เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
BEATRICE & VIRGIL ลาเลือนลิงลวงSALMONBOOKS
บทที่1
  • นวนิยายเรื่องที่สองของเฮนรีซึ่งเขียนโดยใช้นามปากกาเหมือนกับเรื่องแรก ได้รับความนิยมพอสมควร หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลมากมาย ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ อีกหลายภาษา เฮนรีจึงได้รับเชิญไปงานเปิดตัวหนังสือรวมทั้งเทศกาลทางวรรณกรรมทั่วโลกโรงเรียนนับไม่ถ้วนและสารพัดชมรมการอ่านล้วนมีหนังสือเล่มนี้ เขาเห็นผู้คนอ่านมันบนเครื่องบินหรือรถไฟจนเป็นเรื่องปกติ ฮอลลีวูดก็กำลังจะนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมา

    ถึงอย่างนั้นเฮนรีก็ยังคงใช้ชีวิตเงียบๆ ต่อไปตามปกติ นักเขียนแทบจะไม่ใช่บุคคลสาธารณะอยู่แล้ว หนังสือของพวกเขาต่างหากที่มีสิทธิ์ชอบธรรมในการมีชื่อเสียง ผู้อ่านจดจำปกหนังสือที่พวกเขาเคยอ่านได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่ออยู่ในร้านกาแฟแล้วละก็ นั่นน่ะ คนเขียนเขาอยู่ตรงนั้นไง ...เห็นไหม...อืม ใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้—หมอนั่นเขาไว้ผมยาวไม่ใช่เหรอ?—อ้าว เขาไปซะแล้ว

    แต่เวลามีคนจำเขาได้ เฮนรีก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าไร จากประสบการณ์ของเขา การพบปะนักอ่านเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะมันหมายถึงผู้อ่านได้อ่านหนังสือของเขาแล้ว และย่อมมีอะไรสักอย่างที่โดนใจแน่นอน ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะมาหาผู้เขียนทำไม? การพบปะระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านมีความเป็นส่วนตัวพอสมควร ถึงจะเป็นการพบกันของคนแปลกหน้า แต่การแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องทั่วไปหรือสิ่งที่ศรัทธาจะทำให้กำแพงที่กั้นคนทั้งสองเอาไว้ทลายลง ที่นี่ไม่ใช่ที่สำหรับคำโกหกหรือการโอ้อวด น้ำเสียงที่ใช้นั้นแผ่วเบา ต่างฝ่ายต่างโน้มร่างกายเข้าใกล้กัน ตัวตนถูกเปิดเผยออกมา บางครั้งถึงขั้นยอมสารภาพเรื่องส่วนตัวกันเลย ผู้อ่านคนหนึ่งบอกเฮนรีว่าเขาอ่านนิยายเรื่องนี้ตอนอยู่ในคุก อีกคนเล่าว่าเธออ่านมันตอนที่ต่อสู้กับโรคมะเร็ง และพ่อคนหนึ่งก็เล่าให้ฟังว่าครอบครัวของเขาอ่านหนังสือเล่มนี้อุทิศในงานศพของลูกที่สิ้นลมหลังจากคลอดก่อนกำหนด เขาพบปะนักอ่านทำนองนี้อยู่เสมอ ซึ่งแต่ละรายมักจะบอกว่าองค์ประกอบต่างๆ ในนวนิยายของเฮนรี ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือในแต่ละบรรทัด ตัวละคร เหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนสัญลักษณ์ที่สอดแทรก ช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤติในชีวิตมาได้ หรือผู้อ่านบางคนที่เฮนรีพบก็กลายเป็นคนอ่อนไหวไปเลย เรื่องนี้สั่นคลอนจิตใจของเขาเสมอ ซึ่งเฮนรีก็พยายามอย่างดีที่สุดที่จะตอบสนองด้วยท่าทีที่ทำให้พวกเขาสงบลง

