทธิ์ล้ำค่า พวกเธอมักจะถูกจ้างไปให้ความสำราญแบบส่วนตัวในบ้านของซามูไรชั้นสูง แต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่องในอาชีพนี้ก็อยู่ได้เพียงไม่นาน โอโดริโกะบางส่วนผันตัวเองไปให้บริการความบันเทิงบนฟูกนอนไปพร้อมๆกับการร่ายรำ

    แต่แน่นอนความสาวย่อมมีวันโรยรา เมื่อพวกเธออายุมากขึ้นแม้จะยังยึดอาชีพเดิมแต่จะเรียกตัวเองว่าโอโดริโกะ(นางรำสาว)คงประดักประเดิดน่าดู (แม้ตอนนั้นพวกเธอจะอายุเพียงแค่ 20 ต้นๆก็เถอะ) พวกเธอจึงเรียกตัวเองว่า “เกอิชา” แทน

    สาวคนแรกที่เรียกตัวเองว่า “เกอิชา” คือสาวโสเภณีคนหนึ่งในเขตฟุคากาวะ โตเกียว เธอมีนามว่า “คิคุยะ” ช่วงนั้นเป็นเวลาราวๆปี ค.ศ.1750 สาวคนนี้มีชื่อเสียงขจรขจายในด้านการขับร้องและเล่นซามิเซ็งเป็นอย่างมาก และเธอประสบความสำเร็จในด้านให้ความบันเทิงด้วยศาสตร์เหล่านี้มากกว่าการใช้ร่างกายเสียอีก!! 

    ส่งผลให้หญิงสาวที่มีความสามารถหันมาทำอาชีพเกอิชา จนฟุคากาวะกลายเป็นแหล่งเกอิชาที่เป็นที่นิยมในช่วงปี 1750

    การประสบความสำเร็จของอาชีพเกอิชานั้นเริ่มขยายวงกว้าง จากตอนแรกมีเพียงแค่ที่ฟุคากาวะ แต่ในช่วงปี 1760-1770 เกอิชาหญิงก็แทรกซึมเข้ามาจนถึงในยูคาคุจนได้ โดยพวกเธอให้บริการเฉพาะการร้องรำทำเพลงเท่านั้น ส่วนเรื่องให้ความบันเทิงบนฟูกนอนพวกเธอจะไม่ทำ ทำให้อาชีพเกอิชาดูลึกลับน่าค้นหามากกว่าเดิมเข้าไปอีก แน่นอนว่าพอมีสาวๆมายึดอาชีพนี้ พ่อหนุ่มๆเกอิชาของเราก็ตกกระป๋อง ไม่มีแขกคนใดสนใจเกอิชาชายอีก ผู้ชายจึงเลิกอาชีพนี้ไปโดยปริยาย…


    เคยดูหนังเห็นว่าเกอิชาขายนี่?

    หากพูดถึงเกอิชา ภาพในสายตาของคนส่วนใหญ่จะนำเธอไปซ้อนทับกับเรื่องเซ็กส์อย่างช่วยไม่ได้ ในความเป็นจริงเกอิชาคือผู้สืบทอดศิลปะก็จริงอยู่ แต่ในอดีตเกอิชาก็มีพิธีกรรมเกี่ยวกับเซ็กส์ที่พวกเธอต้องผ่านเช่นกัน แม้จะไม่ได้ขายร่างกายแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เต็มปากว่าไม่ขายเสียทีเดียว 

    อย่างพิธีมิทสึอาเกะ หรือการประมูลพรหมจรรย์ของไมโกะ(เกอิชาฝึกหัด) มันก็เคยมีจริงๆในอดีต พิธีนี้ดำเนินมาจนนปี ค.ศ.1959 รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการขีดเส้นให้จริงจังว่าอาชีพ “เกอิชา” คือศิลปินผู้สืบทอดศิลปะญี่ปุ่น พวกเธอควรจะอยู่ในฐานะที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง การประมูลพรหมจรรย์นั้นไม่ต่างอะไรกับโสเภณีที่ทางการญี่ปุ่นขีดเส้นให้ผิดกฎหมายไปก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้น พิธีมิซึอาเกะจึงถูกยกเลิกไป แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกไปเสียทีเดียวแค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยตัดขั้นตอนที่เกี่ยวกับเซ็กส์ออกไปทั้งหมดเป็นเพียงการเลี้ยงอาหารมื้อพิเศษและมอบของที่ระลึกเท่านั้น

    แต่ๆ ก็ยังได้ยินกันว่าเกอิชามี "ดันนะ" (ผู้อุปถัมภ์) ที่คล้ายสามี?

    ในปัจจุบันมีเกอิชาจำนวนน้อยมากที่จะมีดันนะ เพราะค่าใช้จ่ายต่อเดือนนั้นสูงมาก ในภาวะเศรษฐกิจแบบทุกวันนี้ไม่มีใครสู้ไหว ส่วนใหญ่ดันนะในสมัยนี้จะมาในรูปแบบบริษัทหรือหน่วยงานมากกว่า หน่วยงานหรือบริษัทจะเป็นดันนะให้เกอิชาเพื่อเรียกเธอมาแสดงเวลาหน่วยงานนั้นๆมีงานสำคัญๆ


    และในสมัยนี้ไม่ได้มีกฎตายตัวแบบเมื่อก่อนแล้วว่าห้ามแต่งงานมีลูก สมัยนี้เธอสามารถแต่งงานได้ เมื่อเธอชอบพอใครสักคน และอยากแต่งงานกับเขา เธอสามารถออกจากอาชีพนี้ได้ตลอดเวลา



    สรุป

    เข้าใจกันใหม่เนอะว่าโอยรันไม่ใช่เจ้าหญิง และไม่ได้นับเป็นอย่างเดียวกับเกอิชาด้วย ทุกวันนี้ยูโจะหายไปแล้วค่ะ แต่เกอิชายังคงมีอยู่ กลายเป็นอาชีพแห่งศิลปะเต็มตัว


    ข้อมูลนี้มาจากการรวบรวมของตัวเราเอง ผิดพลาดยังไงติดต่อได้ที่ทวิต @mayauki เราจะทวิตเรื่องแบบนี้บ่อยๆเพราะปลายปีเราจะออกหนังสือทำมือเรื่องนี้ล่ะค่า ฝากด้วยนะคะ ขอบคุณที่เข้ามาอ่านค่ะ


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
pamut (@pamut)
เขียนได้ดีมากเลยค่ะ

เป็นคนแรกที่แจงรายละเอียดครอบคลุมส่วนใหญ่บทความที่เกี่ยวกับเรื่องเกอิชาจะเล่าแค่ครึ่งเดียวโดยไม่พูดถึงพิธีมิทสึอาเกะกับดันนะ แล้วก็บางบทความยังให้ค่านิยมผิดๆ เน้นแค่ว่าเกอิชากับโอยรันได้แต่งตัวสวยๆ อย่างเดียวกับเด็กผู้หญิง จนมีเด็กผู้หญิงบางคนบอกโตขึ้นจะเป็นโอยรัน (ปาดเหงื่อ)
apple_winter (@apple_winter)
ขอบคุณมากค่ะเป็นความรู้มากเลยๆ วันนี้เราจะเขียนนิยายเลยเริ่มหาข้อมูลเรื่องนี้ ขอบนะคะ เขียนละเอียดและนำเสนอน่าสนใจมากค่ะ
mayauki (@mayauki)
@apple_winter ถ้าติดขัดตรงไหนทวิตมาถามได้ตลอดนะคะ > <