เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films speak for mepuroii
Ready Player One: เพราะความจริงไม่สวยงาม
  • Ready Player One

    ผู้กำกับ : สตีเว่น สปีลเบิร์ก

    Ready Player One เล่าเรื่องราวของโลกจำลองที่ชื่อว่า “Oasis” โลกนี้เป็นสถานที่ที่พาผู้คนจากหลากหลายแห่งมารวมตัวกัน โอเอซิสมอบความสนุกให้ผู้เล่นไปกับเกมแต่ละด่านเชื่อมความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่นำไปสู่มิตรภาพ รอยยิ้ม หรือแม้กระทั่งความรัก

    อาจพูดได้ว่าสตีเว่น สปีลเบิร์กกลับมาอย่างวัยรุ่นสุดเฟี้ยว ความสนุกและจัดจ้านของหนังเรื่องนี้น่าประทับใจอยู่พอสมควร ป็อปคัลเจอร์ที่ใส่มาทำให้หลายคนอิ่มเอมไปกับความหลังและรู้สึกเชื่อมต่อกับโลกโอเอซิสได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าคุณจะหลงใหลเกม ดนตรี อนิเมชั่น หรือหนัง ก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่ดูแล้วรู้สึกว่า "นี่ไง มันมาจากเรื่องนั้น!" หรือ "ไอ้ตัวนั้นมันคุ้น ๆ " การสาดป็อปคัลเจอร์เข้ามาอย่างท่วมท้นนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางครั้งก็รู้สึกว่ามันถูกใช้อย่างฉาบฉวยในการหลอกล่อและดึงดูดคนดู แต่บางส่วนก็ใส่มาได้ดี มีที่มาที่ไปและส่งผลต่อการผลักดันเนื้อเรื่อง เช่น หนังสยองขวัญเรื่องนั้นตอนกลางเรื่อง (ไม่ขอกล่าวชื่อเรื่อง เดี๋ยวไม่เซอร์ไพรส์) แต่ถ้าตัดป็อปคัลเจอร์เหล่านั้นออกไป มิติของหนังเรื่องนี้คงจะแห้งแล้งลงไปเสียหน่อย 

    การเล่าเรื่องน่าเสียดายที่ตรงไปตรงมาและง่ายดายเสียเหลือเกิน หนังรักษาสมดุลระหว่างโลกสมมติและโลกความจริงได้ไม่ค่อยดี เราเลยเห็นโลกภายนอกและประเด็นใหญ่ของสังคม (ถ้ามี) เพียงน้อยนิด การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครแต่ละตัวไม่ค่อยชัดเจน ไม่ได้สร้างระดับความสัมพันธ์ที่ทำให้คนดูรู้สึกผูกพันเท่าที่ควร ดังนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงไม่กระตุ้นคนดูให้เห็นใจหรือเอาใจช่วยตัวละครเท่าไร คนดูเพียงล่องเรือไปตามธารน้ำที่ไม่มีทางแยกของเนื้อเรื่อง เป็นสายน้ำที่เป็นเส้นตรงตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงจุดจบ สายน้ำสายนี้อาจมีคลื่นกระทบประปรายให้พอเอามือไปยึดกราบเรือได้บ้าง ได้หันไปมองทิวทัศน์ ชมนกชมไม้ข้างทาง แต่เมื่อไปถึงจุดหมาย เรากลับจดจำการเดินทางที่ผ่านมาแทบไม่ได้


    เราจะไม่มาสาธยายหรอกนะว่าเจอป็อปคัลเจอร์อะไรบ้างในหนัง แต่อยากพูดถึงประเด็นน่าสนใจที่คิดได้หลังดู Ready Player One 



    ------อาจมีสปอยล์เนื้อหาสำคัญ------

    (เขียนจากมุมมองของคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือ)



    Escapism: เพราะความจริงมันเจ็บปวด เราจึงเลือกที่จะหนี


    Escapism คือการหลีกหนีความจริงที่น่าเบื่อ ไม่พึงปรารถนา หรือสร้างความรู้สึกไม่สบายใจให้กับตัวเอง

    ในขณะที่โลกภายในโอเอซิสนั้นกว้างขวางเต็มไปด้วยผู้คนและสัตว์ประหลาด มีสถานที่เริงรมย์มากมาย ทว่ามันกลับแตกต่างจากโลกความเป็นจริงเสียเหลือเกิน