    ส่วนการพบปะทั่วไป เหล่าผู้อ่านแค่ต้องการแสดงความนิยมชมชอบและยกย่องชมเชย บางครั้งพวกเขาก็นำของฝากติดไม้ติดมือมาด้วย อาจเป็นของขวัญที่ทำขึ้นเองหรือหาซื้อมา อย่างรูปถ่าย ที่คั่นหนังสือ หรือหนังสือสักเล่ม บางคนก็อาจมีคำถามคนละข้อสองข้อ
  • แต่ก็อายเกินจะกล่าวและไม่อยากรบกวน ซึ่งไม่ว่าเฮนรีจะตอบอะไรพวกเขาก็จะปลื้มมาก และรับเอาหนังสือที่เฮนรีเซ็นมากอดประคองไว้แนบอก หรือบางครั้งผู้อ่านที่กล้าหน่อยก็เข้ามาถามว่าขอถ่ายรูปคู่ด้วยได้หรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นพวกวัยรุ่น แต่ก็ไม่เสมอไปหรอก และเฮนรีจะไปยืนข้างๆ โอบไหล่พวกเขาพร้อมยิ้มให้กล้อง

    ผู้อ่านเดินจากไปด้วยใบหน้าที่สดใสเพราะได้พบกับเฮนรี ขณะที่เฮนรีก็มีใบหน้าที่สดชื่นขึ้นเพราะได้พบพวกเขาเช่นกัน เฮนรีเขียนนวนิยายเพราะว่าเขาต้องการเติมเต็มรูโหว่ข้างใน มีคำถามที่ต้องการคำตอบ และมีผืนผ้าใบที่ต้องการการลงสี มันเป็นความรู้สึกที่ผสมผสานกันระหว่างความวิตกกังวล ความสงสัยใคร่รู้ และความยินดี ซึ่งนั่นเป็นต้นทางของการสร้างงานศิลปะ ในที่สุดเขาก็ได้เติมเต็มรูโหว่ หาคำตอบให้คำถาม และระบายสีสันลงบนผ้าใบ เขาทำเพราะว่าเขาต้องทำ และทั้งหมดนั้นเขาทำเพื่อตัวของเขาเอง หลังจากนั้นก็จะมีคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเข้ามาบอกว่าหนังสือของเขาได้เติมเต็มรูโหว่ มีคำตอบให้คำถาม และนำสีสันมาสู่ชีวิตของพวกตน สิ่งนี้เป็นความรู้สึกดีๆ ซึ่งเฮนรีได้รับจากคนแปลกหน้า พวกรอยยิ้ม การตบไหล่ หรือถ้อยคำยกย่องถือเป็นความรู้สึกที่ดีขนานแท้

    ส่วนเรื่องชื่อเสียงไม่มีความหมายอะไรเลย ชื่อเสียงไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนกับความรัก ความหิวโหย หรือแม้แต่ความเปลี่ยวเหงา มันไม่ได้เป็นความสุขจากภายในที่จริงแท้ แถมยังมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ชื่อเสียงเป็นเรื่องนอกกาย เป็นเรื่องที่มาจากความคิดของผู้อื่น มันดำรงอยู่ยามที่ผู้คนจับจ้องมาที่เขาหรือปฏิบัติต่อเขาเท่านั้น ในแง่นี้การมีชื่อเสียงจึงไม่ต่างไปจากการเป็นเกย์ การเป็นยิวหรือแตกต่างไปจากการเป็นคนชายขอบ คุณก็ยังเป็นคุณเหมือนเดิมแต่ผู้คนจะนิยามคุณด้วยความเชื่อที่พวกเขามี ชื่อเสียงจากการเขียนนิยายไม่ได้เปลี่ยนแปลงเฮนรี เขายังเป็นคนเดิม แข็งแกร่งแบบเดิมและอ่อนแอแบบเดิม นานครั้งถึงจะมีผู้อ่านเข้ามาหาเขาในแบบแปลกๆ ซึ่งเขาก็มีไม้ตายชิ้นสุดท้ายของนักเขียน นั่นคือการใช้นามปากกาบังหน้า …ไม่ใช่ ผมไม่ใช่ ‘คนนั้น’ ผมเป็นแค่ผู้ชายที่ชื่อ เฮนรี

