เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ชายผู้ไม่ยอมโต และ “เหล่านางฟ้าร่างสูง”เปลวเพลิง ปะทัพพิรุณ
พี่หมิว ลลิตา: มาตรฐาน 169 ซม.
  • ผมเข้าเรียนชั้นประถมฯ ระหว่างปี 2531-2536 (จริงๆ จบ ป.6 เมื่อเดือนเมษายน 2537) ซึ่งเป็นยุคที่ “พี่หมิว ลลิตา” คือ “นางเอกแถวหน้า” ของวงการโทรทัศน์ไทยพอดี

    พี่หมิวโด่งดังเป็นพลุแตกตั้งแต่ตอนเล่นละครเรื่อง “ปริศนา” ช่วงนั้นผมยังไม่ขึ้น ป.1 ด้วยซ้ำ

    แล้วพี่หมิวก็ครองสถานะ “นางเอกเบอร์ต้นๆ” เอาไว้ได้เรื่อยมาจนถึงยุคที่ผมเริ่มโตเป็นหนุ่มประมาณปี 2536

    นอกจากเรื่องความสวย ความมีชื่อเสียง และฝีมือการแสดง ในยุคนั้น พี่หมิวยังมีความโดดเด่นเรื่อง “ส่วนสูง”

    รายการโทรทัศน์ หน้าบันเทิงตามหนังสือพิมพ์ และนิตยสารวัยรุ่นช่วงกลางทศวรรษ 2530 มักยกย่องความสูง “169 ซม.” ของพี่หมิว ว่าเป็นส่วนสูงที่ “สูงมากๆ” สำหรับนางเอกหรือผู้หญิงไทย

    ประมาณปี 2535-36 ถ้ามีคนมาถามเด็กน้อยที่เพิ่งติดตามข่าวบันเทิงอย่างผมว่า “นางเอกไทยที่ตัวสูงที่สุดคือใคร?”

    ผมคงตอบโดยไม่ลังเลว่า “พี่หมิว ลลิตา” เพราะกระแสข้อมูลข่าวสารได้ชี้นำให้ผมเชื่ออย่างนั้น

    ขณะเดียวกัน พี่หมิวก็คือนางเอกอันดับหนึ่งในดวงใจของหนุ่มน้อยวัย 12-13 ปี อย่างผม 

    ขวบปีสุดท้ายของการเรียนชั้นประถมศึกษา ผมตัวสูงขึ้นเยอะพอสมควร คือจาก 151 ซม. ตอนเปิดเทอมแรก ไปสู่ 157 ซม. ตอนปลายเทอมสอง

    แม้จะเติบโตไม่ก้าวกระโดดเท่าเพื่อนผู้หญิงหลายสิบราย ที่บางคนสูงขึ้นถึงเกือบ 10 เซนติเมตรภายในเวลาปีเดียว

    แต่ผมก็ถูกจัดให้เป็นนักเรียนชายที่ตัวสูงอันดับต้นๆ ของระดับชั้น

    ที่สำคัญ ผมยังเริ่มตัวสูงเท่าหรือแซงหน้าผู้ใหญ่ที่รู้จักหลายราย

    ส่วนสูง 157 ซม. ทำให้ผมตัวสูงเท่าแม่ของตนเอง และสูงกว่าครูท่านหนึ่งที่ตนเองเคารพรัก

    สมัยนั้น ยังมีนางเอกหนัง-ละครหลายคน ที่ตัวสูงในระดับ 150 ปลายๆ–160 ต้นๆ เท่ากับว่าเด็ก ป.6 เช่นผม เริ่มตัวสูงไล่เลี่ยหรือกำลังไล่จี้จวนจะทันพี่ๆ ดาราหญิงกลุ่มนี้แล้ว

    แต่ความสูง 169 ซม. ของพี่หมิว กลับยังเป็นเป้าหมายที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับผมในวันนั้น

    ก่อนขึ้น ม.1 ผมเตี้ยกว่าพี่หมิวอยู่ถึง 12 เซนติเมตร และผมคาดการณ์ว่าตัวเองคงต้องใช้เวลาอีกราวสองปีเต็ม จึงจะสูงทันพี่หมิว 

    “ปีนี้ เราสูงขึ้น 6 เซนต์ ถ้าตลอดช่วง ม.1 เราสูงขึ้นอีกซัก 6 เซนต์ จบ ม.1 เราก็จะสูง 163 แล้วถ้าตลอดช่วง ม.2 เราสูงขึ้น 6 เซนต์อีกรอบ ตอนจบ ม.2 เราก็จะสูง 169 เท่าพี่หมิวพอดีเป๊ะ!”