    Ready Player One เริ่มต้นในปี 2045 ที่ไม่ไกลจากปัจจุบันมากนัก โลกต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย (The Great Recession ที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อประมาณปี 2007-2009) ทรัพยากรขาดแคลนและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น สังคมอยู่อย่างยากลำบาก ในขณะที่บนโลกปัจจุบันบางคนอาจหันไปพึ่งแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือการเที่ยวเตร่ไปวัน ๆ ผู้คนใน Ready Player One พยายามดิ้นรนหนีจากความจริงอันเจ็บปวดนี้ด้วยการเข้าสู่ Oasis ในนั้นพวกเขาสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็นด้วยการเปลี่ยนรูปลักษณ์ที่ใช้ในเกมหรือที่เรียกว่า “Avatar” พวกเขากลายเป็นคนใหม่และสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจอยาก

    จุดกำเนิดของการหนีความจริงก็เริ่มจากภาวะเศรษฐกิจและสังคมเหล่านี้ ลองมองย้อนไปหลังภาวะ The Great Depression เมื่อปี 1929 ช่วงนั้นเองที่ฮอลลีวู้ดได้ก้าวเข้าสู่ยุคทอง (The Golden Age) ผู้คนหันไปดูหนังเพื่อความบันเทิงและหลีกหนีจากความวุ่นวายในสังคม หนังตลก มิวสิคัล หนังรักโรแมนติก หรือแนวแฟนตาซีจึงรุ่งโรจน์อย่างมากจนบางทีสิ่งบันเทิงก็กลายเป็นเครื่องมือเบี่ยงเบนประชาชนออกจากข่าวคราวของสังคม ช่วยลดความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นต่อภาครัฐ เช่น การประท้วงต่อต้าน หรืออะไรก็ตามแต่

    Ready Player One เองก็พูดถึง escapism ด้วยการใช้ Oasis ทว่าความจริงก็คือความจริงอยู่วันยังค่ำและเราก็หลีกหนีมันไม่ได้


    The Keys to Capitalism: กุญแจสู่ทุนนิยม


    Ready Player One ยังพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจนั่นก็คือการปกป้องสิ่งที่รักและส่งต่อมันให้คนที่เห็นค่า การเลือกผู้สืบทอดของฮัลลิเดย์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะได้รู้ว่าเขารักงานของตัวเอง รักโลกโอเอซิสมากแค่ไหน เพราะโลกใบนี้รวมเอาหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาชื่นชอบไว้ด้วยกัน โอเอซิสจึงเปรียบเสมือนชีวิตของฮัลลิเดย์เลยก็ว่าได้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่เขาจากโลกใบนี้ไป เขาจะส่งไม้ต่อให้กับใครกัน

    ผลงานจะคงอยู่ได้ไม่ได้อาศัยแค่ชื่อแบรนด์ ฝีมือ หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ต้องการคนที่เข้าใจ มีจิตวิญญาณ สามารถสานต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ริเริ่มได้ ดังนั้น Oasis ต้องคงไว้ซึ่งความเป็นตัวตนของฮัลลิเดย์ กุญแจสำคัญนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเควสต์ตามล่าหา CEO ที่เหมาะสมกับงาน

    Ready Player One ต่างจากหนังหรือนิยายหลายเรื่องตรงที่มันเป็นหนังที่ยอมรับทุนนิยม ไม่ได้มาเพื่อต่อต้านระบบอย่าง The Hunger Games, The Handmaid's Tale, The Maze Runner หรือเรื่องอื่น ๆ สุดท้ายเราออกจากโลกสมมติมาเผชิญความจริงกับการแก่งแย่งอำนาจ การดิ้นรนเพื่อขึ้นไปอยู่ลำดับสูงสุดของตลาดหุ้น การกระทำทุกอย่างเพื่อควบคุมอำนาจเงินตรา

    สุดท้ายแล้วเราต่อสู้ไปเพื่ออะไร

    Ready Player One ไม่ใช่หนังที่มอบพลังให้คนลุกขึ้นสู้กับระบบ แต่เป็นการยอมรับกับสิ่งที่เป็นอยู่และดิ้นรนต่อไปบนเส้นทางชีวิตที่มี ชีวิตของบางคนอาจจะดีขึ้นอย่างเวดและผองเพื่อน อาจมีการปรับนโยบายให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้นโดยการหยุดให้บริการโลกโอเอซิสเป็นบางวัน IOI อาจหมดอำนาจก็จริง แต่ทั้งหมดที่ทำมาไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมเรา แค่ผลัดเปลี่ยนคนกุมบังเหียนของบริษัทหนึ่งที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น ดังนั้น Ready Player One จึงไม่ได้เน้นพลังการเปลี่ยนแปลงสังคมแต่เป็นหนังฮีโร่ต่อสู้กับผู้ร้ายและนำเสนอแง่มุม escapism เสียมากกว่า


    _____________________________________________


    วันนี้มาสั้น ๆ แค่นี้แหละ แต่กลัวลงเพจแล้วจะอ่านยาก


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in