    ท้ายที่สุดกิจกรรมส่งเสริมการขายนวนิยายของเขาก็เสร็จสิ้น เฮนรีได้กลับไปอยู่ในที่ที่เขาสามารถนั่งนิ่งๆ ได้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน เขาลงมือเขียนหนังสือเล่มใหม่ ซึ่งใช้เวลาถึงห้าปีในการครุ่นคิด ค้นหาข้อมูล เขียน และเรียบเรียง ความเป็นไปของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเกิดกับเฮนรีในอนาคต จึงต้องเท้าความเอาไว้ดังนี้
  • หนังสือที่เฮนรีเขียนแบ่งออกเป็นสองส่วน เขาตั้งใจจะพิมพ์มันในรูปแบบที่สำนักพิมพ์เรียกว่า ‘หนังสือกลับหัว’ (Flip Book) ซึ่งหมายถึงหนังสือที่มีเนื้อหาสองส่วนแยกจากกันอย่างชัดเจน แต่ละส่วนถูกวางแบบสลับหัวให้มาบรรจบกันตรงกลาง ถ้าคุณกรีดหนังสือไปได้สักครึ่งเล่มจะพบว่าเนื้อหาเริ่มกลับหัวกลับหาง และถ้าคุณลองบิดด้านหนึ่งจากบนลงล่าง มันก็จะกลายเป็นหนังสือแฝดคนละฝาทันที นี่คือที่มาของหนังสือกลับหัว

    เฮนรีเลือกใช้การพิมพ์รูปแบบนี้เพราะเขาคิดว่ามันคงเยี่ยมมากหากนำเสนอวรรณกรรมสองเรื่องที่ใช้ชื่อเดียวกัน ใช้แก่นเดียวกัน นำเสนอสิ่งเดียวกัน แต่ต่างกันที่กลวิธีได้ อันที่จริงคือเขาเขียนหนังสือสองเล่มนั่นแหละ เล่มหนึ่งเป็นนวนิยาย ส่วนอีกเล่มเป็นความเรียง เฮนรีเลือกเขียนสองแนวนี้ เพราะเขาต้องการสรุปประเด็นที่อยากนำเสนอให้ครบถ้วน แต่อุปสรรคอยู่ตรงที่ไม่ค่อยมีใครพิมพ์นวนิยายกับความเรียงในหนังสือเล่มเดียวกัน และปกติหนังสือสองแนวนี้จะถูกแยกกันเก็บแบบแยกแถวแยกชั้น ซึ่งนั่นเป็นวิธีการที่ร้านหนังสือและห้องสมุดจัดหมวดหมู่ ‘ความรู้’ และ ‘ความประทับใจในชีวิต’ ของพวกเราเอาไว้ อีกทั้งเป็นวิธีการที่สำนักพิมพ์ใช้จัดการกับหนังสือของพวกเขาด้วย คือรวบจินตนาการไว้หมวดหนึ่ง และแยกเหตุผลไว้อีกหมวดหนึ่ง แต่มันไม่ใช่วิธีการของนักเขียน นวนิยายไม่ใช่สิ่งที่ไร้เหตุผลทั้งหมด ส่วนความเรียงก็ไม่ได้ขาดจินตนาการเสียทีเดียว เปรียบได้กับการดำเนินชีวิตที่ผู้คนไม่สามารถแยกแยะจินตนาการออกจากหลักเหตุผลได้ ในความคิดและการกระทำมีทั้งความจริงและการโกหกปนเปกันอยู่—ซึ่งนั่นคือหมวดหมู่ที่ดีเยี่ยม—หนังสือก็เหมือนกับชีวิต หมวดหมู่ที่ดีเยี่ยมจะถูกจัดอยู่ระหว่างนวนิยายและความเรียงที่นำเสนอแต่เรื่องจริง กับนวนิยายและความเรียงที่เล่าแต่เรื่องโกหก

    ทั้งนี้เฮนรีเข้าใจว่าการจัดหมวดหมู่แบบดั้งเดิมนั้นมีปัญหา ถ้านวนิยายและความเรียงของเขาถูกตีพิมพ์แยกกัน ใจความที่เขาต้องการสื่อก็จะไม่สมบูรณ์ รวมถึงเนื้อหาที่สอดคล้องก็จะขาดหายไปอีกพวกมันจึงต้องอยู่ในเล่มเดียวกัน แต่จะใช้วิธีไหนล่ะ? เฮนรีล้มเลิกความคิดที่จะวางความเรียงเอาไว้ก่อนหน้านวนิยาย เพราะนวนิยายซึ่งมีรสชาติใกล้เคียงกับประสบการณ์ชีวิตมากกว่า สมควรที่จะถูกวางไว้ก่อนหน้าความเรียง เรื่องราวทั้งหมด—อย่างเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว
  • เรื่องระดับชาติ—เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความหลากหลายของผู้คนให้กลายเป็นหนึ่งเดียว พวกเราต่างก็มีเรื่องเล่า ซึ่งมันไม่สมควรที่จะเอาการแสดงอารมณ์อันยิ่งใหญ่ในชีวิตของพวกเราไปวางไว้ภายใต้เงื่อนไขของเหตุผล แต่เบื้องหลังของความเรียงอันเข้มข้นก็มีความจริงแบบเดียวกับเบื้องหลังของนวนิยายเหมือนกัน—ความจริงที่ว่าด้วยความเป็นมนุษย์และความหมายของชีวิต—แล้วเหตุใดความเรียงถึงต้องไปอยู่ตรงส่วนท้ายเล่มด้วยเล่า?