    ผมตั้ง “เป้าหมายขั้นต่ำ” เอาไว้ตอนจบ ป.6

    นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ใกล้ตัวจำนวนหนึ่งยังทำให้ผมเพ้อหวังไปไกลกว่านั้น เพราะหลายท่านเชื่อว่าผมจะสูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตาช่วงอายุ 13-14 ปี จนมีบางปี ที่ผมอาจ “ยืดตัว” ขึ้นเกิน 10 เซนติเมตร 
      
    “ถ้าเราสูงขึ้นซัก 7 เซนต์ ตอน ม.1 พอจบ ม.1 เราก็จะสูง 164 แล้วช่วง ม.2 เราอาจยืดตัวขึ้น 10 เซนต์ ถ้าเป็นงั้น ตอนจบ ม.2 เราก็จะสูง 174 นำหน้าพี่หมิวไปไกล” ผมแอบฝันไว้ในใจ

    แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผมยังมีความเชื่อมั่นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า พอขึ้น ม.3 ตนเองจะไม่มีทางตัวเตี้ยกว่าพี่หมิวเด็ดขาด!

    “ถ้าขึ้น ม.3 แล้วเรายังสูงไม่ถึง 169 แสดงว่าเราแม่งเตี้ยแล้วแหละ” ผมกดดันตัวเอง

    ส่วนสูง “169 ซม.” จึงกลายเป็น “มาตรฐานขั้นต้น” สำหรับผมในสองแง่มุม

    ด้านหนึ่ง ผมตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าก่อนอายุ 15 ปี ตนเองจะต้องสูงถึงหรือสูงเกิน 169 ซม. ให้ได้

    อีกด้าน ผมก็ใช้เกณฑ์ส่วนสูง “169 ซม.” มาเป็น “บรรทัดฐานกลาง” เพื่อประเมินว่าผู้หญิงคนไหนรูปร่างสูงหรือไม่สูง

    ผมไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนมากมาย เพียงแค่ทำการจัดแบ่งอย่างง่ายๆ ว่าถ้าผู้หญิงคนไหนสูงเกิน 169 ซม. ก็นับเป็น “ผู้หญิงที่ตัวสูงมาก” แต่ถ้าผู้หญิงคนไหนสูงไม่ถึง 169 ซม. พวกเธอก็ยังไม่ถือเป็น “ผู้หญิงตัวสูง”

    อย่างไรก็ดี มีบางสถานการณ์ที่ทำให้ผมเริ่มลังเลใจ

    สถานการณ์แรกเกิดขึ้นก่อนจบ ป.6 ไม่นานนัก โดยผมมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนผู้หญิงชื่อ “น้ำแข็ง” ในประเด็นว่าด้วยละคร “ยามเมื่อลมพัดหวน” ที่พี่หมิวแสดงเป็นนางเอก

    น้ำแข็งปลื้มพี่หมิวเอามากๆ และเธอก็ใฝ่ฝันว่าอยากตัวสูงเหมือนพี่หมิว ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าอาจเป็นไปได้ เพราะขณะนั้น น้ำแข็งถือเป็นเด็กผู้หญิงรูปร่างสูงใหญ่คนหนึ่ง กล่าวคือเธอตัวสูง 159 ซม. ตั้งแต่ยังไม่จบประถมศึกษา

    คุยๆ ไป ผมก็แสดงภูมิรู้อวดน้ำแข็ง

    “นี่เราเพิ่งไปอ่านเจอมาว่าพี่หมิวเค้าสูง 169 นะ สูงกว่าน้ำแข็งตั้ง 10 เซนต์” ผมโชว์ข้อมูล