    ถ้าไม่นับเรื่องข้อดีข้อเสีย หากนวนิยายและความเรียงได้รับการตีพิมพ์ในเล่มเดียวกัน ส่วนใดก็ตามที่มาก่อนย่อมตกอยู่ในเงาของส่วนที่มาทีหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    การที่นวนิยายกับความเรียงพูดเรื่องเดียวกันทำให้มันควรที่จะถูกตีพิมพ์อยู่ในเล่มเดียวกัน แต่เพื่อเคารพในเนื้อหาของอีกฝ่าย มันก็ควรที่จะแยกออกจากกัน ดังนั้นหลังจากที่คิดมาดีแล้ว เฮนรีจึงเลือกที่จะใช้รูปแบบของหนังสือกลับหัว

    และเมื่อเขาตัดสินใจที่จะใช้รูปแบบนี้ ความท้าทายใหม่ๆ ก็เริ่มต้นขึ้น ส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของหนังสือยังคงเป็นปัญหา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่เหวี่ยงโลกกลับหัวกลับหางเลยทีเดียวประจวบเหมาะกับตัวเล่มที่ก็มีส่วนกลับหัวกลับหางเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามันถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือกลับหัวจริง ผู้อ่านก็ต้องเลือกว่าจะอ่านส่วนไหนก่อน กลุ่มผู้อ่านที่มองหาตัวช่วยหรือหลักเหตุผลมาตอกย้ำความมั่นใจอาจอ่านความเรียงก่อน ส่วนผู้อ่านที่ต้องการเข้าถึงอารมณ์แบบเรื่องแต่งก็อาจเริ่มด้วยการอ่านนวนิยาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบใด ทางเลือกก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน การมีอำนาจตัดสินใจรับมือกับเรื่องว้าวุ่นใจนั้นเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปลีกย่อยที่ว่าหนังสือกลับหัวมีสองปกอีก เฮนรีเห็นว่าน่าจะออกแบบแถบกระดาษพันหนังสือที่เรียกว่า ‘แจ๊กเก็ต’ ให้มีประโยชน์มากกว่าการเพิ่มความสวยงาม หนังสือกลับหัวเป็นหนังสือที่มีประตูทางเข้าสองบานแต่ไม่มีทางออก ซึ่งการที่มันเป็นแบบนี้ก็สร้างปัญหาที่คิดไม่ตกให้กับเฮนรี เพราะมันจะทำให้หนังสือไม่มีปกหลังอันสวยงามอยู่ท้ายเล่ม หรือถ้าจะพูดให้ถูกคือมันเป็นหนังสือที่ไม่มีหน้าสุดท้าย ผู้อ่านจะถูกนำทางไปจนถึงกลางเล่ม ซึ่งนั่นจะเป็นที่ที่ผู้อ่านรู้สึกว่าเขาหรือเธอไม่เข้าใจอะไรเลย เขาหรือเธอไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ทั้งหมด เนื่องจากอยู่ดีๆ ตัวหนังสือก็ดันกลับหัวเสียอย่างนั้น ทำให้พวกเขาต้องมองมุมกลับ คิดทบทวน แล้วเริ่มอ่านใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง ด้วยเจตนาแบบนี้เฮนรีจึงคิดว่าหนังสือทั้งสองเล่มควรจบลงในหน้าเดียวกัน โดยมีพื้นที่ว่างๆ คั่นกลางระหว่างตัวอักษรที่กลับหัวกลับหาง
  • บางทีมันอาจเป็นภาพร่างของหนังสือที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนทั้งจากฟากนวนิยายหรือฟากความเรียง

    เพื่อทำให้ทุกอย่างสับสนขึ้นไปอีก หนังสือกลับหัวก็คือหนังสือที่นำเสนอเนื้อหาในรูปแบบใหม่ ที่จริงแล้วมันอาจเป็นหนังสือเล่มเล็กๆที่มีรูปภาพเปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อยในแต่ละหน้าก็ได้ และเมื่อกรีดดูอย่างรวดเร็วก็จะทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหว เช่น ภาพม้าวิ่งหรือกระโดด ซึ่งถ้าเฮนรีจะทำหนังสือกลับหัวของเขาในรูปแบบนี้ เขาก็ต้องใช้เวลาคิดอีกมาก ไม่แน่มันอาจเป็นภาพของชายผู้เดินอย่างมาดมั่น หน้าเชิด จนกระทั่งก้าวพลาด สะดุด และล้มลงก้นจ้ำเบ้าก็ได้

    เหตุที่ยกตัวอย่างนี้ เพราะเฮนรีกำลังเผชิญหน้ากับการก้าวพลาดที่ทำให้เขาสะดุดล้มลงโครมใหญ่ เนื่องจากหนังสือกลับหัวของเขาว่าด้วยการสังหารหมู่ชาวยิวนับล้านคน—ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กๆ—โดยฝีมือของพวกนาซีและการให้ความร่วมมืออย่างยินยอมพร้อมใจในศตวรรษที่แล้วของผู้คนทั่วยุโรป กระแสเกลียดชังชาวยิว และเหตุการณ์สะเทือนขวัญลุกลามอย่างรวดเร็วกลายเป็นเรื่องยืดเยื้อที่ต่อมาถูกเรียกว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว’ ซึ่งเฮนรีจะนำเสนอเหตุการณ์นี้ผ่านหนังสือกลับหัว เท่าที่เฮนรีสังเกตเห็นจากการอ่านหนังสือและดูหนังอยู่หลายปี เขาพบว่าเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวได้รับการกล่าวถึงในสื่อจำพวก ‘เรื่องแต่ง’ น้อยนิด ส่วนใหญ่มักถูกพูดถึงในแง่ของประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริง สารคดี เกร็ดความรู้ แถลงการณ์ หรือเอกสารสำคัญแบบรายงานตรงตามตัวอักษร ตัวอย่างเช่น บันทึกของผู้รอดชีวิตอย่าง If This is a Man ของ พริโม เลวี[1] ทว่าสงคราม—ซึ่งถือเป็นหายนะอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ—กำลังถูกเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น มันได้รับการปฏิบัติราวกับไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ ทั้งที่สงครามสมัยใหม่ [2] ได้คร่าชีวิตคนหลายสิบล้านและทำลายล้างประเทศต่างๆ แต่เรากลับต้องขวนขวายเพื่อให้ได้เห็น ได้ฟัง หรือได้อ่านเรื่องเหล่านี้จากเรื่องเล่าสงครามระทึกขวัญ เรื่องเล่าสงครามแนวตลก เรื่องเล่าสงครามแนวโรแมนติกเรื่องเล่าสงครามเชิงวิทยาศาสตร์ล้ำอนาคต หรือแม้แต่เรื่องเล่าโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับสงคราม แล้วอย่างนี้ยังมีใครอีกไหมที่คิดว่า ‘เสี้ยวเล็กเสี้ยวน้อยของประวัติศาสตร์’ กับ ‘สงคราม’ เป็นเรื่องเดียวกัน? มีทหารผ่านศึกกลุ่มไหนออกมาวิพากษ์วิจารณ์บ้างหรือเปล่า? ไม่เลย เพราะเรานำเสนอหรือพูดถึงสงครามในรูปแบบเหล่านี้มาโดยตลอด และเราก็ทึกทักกันไปเองว่าสงครามมีหน้าตาเป็นอย่างไรจากภาพสะท้อนอันหลากหลายแบบนี้นั่นแหละ

  • การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ยักได้รับสิทธิ์กวียานุโลม [3] เหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวนี้ถูกนำเสนออย่างล้นหลามโดยใช้กรอบเดียวกันคือ ‘เรื่องจริงของประวัติศาสตร์’ เรื่องราวเหมือนๆ กัน อยู่ในโครงร่างเดียวกัน เกิดขึ้นในวันเวลาเดียวกัน ในสถานที่เหมือนกัน ตัวละครต่างๆ ก็คล้ายกัน ถ้าจะมีข้อยกเว้นบ้าง เฮนรีก็นึกถึง Maus [4] นิยายภาพของ อาร์ต สปีเกลมาน ศิลปินชาวอเมริกัน และ See Under: Love [5] ของเดวิด กรอสส์แมน ที่ดูจะแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ทว่าแม้แต่งานเขียน