    “เฮ้ย! มั่วแล้ว อย่างพี่หมิวจะสูงแค่ 169 ได้ไง 169 นี่คือสูงกว่าชั้น 10 เซนต์เองนะ ถ้างั้น เผลอๆ ตอนปีหน้า ชั้นก็จะสูงทันพี่หมิวแล้วอ่ะดิ ที่สำคัญแกต้องดูไอ้สุ (เพื่อนผู้หญิงที่ตัวสูงที่สุดในรุ่น) ตอนนี้ สุมันสูง 164 แล้วนะเว้ย มันเตี้ยกว่าพี่หมิวแค่ 5 เซนต์เองเหรอ? เป็นไปไม่ได้หรอก ชั้นว่าแกอ่านข่าวมั่ว พี่หมิวตัวจริงต้องสูงกว่า 169 แน่ๆ ชั้นว่าเผลอๆ จะเฉียดๆ 180 ด้วยซ้ำ ชั้นดูในทีวี พี่หมิวเค้าตัวพอๆ กับพี่เจ (เจตริน – พระเอกยามเมื่อลมพัดหวน) เลยเหอะ”

    น้ำแข็งตอบโต้ผมมายาวเหยียด

    แน่นอนว่าน้ำแข็งนั้นเข้าใจผิดเต็มๆ เกี่ยวกับตัวเลขส่วนสูงของพี่หมิว แต่เธอก็น่าจะเป็นคนแรกที่ทำให้ผมได้ตระหนักว่า “ส่วนสูง 169 ซม.” มิใช่ “มาตรฐานสูงส่ง” สุดเอื้อมคว้า

    ส่วนอีกหนึ่งสถานการณ์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงผมเรียนชั้น ป.6 ไปจนจบ ม.ต้น

    ช่วง ป.5-6 แม้ผมจะพอรู้อยู่ว่ามีผู้หญิงในวงการบันเทิงบางส่วนที่ตัวสูงกว่าพี่หมิว โดยเฉพาะพี่ๆ ซึ่งมาจากเวทีประกวดนางงาม

    ผมไปอ่านเจอข้อมูลว่ามิสไทยแลนด์เวิลด์ตั้งแต่ปี 2532-2536 นั้นตัวสูงเกิน 170 ซม. หมด บางคนสูงเกือบ 175 ซม. หรืออย่าง “พี่ลูกเกด เมทินี” ก็สูงถึง 176 ซม. และทางฝั่งนางสาวไทย ก็มี “พี่นก ยลดา รองหานาม” ที่สูง 171-172 ซม. 

    แต่ผมยังคงเชื่ออย่างจริงจังว่าพี่หมิวคือ “นางเอกละครทีวี” ที่ตัวสูงที่สุดในประเทศไทย

    ทว่า ความเชื่อดังกล่าวก็ค่อยๆ ถูกพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริง เมื่อผมได้พิจารณาข้อมูลส่วนสูงของนางเอก-นักแสดงหญิงในจอโทรทัศน์มากขึ้น

    โดยที่ยังไม่ต้องพิจารณาถึงดาราหญิงที่เข้าวงการบันเทิงหลังพี่หมิว หรือเข้าวงการนับแต่ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

    แต่เพียงแค่ลองสำรวจดาราหญิงรุ่นพี่หรือรุ่นราวคราวเดียวกับพี่หมิว ผมก็พบว่ามีหลายคนที่ตัวสูงสูสีหรืออาจสูงกว่าพี่หมิวนิดหน่อย

    เช่น พี่เจี๊ยบ กาญจนาพร ปลอดภัย, พี่แดง ธัญญา วชิรบรรจง, พี่นก สินจัย เปล่งพานิช, พี่แก้ว อภิรดี ภวภูตานนท์, พี่ตุ๊ก จันทร์จิรา จูแจ้ง, พี่แอน สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์, พี่มาช่า วัฒนพานิช และพี่ติ๊นา คริสติน่า อากีล่าร์ เป็นต้น

    นี่แสดงให้เห็นว่ามีผู้หญิงอีกมากมาย (ในวงการบันเทิง) ที่สูงพอๆ กับพี่หมิว 

    เพราะเหตุนี้ ถ้าผมเตี้ยกว่าพี่หมิว ก็ย่อมหมายความว่าผมจะตัวเตี้ยกว่า “ผู้หญิงรุ่นพี่” อีกหลายคนตามไปด้วย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in