    เหล่านี้ก็ยังวางให้ผู้อ่านถูกดึงย้อนไปยังเรื่องราวต้นตำรับหรือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ดี หรือถ้าเรื่องราวถูกเขียนให้เกิดขึ้นหลังช่วงเวลาในประวัติศาสตร์หรือเกิดขึ้นที่อื่นผู้อ่านก็จะถูกดึงย้อนเวลากลับไปปี 1943 เพื่อเดินทางไปยังโปแลนด์ในอดีตเหมือนตัวละครเอกในนวนิยายเรื่อง Time’s Arrow [6] ของ มาร์ติน อามิส ซึ่งนั่นทำให้เฮนรีสงสัยว่า ทำไมผู้คนจึงมีความคลางแคลงใจต่อเรื่องแต่งเหล่านี้ ทำไมจึงต่อต้านการอุปมาอันเปี่ยมไปด้วยศิลปะ?

    งานศิลปะทรงคุณค่าก็เพราะมันเป็นความจริงแท้ ไม่ใช่แค่เพราะมันเป็นเรื่องจริง มันจะดีหรือที่เอาแต่นำเสนอการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยการยึดถือแต่เรื่องจริง? เพราะท่ามกลางตำราวิชาการต่างๆ ทั้งอนุทิน บันทึกความทรงจำ ตลอดจนบันทึกประวัติศาสตร์ ล้วนแฝงจินตนาการหรือทัศนะของผู้เขียนอยู่ด้วยเสมอ ศิลปินมากมายเล่าขานเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์รวมถึงเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวด้วยมุมมองที่ทำให้พวกมันยิ่งใหญ่ขึ้น ดูได้จากผลงานอันเปี่ยมไปด้วยศิลปะที่เรารู้จักกันดีสามชิ้นอย่าง Animal Farm ของ ออร์เวลล์ [7], The Plague ของ กามูส์ [8] และ Guernica ของ ปิกัสโซ่ [9] ศิลปินแต่ละคนเก็บเกี่ยวรายละเอียดที่มากมายของโศกนาฏกรรม แสวงหาหัวใจของเหตุการณ์ และนำเสนอความหมายแฝงนัยได้อย่างกระชับ เรื่องหนักๆ ในประวัติศาสตร์ถูกลดทอนและจัดเก็บลงในหีบห่อ ซึ่งงานศิลปะคือหีบห่ออันบางเบา พกพาสะดวก มีแต่ส่วนที่สำคัญ หากจะนำเสนอโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของชาวยิวในยุโรปด้วยวิธีการเช่นนี้มันเป็นไปได้ไหมหรือมีความสำคัญพอหรือเปล่า?


    เพื่อยกตัวอย่างและให้เหตุผลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขา เฮนรีจึงเขียนนวนิยายและความเรียงนี้ขึ้นมา เขาใช้เวลาทำงานอย่างหนักหน่วงถึงห้าปี หลังจากเขียนเสร็จต้นฉบับทั้งสองส่วนถูกส่งไปยังกลุ่มสำนักพิมพ์ที่เคยดูแลงานเขียนต่างๆ ของเขา และนั่นเป็นตอนที่เขาได้รับเชิญให้ไปร่วมกินมื้อกลางวัน จำชายในหนังสือกลับหัวผู้ก้าวพลาด สะดุด แล้วล้มลงก้นจ้ำเบ้าเอาไว้ให้ดี เฮนรีบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อมาร่วมมื้อกลางวันมื้อนี้ มันจัดขึ้นในลอนดอนช่วงฤดูใบไม้ผลิระหว่างงานมหกรรมหนังสือลอนดอน บรรณาธิการทั้งสี่ของเฮนรีได้เชิญนักประวัติศาสตร์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือมาร่วมโต๊ะด้วย ซึ่งเฮนรีถือว่ามันเป็นสัญญาณว่าเขาต้องผ่านการอนุมัติถึงสองชั้น ทั้งในแง่ทฤษฎีและในแง่ของการขาย เขาไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ภัตตาคารแห่งนี้ตกแต่งด้วยศิลปะโฉบเฉี่ยวแบบอาร์ตเดคโค [7] ตรงส่วนโค้งยาวทั้งสองฝั่งของโต๊ะอาหารได้รับการเกลากลึงจนสวยงาม มีรูปร่างลักษณะคล้ายดวงตา มันเข้ากันได้ดีกับม้านั่งที่ตั้งรับกันอยู่ที่ริมผนังฝั่งหนึ่ง “เชิญนั่งครับ” บรรณาธิการคนหนึ่งว่าพลางชี้ไปยังตรงกลางของม้านั่ง ใช่สิ เฮนรีคิด นักเขียนที่กำลังจะเสนอผลงานเล่มใหม่จะนั่งที่ไหนได้นอกจากตรงนั้น ก็เหมือนคู่บ่าวสาวที่ต้องนั่งตรงหัวโต๊ะนั่นล่ะ เขาถูกบรรณาธิการสองคนนั่งประกบข้างซ้ายขวา ฝั่งตรงข้ามเป็นนักประวัติศาสตร์และฝ่ายจัดจำหน่ายที่ก็ถูกบรรณาธิการอีกสองคนนั่งขนาบข้าง ดูเหมือนเป็นการพบปะแบบทางการ แต่ที่จริงก็ค่อนข้างเป็นกันเอง ระหว่างนั้นบริกรนำเมนูมาให้พร้อมแนะนำจานพิเศษประจำวัน เฮนรีรู้สึกดีจนเผลอนึกไปว่ากำลังอยู่ในงานปาร์ตี้ฉลองแต่งงาน

    ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกเขาคือพลแม่นปืน
  • Footnote

    [1]. พริโม เลวี (Primo Levi) นักเคมีและนักเขียนเชื้อสายอิตาเลียน-ยิว ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านระบอบฟาสซิสต์ ถูกจับกุมในปี1943 ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันที่เอาช์วิตซ์ในปี 1944 เนื้อหาเกือบทั้งหมดในหนังสือ If This is a Man เป็นการให้รายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในค่าย

    [2]. สงครามสมัยใหม่ หรือ Modern Warfare เป็นแนวคิดและวิธีการทำสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งครอบคลุมถึงการฆ่าพลเมืองและทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โรงพยาบาลและโรงเรียน เพื่อลดศักยภาพในการทำสงครามของประเทศศัตรู

    [3]. กวียานุโลม หรือ Poetic License นิยามโดยกวีชาวอังกฤษชื่อ จอห์น ดรายเดน (John Dryden) เป็นเอกสารที่มอบให้กวีและศิลปินในฐานะผู้สร้างงานศิลปะ เพื่อรับรองว่าพวกเขามีสิทธิที่จะประพันธ์หรือสร้างสรรค์สิ่งที่อยู่นอกแบบแผน นอกกรอบ หรือผิดจากความเป็นจริงโดยไม่ถือว่าเป็นข้อเสียหาย แต่ต้องมีเหตุผลรองรับ และต่อให้เขียนผิดพลาดก็ยังได้รับการยกโทษด้วยสิทธิของเอกสารนี้

    [4] . Maus: A Survivor’s Tale กราฟิกโนเวลว่าด้วยเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผลงานของ อาร์ต สปีเกลมาน (Art Spiegelman) ผู้เขียนชาวอเมริกันที่นำเรื่องราวของพ่อในยุคสมัยนั้นมาดัดแปลงเป็นเรื่องเล่าผ่าน เมาส์ หนูในยุคสงคราม ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1991

    [5].  นวนิยายว่าด้วยเรื่องของเด็กชายผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารชาวยิว ผลงานของนักเขียนชาวอิสราเอลที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1989

    [6].  Time’s Arrow: or The Nature of the Offence นวนิยายผลงานของนักเขียนชาวอังกฤษ ว่าด้วยเรื่องของแพทย์ทหารของนาซี ซึ่งมีจุดเด่นด้านการเล่าเรื่องย้อนหลัง โดยเริ่มฉากแรกที่การตายของตัวละครหลัก ย้อนไปจนถึงช่วง 70 ปีก่อนหน้านั้น 

    [7].  จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) หรือ เอริก อาร์เธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชีวิตอยู่ในยุคต้นศตวรรษที่ 20

    [8].  อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) นักเขียนชาวฝรั่งเศส

    [9]. ปาโบล ปิกัสโซ่ (Pablo Picasso) จิตรกรชาวสเปน



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in